xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน จากครหิสู่ไชยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

นักประวัติศาสตร์ไทยหลายท่านเช่น มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี เป็นต้น และนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นหลายท่านเช่น ทากาชิ ซูซุกิเชื่อว่า คำว่า ไชยา มาจาก ศรีวิชัย และเชื่อว่าไชยาคือศูนย์กลางของสมาพันธรัฐศรีวิชัย ซึ่งก็เป็นประเด็นถกเถียงกันมานาน แต่ถ้าอ่านเอกสารจีนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัยแล้ว โดยเฉพาะหลิ่งว่ายไต้ต่าและจูฟานจื้อจะพบว่าศูนย์กลางของสมาพันธรัฐศรีวิชัยอยู่ที่ช่องแคบมะละกา ในปี พ.ศ.2556 คณะนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซียขุดค้นพบศาสนสถานและสถานที่อยู่ขนาดใหญ่ที่มัวโร่ จัมบิขุดค้นพบวัดในอาณาบริเวณ 12 ตารางกิโลเมตร ยาว 7.5 กิโลเมตรตามริมฝั่งแม่น้ำบาตังฮารี มีซากวัดหรือเมนาโปส 80 กองที่ยังไม่ได้ขุดค้น ซึ่งบริเวณนี้เป็นพุทธสถานนิกายมหายาน-วัชรยานและเป็นที่ศึกษาธรรมะที่ใหญ่พอที่จะรับรองพระภิกษุนับพันตามบันทึกของพระภิกษุอี้จิงและพระอธิศาในขณะที่ในไชยายังไม่เคยขุดพบวัดขนาดใหญ่เช่นนี้เลย [Meekanon 2023]

นอกจากนี้ในช่วงที่ว่า ฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศรวบรวมสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่เกาะสุมาตราอยู่นั้น ศิลปวัตถุที่ไชยาในสมัยเดียวกันยังเป็นของยุคทวารวดี และมีการค้นพบจารึกภาษามอญโบราณที่นครศรีธรรมราชในสมัยใกล้เคียงกัน [ฐานข้อมูลศิลาจารึก ศูนย์มนุษย์วิทยาสิรินธร www.sac.or.th/databases/inscriptions] ซึ่งแสดงว่าพวกมอญยังคงอยู่อาศัยในบริเวณนี้ตอนที่มีการก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยอยู่ทำให้ข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าไชยาเป็นศูนย์กลางของสมาพันธรัฐศรีวิชัยตกไป ไชยาหรือครหิถูกบันทึกเป็น แก-ลา-หิ (加罗希เจี้ย-หลัว-ซี) ในพงศาวดารสุยชู้ พ.ศ.1151 และบันทึกจูฟ่านจื้อปีพ.ศ. 1768 แต่เป็นต้า-หล่า-ซี (達剌希ตัด-ลัด-หิ) ในบันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อ ปีพ.ศ.1847 เจฟ เวดเชื่อว่ากา-หล่าคือไชยา [Wade 2004] แต่เมื่อตรวจสอบกับบันทึกการเดินทางของหยางเหลียงเย่าในสมัยราชวงศ์ถังที่จารึกหลุมฝังศพของเขาแล้วแล้วกา-หล่าคือเคดาห์

หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
การขุดค้นทางโบราณคดีในอ.ไชยานั้นมีอาณาบริเวณที่สำคัญอยู่ 2 แห่งบริเวณคือตอนในฝั่งตะวันตกของสถานีรถไฟอ.ไชยา และชายฝั่งทะเลทางตะวันออกที่แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ที่ ต.พุมเรียง คลองไชยาไหลผ่านต.โมถ่าย ต.ป่าเว จนถึงบ้านดอนพตแล้วแยกเป็น 2 สายไหลลงทะเล ผ่านวัดสำคัญๆ เช่น วัดเววน วัดดอนพต วัดพระบรมธาตุไชยา วัดแก้ว วัดหลง วัดศาลาทึง เป็นต้น ปัจจุบันเป็นคลองเล็กคับแคบน่าจะเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณในสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยและนั้นสมัยนั้นอาจจะกว้างจนมีเรือแล่นเข้าไปได้ แหล่งโบราณคดีตอนในได้แก่ ซากโบราณสถานวัดแก้วและวัดหลง วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเวียง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีหลัก พบโบราณวัตถุตามแบบอารยธรรมทวาราวดีเป็นจำนวนมากซึ่งสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวครหิสมัยนั้นอาจจะนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ก่อนที่ราชวงศ์ไศเลนทร์ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองครหิ ซึ่งนักโบราณคดีไทยจัดให้อยู่ในสมัยทวารวดี [ประวัติวัดเวียง พ.ศ.2547] ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของช่างสกุลไชยาในยุคแรกๆ เจดีย์วัดแก้ว วัดหลงคล้ายจันฑิกลาสาน (พ.ศ.1321) และพระบรมธาตุไชยาคล้ายกับจันฑิปาวนที่สร้างในราว พ.ศ.1400 สร้างตามแบบศิลปะของราชวงศ์ไศเลนทร์ในเกาะชวา [Meekanon 2023] ยังมีซากเจดีย์บนเขาสายสมอ

วัดเวียงตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นชุมชนเมืองครหิ (ไชยาโบราณ) อยู่ในแนวคูเมืองไชยาเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ขุดลงไปมีชั้นดินทับถมกันเป็นชั้นๆ มีเศษอิฐ เศษกระเบื้องภาชนะ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ถ้วย ชาม กระปุกหม้อ ไหและลูกปัดจากต่างยุคสมัยปะปนกัน มีหม้อดินเขียนลายสีแดงอยู่ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีแผ่นศิลากรอบประตูและธรณีประตู ส่วนประกอบยอดเจดีย์ ฐานพระพุทธรูปและเทวรูป ชิ้นส่วนของพระพุทธรูปและใบเสมาแกะจากศิลาทรายแดง วัดนี้ตั้งอยู่ในศูนย์กลางชุมชน วัดเวียงและวัดอื่นๆในอ.ไชยาเคยเป็นวัดในพุทธศาสนามหายานหรือเทวสถานฮินดูหรือพุทธมหายานมาก่อนจึงมีใบพัทธฺสีมาคู่เนื่องจากต้องผูกพัทธสีมาใหม่ตามแบบเถรวาทหลังจากรับลัทธิลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชเมื่อมหาราชาจันทรภาณุประกาศแยกตามพรลิงค์ออกจากศรีวิชัย มีการค้นพบเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสมัยพุทธศตวรรษที่ 13-18 มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองลายกดทับและลายเครื่องเคลือบจีนสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 ในยุคศรีวิชัยตอนปลายต่อตามพรลิงค์ร่วมสมัยบันทึกในจูฟ่านจื้อ สือหลินกว๊างจี๊ และพบถ้วยชามสังคโลกในสมัยสุโขทัยซึ่งเป็นยุคต่อมา เนื่องจากโบราณวัตถุสำริดเป็นจำนวนมากที่ค้นพบในบริเวณนี้มีองค์ประกอบของดีบุกเพียงร้อยละ 7.55 ทั้งๆที่ในแหลมมลายูมีแหล่งแร่ดีบุกมากมาย นักโบราณคดีหลายท่านจึงสันนิษฐานว่าน่าจะนำเข้าสำริดมาจากที่อื่น [ประวัติวัดเวียง พ.ศ.2547] เกียรติกำจร มีขนอนสันนิษฐานว่าน่าจะถูกลักลอบนำเข้าจากจีนเนื่องจากเอกสารจีนหลายฉบับบันทึกว่าศรีวิชัยพยายามลักลอบนำทองแดงซึ่งเป็นส่วนประกอบในการหลอมสำริดออกจากจีนในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 [Meekanon 2023]

แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์อยู่ริมชายฝั่งทะเลมีพบโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ถังและซ่งตอนต้นเช่น เครื่องถ้วยจีนหูหนาน ฉางซาสมัยราชวงศ์ถังประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 พบพระอวโลกิเตศวรแบบศรีวิชัย-ไศเลนทร์สมัยพุทธศตวรรษที่ 14-16 พบลูกปัดพุมเรียง เป็นต้น นอกจากแหล่งโบราณคดีหลัก 2 แหล่งที่กล่าวมาแล้วยังมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในไชยาจากยุคสมัยต่างๆ เช่น โบราณวัตถุที่วัดโท วัดจำปา วัดศาลาทึง วัดป่าลิไลย์ บ้านมณโฑ บ้านหัวคู เขาสายสมอและเขาน้ำร้อนในบริเวณอำเภอไชยานอกจากนี้ยังมีบริเวณอำเภอใกล้เคียง เช่น ที่อ.ท่าชนะ พบเหรียญอาหรับร่วมสมัยทวารวดีและก่อนศรีวิชัยสมัยพุทธศตวรรษที่ 5-6 และวัดพระพรหม อ.ท่าฉาง พบโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ถังและซ่งตอนต้นสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ทำให้เชื่อว่าไชยาเป็นเมืองสำคัญและมีการค้าขายกับอาณาจักรอื่นๆมาช้านานแล้วเนื่องจากโบราณวัตถุจีนที่ค้นพบในบริเวณชายฝั่งทะเลเก่ากว่าบริเวณพื้นที่ตอนในทำให้จอห์น มิคซิคเชื่อว่าเมืองครหิตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลก่อนแล้วจึงย้ายเข้าตอนใน [Miksic & Geok 2017] แต่โบราณวัตถุอารยธรรมทวาราวดีที่ค้นพบบริเวณห่างชายฝั่งทะเลขัดแย้งกับสมมติฐานนี้

เอกสารอ้างอิง
ประวัติวัดเวียง และย้อนร้อยเมืองไชยา พ.ศ.2547 กรุงเทพ: ธรรมสภา

ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์. 2523. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

Meekanon, Keatkhamjorn. 2023. Srivijaya Routes: The Greatest Trade Network in Ancient Southeast Asia. Pattaya: White Lotus.

Miksic, John Norman, and Yian Goh Geok. 2017. Ancient Southeast Asia. World Archeology. London: Routledge.

Wade, Geoff. 2004. “From Chaiya to Pahang: The Eastern Seaboard of the Peninsula as Recorded in Classical Chinese Texts’, In Daniel Perret, Ammarâ Sîsuchât, Sombûn Thanasuk eds. Études sur l'histoire du sultanat de Patani, 37-78. Paris: EFEO



กำลังโหลดความคิดเห็น