หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ภัยต่อระบอบและอุดมการณ์ของรัฐที่มาจากพรรคอนาคตใหม่มาเป็นพรรคก้าวไกลแล้วเป็นพรรคประชาชน ทำให้ความชัดแย้งแบ่งสีของคนไทยเกือบสองทศวรรษต้องจบลง แม้แต่กปปส.ที่เป่านกหวีดขับไล่ระบอบทักษิณวันนี้ก็กลายเป็นส่วนหนี่งของรัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดย อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของทักษิณ
ทักษิณเปลี่ยนสถานภาพจากคนหนีคดี นักการเมืองที่ถูกศาลพิพากษาว่าทุจริตฉ้อฉลในหลายคดี กลายเป็นบุคคลสำคัญที่องค์ประกอบของความรัฐที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการเมืองคือ Deep State ที่กุมกลไกและชะตากรรมของประเทศ และ Estabishment บุคคลและกลุ่มที่มีอำนาจและสถานะที่เป็นสถาบันอย่างเป็นทางการในระบบการเมืองและเศรษฐกิจ พูดได้ว่าพลังอำนาจทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและซ่อนเร้นอยู่ข้างหลัง วันนี้จะต้องพึ่งพาทักษิณเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้
แต่การรวมกันของทุกอำนาจในสังคมไทยทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังลึกลับเร้นหรือซ่อนตัวเพื่อรับมือกับส้มแล้วฝากความหวังไว้กับทักษิณก็มีเดิมพันที่สูง เพราะเป็นเกมที่เล่นกับหมดหน้าตักและไพ่ใบสุดท้ายในมือแล้ว หากพลาดพลั้งไปแล้วก็อาจหมายถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองและองค์ประกอบของรัฐ
มวลชนเหลืองแดงที่เป็นคู่ขัดแย้งในอดีต แยกสลายกันไปตามเส้นทางใหม่ เหลืองบางคนกลายเป็นส้ม เช่นเดียวกับแดงบางคนที่กลายเป็นส้ม และแดงเหลืองกลายเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่มีจุดยืนในขั้วอนุรักษนิยม อาจจะมีเสื้อเหลืองบางคนที่ยังมีจุดยืนหนักแน่นไม่เอาทั้งระบอบทักษิณและส้มแต่ดูเหมือนจะถูกเบียดให้กลายเป็นกลุ่มย่อยในทางการเมืองไป
ความสัมพันธ์ของเหลืองแดงที่จับมือกันถูกอธิบายให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรับมือกับส้มที่เป็นอันตรายต่อระบอบของรัฐที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ คนเสื้อเหลืองที่มองในเชิงยุทธศาสตร์จึงมองว่าการจับมือกับระบอบทักษิณเป็นทางเลือกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะไม่เช่นนั้นยากจะรับมือกับพลังส้มที่มาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน และชนชั้นกลางในเมือง
ความพลาดพลั้งในเชิงกฎหมายของส้มที่ทำให้ถูกยุบพรรคการเมืองถึงสองครั้ง แม้ไม่สามารถช่วงชิงมวลชนของส้มให้เปลี่ยนใจได้และสุดท้ายพวกเขาก็ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ก็สามารถบั่นทอนพลังของส้มลงในระดับหนี่งเมื่อแกนนำคนสำคัญหลายคนต้องติดโซ่ตรวนทางการเมือง และคนใหม่อย่าง เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นั้น ไม่มีอะไรโดดเด่นเมื่อเทียบกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้ว่ามวลชนส่วนหนึ่งของพรรคจะไม่ได้สนใจตัวบุคคลแต่เลือกเพราะพรรค แต่การขยายฐานเพื่อสร้างความมวลชนใหม่เพิ่มเติมก็อาจจะยากขึ้นหรือช้าลง เพราะเป้าหมายเดียวที่จะให้พรรคส้มได้อำนาจรัฐก็คือ ต้องชนะด้วยเสียงข้างมากพรรคเดียวซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก
ขณะเดียวกันก็ต้องคิดด้วยว่า เราจะใช้องค์ประกอบของรัฐและกฎหมายที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นนิติสงครามเป็นเครื่องมือในการจัดการกับพวกเขาได้ตลอดไปไหม
ด้านหนี่งคนในสังคมจำนวนมากที่ไม่ได้ผูกติดกับสีเสื้อการเมือง ก็จะใช้อำนาจของตัวเองตัดสินทางการเมืองในคูหาเลือกตั้ง จะตัดสินใจด้วยความพึงพอใจของรัฐบาลที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของเขา มันจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลที่ถืออำนาจรัฐนั้นสามารถตอบสนองจนสร้างความพอใจให้ได้หรือไม่ ภาพของการแสวงหาผลประโยชน์และฉ้อฉลของนักการเมืองจะปรากฎให้เห็นหรือไม่ เพราะถ้าระบอบทักษิณยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม ประขาชนจำนวนไม่น้อยก็อาจจะเทเสียงให้กับพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่เคยมีความมัวหมองทางการเมืองเพื่อหวังจะเห็นการเมืองที่ดีกว่า
ความได้เปรียบของพรรคประชาชน ก็คือ การไม่เคยเข้าไปใช้อำนาจรัฐไม่เคยบริหารประเทศจึงยังไม่มีบาดแผลที่ทุจริตและฉ้อฉลและการแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจ แต่ถูกตั้งคำถามถึงความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าหากได้อำนาจรัฐไปแล้วจะสามารถบริหารประเทศได้ไหม
แต่การที่รัฐบาลใหม่บริหารโดยอุ๊งอิ๊งค์ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกันอาจจะเป็นตัวเปรียบเทียบที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจของประชาชนว่า คนรุ่นนี้มีศักยภาพที่จะฝากประเทศไว้ได้ไหม แต่การที่อุ๊งอิ๊งค์จะรายล้อมไปด้วยขุนพลที่ทักษิณส่งเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังจำนวนมาก ทำให้มีกลิ่นอายของการเมืองแบบเก่าที่ตัวเธอเป็นเพียงหุ่นเชิดทางการเมืองของพ่อจึงมีเดิมพันที่สูงว่า เธอจะเป็นตัวช่วยที่จะรักษาอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมเอาไว้ด้วยการแสดงความโดดเด่นให้พ้นจากเงาของพ่อ หรือความด้อยศักยภาพของเธอจะเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันไปจากระบอบและอุดมการณ์รัฐแบบเดิม
เราต้องไม่ลืมว่า การได้อำนาจรัฐของระบอบทักษิณทุกครั้งจะเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่บันยะบันยัง แสวงหาผลประโยชน์ฉ้อฉล และใช้ผลประโยชน์ของประเทศตอบแทนผลประโยชน์ส่วนตัว ทำลายระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ชนชั้นกลางในเมืองออกมาต่อต้านแบบที่เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่การขับไล่ระบอบทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกปปส.แม้ว่าวันนี้ยังมองไม่เห็นว่า แกนนำที่ออกมาต่อต้านจะเป็นใครที่มีพลังมาพอ แต่ถึงเวลาก็อาจจะมีใครคนหนึ่งปรากฎตัวขึ้นมา
ต้องยอมรับว่าพลังของชนชั้นกลางนั้นมีบทบาทสำคัญในทางการตัดสินอนาคตทางการเมืองของประเทศ ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีส่วนสำคัญให้มีการปฏิรูปทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ และมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์บางคนถึงกับบอกว่า No Bourgeois no demodracyหรือถ้าไม่มีชนชั้นกลางก็ไม่มีประชาธิปไตย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าวันนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากเอนเอียงไปทางพรรคประชาชนจากการชนะเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังมีจุดยืนทางการเมืองสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานด้วย
แม้ว่าพลังที่ออกมาต่อต้านจะไม่ปรากฏตัวในรูปแบบของการชุมนุม แต่ก็อาจสะท้อนออกมาเป็นผลในทางการเลือกตั้ง แม้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะไม่มีระบบบัญชีรายชื่อเพื่อบ่อนเซาะพรรคประชาชนที่ได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อมาก แต่มีแนวโน้มว่าชนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ และคนวัยทำงานจะเพิ่มทวีมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กวาดซัดทุกอย่างให้พังทลายลงในพริบตาถึงเวลานั้นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อรักษาอำนาจดั้งเดิมเอาไว้ก็อาจจะไม่สามารถยับยั้งได้
ความรุนแรงที่เป็นคลื่นสึนามิทางการเมืองจะเกิดขึ้นไหม หรือมันกำลังก่อตัวมันขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่นี้จะทำให้สังคมพึงพอใจได้มากแค่ไหน แม้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองมาเกือบสองทศวรรษจะทำให้คนจำนวนมากเบื่อหน่ายและต้องการเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อปากท้องของประชาชน แต่ถ้าระบบการเมืองยังเป็นการเมืองเก่าที่ฉ้อฉล และทุกสถาบันที่เป็นองคาพยพของรัฐไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแม้ต้องแลกด้วยความรุนแรงก็ตาม
ทุกอย่างอาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วผ่านการเลือกตั้งในปี 2570 หากรัฐบาลชุดนี้อยู่ครบเทอม แต่หลังจากนั้นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคประชาชนจะกลับมาไม่ว่า ธนาธรหรือปิยะบุตร แสงกนกกุลจะพ้นโทษแบนทางการเมือง จึงขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ตอนนั้นโฉมหน้าทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้าประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองในระบอบเก่าการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายก็อาจจะเกิดขึ้น แต่ถ้ามองว่าองค์ประกอบและระบอบของรัฐที่เป็นอยู่นั้นมันเหมาะสมสวยงามกับสังคมไทยดีแล้ว เพราะรัฐบาลชุดนี้สามารถสร้างความหวังให้กับประชาชนได้ระบอบและอุดมการณ์รัฐแบบเก่าก็จะยังคงอยู่
ทุกอย่างในวันนี้จึงฝากความหวังไว้กับรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ภายใต้เงาของทักษิณจะนำพาประเทศไปทางไหน เพราะต้องยอมรับคนจำนวนไม่น้อยก็หวั่นกลัวการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ยกเว้นเสียแต่ว่าหนทางที่ปรากฏนั้นยังเต็มไปด้วยการแย่งชิงผลประโยชน์และการฉ้อฉล เมื่อนั้นประชาชนก็ต้องเลือกหนทางใหม่ที่ดีกว่าเพราะไม่มีอำนาจไหนที่จะต้านทานอำนาจของประชาชนได้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan