xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน การเปลี่ยนผ่านจากตามพรลิงค์สู่นครศรีธรรมราช (พ.ศ.1805-1813)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

หลังจากพระเจ้าชวกะมหินทรยกทัพเรือไปช่วยพระเจ้าจันทรภาณุที่ลังกาในปีพ.ศ.1805 แล้วเมืองตามพรลิงค์ก็ว่างกษัตริย์แต่มีผู้ปกครองอ้างจากเอกสารเต้าอี้จาจื้อในสารานุกรมสือหลินกว๊างจี๊บันทึกเอาไว้เมื่อ พ.ศ.1813 และเอกสารอี้หยู่จื้อซึ่งเขียนขึ้นในในราชวงศ์หยวน [Lin & Zhang 1998: 63; Miksic 2010; Wada 1954; Wade 2004] ได้แยกศรีวิชัย ตามพรลิงค์ พัทลุง และสมุทรา-อารูน (ลามูรี) ออกจากกัน ดังนั้นอาจมีผู้ปกครองในราชวงศ์อื่นขึ้นปกครองเมืองตามพรลิงค์อีกโดยผู้ปกครองนี้อาจเกี่ยวดองกับราชวงศ์ปัทมวงศ์ด้วยการแต่งงานโดยกล่าวถึงตามพรลิงค์ในปีพ.ศ.1813 ไว้ดังนี้

單馬令,唐舡自眞﨟風帆十晝夜,方到其國。无王有地主。[...] [มหาวิทยาลัยนาโงย่า https://toyoshi.lit.nagoya-u.ac.jp/maruha/siryo/daoyizazhi.html]

單馬令,其国有酋长,无王。[…],元求其利 不至。国人多富,尚宝货,则利为酋豪。[Chinese Text Project: Yiyuzhi]

“ตามพรลิงค์ถ้าใช้เรือสมัยราชวงศ์ถังแล่นเป็นเวลาสิบวันสิบคืนกว่าจะถึง มีแต่ผู้ปกครองไม่มีกษัตริย์[...]” (คำแปลเต้าอี้จาจื้อ) และ “ตามพรลิงค์ไม่มีกษัตริย์มีแต่ผู้ปกครอง [...] ราชสำนักหยวนต้องการบรรณาการจากประเทศนี้แต่ไม่ส่งให้หากคนในประเทศนี้ร่ำรวยขึ้นมาและมีทรัพย์สมบัติพวกเขาก็จะกลายเป็นหัวหน้า”(คำแปลอี้หยู่จื้อ)

ตามพรลิงค์อ่อนแอลงเนื่องจากในช่วงปลายราชวงศ์ซ่งพ่อค้าชาวจีนรายย่อยเดินเรือไปค้าขายทางทะเลเองโดยเริ่มจากช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ราชวงศ์หยวนยกเลิกการจำกัดเวลาเดินเรือทะเลของเรือจีนของราชวงศ์ซ่งแต่ยังห้ามพ่อค้าเอกชนทำให้พ่อค้าชาวจีนจำนวนมากไปตั้งถิ่นฐานโพ้นทะเลจนถึงราชวงศ์หมิงตอนต้นจึงห้ามการค้าทางทะเลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามไม่ค่อยมีเรือจีนมากในมหาสมุทรอินเดีย ต่อมาในราชวงศ์หยวนเน้นการค้าทางทะเลโดยตรงมากกว่ารับบรรณาการจากโพ้นทะเล [Fukami 2004b; Heng 2005] หลังจากสิ้นสุดราชวงศ์หยวนศูนย์กลางการค้าทางทะเลย้ายจากฉวนโจวไปเยี่ยกังที่อ่าวฉางโจวในราชวงศ์หมิง [So 1982] และสือหลินกว๊างจี๊บันทึกว่าช่วงนี้ตามพรลิงค์ไม่ได้ปกครองพัทลุงแต่ศรีวิชัยส่งคนมาปกครองพัทลุงราวปีพ.ศ.1813-1824 ส่วนเอกสารอี้หยู่จื้อระบุว่าตามพรลิงค์ปฏิเสธที่จะส่งบรรณาการให้ราชวงศ์หยวน

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่ามหาราชาจันทรภาณุเป็นพระอนุชาของพระยาศรีธรรมโศกราชพาครอบครัวหนีลงเรือ (ความจริงบุกศรีลังกา) เมืองนครศรีธรรมราชจึงร้าง พระยาพนมทะเลแห่งเพชรบุรีจึงส่งเจ้าศรีราชาหรือพระพนมวังราชบุตรของตนและนางเสดียงทองลงมาปกครองนครศรีธรรมราชและส่งกองทัพเรือไปตีนราธิวาส สงขลา ปาหัง ปัตตานี สายบุรี พัทลุง เคดาห์ ตรังและอาเจห์ในเกาะสุมาตราโดยให้แขกเป็นเจ้าเมือง พระพนมวังแต่งตั้งพระฤทธิเทวา (เจสุตตรา) ปกครองเมืองโกตามะห์ลิฆัยหรือลังกาสุกะ [ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก] พระพนมวังได้สร้างเมืองนครดอนพระ (อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี) เป็นศูนย์กลางการปกครอง ส่วนตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ก็กล่าวถึงพระยาศรีธรรมโศกราช และจันทรภาณุเช่นกัน มีเมืองชวามาต่อสู้แล้วพังพกาฬขับไล่ไป โดยมีการเชื่อมโยงกับกรุงศรีอยุธยา เชียงใหม่ ลังกาแต่ไม่ใช่สุโขทัย ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสอดคล้องกับช่วงเปลี่ยนผ่านจากตามพรลิงค์ไปเป็นนครศรีธรรมราชโดยเจ้าเมืองเพชรบุรีส่งคนไปสร้างเมืองใหม่ที่หาดทรายแก้ว และศรีวิชัยก็ยกทัพมาชิงเมืองพัทลุงกลับคืนไป เมืองที่ตั้งใหม่จึงหันไปเป็นพันธมิตรกับเพชรบุรีและสุโขทัย [สวัสดิ์ รัตนเสวี พ.ศ.2507] ชินกาลมลินี บอกว่ากษัตริย์ นครศรีธรรมราชและสุโขทัยพบกันในปี พ.ศ.1799 มีความเป็นไปได้ว่ามีการอพยพผู้คนจากเมืองแถบอ่าวไทยอย่างเพชรบุรีลงมาตั้งเมืองใหม่ที่นครศรีธรรมราช (ภาษามลายูเป็น Negara Sri Dharmaraja) หลังจากตามพรลิงค์ถูกทิ้งร้างไป เมืองที่ตั้งขึ้นใหม่เชื่อมโยงกับตามพรลิงค์ด้วยพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์

พันธมิตรกับสุโขทัย (พ.ศ.1824-1842)
ในสมัยราชวงศ์หยวนไม่มีการจำกัดจำนวนเรือจีนที่จะออกไปค้าขายต่างประเทศ พ่อค้าจีนใช้เรือจีนขนส่งสินค้าไปขายที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมาร์โค โปโลและอีบึน บาตตูต้ายืนยัน ทำให้เมืองขึ้นตามพรลิงค์ไปค้าขายกับจีนโดยตรง แต่ราชสำนักหยวนมีนโยบายกลับไปกลับมาในการห้ามเรือเอกชนจีนค้าขาย ห้ามในปีพ.ศ.1827-1837 เลิกในปีค.ศ.1837-1857 ห้ามอีกในปีค.ศ.1857-1863 เลิกอีกในปีค.ศ.1863-1865 ห้ามอีกในปีค.ศ.1865-1866 จากนั้นเลิกไปจนสิ้นราชวงศ์ มีสำนักขนส่งและพาณิชย์นาวีตั้งที่ฉวนโจวในปีพ.ศ.1827 ทำหน้าที่ค้าขายโดยตรง โดยมีชาวต่างชาติจากเอเชียกลางและเปอร์เซียคุมการค้าทางเรือ ราชวงศ์หยวนเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าราชวงศ์ซ่งโดยมีกลุ่มออร์ทัคคุมการค้าก่อนตั้งสำนักงานเหล่านี้ การห้ามเดินเรือมุ่งไปที่เจ้าของเรือและพ่อค้าชาวจีนไม่ใช่ชาวต่างชาติ [Heng 2005]

ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง (จารึกหลักที่ 1 พ.ศ.1826) ระบุว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชส่งบรรณาการให้สุโขทัยตั้งแต่ปีพ.ศ.1824 ในปีพ.ศ.1835 จารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงบอกว่าพระสงฆ์ในสุโขทัยส่วนมากมาจากนครศรีธรรมราช ราชวงศ์ใหม่ที่ปกครองนครศรีธรรมราชอาจเกี่ยวข้องกับรัฐสุโขทัยทางเครือญาติมากกว่าเป็นแค่รัฐบรรณาการ เพราะนครรัฐสุโขทัยไม่เคยปกครองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอ่าวไทย กษัตริย์สุโขทัยถ้าจะติดต่อกับนครศรีธรรมราชก็ต้องเดินทางหลบอิทธิพลของละโว้-อโยธยาที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสุพรรณบุรีและเพชรบุรีลงไปทางใต้ หลังจากพ่อขุนรามคำแหงเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.1842 ทางนครศรีธรรมราชจึงไม่ได้ส่งบรรณาการไปให้สุโขทัยอีก ผู้ปกครองนำนครศรีธรรมราชไปเป็นพันธมิตรกับเพชรบุรีของพระพนมทะเลเพื่อแสวงหาการคุ้มครองจากการรุกรานของศรีวิชัย

นครศรีธรรมราชยุคอิสระ พ.ศ.1842-1898
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.1842 นครศรีธรรมราช (จีนยังรับรู้เป็นตามพรลิงค์) ก็เป็นอิสระและค้าขายกับจีนอีกและปกครองเมืองต่างๆเช่น ลังกาสุกะ เคดาห์ กลันตัน ปาหัง ตรังกานู บนแหลมมลายูตอนล่างได้อีกระยะหนึ่ง ในปีพ.ศ.1847 เอกสารเต๋อหนานไห่จื้อในสมัยราชวงศ์หยวนของจีนกล่าวว่าสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ขึ้นมาแทนสมาพันธรัฐศรีวิชัยในปกครองเมืองในแหลมลายู อย่างไรก็ตามนครศรีธรรมราชไม่เคยแทรกแซงกิจการภายในของเมืองบริวารซึ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมาก นครศรีธรรมราชและพัทลุงนับถือพุทธเถรวาท แต่กลันตัน ตรังกานู เคดาห์ ลังกาสุกะนับถือพุทธมหายาน ฮินดูและอิสลาม เป็นสมาพันธรัฐที่รวมตัวกันหลวมๆแบบสมาพันธรัฐศรีวิชัย แต่มีนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางโดยมีเมืองบริวารส่งบรรณาการให้ มีการก่อตั้งเมืองทูมาสิกที่เกาะสิงคโปร์โดยเชื้อสายราชวงศ์เมาลิซึ่งไม่ได้ขึ้นกับนครศรีธรรมราช และผู้ปกครองเมืองตรังกานูได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและมีการพัฒนาอักขระภาษายะวีขึ้นในยุคนี้

ต้าเต๋อหนานไห่จื้อ พ.ศ.1848 กล่าวว่านครศรีธรรมราชปกครอง ปาหัง กลันตัน ตรังกานู ลังกาสุกะ พัทลุง สายบุรี ในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.1842-1868 ตามตาราง...ในบทที่ 1 น่าจะเป็นช่วงที่สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ในนามนครศรีธรรมราชเจริญถึงขีดสุดหลังจากแยกตัวจากสุโขทัยและเพชรบุรีแล้ว ฟูกามิเชื่อว่าปกครองทั้งแหลมมลายู [Fukami 2004b] แต่จากการเปรียบเทียบระหว่างเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชในต้าเต๋อหนานไห่จื้อกับเมือง 12 นักษัตร และตรวจสอบกับหลักฐานในพื้นที่โดยละเอียดแล้วเมืองขึ้นเหล่านี้อยู่แค่ชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูและไปไม่ถึงสิงคโปร์ อาจจะเป็นเพราะพ่อค้าจีนติดต่อกับเมืองที่อยู่ชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูเท่านั้น ในช่วงปีพ.ศ.1860 เมืองสโรคัม (เคดาห์) ปาหัง กลันตัน ตรังกานู ลังกาสุกะในแหลมมลายูได้ค้าขายกับจีนโดยตรงแต่ยังเป็นเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชอยู่ [Heng 2009: 221] มีการแบ่งอิทธิพลการค้าทางทะเลระหว่างศรีวิชัยคุมทางตะวันตกของช่องแคบมะละกา นครศรีธรรมราชหลังจากเป็นอิสระจากสุโขทัย สุพรรณบุรีและเพชรบุรีคุมอ่าวไทยตอนล่างและช่องแคบมะละกาทางตะวันออกและชวาคุมหมู่เกาะอินโดนีเซีย [Heng 2013] หลังจากอำนาจของนครศรีธรรมราชเสื่อมลงการช่วงชิงอำนาจในแหลมมลายูระหว่างรัฐไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและมหาอาณาจักรมัชปาหิตจึงเริ่มต้นขึ้นในราวปีพ.ศ.1868

เอกสารอ้างอิง

ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก. ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สวัสดิ์ รัตนเสวี. 2507. ตำนานพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร.

Fukami Sumio, 深見純生. 2004b. “Passage of Emporium: The Malacca Straits during the Yuan Period 元代のマラッカ海峡-通路か拠点か.” Southeast Asia: History and Culture 33: 100–118.

Heng, Derek Thiam Soon. 2005. Economic Interaction between China and the Malacca Straits Region: Tenth to Fourteenth A.D. Doctoral Thesis, Hull, UK: University of Hull.

Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.
Heng, Derek Thiam Soon. 2013. “State Formation and the Evolution of Naval Strategies in the Melaka Straits c.500-1500CE.” Journal of Southeast Asian Studies 44 (3): 380-399.

Lin Yuanhui 林远辉and Zhang Yinglong 张应龙1998. Zhongwen Gujide Malaixiya Ziliaohuibian中文古籍中的马来西亚资料汇编. Kuala Lumpur: Gabungan Pertubuhan Cina Malaysia.

Miksic, John Norman. 2010. The A-Z of Ancient Southeast Asia. Lanham, MD: Scarecrow Press.

So, Billy Kee-long (Su Jilang 蘇基朗). 1982. Economic Development in South Fukien: 946-1276 Doctoral Thesis, Canberra: National University of Australia.

Wada Hisanori 和田久徳. 1954. “Daoyizazhi 岛夷杂誌: 宋代南海史料としての岛夷杂誌 [A New Chinese Source of the History of Indian Ocean during the Song Dynasty (990-1279CE)].” お茶の水女子大学人文科学紀要 (Bulletin of Ochanomizu University) 5:27–63.

Wade, Geoff. 2004. “From Chaiya to Pahang', In Daniel Perret, Ammarâ Sîsuchât, Sombûn Thanasuk eds. Études sur l'histoire du sultanat de Patani, 37-78. Paris: EFEO



กำลังโหลดความคิดเห็น