“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! พราหมณ์ คหบดีที่อุปัฏฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย และยา พร้อมเครื่องใช้ในการรักษาโรค นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรม อันดีงามในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงแก่พราหมณ์ คหบดีเหล่านั้นก็นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากนี่แล ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่ประพฤติอาศัยกันและกัน เพื่อถอนกิเลสอันเปรียบเสมือนห้วงน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ” นี่คือพุทธพจน์ที่ปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกในหมวดอิติวุตตะกะ เล่มที่ 25 หน้า 314
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น มีเนื้อหาชัดเจนว่าพระภิกษุและคฤหัสถ์อาศัยกัน โดยที่คฤหัสถ์ให้ท่านเป็นปัจจัย 4 อันควรแก่สมณบริโภค และพระภิกษุให้ธรรมเพื่อให้นำไปปฏิบัติลด ละกิเลสให้เบาบาง และหมดไปในที่สุด
ดังนั้น พระภิกษุรูปใดคบค้าคฤหัสถ์ และทำในสิ่งที่ไม่เหมาะ ไม่ควรแก่เพศภาวะของนักบวชเช่น พูดจาหรือเทศนาสั่งสอนในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่พระวินัย และไม่เป็นไปเพื่อความลด ละกิเลส จึงไม่นับว่าไม่เป็นผู้มีอุปการะแก่คฤหัสถ์
ในขณะนี้ และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะชาวพุทธมีปัญหาคาใจกับพฤติกรรมของท่าน ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์มีชื่อเสียงและมีชาวพุทธเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก
ท่าน ว.วชิรเมธี ทำอะไรจึงทำให้ชาวพุทธสงสัยในพฤติกรรม และแนวโน้มเรื่องนี้จะจบอย่างไร?
ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านเรียนรู้และทำความเข้าใจคำว่า พระภิกษุ และข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานในการตีความสิ่งที่ท่านจะทำว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร
คำว่า ภิกษุ หรือนักบวชในพุทธศาสนาหมายถึง ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา และต้องการจะบวชจึงไปบรรพชาอุปสมบทกับอุปัชฌาย์ และเมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุตามขั้นตอนพิธีกรรมของสงฆ์ แล้วก็ถือว่าเป็นภิกษุสมบูรณ์และต้องถือศีล 227 ข้อ เพื่อควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติ โดยงดเว้นจากกายทุจริตและวจีทุจริต ทำจิตให้สงบด้วยการทำสมาธิและเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญา รู้เท่าทันความเป็นจริง หลุดพ้นจากกิเลส
แต่สิ่งที่ท่าน ว.วชิรเมธี ทำสวนทางกับสิ่งที่พระภิกษุทำ โดยเฉพาะการเทศนาในทำนองเชิญชวนให้มาลงทุนกับดิไอคอน กรุ๊ป แล้วที่ดิไอคอน กรุ๊ป ได้ให้ทุนการศึกษาจึงเข้าข่ายสอพลอยกยอคฤหัสถ์ ส่วนว่าจะถึงขั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อ 13 ที่ว่าด้วยการประจบคฤหัสถ์หรือไม่ ทางสงฆ์ฝ่ายปกครองจะตั้งคณะวินัยสงฆ์ขึ้นมาระงับอธิกรณ์ ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นที่กังขาของประชาชน
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาว่า การกระทำของท่าน ว.วชิรเมธี เข้าข่ายสังฆาทิเสสข้อ 13 หรือไม่ ผู้เขียนขอนำเนื้อหาของสิกขานี้มาพิจารณาโดยย่อดังนี้
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นพระภิกษุเลวๆ ที่ชื่อว่าเป็นพวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะ เป็นภิกษุเจ้าถิ่นอยู่ในชนบทชื่อว่า กีฏาคีรี เป็นพระอลัชชี ภิกษุเหล่านั้นประพฤติอนาจารมีประการต่างๆ เช่น การประจานคฤหัสถ์ทำสิ่งต่างๆ ให้เขาเล่นซนต่างๆ
ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสีผ่านมาพัก ณ ชนบทนั้น เพื่อจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ กรุงสาวัตถี ภิกษุนั้นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วยอาการสำรวม แต่ชาวบ้านไม่ชอบเพราะไม่แสดงอาการประจบประแจงจึงไม่ถวายอาหาร
แต่อุบาสกผู้หนึ่ง (ซึ่งเข้าใจในพระธรรมวินัย) เห็นเข้าจึงนิมนต์ภิกษุรูปนั้นไปฉันที่บ้านของตน สั่งความให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุพวกของพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะประพฤติตนไม่สมควรต่างๆ
ความทราบถึงพระพุทธเจ้าทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทมีใจความว่า ภิกษุประทุษร้ายสกุล (ประจบคฤหัสถ์ทอดตัวลงให้เขาใช้) มีความประพฤติเลวทรามเป็นที่รู้กันทั่วไป ภิกษุทั้งหลายฟังว่ากล่าวและขับเสียจากที่นั่น ถ้าเธอกลับว่าติเตียนภิกษุทั้งหลายฟังสวดประกาศให้เธอละ เลิก ถ้าสวดจบ 3 ครั้งยังดื้อดึงต้องอาบัติสังฆาทิเสส
จากสิกขาบทนี้จะเห็นได้ชัดเจนเอาใจคฤหัสถ์ โดยการทำในสิ่งที่เขาต้องการทำและขัดกับพระธรรมวินัย ถือว่ามีพฤติกรรมเลวร้าย จึงให้สงฆ์ดำเนินการตามพุทธบัญญัติดังกล่าวแล้ว
ดังนั้น กรณีของท่าน ว.วชิรเมธี สงฆ์ฝ่ายปกครองจะต้องประชุมกันพิจารณาพฤติกรรมของท่านว่าจะเข้าข่ายประทุษร้ายสกุลหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ดำเนินการตามขั้นตอนพระวินัยต่อไป
ส่วนทางด้านคดีความ ถ้ามีผู้ฟ้องร้องก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่านอาจต้องไปแก้ต่างเอง
สำหรับชาวพุทธทั่วๆ ไป ก็จะต้องรอดูด้วยความสงบ โดยยึดหลักแห่งตรรกะที่ว่า หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้รับผลของพืชชนิดนั้น