xs
xsm
sm
md
lg

อยากจะเอาใจช่วยอุ๊งอิ๊งค์แต่...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร นั้น เธอเดินมาตามครรลองของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างถูกต้องชอบธรรมดูสง่างาม แต่คำถามที่เธอถูกถามก็คือ ความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศของเธอนั้นมีสักแค่ไหน

แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ให้นายกรัฐมนตรีมาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ และอุ๊งอิ๊งค์ก็เป็นหนึ่งในนั้นของพรรคเพื่อไทย แต่ที่คนสงสัยก็คือ ถ้าเธอไม่ใช่ลูกสาวของทักษิณจะได้ก้าวกระโดดมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ คำตอบที่ไม่ผิดแน่ๆ ก็คือ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

แม้จะไม่มีอะไรผิดในทางกฎหมาย แต่โดยหลักการแล้วคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหากไม่นับมาจากการรัฐประหารแล้ว คนที่มาจากการเมืองก็ล้วนแล้วแต่ผ่านประสบการณ์สั่งสมการทำงานมาก่อน เคยทำงานการเมืองมาอย่างโชกโชน และเคยเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมา แต่อุ๊งอิ๊งค์นั้น เธอไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานอะไรมาเลย นอกจากมีหุ้นในธุรกิจที่พ่อแม่แบ่งปันให้เธอถือครอง นอกจากนั้นก็คือการบริหารครอบครัวที่มีสามีหนึ่งลูกสองคน พูดง่ายๆ ว่าเธอเป็นแม่บ้านที่เป็นลูกคุณหนูที่เกิดบนกองเงินกองทอง

การขึ้นมาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดือนกว่าของเธอ สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เธอมีความสามารถเพียงไหน ไม่เข้าใจแม้หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานว่า ค่าเงินบาทแข็งนั้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างไร และมักจะหลีกเลี่ยงคำถามที่ถูกถามเรื่องสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ เธอไม่เข้าใจภูมิศาสตร์พื้นฐานที่บอกว่าน้ำที่ท่วมเชียงใหม่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม้จะให้โฆษกรัฐบาลออกมาแก้ตัวว่า เธอพูดลืมเว้นวรรค เพราะมีแม่น้ำบางสายในเชียงใหม่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงจริง แต่ก็เป็นเพียงข้อแก้ตัวเพราะแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่โฆษกอ้างนั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

ในการไปเจรจาทวิภาคีกับต่างประเทศเธอต้องพึ่งพาไอแพดในการช่วยโดยก้มหน้าก้มตาอ่านให้คู่เจรจาฟัง แล้วบอกว่า ผู้นำประเทศไหนเขาก็ทำกัน ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องปกติที่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมการให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงหัวข้อต่างๆ ที่จะไปเจรจา แต่นายกรัฐมนตรีก็ควรจะต้องทำความเข้าใจและสามารถนำเสนอออกมาเหมือนกับออกมาจากความคิดของตัวเองไม่ใช่การอ่านตามสคริปต์

ผมเห็นภาพที่เวียงจันทน์ในการประชุมอาเซียนที่การเจรจาทวิภาคีเปลี่ยนจากการนั่งเก้าอี้หลักของผู้นำสองคนแล้วเจรจากันไปมาเป็นมีรัฐมนตรีอื่นมานั่งซ้ายขวาของนายกรัฐมนตรีผ่านโต๊ะยาว ก็คงจะเห็นแล้วว่า ที่โดฮาซึ่งเธอเรียกว่า โดห้านั้นปล่อยให้นั่งคุยแบบนั้นคงจะไม่ได้ผล แต่เราก็เห็นจากรายงานที่เว็บไซต์ทางการของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยการเจรจาคำต่อคำระหว่างอุ๊งอิ๊งค์กับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นะว่า เธอไม่สามารถเจรจากับเขาได้ ถามอย่างตอบอย่าง หลายตอนฟังไม่รู้เรื่องจนบลิงเคนต้องตัดบทจบการเจรจาโดยบอกว่ามีเรื่องอื่นที่ต้องทำอีกมาก

ตอนนี้น่าห่วงว่าในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เธอยังมีหน้าที่ที่จะแบกหน้าตาของประเทศไทยในฐานะผู้นำไปประชุมกับประเทศต่างๆ อีกหลายวาระและหลายวงที่ไทยเป็นสมาชิกและภาคี ก็ยังห่วงว่าจากสภาพที่เป็นอยู่นั้นเธอจะทำหน้าที่ได้ไหวไหม แม้คาดหวังว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปเธอคงจะค่อยๆ เรียนรู้ไปก็ตาม

ที่สำคัญในวันหยุดไม่ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเป็นอย่างไร เธอก็เงียบไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย เข้าใจว่า เธอคงหยุดทำหน้าที่แม่บ้านที่ลูกของเธอยังเล็ก ซึ่งไม่รู้ว่าควรจะเห็นใจหรือเข้าใจเธอหรือเปล่าที่วันนี้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

แต่ก็ต้องทำใจนะครับอย่างที่กล่าวมาแล้วตอนต้นว่า เธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่เธอมาโดยความเป็นอภิสิทธิ์ในฐานะลูกของทักษิณที่ใครต่างเชื่อว่าเขาเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย แม้สถานภาพตอนนี้เขาไม่อาจเป็นแม้แต่สมาชิกของพรรคก็ตาม

สิ่งเหล่านี้มันนำมาสู่คำถามว่า ทักษิณคิดอย่างไรที่เลือกเธอขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่พรรคเพื่อไทยยังมีตัวเลือกอื่นตามครรลอง คนส่วนใหญ่ที่วิพากษ์วิจารณ์กันก็บอกว่า ทักษิณเป็นคนไม่ไว้วางใจคนอื่น เหมือนกับที่เคยเอาน้องเขยและน้องสาวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งสามารถควบคุมได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับตอนเอาคนนอกอย่างสมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งทักษิณไม่สามารถควบคุมได้

แล้วทักษิณประเมินความสามารถของลูกสาวตัวเองหรือไม่ ในฐานะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ทักษิณน่าจะมีความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์มากพอว่านายกรัฐมนตรีควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ควรจะมีความรู้ความสามารถแค่ไหน และมีภารกิจที่ต้องแบกรับอย่างใหญ่หลวงอย่างไร ทำไมทักษิณจึงเชื่อว่า อุ๊งอิ๊งค์ลูกสาวของตัวเองซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์อะไรมาก่อนจะสามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

หรือทักษิณคิดว่าจะสามารถกำกับอยู่หลังฉากการบริหารราชการแผ่นดินของอุ๊งอิ๊งค์ และมั่นใจว่า อุ๊งอิ๊งค์จะแสดงบทบาทของนายกรัฐมนตรีได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารในประเทศหรือการติดต่อสัมพันธ์กับผู้นำประเทศต่างๆ สิ่งที่ทักษิณคิดนั้นมันอยู่บนพื้นฐานว่าอำนาจต้องอยู่ในมือหรือผลประโยชน์ของประเทศต้องมาก่อน

ถ้าเราดูเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ที่ได้ชื่อว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ (semi-authoritarian democracy) ผ่านการบริหารของพรรคกิจสังคมหรือ PAP ทำไมลี กวนยูถึงไม่วางทายาทให้ลี เซียนลุงบุตรชายของเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในทันที แต่วางทายาทเป็นโก๊ะจ๊กตงแล้วให้ลี เซียนลุงขึ้นมาต่อจากโก๊ะ จ๊กตงอีกที ก็เพราะลีกวนยูเข้าใจดีว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สามารถอาศัยเพียงชื่อเสียงหรือความเป็นทายาทเท่านั้น แต่ต้องมีประสบการณ์ที่เพียงพอในการบริหารและการทำงานในทุกระดับซึ่งในเวลานั้นลี เซียนลุงยังหนุ่มและจำเป็นต้องมีประสบการณ์เพิ่มเติม นั่นคือลี กวนยูต้องการให้ลี เซียนลุงมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นและความเพียบพร้อมเสียก่อนนั่นเอง

นั่นแสดงว่า ลี กวนยูมองถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าการสืบทายาทผู้นำประเทศในครอบครัวของเขาเองแม้จะทำได้ก็ตาม และเราจะเห็นได้ว่า ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งต่างๆ เพื่อพิสูจน์ถึงความรู้ความสามารถมาก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

นอกจากนั้น การวางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ยังสะท้อนว่าระบอบการปกครองนั้นไม่สำคัญเท่ากับวางบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการเป็นผู้นำประเทศ ในขณะที่เราเกรงว่าหากไม่มีที่มาตามระบอบประชาธิปไตยแล้วจะไม่เป็นที่ยอมรับของตะวันตก

อุ๊งอิ๊งค์ยังจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ถ้าเธอไม่ถอดใจเสียเอง แน่นอนเธอจะสามารถอยู่ได้ครบสมัยเกือบ 3 ปีที่เหลืออยู่แน่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงในสภาฯ ท่วมท้น แต่คำถามว่า ประเทศชาติจะประสบอะไรบ้างในยุคสมัยการอยู่ในตำแหน่งของเธอและประชาชนจะยอมรับให้เธอบริหารประเทศต่อไปไหม

อยากจะเอาใจช่วยอุ๊งอิ๊งค์นะ แต่ในฐานะลูกสาวของทักษิณก็อยากบอกว่า ถ้าไม่ไหวก็ให้รีบบอกพ่อเสียดีกว่าจะแบกภาระที่เกินความรู้และสติปัญญาของตัวเองไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น