ในขณะที่มีคำถามว่ารัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์-แพทองธารจะมีอายุที่ยืนยาวไหม จะอยู่ได้นานไหม คำตอบนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องคาดเดาคาดการณ์กันว่า จะมีวิกฤตอะไรบ้างที่จะทำให้รัฐบาลชุดนี้พบจุดจบ แต่ต้องยอมรับนะครับว่า เสียงของรัฐบาลหรือมือในสภาฯ นั้นมีความหนาแน่นมากและพรรคร่วมรัฐบาลนี้มีพันธกิจที่ต้องจับมือกันเพื่อรับมือกับพรรคประชาชน ดังนั้นก็จะต้องผูกกันไปอย่างนี้เพื่อความมั่นคงของระบอบและรูปแบบของรัฐที่กำลังถูกท้าทาย
ถ้าถามว่า อะไรที่จะทำให้รัฐบาลชุดนี้ถึงจุดจบ คำตอบที่เห็น ณ เวลานี้ก็คือ การตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ที่อ้างทับซ้อนกับกัมพูชา ในขณะที่เส้นเขตแดนยังไม่ชัดเจน และไปยอมรับการมีอยู่ของเส้นเขตแดนที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูดของไทย เพราะถ้าสดับตรับฟังอารมณ์ของคนไทยในเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า รัฐบาลชุดนี้ทำเมื่อไหร่จะมีม็อบลงมาเต็มถนนอย่างแน่นอน คนที่ประกาศจองกฐินไว้แล้วก็คือสนธิ ลิ้มทองกุล นั่นเอง
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะเอาแน่ เพราะทักษิณพูดในงานแสดงวิชันที่จัดโดยเครือเนชั่นว่า เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดนสมมติกัมพูชาบนพื้นที่ทับซ้อนถ้ามีทรัพยากรอยู่ก็แบ่งคนละ 50% เหมือนกับที่เราทำกับมาเลเซียคงต้องทำ
“น้ำมันแก๊สที่มีอยู่ไม่เกิน 20 ปีก็ใช้ไม่ได้แล้วไปใช้กรีนอย่างเดียวถ้าช้าเท่ากับว่าทิ้งทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ใต้ดินผมกำลังศึกษาว่านอร์เวย์ทำอย่างไรเอาผลประโยชน์ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติมาแบ่งผลประโยชน์ให้ประชาชนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันทำให้พลังงานถูกลง”
และอุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่าจะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน
ข่าวว่าคราวนี้รัฐบาลจะเอาแน่มีการเจรจาเรื่องนี้ระหว่างอุ๊งอิ๊งค์กับฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในระหว่างพบกันที่เวียงจันทน์และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ารัฐบาลไทยจะเริ่มการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาอีกครั้งเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (กว่า 10 ล้านล้านบาท) ซึ่งทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทกัน
ข้อเสนอที่ทั้งสองฝ่ายพยายามจะพูดกันก็คือ เป็นการเจรจาหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลโดยไม่พูดถึงข้อพิพาทเรื่องเขตแดน แต่บันทึกทำความเข้าใจหรือ MOU 2544 ระบุว่าการเจรจาสำหรับทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม และการตกลงแบ่งเขตสำหรับอาณาเขตทางทะเลนั้นให้จัดทำไปพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้
ปัญหาสำคัญคือ การที่เขมรลากเส้นเขตแดนจากเกาะที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเป็นเกณฑ์ ในขณะที่ไทยนั้นกำหนดเส้นตรงจากชายฝั่งเป็นสำคัญ และเส้นเขตแดนของกัมพูชานั้นได้ลากทับเกาะกูดของไทย ขณะเดียวกันมีการอ้างว่า กัมพูชายอมว่าเมื่อถึงตัวเกาะกูดจะไม่ลากเส้นผ่านกึ่งกลางแต่จะอ้อมเลาะตัวเกาะเป็นตัว U เพื่อยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย กัมพูชาไม่ได้ต้องการเกาะกูด
แต่ถ้ายอมรับข้อตกลงของกัมพูชาโดยยอมรับเส้นเขตแดนที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูด แม้กัมพูชาจะยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยก็เท่ากับยอมรับเส้นเขตแดนที่กัมพูชาลากลงมาในทะเลทันที แต่หลักการที่ถูกต้องหากต้องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทยจะต้องยกเลิกกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีป ค.ศ. 1972 ที่กัมพูชาขีดเส้นผ่ากลางเกาะกูดเสียก่อน
แน่นอนแหละว่าการที่ทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกัน การอ้างสิทธิเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ทั้งสองประเทศก็ควรจะเจรจาเพื่อให้การลากเส้นเขตแดนอยู่บนพื้นฐานกติกาเดียวกันที่สากลยอมรับเสียก่อน ไม่ใช่การอ้างอนุสัญญาหรือหลักเกณฑ์กันคนละฉบับ หากใช้กติกาเดียวกันพื้นที่ทับซ้อนจะมีอยู่ประมาณ 14,000 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ไม่ถึง 26,000 ตารางกิโลเมตรดังที่อ้างสิทธิกันอยู่
แต่ดูเหมือนภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกองทัพ แม้จะพูดว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่เหมือนจะให้ยอมรับการลากเส้นเขตแดนที่กัมพูชาลากมาเพื่อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในทะเลกัน แล้วกล่าวหาคนไทยที่มีความห่วงใยเส้นเขตแดนที่เขมรลากผ่านเกาะกูดอาจจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนเป็นพวกคลั่งชาติ
“ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ต้องเจรจากันแต่ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดนเสียดินแดนเพราะเป็นการปลุกความคลั่งชาติขึ้นมาทำร้ายผลประโยชน์ที่ประเทศควรจะได้รับ” ภูมิธรรมกล่าวไว้แบบนี้
ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพูดแบบนี้กับผู้บัญชาการกองทัพอีกฝ่ายจะมีความเห็นอย่างไร
ดูเหมือนสิ่งที่เป็นข้ออ้างสำคัญที่จะต้องเร่งเจรจาเพื่อขุดเจาะหาพลังงานในอ่าวไทยกับกัมพูชาก็คือ จะทำให้คนไทยใช้พลังงานถูกลง ทำให้พลังงานของไทยมีความมั่นคงและต้องเร่งขุดพลังงานฟอสซิลขึ้นมาใช้ก่อนถึงวาระการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero target)
แต่เชื่อไหมว่า ถ้าตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทยกับกัมพูชาได้ คนไทยจะได้ใช้พลังงานถูกลง พูดได้เลยว่า ไม่มีใครเชื่อ และไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างราคาพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน และคนที่จะได้ประโยชน์ก็คือ นักการเมืองและกลุ่มทุนพลังงานนั่นเองคนไทยจำนวนหนึ่งจึงบอกว่า เมื่อสุดท้ายแล้วฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มทุนพลังงานและนักการเมืองจะไปยอมแลกอธิปไตยของชาติกับผลประโยชน์ที่ไม่ตกถึงมือประชาชนทำไม หรือแม้ประชาชนจะได้ประโยชน์ด้วยก็ไม่คุ้มกับการที่อาจจะต้องสูญเสียดินแดนถ้าไปยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชาอย่างแน่นอน
รู้กันอยู่แล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับฮุนเซนนั้นมีความใกล้ชิดและดูแลกันและกัน ไม่รู้หรอกว่าทั้งสองมองเรื่องอธิปไตยของชาติมากกว่าผลประโยชน์ที่จะแบ่งปันกันหรือไม่ แต่แน่นอนแหละว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องยอมรับข้อตกลงนี้เพราะเขาได้ประโยชน์จากเส้นแขตแดนดังกล่าวไม่มีอะไรที่เขาสูญเสียเลย แต่หากไทยไปยอมรับก็มีแต่ฝ่ายเราเป็นฝ่ายสูญเสียเพียงฝ่ายเดียว
ก็รอดูว่ารัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ภายใต้ทักษิณที่กำกับอยู่หลังฉากจะทำเรื่องการขุดเจาะแหล่งพลังงานในพื้นที่ที่อ้างว่าทับซ้อนกับกัมพูชาสำเร็จหรือไม่ เพราะท่าทีที่รัฐบาลแสดงออกมานั้นเหมือนจะต้องทำให้ได้อย่างแน่นอนซึ่งอยากรู้เหมือนกันว่า รัฐบาลชุดนี้หรือทักษิณที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลชุดนี้ได้ประเมินอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยหรือไม่ และหากเรื่องนี้เดินหน้าไปจริงๆ จนไทยกับกัมพูชาตกลงกันได้ในขณะที่เส้นเขตแดนที่ลากผ่านเกาะกูดของกัมพูชายังอยู่ รัฐบาลนี้จะเผชิญกับพลังต่อต้านของมวลชนชาวไทยอย่างไร
อัตวินิบาตของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ก็คือการแบ่งปันผลประโยชน์กัมพูชาเพื่อแลกกับอธิปไตยของชาตินี่แหละคอยดูก็แล้วกัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan