xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมของทักษิณ กับทางรอดจากคดีความที่รุมเร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

หลายคนถามหาทักษิณหลังเขาเงียบหายไป ซึ่งความจริงแล้วเขาคงทำหน้าที่สั่งการอยู่หลังม่านของอุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลูกสาวของเขาที่สังคมตั้งคำถามถึงความรู้ความสามารถ แม้ว่าหน้าฉากเขาจะตั้งที่ปรึกษาจำนวนมากมาช่วยลูกสาวของเขาและมีรัฐมนตรีหลายคนช่วยกันโอบล้อม แต่ใครต่อใครก็เชื่อว่าการเมืองไทยยุคนี้จะเดินไปตามหลังม่านที่มีทักษิณเป็นผู้กำกับ


ขณะที่เขากำลังเผชิญกับข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ประดังกันเข้ามายังไม่นับคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งการร้องเรียนของธีรยุทธ สุวรรณเกสร ที่เคยร้องยุบพรรคก้าวไกลมาแล้ว ด้วยข้อกล่าวหาว่า ที่ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยสั่งการให้รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้ไปนอนที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 เป็นการขัดพระบรมราชโองการ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ ในที่สุด

นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย

ข้อกล่าวหาต่อไปคือทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

และมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง นอกจากนั้นยังมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567

ข้อกล่าวหาต่อมาคือ การที่มีผู้ไปร้องเรียนต่อป.ป.ช.ที่ทักษิณเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องและป.ป.ช.ได้ดำเนินการสอบสวนมาระยะหนึ่งแล้ว สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตรวจสอบพบว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณในกรณีดังกล่าวที่เป็นการเลือกปฏิบัติแตกต่างกับบุคคลทั่วไปซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯได้ส่งหลักฐานให้กับป.ป.ช.ไปแล้ว

รวมถึงล่าสุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชี้ว่า 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุทักษิณซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้ทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ คำร้องอ้างถึงพฤติการณ์นายทักษิณทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

และการให้สัมภาษณ์ของทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่ทักษิณได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล

โดยผู้ร้องเห็นว่าเข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้

จะเห็นว่าข้อกล่าวของทักษิณทั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต.นั้นสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น

 ถ้าถามว่าข้อกล้าวหาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริงไหม ก็ต้องตอบว่า เป็นความจริงทั้งสิ้นไม่ว่า การอ้างว่าป่วยแล้วไปนอนพักที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 โดยไม่ติดคุกนั้นชัดเจนว่า ทักษิณไม่น่าจะมีอาการป่วยจริงหรือถ้าป่วยก็ไม่กับถึงต้องมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจสามารถรักษาตัวในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ และเมื่อทักษิณได้รับการพักโทษแล้วกลับไม่พบว่าทักษิณมีอาการป่วยหนักหนาใกล้ตายตามที่อ้างเพื่อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจเลย ซึ่งกรณีนี้หากป.ป.ช.เอาจริงก็น่าจะสอบสวนได้ไม่ยาก เพียงแต่ที่สังคมห่วงก็คือ การสอบสวนของป.ป.ช.ในแต่ละเรื่องนั้นมักจะเป็นไปด้วยความล่าช้า

คนที่น่าจะเป็นพยานในเรื่องนี้ได้ดีก็คือ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช ซึ่งออกมาเปิดเผยว่า เขาขึ้นไปเยี่ยมทักษิณที่ชั้น 14 ถึงสองครั้ง

ส่วนการครอบงำพรรคเพื่อไทยนั้น ปรากฏหลักฐานเป็นที่ทั่วไปว่า ทักษิณมีอิทธิพลเหนือพรรคอย่างไร ปรากฎให้เห็นผ่านการแสดงออกของตัวเขารวมไปถึงการให้สัมภาษณ์ต่างๆในระหว่างที่มีการจัดตั้งรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ได้ว่าเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ส่วนการประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้านั้นก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด เพราะวันนั้นอุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในทางกฎหมายยังไปดูงานที่เซี่ยงไฮ้กับหลักสูตรมินิว.ป.อ. ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลจึงเข้าไปหารือกับทักษิณในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอนไม่ใช่ใครอื่น แม้จะมีข่าวในตอนแรกออกมาว่าจะเลือก นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเปลี่ยนมาเป็นอุ๊งอิ๊งค์ในภายหลังก็ตาม เรื่องเหล่านี้ปรากฏชัดเจนเป็นหลักฐานผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อทุกแขนง

 และถ้าจำกันได้คนที่เข้าไปบ้านจันทร์ส่องหล้านอกจากหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต่างๆแล้ว วันนั้นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐก็คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งบัดนี้ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลเพราะอยู่ในฝั่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสันติน่าจะเป็นพยานได้ว่า วันนั้นมีการพูดคุยกันด้วยเรื่องอะไรบ้าง แต่ถึงอย่างไรตามข่าวที่ออกมาจากบ้านจันทร์ส่องหล้าวันนั้นก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลในขั้วพรรคการเมืองเดิมนั่นเอง

ส่วนเรื่องเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาในอ่าวไทยซึ่งส่งผลต่ออธิปไตยของไทยโดยเฉพาะเกาะกูดที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขาด้วยนั้นก็ชัดเจนว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ประกาศที่จะเจรจากับกัมพูชาเป็นนโยบายเร่งด่วนอย่างหนึ่งของรัฐบาลและสอดคล้องกับที่ทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ในการจัดงานของค่ายเนชั่นว่าไทยจะต้องเจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทยกัมพูชา

เรื่องทั้งหมดวิญญูชนทุกคนรับรู้ได้ว่าพฤติกรรมต่างๆ ของทักษิณกับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์นั้นสามารถเชื่อมโยงกันได้ว่าเกี่ยวพันกันอย่างชัดเจน และทักษิณได้เข้ามามีมีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์อย่างชัดแจ้งทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรมอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้เลย

 ที่น่าสนใจอีกคำร้องหนึ่งก็คือคำร้องของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองว่า การส่งตัวทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจนั้นไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลตาม ป.วิอาญามาตรา 246 การรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจของทักษิณนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการจำคุกตามคำพิพากษาและตามพระบรมราชโองการ ดังนั้น จึงต้องนำตัวทักษิณกลับไปรับโทษใหม่

เราไม่รู้หรอกว่าคดีความต่างๆ ที่หวังพึ่งพากระบวนการยุติธรรมเพื่อจัดการกับทักษิณนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะการกลับมาประเทศไทยของทักษิณนั้นต่างเชื่อกันว่า มีการเจรจาเพื่อตกลงกับผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆที่หลายคนบอกว่ามี “ดีล” และเราเห็นผ่านการแสดงออกหลังพ้นโทษของทักษิณแล้วว่า เขามีความอหังการ์มั่นใจในอำนาจที่อยู่ในมือของเขาอย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองที่ระบอบและอุดมการณ์ของรัฐกำลังถูกท้าทายจากพรรคประชาชนที่มีมาจากพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่ามีจุดมุ่งหมายจะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์นั้น ก็ยิ่งทำให้ทักษิณมั่นใจว่า ทุกฝ่ายจะต้องพึ่งพาเขาในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังจะอ่อนแอ

 ต้องยอมรับว่าคำร้องต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปยังทักษิณนั้นล้วนแล้วแต่มีมูลและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น อยู่ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมจะชี้ออกมาอย่างไร เพราะบางครั้งการวินิจฉัยที่ออกมานั้นอาจจะต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมามากกว่าความผิดถูกตามตัวบทกฎหมายโดยคำนึงถึงผลทางรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ก็ได้ และเราได้เห็นแนวทางแบบนี้มาแล้วหลายครั้งในคดีทางการเมือง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น