กรณีของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ที่พ้นโทษโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียวนั้น มีประเด็นน่าสนใจที่คุณชาญชัย อิสระเสนารักษ์ จะยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองที่เป็นศาลที่ตัดสินคดีให้ตัดสินจำคุกรวมกัน 8 ปี และในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือ 1 ปี ว่าการส่งตัวทักษิณไปรักษาที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจนั้นขัดต่อกฎหมายวิอาญา มาตรา 246
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เมื่อเราพิจารณากฎหมายวิอาญา มาตรา 246 กับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์มาตรา 55
กฎหมายวิอาญา มาตรา 246 นั้นระบุว่า “เมื่อจำเลยสามีภริยาญาติของจำเลยพนักงานอัยการผู้บัญชาการเรือนจำหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควรศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไปในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์และ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปีและจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น”
กรณีนี้คุณชาญชัยได้ยื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิอาญา มาตรา 246 โดยเคร่งครัดในการทุเลาการบังคับโทษจำคุกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2567 แต่กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ดำเนินการ และมีข่าวว่าคุณชาญชัย กำลังจะยื่นเรื่องนี้ต่อศาลที่มีคำพิพากษาทักษิณ
ถ้าดูตามมาตรา 246 ที่ยกมาก็ชัดเจนว่า การนำตัวทักษิณซึ่งอ้างได้ตาม (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุกนั้น ชัดเจนว่า ต้องให้ศาลมีคำสั่งเสียก่อน แต่สิ่งที่กรมราชทัณฑ์ใช้ก็คือ กฎกระทรวงการส่งผู้ต้องหาไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งออกในสมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ซึ่งมีคำถามแรกว่า นายสมศักดิ์ ออกคำสั่งนี้เตรียมการไว้เพื่อใครแต่ช่างเถอะคำถามที่สำคัญกว่าก็คือ กฎกระทรวงนี้ใช้กับกรณีของทักษิณได้หรือไม่พบว่า กฎกระทรวงนี้ออกมาตามวรรคสองของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55
มาตรา 55 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเป็นโรคติดต่อให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว
หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้นให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำต่อไปทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำระยะเวลาการรักษาตัวรวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาตให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
และเมื่อดูกฎกระทรวงข้อ 2 ก็พบว่า มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรา 55 นั้นมีหลักคือคุ้มครองคนที่อยู่ร่วมกันจำนวนมาก คือมีโรคติดต่อ หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งกรณีของทักษิณนั้นไม่เข้าข่ายตามมาตรา 55 จึงไม่สามารถนำกฎกระทรวงนี้มาใช้อ้างเพื่อส่งผลตัวทักษิณได้
ถ้าจำกันได้คืนที่ส่งตัวทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น มีรายงานข่าวระบุชัดเจนว่า นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และกูรูกฎหมายเข้าไปดูแลด้วย ไม่รู้เหมือนกันว่า วันนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์หรือใครที่ชี้ช่องว่าให้ใช้ช่องตามกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 วรรคสองซึ่งหมายถึงคนที่เป็นโรคระบาดหรือโรคทางจิต
ในคืนที่ทักษิณเข้าเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่าเมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค. พัศดีเวรได้รายงานว่านายทักษิณซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรคมีอาการนอนไม่หลับแน่นหน้าอกวัดความดันโลหิตสูงระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำแล้วอ้างว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพแพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม
แต่อาการดังกล่าวของทักษิณจึงไม่เข้าตามมาตรา 55 และกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 55 ซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการส่งตัวทักษิณมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
อาจจะบอกว่าในคืนนั้นทักษิณมีอาการที่อาจจะถึงแก่ชีวิต ในเชิงมนุษยธรรมก็ต้องส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่อาจรอคำสั่งที่จะยื่นขอต่อศาลก็พอจะรับฟังได้นะ แต่มีคำถามว่า หลังจากนั้นกรมราชทัณฑ์ควรจะต้องยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 246 หรือไม่ เพราะชัดเจนว่า กรณีของทักษิณนั้นเป็นเรื่องของตัวบุคคลเข้าตามมาตรา 246 ของป.วิอาญา
แต่ปรากฏว่า เวลาต่อมากรมราชทัณฑ์ก็ไม่ได้ยื่นขอคำสั่งต่อศาล และยังปล่อยให้ทักษิณนอนในโรงพยาบาลต่อจนครบ 180 วันแล้วให้พักโทษไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยอ้างว่า ทักษิณอาจจะเสี่ยงต่อชีวิต อ้างว่ามีการผ่าตัด 2 ครั้ง แต่เราพบว่า เมื่อออกมาจากโรงพยาบาลทักษิณไม่ได้แสดงอาการป่วยแม้แต่นิดเดียว สามารถเดินทางไปไหนมาไหนหรือเล่นกีฬาอย่างกอล์ฟได้อย่างสบายๆ
ดังนั้น การส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ นอกจากไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลตามมาตรา 246 แล้ว ทักษิณยังไม่มีอาการที่อ้างว่าอาจจะส่งผลเสียต่อชีวิตจริง ซึ่งเรื่องนี้มีผู้นำไปร้องต่อ ป.ป.ช.ไว้แล้ว แต่น่าสงสัยว่าจะได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลตำรวจในการส่งหลักฐานการรักษาทักษิณให้หรือไม่ เพราะทางโรงพยาบาลตำรวจจะอ้างว่า เป็นความลับของผู้ป่วย ซึ่งต้องดูว่า ป.ป.ช.จะใช้อำนาจเพียงเรียกหลักฐานมาได้หรือไม่
นอกจากนั้นทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้เข้าไปตรวจสอบและได้ยื่นหลักฐานไปยัง ป.ป.ช.แล้วว่า การนำตัวทักษิณมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณและเป็นการเลือกปฏิบัติแตกต่างกับบุคคลทั่วไป
แต่ประเด็นที่ทักษิณป่วยจริงหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญไปกว่าการส่งตัวทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึง 180 วัน โดยอ้างว่า จำเลยจะถึงอันตรายต่อชีวิตนั้นไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตต่อศาลตาม ป.วิอาญา มาตรา 246 ดังนั้น การรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจของทักษิณนั้นยังไม่อาจนับได้ว่า ถูกพิพากษาให้จำคุกตามคำสั่งของศาล จึงต้องนำตัวทักษิณกลับมารับโทษใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลและในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ ได้มีพระบรมราชโองการให้จำคุกทักษิณ 1 ปี
แต่ประเด็นว่า หากคุณชาญชัยเป็นผู้ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองนั้น อาจจะมีปัญหาเรื่องอำนาจว่า ศาลจะมองว่าคุณชาญชัยมีอำนาจในการมายื่นหรือไม่ แต่ชัดเจนว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของอัยการที่จะต้องดำเนินการไม่เช่นนั้นก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งโดยสถานะของอัยการน่าจะเข้าใจตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับดีอยู่แล้ว ถ้าอัยการไม่ดำเนินการก็ชอบที่จะมีผู้นำเรื่องนี้ไปยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินคดีกับอัยการต่อไป
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่ทักษิณต้องกลับไปเข้าคุกตามการบังคับคดีของศาลและตามพระบรมราชโองการ ก็รอดูว่าถ้าถึงวันนั้นทักษิณจะอ้างป่วยไปนอนในโรงพยาบาลได้อีกหรือไม่
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan