xs
xsm
sm
md
lg

ดิไอคอนกรุ๊ป : ขายสินค้าหรือลวงคนมาต้มตุ๋น?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



เมื่อพูดถึงแชร์ลูกโซ่ในอดีต ทุกคนในสังคมไทยที่มีอายุเลยวัยเกษียณคงจำแชร์แม่ชม้อยได้

แม่ชม้อยหรือนางชม้อย ทิพย์โส ผู้ที่อ้างว่าทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน ได้ชักชวนคนมาลงทุนโดยเสนอผลตอบแทนร้อยละ 10 ต่อเดือน จากเงินลงทุนเพียงนำเงินมาให้แม่ชม้อย และนั่งคอยรับเงินปันผล

ในครั้งนั้น ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงญาติและพวกพ้องเพื่อนฝูงของคนเหล่านั้น

ในระยะแรกๆ ที่มีผู้ลงทุนรายใหม่ และผู้ลงทุนรายเก่าลงทุนเพิ่ม การจ่ายเงินก็เป็นไปด้วยดี

แต่เมื่อผู้ลงทุนรายใหม่ลดลง และผู้ลงทุนรายเก่าไม่ลงทุนเพิ่ม การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนก็เริ่มติดขัดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จึงได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับแม่ชม้อย และศาลได้พิพากษาจำคุกแม่ชม้อยในข้อหาฉ้อโกง และผลจากการสอบสวนได้ถูกเปิดเผยออกมาว่า แท้จริงแล้วแม่ชม้อยมิได้ทำธุรกิจซื้อขายน้ำมันแต่อย่างใด เพียงแต่นำเงินที่ได้จากผู้ลงทุนมาคืนผู้ลงทุนในลักษณะงูกินหางเท่านั้น และส่วนหนึ่งก็เข้ากระเป๋าตนเอง จึงเข้าข่ายหลอกลวงและฉ้อโกง

หลังจากแชร์แม่ชม้อยจบลง การหลอกลวงและฉ้อโกงในทำนองนี้ก็เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ เพียงแต่เปลี่ยนรูปของสินค้า แต่วิธีการก็แบบเดิมๆ คือมีการระดมทุนผ่านเครือข่ายและแม่ข่ายได้ประโยชน์จากการลงทุนของลูกข่าย

ในขณะนี้ผู้คนในสังคมไทยกำลังติดตามการฉ้อโกงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่แบบใหม่ที่มีดิไอคอนกรุ๊ป เป็นจำเลย และมีผู้เสียหายจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับแชร์แม่ชม้อย ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ดิไอคอนกรุ๊ป ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจขายตรงและมีการจัดอบรมการขายแล้วให้ผู้เข้าอบรมมาลงทุนซื้อสินค้าของบริษัทไปขาย พร้อมทั้งเปิดทางให้มีการหาผู้ลงทุนเป็นเครือข่าย โดยมีผู้เป็นแม่ข่ายได้ผลประโยชน์จากลูกข่ายส่วนหนึ่งจากเงินลงทุนของลูกข่าย

ในการนำสินค้าไปขาย ถ้ามิได้สินค้าไปทั้งหมดเท่าจำนวนเงินลงทุน สินค้าที่เหลือฝากไว้กับบริษัท จึงเปิดช่องว่างให้มีการนำเงินส่วนนี้และเงินที่ซื้อสินค้าไปใช้จ่ายอย่างอื่นเช่น ซื้อรถหรูราคาแพง เป็นต้น หรือยักย้ายถ่ายเทไปไว้ที่อื่น

ส่วนแม่ชม้อยมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และไม่มีจัดทีมการขายแต่อย่างใด จึงมีจำนวนผู้เสียหายน้อยกว่า และวงเงินที่ฉ้อโกงไปก็น้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่จ่ายคืนให้ผู้ลงทุนในรูปของเงินปันผลไปแล้วก่อนจะเกิดการฟ้องร้อง

2. ในการทำการตลาดดิไอคอนกรุ๊ป ได้ใช้ดาราและผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ จึงทำให้น่าเชื่อถือและสามารถจูงใจให้มีผู้มาลงทุนได้จำนวนมาก

ส่วนแม่ชม้อยไม่มีดาราโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปแบบ อาศัยการบอกกล่าวต่อกันปากต่อปาก จึงมีผู้ลงทุนในวงจำกัด

3. จุดจบของดิไอคอนกรุ๊ปกับแชร์แม่ชม้อยคล้ายคลึงกันคือมีผู้เสียหายรวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดี

แต่มีข้อแตกต่างกันอยู่ที่ในกรณีของดิไอคอนกรุ๊ป เกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนซื้อสินค้าไปแล้วขายไม่ได้ และต้องการเลิกขายแล้วขอเงินคืน แต่ดิไอคอนกรุ๊ปไม่คืนให้จึงเกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้น และในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของดิไอคอนกรุ๊ป และผู้ที่เกี่ยวข้อง 18 คนได้ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว ส่วนผลการดำเนินคดีจะเป็นอย่างไรจะต้องคอยต่อไป

ส่วนจุดจบของแม่ชม้อยเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนไม่ได้รับเงินปันผลก็มีการฟ้องร้อง และผลของการดำเนินคดีจบลงด้วยแม่ชม้อยถูกลงโทษจำคุก

สำหรับประเด็นว่าจะป้องกันอย่างไรนั้น บอกได้คำเดียวว่า ทำได้ค่อนข้างยากที่จะป้องกันได้ 100% ตราบเท่าที่คนส่วนใหญ่ยังโลภและอยากได้เงินโดยฟลุ๊กเองไม่ต้องเหนื่อยยาก และทางด้านภาครัฐไม่สามารถช่วยให้คนมีงาน มีเงินพอกิน พอใช้ และมีความเข้าใจในเรื่องการลงทุนที่ถูกต้องและควบคุมความเสี่ยงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น