xs
xsm
sm
md
lg

หยุดฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ หยุดละเมิดสิทธิและอธิปไตยของราชอาณาเขตทะเลไทย/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 การที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกำลัง “เร่งรัด” เจรจาด้านผลประโยชน์พลังงานในอ่าวไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001 หรือที่เรียกว่า “MOU 2544” นั้น อาจสุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายของประเทศไทย ฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ และอาจทำให้ประเทศชาติและประชาชนอาจจะสูญเสียผลประโยชน์ตามมาได้ด้วย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมราชโองการสมัยรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2516 โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ซึ่งกำลังมีการเจรจาผลประโยชน์ตาม MOU 2544 อยู่ในขณะนี้มีจำนวน 26,000 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยฝ่ายเดียวตามกฎหมายสากลทั้งสิ้น ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาดังที่พยายามเจรจากันอยู่ในขณะนี้ ดังมีรายละเอียดดังนี้

 ประการแรก พระบรมราชโองการสมัยรัชกาลที่ 9 ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ไม่สามารถลบล้างด้วยข้อตกลงหรือการเจรจากันเองของนักการเมืองหรือข้าราชการได้

 หากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นต้องเป็นไปโดยเงื่อนไขที่กำหนดโดย “พระบรมราชโองการ” เท่านั้น

ประการที่สอง พระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 นั้น ได้ระบุวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าเพื่อใช้  “สิทธิอธิปไตยของประเทศไทย” จึงต้องตระหนักว่าพระบรมราชโองการประกาศฉบับนี้มี 3 คำสำคัญประกอบกัน คือ  “สิทธิ” , “อธิปไตย” ตลอดจนคำว่า  “ของประเทศไทย” 

ดังนั้น พระบรมราชโองการประกาศฉบับนี้ไม่ใช่เรื่อง “อธิปไตย” ของประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึง “สิทธิ” ของประเทศไทย ไม่ใช่ “อธิปไตย” ของชาติอื่นและไม่ใช่ “สิทธิ” ของชาติอื่นมาผสมปะปนได้

 โดยมีข้อความระบุเฉพาะถึงขอบเขตอย่างชัดเจนด้วยว่า “การใช้สิทธิอธิปไตยของประเทศไทย” นั้นเพื่อใช้ “ในการสำรวจและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” ในอ่าวไทย

ภายใต้พระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 มีสาระสำคัญในเรื่อง “สิทธิอธิปไตยในการสำรวจและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย“ ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติภายใต้การประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยย่อมต้องเป็นของราชอาณาจักรไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น

ดังนั้น ผู้สำรวจ ผู้รับสัมปทาน หรือมีผู้แสวงหาผลประโยชน์ในทรัพยากรในอ่าวไทยจะต้องทำสัญญากับอธิปไตยได้เพียงรัฐเดียวเท่านั้นคือ “ประเทศไทย”




 การบิดเบือนให้ “สิทธิอธิปไตยในการสำรวจและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย” ที่เดิมต้องลงนามโดยรัฐบาลประเทศไทยเพียงรัฐเดียว ให้กลายเป็นสิทธิในการสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์ทางพลังงานที่ต้องลงนามโดยรัฐบาล 2 ประเทศ คือประเทศไทยร่วมกับประเทศกัมพูชานั้น ย่อมเท่ากับว่ารัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้สละ “สิทธิ” และ “อธิปไตย” ในการอนุญาตสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยฝ่ายเดียว

การกระทำดังที่กล่าวมานี้อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่ได้ทรงประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516

 ประการที่สาม  พระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศตามกฎหมายสากลเท่านั้น ปรากฏเป็นข้อความเป็นหลักการว่า

 “ยึดถือมูลฐานแห่งสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ อันเป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไป ตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2511“

ทั้งนี้ บทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 นั้น ต่อมาได้ถูกรับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ด้วย

ประกอบกับจุดเริ่มต้นของประเทศไทยในการแบ่งแยกระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 นั้น ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่า  “เกาะกูดเป็นของสยาม” อย่างแน่นอนความว่า

“รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไป จนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม ตามกำหนดเขตร์แดนดังว่าไว้ ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดนดังกล่าวมาแล้ว“

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานเป็น “แผนที่” แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาของราชอาณาจักรกัมพูชาที่ได้กำหนดแผนที่แสดง “เส้นเขตไหล่ทวีป” ของราชอาณาจักรกัมพูชา ฉบับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 และพระราชกฤษฎีกาของราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งได้ประกาศกำหนดแผนที่แสดง “เส้นทะเลอาณาเขต” ของกัมพูชา ฉบับเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2515 โดยมีข้อความด้านซ้ายแผนที่ภาพเกาะกูดเป็นภาษาอังกฤษคำว่า “Koh Kut” โดยมีวงเล็บอยู่ด้านล่างกำกับด้วยคำว่า “สยาม” เป็นภาษาอังกฤษว่า “(SIAM)” ทั้ง 2 ฉบับ ย่อมเป็นการยืนยันโดยราชอาณาจักรกัมพูชาว่า “เกาะกูด” เป็นของสยามประเทศอย่างแน่นอน

 เมื่อเกาะกูดเป็นของสยามประเทศ สยามประเทศจึงย่อมต้องมี “ทะเลอาณาเขต” จากเส้นฐานของเกาะกูดไปอีก 12 ไมล์ทะเล และมี “เขตทะเลต่อเนื่อง” จากเส้นฐานของเกาะกูด 24 ไมล์ทะเล “รอบเกาะกูด” ตามบทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 ซึ่งต่อมาหลักการนี้ได้ถูกรับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ด้วย

อย่างไรก็ตาม “เกาะกูด” ของสยาม และ “เกาะกง” ของกัมพูชา คือเกาะที่มีดินแดนยื่นออกมาในทะเลใกล้ที่สุดจากหลักเขตที่ 73 บนแผ่นดิน ซึ่งเป็นหลักเขตสุดท้ายทางทิศใต้ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ที่บ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด

ดังนั้น พระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 จึงได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 จึงปรากฏแผนที่การลากเส้นเขตไหล่ทวีปตาม ”กฎหมายสากล“ คือ เริ่มลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 แบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดและเกาะกง

การลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 แบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดและเกาะกงนั้น ก็เป็นการดำเนินไปตามกฎหมายสากลด้วยทั้งสิ้น คือบทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 ซึ่งต่อมาได้ถูกรับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ด้วย




ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาของราชอาณาจักรกัมพูชาได้กำหนดแผนที่ “เส้นเขตไหล่ทวีป” ของราชอาณาจักรกัมพูชา ฉบับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วอ้อมเกาะกูดไปด้านล่างแล้ววกกลับมาเป็นรูปตัว U แล้วลากเส้นต่อเนื่องไปยังทิศตะวันตกของเกาะกูดลึกเข้าไปในอ่าวไทยก็ดี หรือพระราชกฤษฎีกาของราชอาณาจักรกัมพูชาฝ่ายเดียวซึ่งกำหนดแผนที่แสดงการลาก “เส้นทะเลอาณาเขต” ของกัมพูชาจากหลักเขตที่ 73 ประชิดด้านทิศตะวันออกของเกาะกูด ฉบับเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2515 ก็ดี ล้วนเป็นแผนที่กำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลที่ “ละเมิดสิทธิและละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย” ทั้งสิ้น และยังไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 ด้วยเพราะมีผลตามมาดังนี้

 1.ละเมิด ทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลของราชอาณาจักรไทยรอบเกาะกูด

 2.ละเมิดเขตทะเลต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลของราชอาณาจักรไทยรอบเกาะกูด

 3.ละเมิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยที่มีการแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดกับเกาะกงจากหลักเขตที่ 73

ดังนั้น หากราชอาณาจักรไทยยินยอมหรือรับรู้ โดยไม่ปฏิเสธการลากเส้นที่ละเมิดทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูด ไม่ปฏิเสธการลากเส้นที่ละเมิดเขตทะเลต่อเนื่องรอบเกาะกูด และไม่ปฏิเสธการลากเส้นที่ละเมิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางพื้นที่ด้านทิศทะวันตกเส้นแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดและเกาะกง ย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยงที่ราชอาณาจักรไทยจะสูญเสียสิทธิและอธิปไตยทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูด สุ่มเสี่ยงสูญเสียสิทธิและอธิปไตยเขตทะเลต่อเนื่อง สุ่มเสี่ยงสูญเสียพื้นที่ทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ

เมื่อสละกฎหมายทะเลสากลรอบเกาะกูดทั้งหมด ก็จะส่งผลทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาท “ดินแดนเกาะกูด” ในฐานะที่ราชอาณาจักรไทย “นิ่งเฉย” ต่อการละเมิดพื้นที่ทะเลอาณาเขต ละเมิดพื้นที่ทะเลต่อเนื่อง และการละเมิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะรอบเกาะกูด มีความสุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลกัมพูชาอาจอ้างกฎหมายปิดปากให้เกาะกูดตกเป็นของกัมพูชาในอนาคตได้ ดังที่ราชอาณาจักรไทยได้เคยสูญเสียปราสาทพระวิหารและสูญเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารโดยศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 มาแล้ว

ดังนั้น หากยังฝ่าฝืนดำเนินการ MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการตกลงใดๆ ที่อยู่นอกเหนือแผนที่ตามประกาศภายใต้พระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 อาจสุ่มเสี่ยงว่าเป็นการดำเนินที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่เป็นการยึดถือตามบทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 ด้วย

  ประการที่สี่ พื้นที่ทับซ้อนสามารถเจรจาแบ่งผลประโยชน์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสากลเท่านั้น ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ

พระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 นั้นได้ “เปิดช่องให้มีการเจรจาตกลงกันได้” แต่จะต้องยึดถือมูลฐานจาก บทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 เท่านั้น และต้องไม่ใช้เงื่อนไขอื่นในการตกลงกันความว่า

“สำหรับสิทธิอธิปไตยในส่วนที่เป็นทะเลอาณาเขตซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตใกล้เคียงอันจะถือเป็นจุดเริ่มของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้นจะเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน โดยยึดถือมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958“

เพราะตามบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 สามารถเกิดพื้นที่ทับซ้อนกันได้ จึงอาจเกิดพื้นที่ลักษณะอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้จริงดังที่ได้เกิดขึ้นกับพื้นที่การพัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย

แต่เมื่อ MOU 2544 ไทย-กัมพูชา แตกต่างจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพราะ MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา ได้เกิดพื้นที่โดยรับรู้เส้นไหล่ทวีปอ้างสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาที่กำหนดเขตไหล่ทวีปที่ลากเส้น ”ละเมิด“ สิทธิและอธิปไตยทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลของราชอาณาจักรไทยรอบเกาะกูด ละเมิดเขตทะเลต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลของราชอาณาจักรไทยรอบเกาะกูด และละเมิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยที่มีการแบ่งครึ่งมุมจากหลักเขตที่ 73 เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาจึงย่อมไม่มีทางเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 ได้เลย

หากจะมีพื้นที่ทับซ้อนในทางเทคนิคก็ต้องเป็นไปตามมูลฐานของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 เท่านั้น จึงจะสามารถเริ่มเจรจาได้ ซึ่งแปลว่าก็ต้องมีความใกล้เคียงกับแผนที่แนบท้ายพระบรมราชโองการทรงประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยฉบับเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 เท่านั้น

ดังนั้น การเจรจาตกลงกันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ลากเส้นโดยไม่ยึดถือตามมูลฐานของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 หรือทำให้ฝ่ายไทยสูญเสียสิทธิและอธิปไตยเกินกว่าพระบรมราชโองการย่อมกระทำไม่ได้

และหากรัฐบาลยังฝ่าฝืนดำเนินต่อไป ก็ย่อมมีความเสี่ยงว่าจะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยินยอมให้มีการละเมิดสิทธิและอธิปไตยของราชอาณาเขตทะเลไทย

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น