ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Paper company หรือบริษัทกระดาษ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นบริษัทที่เป็นมิจฉาชีพเพื่อโกงโดยเฉพาะ Paper company เหล่านี้อาจจะโกงได้ตั้งแต่
1. การหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น การจ้างพนักงานปลอม แล้วนำไปเป็นค่าใช้จ่าย โดยยอมเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding tax) ของค่าจ้างเงินเดือน และอื่น ๆ
2.การฟอกเงิน (นำเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายมาแปลงให้เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย)
3. การสวมรอยในการกระทำผิดกฎหมายเพื่อแสวงหารายได้ที่ไม่ถูกต้อง
4. การพักเงินเพื่อส่งต่อผ่องถ่าย (Siphon) จากธุรกิจหนึ่งไปยังอีกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย
5. การขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ (Fraudulent tax refund) ได้แก่ การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเท็จ เป็นต้น
6. การออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างค่าใช้จ่ายเท็จสำหรับลงบัญชีเพื่อลดการจ่ายภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี เป็นต้น
7. การยืมเงินโดยอ้างว่าเป็นการลงทุน การสมัครหาสมาชิก อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ แต่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง เช่น อ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรงออนไลน์ ที่รับบริหารสินค้าคงเหลือให้เป็นศูนย์ (Zero-inventory) ได้ เป็นต้น
8. การตั้ง paper company เพื่อใช้ยืมเงินระหว่างบริษัทหรือตั้งราคาโอน (Transfer pricing) เพื่อสร้างค่าใช้จ่ายสูง ๆ ผิดปกติ หรือสร้างยอดขายปลอม ก็เป็นสิ่งที่ทำกันเพื่อตบตานักลงทุนหรือเพื่อหลบกรมสรรพากร
และมีรูปแบบอื่น ๆ อีกมาก
บริษัทกระดาษเหล่านี้ หาได้ประกอบกิจการจริงไม่ หาได้ทำธุรกิจจริง แต่ตั้งขึ้นอย่างถูกต้องเพื่อโกงและกระทำผิดกฎหมายสารพัดวิธีการที่จะคิดสร้างสรรค์อย่างผิดวิธี เพื่อโกงประเทศชาติหรือหลอกลวงประชาชน
หมู่เกาะบริติชเวอร์จินและหมู่เกาะเคย์แมน เป็นสถานที่ยอดนิยมในการตั้ง paper company เพื่อนำสินทรัพย์ไปซ่อน มหาเศรษฐีไทยก็ทำกันมาก นักการเมืองไทยก็ทำเช่นนี้กันมาก ดินแดนเหล่านี้เป็นดินแดนปลอดภาษี ไม่มีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่มีระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินหรือบริคณห์สนธิอันเป็นข้อมูลบริษัท ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน จึงเป็นสวรรค์สำหรับ paper company และผู้กระทำความผิด
Paper company เหล่านี้ ในประเทศไทยเองก็มีเป็นจำนวนมาก มักจะผลุบโผล่ จดทะเบียนไว ปิดไว้ มีที่ตั้งอันไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน หรือย้ายที่อยู่บ่อย พวก paper company เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นอาชญากรทางการเงิน (Financial crime) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคม
แชร์ลูกโซ่ นั้นจัดว่าเป็น paper company อีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ประกอบกิจการจริงหรือทำธุรกิจจริง แต่ชวนประชาชนมาร่วมลงทุน โดยชักจูงใจด้วยความสำเร็จหรือผลตอบแทนที่งดงามเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ นำเงินมาลงทุน ในรูปแบบต่าง ๆ สมัครสมาชิก กู้ยืมเงิน ค้าเงินตราต่างประเทศ ค้าเงินคริปโต และอื่น ๆ แต่ทั้งหมดทั้งปวงคือไม่ได้ค้าขายจริง และไม่สามารถทำให้เกิดผลตอบแทนงดงามได้จริงตามที่หลอกลวงโฆษณา ผู้ที่เข้าไปก่อนจะได้รับผลตอบแทนดีงามและชักจูงคนอื่น ๆ มาเป็นดาวน์ไลน์ต่อกันเป็นลูกโซ่ กระแสรายได้ (Revenue stream) หาได้มาจากการประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง แต่มาจากการลงทุนของสมาชิกอย่างต่อเนื่องและนำเงินมาหมุนไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังมีเหยื่อรายใหม่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกหรือเข้ามาลงทุนก็จะมีเงินหมุนต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่เมื่อไหร่เกิดสะดุดขึ้นมา ขาดสภาพคล่อง (Liquidity) หรือมีคนจับได้และแจ้งความดำเนินคดีก็จะเกิดปัญหาในท้ายที่สุดและส่งผลกระทบต่อรายหลัง ๆ ที่ถูกชักจูงเข้ามามากกว่ารายที่เข้าไปลงทุนก่อนที่ยังพอได้ผลตอบแทนอะไรไปแล้วบ้าง (กับตัวการที่ตั้งบริษัทแชร์ลูกโซ่) ที่มักจะเล่นแร่แปรธาตุเอาเงินผ่องถ่ายออกไปจนหมดแล้ว
แชร์ลูกโซ่แบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ponzi Scheme น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดย Charles Ponzi เชื้อสายอิตาลี ในสหรัฐอเมริกา ในราว คศ. 1920 จริง ๆ ก็อาจจะมีแชร์ลูกโซ่ก่อนหน้านั้น แต่อาจจะยังไม่โด่งดังหรือส่งผลกระทบเท่ากรณี Ponzi Scheme ซึ่งจะได้ผลไปจนกว่าจะหมดผู้เข้ามาลงทุนรายใหม่หรือมีคนจับได้ไล่ทัน Ponzi เริ่มต้นหลอกนักลงทุนว่าสามารถสร้างผลกำไรมหาศาลจากการซื้อขาย International Reply Coupons (IRCs) ซึ่งเป็นคูปองที่ใช้แลกแสตมป์ในการส่งจดหมายระหว่างประเทศ โดยการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนซื้อในประเทศที่ค่าเงินอ่อนและขายในประเทศที่ค่าเงินแข็ง สามารถทำกำไรได้ถึง 400% ในเวลา 90 วันหรือ 1,600% ในเวลาประมาณหนึ่งปี และสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน 100% ภายในสามเดือน หรือ 400% ภายในหนึ่งปี
ลักษณะของแชร์ลูกโซ่หรือ Ponzi Scheme นั้นมีลักษณะดังนี้
หนึ่ง มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงมากแต่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก อันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับทฤษฎีทางการเงิน High risk, high expected return ความเสี่ยงสูง อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังสูง การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง และการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงย่อมมีความเสี่ยงที่สูงกว่า ดังนั้นการลงทุนใดที่รับรองโอกาสในการทำกำไรที่สูงลิ่วย่อมต้องเป็นที่ต้องสงสัยสูงไว้ก่อน จึงจะสมเหตุสมผล ไม่สามารถรับรองผลตอบแทนได้ หากรับรองก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่มากกว่าการลงทุนอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
สอง ผลตอบแทนที่คงเส้นคงวาเกินไป (Overly consistent returns) การลงทุนทุกชนิดมีได้มีเสีย มีขึ้นมีลง มีความผันผวน ตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่าความเสี่ยง อาจจะเป็นทั้งความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) ซึ่งมีเหตุผลอธิบายได้ว่าเกิดจากอะไร เช่น ความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่เป็นผลมาจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์หรือสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น และความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic risk) ที่อธิบายได้ยากหรือยังไม่มีคำอธิบาย อย่างไรก็ตามพึงระมัดระวังและไม่เชื่อไว้ก่อนหากการลงทุนใดกล่าวอ้างว่ามีแต่ได้ไม่มีทางเสีย โดยมิได้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสภาพตลาด การลงทุนใดที่นิ่งผิดปกติ คงเส้นคงวา จนเกินไป จนไม่มีความเสี่ยงเลย ย่อมผิดปกติ และมีแนวโน้มจะเป็นแชร์ลูกโซ่หลอกลวงฉ้อโกงประชาชน
สาม การลงทุนที่ไม่มีการจดทะเบียน (Unregistered investments) แชร์ลูกโซ่มักเป็นบริษัทขนาดเล็ก ตั้งใหม่ โดยคนไม่รู้หัวนอนปลายตีน แต่ดึงดาราหรือ influencer มาเป็นโฆษกหรือ presenter เช่นเดียวกันกับ paper company ที่จะเปิดมาเร็ว แล้วก็ปิดไปเร็ว ไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคง ไม่มีทางเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีทางเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและกำกับควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ มักจะเข้าไปสู่การจดทะเบียนประเภทธุรกิจบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมเดียวกันไม่ได้ เช่น เข้าไปจดทะเบียนขายตรงไม่ได้ ก็อ้างว่าเป็นการตลาดทางตรงแทน เป็นต้น การได้รับการจดทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายนั้น เป็นเครื่องช่วยให้นักลงทุนพอจะเชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงิน กรรมการบริษัท สินค้าและบริการ ในระดับหนึ่ง
สี่ ผู้ขายหน่วยลงทุนหาได้มีใบอนุญาตไม่ (Unlicensed sellers) การขายหน่วยลงทุนต่าง ๆ ต้องมีใบอนุญาต ไม่ว่าจะขายกองทุนรวม ประกันชีวิต หรือประกันภัยต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ขายหน่วยลงทุนต้องผ่านการสอบหรือการอบรม ในขณะที่แชร์ลูกโซ่มักจะชักชวนให้ไปลงทุนโดยบุคคลหรือบริษัทที่ไม่ได้มีใบอนุญาต ดังนั้นพึงต้องระวังอย่างยิ่ง
ห้า มักมีกลยุทธ์อันซับซ้อน เป็นความลับดูมหัศจรรย์ (Secretive, complex strategies) ไม่สามารถอธิบายตัวแบบทางธุรกิจ (Business model) ให้ชัดเจนได้ โดยเฉพาะกระแสรายได้ (Revenue stream) นั้นจะมาจากไหน ชักชวนว่าไม่ต้องขายของเลย แต่มีรายได้จากการชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนมากมาย เช่นนี้ เป็นต้น กระแสรายได้ผิดปกติที่ฟังแล้วไม่อาจจะเข้าใจได้ว่าทำกำไรมาได้อย่างไร หารายได้มาได้อย่างไร หรือมีข้อมูลไม่ครบเพียงพอ ธุรกิจหรือบริษัทเหล่านี้มักจะเป็นแชร์ลูกโซ่ ให้พึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
หก บริษัทแชร์ลูกโซ่มักมีประเด็นปัญหาเรื่องเอกสารที่เป็นทางการ (Issues with paperwork) ปัญหานี้อาจจะซับซ้อนมากพอสมควร เพราะอาจจะมีผู้สอบบัญชีสายโจรเข้าไปรับรองงบการเงิน แต่อย่างไรก็ตามหากไปวิเคราะห์งบการเงินก็จะเห็นความผิดปกติของบริษัทแชร์ลูกโซ่ได้อย่างชัดเจน บริษัทแชร์ลูกโซ่จำนวนมาก ไม่สามารถหาเอกสารที่เป็นทางการเช่น งบการเงินที่ได้รับการรับรอง หนังสือบริคณห์สนธิ และเอกสารสำคัญอื่น ๆ ทางกฎหมายและทางการเงิน บางครั้งก็อาจจะเป็นเอกสารปลอมให้พึงระวังและสืบค้นข้อมูลให้เต็มที่ที่สุดก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่
และ เจ็ด บริษัทแชร์ลูกโซ่ มักจะมีปัญหายุ่งยากในการจ่ายเงิน (Difficulty receiving payments) เวลาที่ลงทุนแล้ว หากมีผลตอบแทนสูงจะพยายามชักชวนให้ลงทุนกลับไป (Re-invest) ไม่ยอมจ่ายเป็นเงินสดออกมา แต่จะให้ลงทุนเพิ่มไปอีก และนำตัวเลขผลตอบแทนที่สูง ทบต้นทบดอก มากมายมหาศาลมาล่อใจให้ลงทุนต่อ ไม่จ่ายเงินสดหรือผลตอบแทนออกมาเสียที หลายครั้งจะนำเสนออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนกลับที่สูงยิ่งกว่าเดิมมาล่อใจ นักลงทุนในแชร์ลูกโซ่ที่ถูกหลอกก็จะฝันหวานกับตัวเลขผลตอบแทนอันรัญจวนใจแต่ไม่มีเงินอยู่จริง ที่แชร์ลูกโซ่พยายามจะไม่จ่าย ก็เพื่อรักษาสภาพคล่องและทำให้เงินยังคงหมุนต่อไปได้ เพื่อไม่ให้ลูกโซ่ขาดผึงลง ในอดีตมีแชร์ลูกโซ่ในประเทศไทยที่รองศาสตราจารย์ทางคอมพิวเตอร์เป็นผู้ฉ้อโกง แล้วเรื่องแดง โซ่ขาดผึงเมื่อศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเสียชีวิตลง และทายาทได้มาทวงคืนเงินทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนที่ลงทุนไว้ เนื่องจากศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาผู้ล่วงลับ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในแชร์ลูกโซ่นี้ ทำให้แชร์ลูกโซ่นี้ขาดสภาพคล่องและหมุนเงินไม่ทันจนถูกจับกุมดำเนินคดีในท้ายที่สุด ดังนั้นหากมีปัญหาในลักษณะการจ่ายเงินยากให้พึงสงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ และพึงมีสติในใจว่ากำขี้ดีกว่ากำตด (ได้ผลตอบแทนน้อยก่อนในมือยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
ในประเทศไทยเองก็มีแชร์ลูกโซ่และ paper company เหล่านี้มามากมาย
แชร์ลูกโซ่แรกสุดที่ทำให้คนไทยเจ็บตัวกันมากมายคือแชร์ลูกโซ่ของนางชม้อย ทิพยโส ซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจในองค์การเกี่ยวกับพลังงาน ชม้อยอ้างว่าค้าน้ำมันได้กำไรดีมาก ในเวลานั้นโลกกำลังประสบวิกฤติพลังงานในราว พ.ศ. 2523 อย่างรุนแรง น้ำมันราคาแพงมาก ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ของนางชม้อยกันไปมากมาย ทุกวันนี้นางชม้อยน่าจะพ้นโทษจำคุกออกมาเรียบร้อยแล้ว
แชร์ชาร์เตอร์ ในราว พ.ศ. 2526 เป็นแชร์ลูกโซ่ที่ก่อตั้งโดยนายเอกยุทธ อัญชันบุตร โดยอ้างหลอกลวงว่าทำกำไรได้มากมายมหาศาลจากการค้าส่วนต่างดอกเบี้ยของเงินตราต่างประเทศหลายสกุลที่ต่างกันมากของประเทศต่าง ๆ แล้วนำผลกำไรไปลงทุนเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์อีกต่อหนึ่ง
คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องการเงินระหว่างประเทศ จึงไม่ได้เข้าใจว่า Interest parity หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินแต่ละสกุลจะทำให้ท้ายที่สุดเงินสกุลนั้น ๆ อ่อนค่าลงหรือแข็งค่าขึ้น โอกาสที่จะทำกำไรอย่างที่นายเอกยุทธ อัญชันบุตรอ้างนั้นแทบไม่มี ต่อมาเมื่อรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจลดค่าเงินบาท ก็ทำให้บริษัทแชร์ชาร์เตอร์ถูกกรมสรรพากรฟ้องล้มละลาย ในพ.ศ. 2528 นางเอกยุทธถูกฟ้องคดีแชร์ชาร์เตอร์และคดีกบฎนายทหารนอกราชการ จนต้องหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศจนคดีหมดอายุความจึงเดินทางกลับมายังประเทศไทย
หลังจากนั้นก็มีแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทยอีก ไม่ว่าจะเป็น แชร์บลิสเซอร์เพื่อการท่องเที่ยว แชร์ชักชวนลงทุนเพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักผ่อนตากอากาศแบบ time sharing แชร์ลูกโซ่ค้าทองคำ แชร์ลูกโซ่ค้าเงินตราต่างประเทศ แชร์ Forex 3D แชร์ลูกโซ่เก็งกำไรในคริปโตเคอเรนซี่และบิทคอยน์ เป็นต้น ทั้งหมดก็มีคนไทยเต็มใจไปเป็นเหยื่อให้เขาหลอกลวงและเกิดความเสียหายมากมาย
รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิจารณาว่าปัญหาแชร์ลูกโซ่ กระทบกระเทือนเศรษฐกิจและประชาชนอย่างร้ายแรง เลยต้องออกกฎหมายมาแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ ด้วยการออกพระราชกำหนด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า emergency decree อันเป็นชื่อที่ชัดเจนมากว่าเป็นการตรากฎหมายโดยรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีที่ฉุกเฉินหรือ emergency
รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรี ตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ไปก่อน โดยอาศัยพระราชอำนาจ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศอันเร่งด่วน
พระราชกำหนดจะออกได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดพิบัติสาธารณะ
หลังจากนั้นรัฐบาลจึงค่อยนำพระราชกำหนดที่ประกาศใช้ไปก่อนแล้วเข้าไปพิจารณาอนุมัติโดยรัฐสภาโดยเร็ว
พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 นี้ประกาศใช้มาแล้ว 40 ปี และมีการแก้ไขไปแล้วหลายครั้ง เช่น การแก้ไขใน พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2545 เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่า
เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่า มีการกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อย่างอื่นตอบแทนให้สูงเกินกว่าประโยชน์ที่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้รับฝากเงินจะพึงหามาได้จากการประกอบธุรกิจตามปกติ โดยผู้กระทำได้ลวงประชาชนที่หวังจะได้ดอกเบี้ยในอัตราสูงให้นำเงินมาเก็บไว้กับตนด้วยการใช้วิธีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงเป็นเครื่องล่อใจ แล้วนำเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมหรือรับฝากเงินรายอื่น ๆ มาจ่ายเป็นดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ฝากเงินรายก่อน ๆ ในลักษณะต่อเนื่องกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฉ้อโกงประชาชน เพราะเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า ในที่สุดจะต้องมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถได้รับต้นเงินกลับคืนได้ และผู้กู้ยืมเงินหรือผู้รับฝากเงินกับผู้ที่ร่วมกระทำการดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากเงินที่ตนได้รับมา เพราะผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ฝากเงินไม่สามารถบังคับหรือติดตามให้มีการชำระหนี้ได้ อนึ่ง กิจการดังกล่าวนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปย่อมจะก่อให้เกิดผลร้ายแก่ประชาชนทั่วไป และจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะมีกฎหมายเพื่อปราบปรามการกระทำดังกล่าว กับสมควรวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่
อาจได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ได้นิยาม คำว่า กู้ยืมเงิน ในมาตรา 3 เอาไว้ว่า
“กู้ยืมเงิน” หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงินหรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ
“ผลประโยชน์ตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ผู้กู้ยืมเงิน หรือบุคคลอื่นจ่ายหรือจะจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินเพื่อรกู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจ่ายในลักษณะดอกเบี้ย เงินปันผล หรือลักษณะอื่นใด
นอกจากนี้พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ยังระบุประเด็นการชักชวนให้กู้ยืมเงินเอาไว้ในมาตรา 4 ว่า
ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วย
ประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ได้นิยามความหมายของการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนไว้ในมาตรา 5 เอาไว้ว่า
ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในการกู้ยืมเงินหรือจะกู้ยืมเงิน
(ก) มีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป หรือโดยการแพร่ข่าวด้วยวิธีอื่นใดหรือ
(ข) ดำเนินกิจกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ หรือ
(ค) จัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ หรือ
(ง) จัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการให้กู้ยืมเงิน หรือ
(จ) ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเกินสิบคนซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และ
(๒) ผู้นั้น
(ก) จ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้ หรือ
(ข) ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือกิจการของผู้นั้นตามที่ผู้นั้นได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗ ไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่า เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินทั้งหลาย
ผู้นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา ๔ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า กิจการของตนหรือของบุคคลที่ตนอ้างถึงนั้น เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายตามที่ตนได้กล่าวอ้าง หรือหากกิจการดังกล่าวไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียง ก็จะต้องพิสูจน์ได้ว่ากรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติอันไม่อาจคาดหมายได้ หรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น
และกำหนดบทลงโทษเอาไว้ใน มาตรา ๑๒
ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
การที่ The icon group โฆษณาว่าเป็นการลงทุน ให้ผลตอบแทนสูงเกินกว่าปกติ มีลักษณะของแชร์ลูกโซ่ มีการชักชวนให้สมัครสมาชิกเพื่อลงทุนนับแสนราย ก็น่าจะจำเป็นที่จะใช้พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เพื่อปกป้องประชาชนผู้ถูกหลอกลวง
ส่วนจะติดตามทรัพย์ อายัดทรัพย์ กลับคืนมาให้ผู้เสียหายได้มากน้อยแค่ไหน คงเป็นเรื่องที่หวังได้ยาก เพราะคงยักย้ายผ่องถ่ายไปยังต่างประเทศหรือ cryptocurrency ต่าง ๆ ไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว
และนี่คือลักษณะของแชร์ลูกโซ่ อันเป็น paper company อย่างหนึ่ง ไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง แต่ฉ้อโกงประชาชน
บทความถัดไปจะวิเคราะห์ให้ฟังว่า งบการเงินของบริษัทขายตรงแตกต่างจากแชร์ลูกโซ่อย่างไรบ้าง