xs
xsm
sm
md
lg

จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต สิ่งที่ระบอบทักษิณหวาดกลัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ถ้าจะนิยามระบอบทักษิณ ก็ต้องบอกว่าคือการใช้อำนาจอย่างเหิมเกริมไม่บันยะบันยัง การออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง การแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจ การทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน การแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมและเล่นพรรคเล่นพวก การเอาผลประโยชน์ของชาติตอบแทนบุญคุณส่วนตัว ฯลฯ และทุกครั้งที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นทักษิณเองหรือรัฐบาลที่เป็นนอมินีของทักษิณก็จะมีพฤติกรรมที่เข้ากับนิยามระบอบทักษิณเสมอ


ตัวของทักษิณนั้นไม่ต้องอธิบายมากเพราะมีพฤติกรรมเช่นที่ว่ามานั้นเป็นที่ประจักษ์ ถ้าพิจารณาถึงตอนที่ทักษิณมีอำนาจหรือไปอ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุกทักษิณในคดีต่างๆ และที่ชัดเจนก็คือ คำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ทักษิณ 40,000 กว่าล้าน ซึ่งศาลท่านได้เจียรนัยออกมาอย่างชัดเจนที่สุดว่าทักษิณใช้อำนาจฉ้อฉลอย่างไร รวมไปถึงการติดคุกของรัฐมนตรีและช้าราชการที่ร่วมกันทุจริตภายใต้รัฐบาลทักษิณและนอมินี

รัฐบาลของทักษิณและนอมินีจึงกลัวเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ที่เขียนไว้เป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160(4)(5)จึงมีความพยายามจะแก้ไขทั้งสองวงเล็บในมาตรานี้เพื่อลดความเข้มข้นลง โดยอ้างว่า จะต้องตีกรอบให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งๆที่มาตรฐานทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตนั้นควรจะต้องเขียนให้มีมาตรฐานสูงไว้ไม่ให้มีช่องโหว่ให้คนที่มีพฤติกรรมสีเทาเล็ดรอดเข้ามาสู่การเมืองได้

คำว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” นั้น ไม่เพียงแต่ใช้กับคนที่เป็นรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ควรใช้กับนักการเมืองทุกคนด้วยซ้ำไป แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยมีอำนาจการที่เจ้าของพรรคคือทักษิณเคยติดคุกเพราะมีพฤติกรรมการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลมาแล้ว ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะต้องกำจัดทันทีเมื่อมีอำนาจ

อีกด้านนอกจากนั้นทักษิณซึ่งมีพฤติกรรมทุจริตและถูกศาลตัดสินจำคุกมาแล้ว ยังไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ด้วย แม้ว่าในทางพฤตินัยทักษิณจะเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยก็ตาม ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจะต้องกำจัดจุดอ่อนของทักษิณ ด้วยการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ อย่างน้อยทักษิณสามารถเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ เพราะพฤติกรรมของทักษิณสุ่มเสี่ยงจะมีความผิดในฐานะที่เป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง

เพราะ มาตรา 28 ของพรป.พรรคการเมืองระบุว่า ห้ามพรรคการเมือง “ยินยอม” ให้บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรค หรือสมาชิกของพรรคไม่เป็นอิสระ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางเดียวที่จะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ก็คือ แก้กฎหมายเพื่อให้ทักษิณเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้นั่นเอง

การที่พรรคเพื่อไทยมีทีท่าว่าแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อลดมาตรฐานทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ลง รวมไปถึงคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมือง ก็เพราะอาจจะหย่ามใจในอำนาจ และเป็นอย่างนี้ทุกครั้งเมื่อพรรคเพื่อไทยมีอำนาจ สิ่งที่เราเห็นจากพฤติกรรมของทักษิณในวันนี้ก็คือ เขามีความมั่นใจในอำนาจของเขามาก และมีคนเชื่อกันว่าเพราะเขาเชื่อมั่นว่า เขาถือ “ดีล” ที่ทุกอำนาจจะต้องพึ่งพาเขา

หากจำกันได้ตอนที่เกิดนิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อช่วยให้ทักษิณพ้นผิดนั้นก็เพราะมั่นใจว่า พลังของฝ่ายตรงข้ามที่จะต่อต้านเขานั้นอ่อนแอลงแล้ว จึงเกิดการใช้อำนาจอย่างย่ามใจ สุดท้ายก็ถูกมวลมหาประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้าน แม้ว่าวันนี้คนที่ออกมาร่วมต่อต้านอาจจะเจ็บปวด เพราะผู้นำมวลมหาประชาชนในครั้งนั้นวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณไปแล้วก็ตาม

วันนี้ทักษิณก็คงมั่นใจอีกแล้วว่า คงไม่พลังออกมาต่อต้านเขาได้แล้ว เพราะทุกพรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เห็นควรที่จะต้องลดมาตรฐานทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ และลดคุณสมบัติของคนที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองลงไป

จริงๆ แล้วการที่นักการเมืองจะต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องสากลนะครับ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองมาก โดยมีการศึกษาและงานเขียนหลายชิ้นที่อธิบายถึงความสำคัญและผลกระทบของคุณธรรมเหล่านี้ในวงการการเมือง เช่น จอห์น รอลส์ (John Rawls) ได้อธิบายถึงแนวคิด “ความยุติธรรมเป็นความปกติธรรม” (Justice as Fairness) ในหนังสือ “A Theory of Justice” โดยชี้ให้เห็นว่าสังคมที่มีความยุติธรรมจะต้องมีผู้นำที่เคารพในหลักการความยุติธรรมและมีคุณธรรม

แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เสนอแนะให้การเมืองควรสัมพันธ์กับจริยธรรมในแนวคิด “จริยธรรมความเชื่อมั่น” (Ethics of Conviction) และ “จริยธรรมความรับผิดชอบ” (Ethics of Responsibility) โดยแนะนำนักการเมืองให้ทำงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้ที่ตนเองรับใช้

ฮาเบอร์มาส เจอร์เก้น(Habermas, Jürgen) กล่าวถึง “การสื่อสารที่มีเหตุผล”(Communicative Rationality) ซึ่งเน้นให้การเมืองต้องโปร่งใสและอยู่บนพื้นฐานของการสื่อสารที่มีเหตุมีผลและเคารพความเป็นธรรม

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการหลายท่านที่มุ่งเน้นในการศึกษาด้านความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น โรเบิร์ต ดาห์ล (Robert Dahl) นักรัฐศาสตร์อเมริกันซึ่งเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีผู้แทนที่มีจริยธรรม และ ฟรานซิส ฟูกูยาม่า(Francis Fukuyama) เจ้าของแนวคิดเรื่อง “ทุนทางสังคม” (Social Capital) ซึ่งอธิบายถึงความไว้วางใจในสังคมที่เกี่ยวพันกับจริยธรรมของนักการเมือง นักวิชาการเหล่านี้ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่านักการเมืองควรมีจริยธรรมที่สูงและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อสร้างความไว้วางใจในระบบการเมืองและส่งเสริมให้สังคมมีความยุติธรรมและมั่นคง

ดังนั้น การที่นักการเมืองต้องมีจริยธรรมที่สูงและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์มีแต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อนักการเมืองสีเทาและฉ้อฉลเท่านั้น การแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวนี้จึงไม่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเลยนอกจากประโยชน์ของนักการเมืองสีเทาเพียงฝ่ายเดียว

แน่นอนว่าพรรคประชาชนก็เห็นดีเห็นงามกับการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของพรรคจะได้ประโยชน์ด้วย

ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมว่า ทักษิณกับธนาธรได้พบปะพูดคุยกันมาก่อนที่ทักษิณจะกลับเข้ามาประเทศไทย เราไม่รู้หรอกว่า ทั้งสองคนพูดคุยอะไรกันบ้าง และเป้าหมายอะไรที่ทำให้ทั้งสองคนมีจุดร่วมกัน แต่เราจะเห็นว่า พรรคประชาชนของธนาธรนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มศักยภาพและมีหลายเรื่องที่สองพรรคเห็นพ้องกันรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้

เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะนักการเมืองที่มีจริยธรรมก็จะไม่มีพฤติกรรมที่ทุจริตด้วย แม้เราจะมาตรฐานดังกล่าวเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะเห็นว่า นักการเมืองที่มีอำนาจไม่ได้เกรงกลัว เพราะเห็นได้จากการที่นักการเมืองหลายคนต้องติดคุกเพราะทุจริตและฉ้อฉลจากความไร้จริยธรรมนั่นเอง

และเมื่อรัฐบาลชุดนี้นำโดย แพทองธารซึ่งเป็นลูกสาวของทักษิณแล้ว ทักษิณจึงต้องกำจัดอุปสรรคให้หมดไปโดยการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวให้หมดไป เพื่อไม่ให้ลูกสาวสุ่มเสี่ยงติดคุกเหมือนตัวเองและน้องสาวยิ่งลักษณ์(บางกระแสบอกว่าแท้จริงแล้วยิ่งลักษณ์คือลูกสาวคนโตของทักษิณที่เกิดจากภรรยาอีกคนก่อนที่จะแต่งงานกับพจมาน)

ไม่รู้เหมือนกันว่า การที่ทักษิณและพรรคของเขามีความคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้อดีตนักโทษสามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วย คงเพราะมั่นใจว่า ไม่มีพลังไหนออกมาต่อต้านเขาแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นความจริงอย่างที่ทักษิณเชื่อก็ได้ เพราะคนที่เคยต่อต้านทักษิณบางคนมีคดีติดตัวล้วนแล้วแต่ถูกศาลตัดสินจำคุกจริงๆ มาแล้วทั้งนั้น และบางฝ่ายก็กลายเป็นพวกเดียวกับระบอบทักษิณไปแล้ว

นอกจากนั้นทักษิณยังเชื่อว่า วันนี้นายทุน ขุนศึก ศักดินา ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้อำนาจของเขาทั้งสิ้น เพราะวันนี้ทุกฝ่ายต้องพึ่งพาเขากับความท้าทายของพรรคประชาชนที่เป็นอันตรายต่อระบอบและอุดมการณ์ของรัฐ ดังนั้นวันนี้เขาจึงมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ไม่มีใครขึ้นมาต่อต้านเขาอีกแล้ว แถมพรรคประชาชนเองก็เห็นด้วยกับแนวทางของเขาด้วย

แม้ทุกอำนาจจะสยบต่อทักษิณหมดแล้ว แต่มีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคไม่เอาด้วย เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวที่จะจุดชนวนให้สังคมลุกฮือขึ้นมาต่อต้านได้ สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ต้องถอยไม่กล้าเล่นกับไฟเพราะมีบทเรียนมาแล้วจากนิรโทษกรรมสุดซอย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น