xs
xsm
sm
md
lg

พระราชอำนาจ ตอนที่ 3 : พระราชอำนาจโดยธรรม-ธรรมราชาและเอกอัครศาสนูปถัมภก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ดังที่ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อธิบายว่าลักษณะเฉพาะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยคือเป็นสมมุติเทวราชอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะสูงสุดที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยกลับมิได้มีฐานพระราชอำนาจ (Bases of power) มาจากอำนาจในการลงโทษ (Coercive power) หรืออำนาจตามกฎหมาย (Legitimate power) เพียงเท่านั้น

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมาจากธรรมะ หรือการประพฤติธรรมของพระมหากษัตริย์ในฐานะของมหาธรรมราชาและทรงบำรุงธรรมโดยทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีธรรม อันจะทำให้การปกครองบ้านเมืองเป็นไปได้โดยง่ายและราบรื่น

ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชนิพนธ์ในนิราศท่าดินแดงเอาไว้ว่า
“ตั้งใจจะอุปถัมภก    ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา    รักษาประชาชนแลมนตรี”


และเช่นเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราโชวาทเอาไว้ว่า
“....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)

อันสะท้อนให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธรรมราชา ด้วยการส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง

นับแต่โบราณกาล พระมหากษัตริย์ต้องปกครองโดยธรรม ดังคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งได้เขียนไว้ว่าเทพประชาบดีผู้ทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุดได้ทรงแต่งตั้งพระอินทร์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อที่จะได้ทรงดับความวุ่นวายจากการที่มนุษย์ทะเลาะวิวาทแย่งข้าวสาลีกัน เพราะในสังคมมีคนที่ไม่ประพฤติธรรม จำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมหรือธรรมราชามาระงับดับความขัดแย้งในสังคมให้สังคมสงบร่มเย็นและเป็นธรรม

เช่นเดียวกันกับในพระพุทธศาสนา ได้เขียนไว้ในคัมภีร์อัคคัญญสูตร (ดาวน์โหลดได้จาก https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&book_id=11384) กล่าวว่ากษัตริย์องค์แรกเป็นมหาสมมุติ (เป็นการสมมุติหรือแต่งตั้งโดยมหาชน) เนื่องจากประชาชนวิวาทลักขโมยข้าวสาลี จำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์ผู้เป็นมหาธรรมราชาเพื่อระงับดับความขัดแย้งสร้างความเป็นธรรมในสังคม อันคล้านคลึงกับเรื่องราวของพระคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์


ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คัมภีร์โบราณของอินเดีย ที่มอญโบราณรับสืบทอดมา และเป็นต้นเค้าของกฎหมายตราสามดวงของไทย พระมหากษัตริย์เป็นมหาสมมุติ (สมมุติหรือแต่งตั้งโดยมหาชน) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงธรรมหรือธรรมราชาผู้ดับทุกข์เข็ญของประชาชน

หลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เช่น อาณาจักรทวารวดีที่แหล่งโบราณคดีคูบัว จ.ราชบุรีและเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้มีการขุดค้นพบเหรียญเงินจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ว่า "ศรีทวารวตีศวร ปุณย" แปลว่าการบุญของผู้เป็นใหญ่แห่งศรีทวารวดี (ผู้อ่าน ดวงเดือน รุ่งแสงจันทร์ (พ.ศ. 2524), ผู้แปล อุไรศรี วรศะริน (พ.ศ. 2524), ผู้ตรวจ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร (พ.ศ. 2529)) อันสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์ไทยต้องเป็นมหาธรรมราชาผู้เป็นใหญ่ด้วยการบำเพ็ญบุญหรือการประพฤติธรรม

เหรียญเงินจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ว่า ศรีทวารวตีศวร ปุณย (ที่มาของรูป : https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/24953)
นอกจากนี้ยังพบภาพปูนปั้นประดับเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม และภาพจารึกบนใบเสมาธรรมจักรจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะพระโพธิสัตว์และจักรพรรดิราชเป็นผู้หมุนกงล้อธรรมจักร อันแสดงให้เห็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนาและแนวคิดธรรมราชาที่มีมายาวนานบนแผ่นดินไทย อีกทั้งศิลาจารึกจำนวนมากที่พบในประเทศไทยกล่าวถึงกล่าวถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์นับแต่โบราณกาลว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจและความชอบธรรมในการปกครองด้วยพระราชกรณียกิจในการให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เช่นจารึกพบที่วัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์คือพ่อขุน หรือหัวหน้าแห่งขุนนาง ทรงปกครองด้วยธรรมะในฐานะธรรมราชา ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงอนุญาตให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงได้ ด้วยการลั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวัง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชในฐานะพระมหากษัตริย์เสด็จลงมาทรงพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงด้วยพระองค์เอง

สมัยสุโขทัยตอนปลายในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แนวคิดเรื่องธรรมราชาในพระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยที่พระนามของกษัตริย์สุโขทัยเป็นพระมหาธรรมราชาอันเป็นการนำความคิดความเชื่อ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาเกื้อหนุนทางการปกครอง พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้น พระราชนิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วง เพื่อเทศนาสอนประชาราษฎรให้เชื่อในนรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทำให้คนเกรงกลัวต่อบาป อันสะท้อนแนวความคิดธรรมราชาและเอื้อประโยชน์ต่อแนวทางการปกครองเพื่อให้ประชาชนเชื่อในบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ มุ่งทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง

ทั้งนี้คำว่า ธรรมราชา มักจะพบในสร้อยพระนามพระมหากษัตริย์ไทยอยู่เสมออันเป็นการสะท้อนความเชื่อในการปกครองด้วยธรรมหรือธรรมราชาว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงรักษาธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่ในศีลธรรม เพื่อให้เกิดฐานพระราชอำนาจที่เรียกว่าพระราชอำนาจโดยธรรม

ภาพปูนปั้นประดับเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม (ที่มาของรูป : https://seaarts.sac.or.th/artwork/169)

จารึกวัดหัวเวียง อำเภอไซยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ค้นพบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและเริ่มอ่านโดย ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (ที่มาของรูป : https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/507)

พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) ณ วัดพระบรมธาตุ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง
แม้ในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นสมมุติเทวราชหรือองค์อวตารของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ อันเป็นแนวความคิดที่รับมาจากเขมรตามลัทธิไศเลนทร์ ด้วยความจำเป็นที่ราชอาณาจักรมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลและมีความหลากหลายมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องใช้พระราชอำนาจที่เด็ดขาดและศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาที่เป็นสมมุติเทวราช ก็มีขอบเขตพระราชอำนาจ หาได้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) อย่างเต็มร้อยไม่ ด้วยมีขอบเขตแห่งพระราชอำนาจที่ถูกจำกัดโดยธรรมหรือธรรมราชาว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงไว้ซึ่งธรรมะ ต้องทรงประพฤติธรรมในการปกครองบ้านเมือง และบำรุงธรรมคือส่งเสริมศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนา

ธรรมะของพระมหากษัตริย์ไทยที่ธรรมราชาพึงประพฤติปฏิบัติเสมอ ประกอบด้วยหลักธรรมสามประการสำคัญ

หนึ่ง ทศพิธราชธรรม หรือ ธรรมสิบประการสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรม และยังประโยชน์ให้เกิดสุขแก่มหาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ทศพิธราชธรรมนั้นมาจากพระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ใน มหาหังสชาดก พระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ขุ.ชา.28/240/86 ประกอบด้วยธรรมสิบประการดังนี้
1. ทานํ หรือ ทาน คือ การให้ การเสียสละ การให้น้ำใจแก่ผู้อื่น
2. สีลํ หรือ ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจ ให้ปราศจากโทษ
3. ปริจาคํ หรือ บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม
4. อาชชวํ หรือ อาชวะ คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครองดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
5. มัททวํ หรือ มัททวะ คือ ความอ่อนโยน หรือ การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส และอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันหรือต่ำกว่าด้วย
6. ตปะ หรือ ตบะ คือ ความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติหน้าที่
7. อกโกธ หรือ อโกธะ คือ ความไม่โกรธ ต้องไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏเห็น
8. อวิหิงสา หรือ อหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์อันเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
9. ขันติ คือ ความอดทน ต้องมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง สามารถรักษาอาการทั้งกาย วาจา และใจ
และ 10. อวิโรธนํ หรือ อวิโรธนะ คือความไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม คือความเที่ยงธรรม หนักแน่น ยึดมั่นในความถูกต้อง เที่ยงธรรม เป็นหลัก ไม่เอนเอียงหรือหวั่นไหวไปกับคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใด ๆ

สอง จักรวรรดิวัตรธรรม 12 คือ วัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ 12 ประการดังนี้
1. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)
2. ขตฺติเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)
3. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)
4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)
5. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)
6. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์)
7. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)
8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)
9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)
10. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)
11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)
และ 12. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)

สาม ราชสังคหวัตถุธรรม 4 คือ สังคหวัตถุธรรมของพระราชาผู้ครองแผ่นดิน แตกต่างจากสังคหวัตถุ 4 ของคนธรรมดา อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ราชสังคหวัตถุธรรม 4 ประกอบด้วย
1. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร)
2. ปุริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
3. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ)
และ 4. วาชเปยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ ประกอบด้วยเหตุผล สามัคคี น่านิยมเชื่อถือ)
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต)

ในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ยังทรงทำหน้าที่ธรรมราชาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ผ่านการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตรากฎหมาย และมีพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีทั้งปวงที่ไม่ครอบคลุมในกฎหมาย (การตีความกฎหมายและการบัญญัติกฎหมายใหม่ในสมัยนี้) กฎหมายของอยุธยานั้นมีที่มาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของศาสนาฮินดู พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาผู้ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในด้านกฎหมายคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชผู้ทรงใส่พระทัยในการพิจารณาอรรถคดี

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แนวคิดเรื่องสมมุติเทวราชของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้เริ่มเสื่อมไป แต่กลับนำแนวคิดธรรมราชาในสมัยสุโขทัยตอนต้นกลับมาเป็นแนวคิดหลัก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงทำหน้าที่พระมหาธรรมราชา โปรดให้ชำระกฎหมาย หรือชำระรวมบทพระอัยการต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง บันทึกไว้ในสมุดไทย โดยตีตราประทับสำคัญสามตรา คือ หนึ่ง ตราราชสีห์ (ฝ่ายมหาดไทยหรือฝ่ายปกครองในปัจจุบัน) สอง ตราคชสีห์ (ฝ่ายกลาโหมหรือกองทัพในปัจจุบัน) และสาม ตราบัวแก้ว (ฝ่ายต่างประเทศในปัจจุบัน)

สมุดไทยบันทึกกฎหมายตราสามดวงในรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้ยกเลิกประเพณีการยิงกระสุนใส่ลูกตาราษฎรที่ยืนหรือเยี่ยมหน้าออกมาทาง หน้าต่างเสีย คงไว้แต่การแสดงศาสตราวุธให้ราษฎรเห็นพอให้เกรงกลัวกฎหมาย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ราษฎรเข้ามาตีกลองวินิจฉัยเภรีเพื่อร้องทุกข์ได้

กลองวินิจฉัยเภรี ทำด้วยไม้รักและหนังควาย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องพระแท่นราชบัลลังก์และพระโธรน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
การปกครองโดยธรรมขององค์พระมหากษัตริย์เป็นการปกครองโดยธรรม ผ่านการรักษานิติธรรม เช่น บทพระอัยการ พระราชบัญญัติ การตัดสินพิพากษาคดี ซึ่งแนวคิดธรรมราชาของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนี้ ทำให้แม้ในปัจจุบันการพิพากษาคดีก็ยังคงทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตั้งพระทัยจะดำรงพระองค์เป็นพระมหาธรรมราชา หรือ ราชาแห่งธรรมไว้อย่างชัดเจน และตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย ได้ทรงครองธรรมในการปกครองแผ่นดิน สมดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานก่อนจะทรงเปล่งสัจจวาจาว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระปฐมบรมราชโองการเมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ ในปีพุทธศักราช 2489

พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธรรมราชาและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกบำรุงทุกศาสนา แม้โดยส่วนพระองค์ พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะตามโบราณราชประเพณีและตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนามาแต่โบราณกาล ทั้งยังทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาในราชอาณาจักร

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวดขอพร (ดุอาอ์) ร่วมกับพี่น้องประชาชนผู้เป็นอิสลามนิกชนในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น