หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
การเมืองไทยอยู่ในยุคหลังม่านทั้งเนวิน ชิดชอบ ที่บัญชาการอยู่หลังม่านพรรคภูมิใจไทย ทักษิณที่อยู่หลังม่านพรรคเพื่อไทย และจะว่าไปแล้วพรรคประชาชนของคนรุ่นใหม่ก็มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บัญชาการอยู่หลังม่าน คนที่มีตำแหน่งแห่งหนอยู่หน้าม่านก็เล่นไปให้สมบทบาทตามที่คนอยู่หลังม่านเขียนบทให้แสดง
ความบาดหมางระหว่างเนวินกับทักษิณนั้นแท้จริงจบไปแล้วตั้งแต่พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพียงแต่สถานภาพแห่งไมตรีของคนทั้งสองเพิ่งจะปรากฎต่อสาธารณะเมื่อมีคนรู้ว่าเนวินเข้าไปบ้านจันทร์ส่องหล้าของทักษิณ หลังจากที่สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศเงื่อนไขว่า หากรัฐบาลแพทองธารทุจริตคอร์รัปชั่น หรือตกลงผลประโยชน์ทางทะเลกับเขมรจนยอมรับสภาพว่าเกาะกูดเป็นส่วนหนึ่งของเขมรที่เขาลากเส้นเขตแดนมาแล้ว เขาจะลงถนน
ถ้าจำกันได้ขุนพลของทักษิณในการรับมือกับคนเสื้อเหลืองในยุคแรกและก่อตั้งคนเสื้อแดงก็คือ เนวินนั่นเอง
วันนี้เนวินกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาและกุมเสียงข้างมากในรัฐสภานั่นคือ เสียงของพรรคภูมิใจไทยรวมกับเสียงของส.ว.ซึ่งหมายความว่า หากมีการประชุมร่วมของ 2 สภาเมื่อไหร่ อำนาจจะอยู่ในมือของเนวิน ส่วนสภาล่างนั้นมีเสียงที่ก้ำกึ่งกันระหว่างพรรคประชาชนของธนาธรกับพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ดังนั้นวันนี้อำนาจทางการเมืองจึงอยู่ในมือของ 3 กลุ่ม แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงร่วมกันท่วมท้น
ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ท้าทายระบอบรัฐของพรรคประชาชน รวมถึงการกลับมาโดยไม่ต้องติดคุกของทักษิณทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อรับการความท้าทายของพรรคประชาชน ในขณะที่พรรคประชาชนก็เชื่อว่า วันเวลาที่เดินไปข้างหน้าพวกเขาจะสามารถได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในที่สุด แต่ถ้าถามว่าพรรคประชาชนจะทำได้หรือไม่ ผมกลับคิดว่าก็คงไม่ง่ายอย่างที่พวกเขาคิด เพราะสิ่งที่สังคมกลัวก็คือความขัดแย้งและความรุนแรงที่จะตามมา
เกือบสองทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองนั้นมันกระทบต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากให้วันเวลาเหล่านั้นหวนกลับไปอีก ถ้ารัฐบาลของพรรคทักษิณบริหารประเทศไปได้คนส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่เลือกตัวเลือกที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งแบบพรรคประชาชน
ถ้าเราจำกันได้หลังที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและธนาธรถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง พวกเขาเดินเกมด้วยการผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ลงถนน ตามด้วยข้อเรียกร้องหนึ่งในนั้นก็คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องอย่างเปิดเผยต่อเรื่องในนี้ในทางสาธารณะเป็นครั้งแรก แต่เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีความรู้ทางหลักการและทฤษฎีที่มากพอทำให้การเคลื่อนไหวของพวกเขาเต็มไปด้วยความหยาบคายและก้าวร้าวจนตามมาด้วยการถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก แทนที่จะมีคนเตือนให้ปรับเปลี่ยนยุควิธีกลับผลักดันให้ทะลุทะลวงไปเรื่อยๆ ด้วยเสียงชื่นชมของพวกผู้ใหญ่ที่แอบอยู่ข้างหลัง และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ถึงกับบอกว่า คำหยาบนั้นเป็นการประกาศหลักความเสมอภาค
การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่มีพรรคการเมืองของพวกเขารุ่นหลังนั้นลามปามทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ จนมาถึงการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
แน่นอนว่าองค์กรเครือข่ายหนึ่งก็คือ พรรคการเมืองที่พวกเขาให้การสนับสนุนนั่นเอง
แต่หลังจากที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง อาจทำให้แกนนำของพรรคและเจ้าของพรรคอย่างธนาธรมองเห็นว่า พวกเขาสามารถได้อำนาจรัฐด้วยการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้มวลชนคนรุ่นใหม่บนถนนอีกต่อไป มวลชนบนถนนจึงหายไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นความพยายามจะผลักดันให้นิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 112 ไปด้วยเพื่อช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาใช้เป็นเครื่องมือมาท้าทายระบอบของรัฐ สถาบันกษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ให้ต้องติดคุก
ปัจจัยที่ท้าทายต่อระบอบของรัฐและชัยชนะของพรรคก้าวไกล การเปลี่ยนจุดยืนของชนชั้นกลางในเมืองมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลนี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทักษิณได้กลับบ้าน คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีดีลซึ่งไม่รู้หรอกว่าใครดีลกับใคร แต่ปรากฎการณ์ของทักษิณที่เกิดขึ้นหลังจากกลับประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษเข้ามาจัดการ
ใครต่อใครต่างก็เชื่อว่า คนที่อยู่เบื้องหลังการกลับมาของทักษิณคนหนึ่งก็คือ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง จึงไม่แปลกที่ส.ว.ฝั่งของลุงตู่จึงยกมือให้เศรษฐา ทวีสินได้เป็นนายกฯ และพรรครวมไทยสร้างชาติก็ลุงตู่ก็คือพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในที่สุด
นั่นคือความจริงทางการเมืองที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นหนทางที่ไม่มีทางเลือกมากกว่านี้ คนที่ยังรักลุงตู่ก็บอกว่าต้องไว้ใจกับการตัดสินใจของลุงตู่ ก็อาจจะจริงว่าทางเลือกที่ดีกว่านี้นั้นยังมองไม่เห็น เพราะพรรคที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมแท้ ๆเช่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคของลุงตู่ และพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ได้มีเสียงที่มากพอเมื่อเทียบกับพรรคของทักษิณ ดังนั้นทางเดียวที่ฝ่ายอนุรักษ์จะรักษาสถานภาพเอาไว้ได้จากความท้าทายของพรรคก้าวไกลในเวลานั้นก็คือ ต้องจับมือกับทักษิณ
เชื่อว่าทักษิณก็รู้แล้วว่าจะเป็นอย่างไรก่อนที่เขาจะกลับประเทศ และเขาจะต้องแยกตัวกับพรรคก้าวไกลที่ประกาศเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและพันธมิตรกันทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง เขาจึงได้นัดพบกับธนาธรที่ฮ่องกงก่อนจะกลับมาไม่รู้เหมือนกันว่า เขาพยายามกล่อมเกลาให้พรรคของธนาธรลดความท้าทายต่อสถาบันกษัตริย์ลงหรือว่า บอกเหตุผลว่าพรรคของเขาจะต้องแยกกันเดินกับพรรคก้าวไกลเพื่อเขาจะได้กลับประเทศแบบที่เคยประกาศไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว
ขณะเดียวกันจะเห็นว่าบทบาทของพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนในสภาเราก็ไม่ได้เห็นการขับเคี่ยวรัฐบาลของพรรคพรรคเพื่อไทยแบบดุเดือดมากนัก ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่า ข้อตกลงของทักษิณกับธนาธรที่ฮ่องกงนั้นตกลงกันว่าอย่างไร
ทักษิณก็คือทักษิณเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ เขาก็พร้อมที่จะใช้อำนาจอย่างไม่บันยะบันยัง วันนี้จึงมีข่าวว่า เขาเรียกรัฐมนตรีไปสั่งงานซึ่งแน่นอนที่สุดแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะชื่ออุ๊งอิ๊งค์-แพทองธารลูกสาวของเขา แต่ด้วยสถานภาพความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่มีสิ่งไหนที่เธอมีความเพียบพร้อมเลย นอกจากต้องบริหารประเทศไปด้วยไอแพดเท่านั้นเอง ถ้าใครได้อ่านสิ่งที่ทางรัฐบาลสหรัฐเอามาเผยแพร่ถึงการพบกันระหว่างอุ๊งอิ๊งค์กับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เวียงจันทร์ก็จะเห็นว่าเธอไม่มีความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจนบลิงเคนต้องตัดบทจบอย่างไม่อยากเสียเวลา
ทักษิณรู้ว่า วันนี้เสียงของวุฒิสภานั้นอยู่ในมือของเนวิน แม้ว่าเขากับเนวินน่าจะคุยกันมาหลายครั้งแล้วตั้งแต่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่การปรากฏข่าวให้เห็นว่าเป็นการพบกันครั้งแรกนั้น น่าจะส่งสัญญาณไปยังศัตรูทางการเมืองทุกฝ่ายว่า วันนี้เขาได้กลับมาจับมือกับเนวินอีกครั้งเหมือนตอนที่อยู่ด้วยกันในฐานะนายกับบ่าวในรัฐบาลไทยรักไทยมาจนถึงพรรคพลังประชาชนในอดีตแล้วเนวินประกาศอมตะวาจาว่า “มันจบแล้วครับนาย” ด้วยการพบส.ส.แยกออกมาสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี
แน่นอนว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรอยู่แล้ว นอกเหนืออื่นใดสำหรับปรัชญาทางการเมืองของเนวินก็คือ เขาต้องเป็นรัฐบาลสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่อำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลประโยชน์ที่ตามมา ข้าราชการทุกกระทรวงที่อยู่ภายใต้พรรคภูมิใจไทยล้วนรู้ว่าพวกเขาต้องตอบสนองกับใคร และคนที่มีบทบาทอยู่หลังฉากแบบเขานั้นไม่ต้องถูกตรวจสอบใดๆจากหน่วยงานของรัฐไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.
วันนี้ทักษิณกับเนวินอาจจะเปลี่ยนสถานะจากนายกับบ่าวมาเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่มีบทบาทอยู่หลังม่าน แต่อย่าลืมว่า ความเชื่อมั่นในอำนาจและความเหิมเกริมของทั้งสองคนที่เคยร่วมมือกันนั้นมีบทเรียนในอดีตแล้วมันจะมีจุดจบอย่างไร และหากไปถึงจุดนั้นมันอาจจะส่งผลสะเทือนต่อระบอบและอุดมการณ์ของรัฐที่กลายเป็นเดิมพันสำคัญในการเมืองไทยวันนี้ด้วย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan