xs
xsm
sm
md
lg

พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่ถูกมอมเมาโดยธนาธร-ปิยบุตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ออกมาเตือนพรรคประชาชนว่า ถ้าเล่นการเมืองแบบโดดเดี่ยวตัวเองก็ยากที่จะได้เป็นรัฐบาล เพราะไม่ได้หมายความว่า พรรคที่ได้ที่ 1 จะต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป ต่อให้ได้ 200กว่าเสียงก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ นั่นหมายความว่าต้องชนะให้ได้เกิน 250 คนแต่จะทำได้ไหม ปิยบุตรพูดไม่ผิดหรอกเพราะโอกาสที่จะได้ สส.เกินครึ่งหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวนั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้มีโอกาสสูงมากที่พรรคประชาชนจะต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านตลอดไป


การเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็เห็นแล้วว่า พรรคประชาชนถูกรุมโดยพรรคการเมืองอื่น แม้จะชี้ว่านี่เป็นการเลือกตั้งซ่อมที่ประชาชนจะเลือกพรรคฝ่ายรัฐบาลต่างกับการเลือกตั้งใหญ่ที่ยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคประชาชนอาจจะมองว่า หากการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นพรรคร่วมรัฐบาลต้องแยกย้ายกันไปส่งคนของตัวเองลงสมัคร ไม่สามารถส่งใครคนใดคนหนึ่งได้คะแนนเสียงก็จะแตก และพรรคประชาชนก็จะชนะการเลือกตั้งได้ ก็อาจจะไม่แน่นักเมื่อพรรคประชาชนจะต้องเผชิญกับบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด และดีไม่ดีรัฐธรรมนูญใหม่อาจไม่มีระบบบัญชีรายชื่อนั่นหมายความว่า พรรคประชาชนจะต้องสู้กันแบบตัวต่อตัวในทุกพื้นที่

ในขณะที่ปิยบุตรไม่ได้พูดว่าอะไรคือปัจจัยที่พรรคประชาชนโดดเดี่ยวตัวเอง ถ้าดูการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหตุผลที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นก็คือ การมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่หรือ ตอนโหวตพรรคภูมิใจไทยก็ประกาศชัดเจนว่า ถ้าเอาเรื่องมาตรา 112 ออกไปก็จะโหวตให้กับพิธาทันที ดังนั้นการโดดเดี่ยวตัวเองตามที่ปิยบุตรหากพูดให้ถูกต้องก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะมาตรา 112 นั่นเอง

แล้วถามว่าแนวคิดในการแก้ไขมาตรา 112 ที่ร่างที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอนั้นแท้จริงเป็นการยกเลิกมาตรา 112 แต่เขียนมาตราขึ้นมาใหม่ให้โทษหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถยอมความได้ ทำให้พระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง และมีโทษที่น้อยมากน้อยกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา รวมไปถึงการสนับสนุนการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ ก็มาจากการที่ปิยะบุตรปลูกฝังความคิดให้กับสมาชิกพรรคไม่ใช่หรือ

ดังนั้นถ้าไม่ต้องการโดดเดี่ยวตัวเองทางออกที่ถูกต้องของพรรคประชาชนก็คือ ต้องออกจากความคิดปฏิกษัตริย์นิยมที่มีอิทธิพลเหนือพรรคจากการนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยะบุตร เพราะปิยบุตรนั้นมีความคิดที่ท้าทายต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์เสมอมาทั้งๆ ที่สถาบันกษัตริย์ไทยทรงอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่คณะราษฎรรัฐประหารปล้นชิงอำนาจและราชสมบัติมาตั้งแต่ปี 2475แต่เพราะแท้จริงปิยบุตรกลับเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ที่มากกว่านั้น

ในมุมมองของปิยบุตรที่ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกมอมเมาก็คือความคิดว่า สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องล้าหลังในรัฐสมัยใหม่ พูดง่ายๆว่า ปิยบุตรไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจทางสายเลือดที่เขาย้ำพูดเรื่องนี้เสมอมานั่นเอง ความคิดของปิยบุตรเหมือนกับว่าบ้านเมืองมันก่อร่างของมันขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ดูว่า การก่อร่างสร้างชาตินั้นเกิดจากการกอบกู้ชาติบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์มันมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่เป็นรากเหง้าของชาติบ้านเมืองอย่างไร
 
ความคิดของปิยบุตรที่เขาเอามาครอบพรรคและมอมเมาความเชื่อคนรุ่นใหม่ เพราะเขามีความชอบในแนวทางของสาธารณรัฐ และชอบอ่านหนังสือที่ชื่อว่า La Vraie Vie ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วชื่อว่า The True Life ที่มีเนื้อหาว่า ภารกิจของปัญญาชนคือเรื่องที่ต้องทำให้เยาวชนเสียคน (corrupt the youth) ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เขามีความคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมเขาต้องมอมเมาความเชื่อให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ออกมาท้าทายระบอบและอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งเห็นว่าพวกเขาทำสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะโหวตเตอร์ของพรรคจำนวนมากนั่นก็คือคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่จำนวนมากคลั่งไคล้พรรคของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นในนามพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชน ซึ่งทำให้รัฐไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการยุบพรรคของพวกเขาถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ถูกพวกเขาครอบงำได้ นอกจากนี้ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในพรรคของพวกเขายังขยายตัวไปยังผู้ปกครองพ่อแม่จนทำให้แนวร่วมของพรรคประชาชนขยายฐานไปเป็นคนวัยทำงานและคนชั้นกลางในเมือง เกิดกระแสที่แห่แหนเป็นไวรัลผ่านโซเชียลมีเดียเหมือนการก่อเกิดกระแสของหมีเนยและหมูเด้งนั่นเอง
 
แต่สิ่งที่อาจเป็นโชคของพวกเขาก็คือ พรรคของพวกเขาเกิดขึ้นในภาวะที่คนส่วนหนึ่งเบื่อหน่ายการรัฐประหารและการปกครองของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และทำให้คนมองว่าความล้าหลังของการรัฐประหารมาจากการสนับสนุนของเครือข่ายอำนาจเก่า ระบอบราชการที่ฝังรากลึก หรือ Deep State หรือความเบื่อหน่ายของคนในสังคมต่อนักการเมืองที่เข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์จากการเข้าสู่อำนาจทั้งการทุจริตแบบตรงๆและการทุจริตเชิงนโยบาย ทำให้คนจำนวนมากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับความคิดของธนาธรและปิยบุตรที่ร่วมกันก่อตั้งพรรคที่มีเป้าหมายมากกว่านั้นคือ การเปลี่ยนแปลงระบอบของรัฐ ไปสู่แนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ในเวลาต่อมาว่าพวกเขาต้องการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์
 
ความเบื่อหน่ายของประชาชนเมื่อบวกปิยบุตรมีความคิดและธนาธรมีเงินมีสื่อเป็นเครื่องมือจึงสามารถสร้างกระแสได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสพ่อของฟ้าในวันที่ธนาธรเปิดตัวสู่การเมือง มันทำให้ลูกของมหาเศรษฐีหมื่นล้านกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว และก่อนหน้านั้นธนาธรก็ปูพื้นฐานความเชื่อปฏิกษัตริย์นิยมอยู่แล้วด้วยการเผยแพร่ผ่าน สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ผลิตหนังสือที่ท้ายต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ออกมาจำนวนมาก และได้ผลอย่างยิ่งเมื่อหยิบฉวยวิทยานิพนธ์ที่แต่งเติบเรื่องเท็จขึ้นมาจำนวนมากเพื่อสร้างความคิดที่เป็นอคติต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นคัมภีร์ของคนรุ่นใหม่ น่าแปลกใจว่าวันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีผลสอบสวนวิทยาพนธ์เล่มนี้ออกมานานแล้ว แต่กลับเก็บเงียบใส่ลิ้นชักเอาไว้เหมือนผู้บริหารจุฬาฯ เห็นดีเห็นงามกับความเท็จนั้น

พรรคประชาชนนั้นเป็นพรรคของธนาธรอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ต่างกับพรรคเพื่อไทยที่เป็นของทักษิณ พรรคการเมืองพรรคนี้จึงเป็นพรรคที่มีเจ้าของไม่ใช่พรรคมวลชนที่แท้จริง แม้จะสามารถรวบรวมความคิดคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดปฏิกษัตริย์นิยมเอาไว้ในพรรคได้จำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถทำให้มีประชาธิปไตยในพรรคได้ เพราะแนวทางความคิดและทิศทางของพรรคและคนที่จะเข้ามาบริหารพรรคนั้นจะต้องผ่านการตัดสินใจของธนาธรที่เป็นเจ้าของพรรค

เมื่อเป็นเช่นนี้การพูดว่า หากพรรคประชาชนต้องการเอาชนะใจประชาชนและได้เข้ามาบริหารอำนาจรัฐจะต้องเอาตัวเองออกจากการครอบงำของธนาธรและปิยบุตร และทำให้พรรคกลายเป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง คนในพรรคต้องออกจากการถูกมอมเมาความคิดปฏิกษัตริย์นิยมของปิยบุตรที่เขาใช้พรรคเป็นเครื่องมือในการสร้างความฝันของตัวเองให้ไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะสมาชิกพรรคแต่ละคนไม่ได้มีแสงของตัวเองได้เข้ามาสู่การเมืองเพราะกระแสของพรรคที่ธนาธรและปิยะบุตรสร้างขึ้นมา แต่ก็ต้องถามตัวเองว่า เราจะเป็นเครื่องมือของการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยจำนวนมากและเป็นสถาบันที่ก่อร่างสร้างชาติไทยของเรามาหรือ
 
คนในพรรคประชาชนเคยทั้งคำถามต่อธนาธรและปิยบุตรไหมว่า ประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิมในความหมายของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคทั้งสองคนนั้นจะนำเราไปทางไหน และแนวทางนั้นมันดีกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร

แม้อนาคตจะเป็นของคนรุ่นใหม่ แต่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่จะได้อำนาจรัฐ หากเกิดจากการถูกมอมเมาความคิดที่เป็นปรปักษ์ต่อระบอบและอุดมการณ์ของรัฐโดยไม่สนใจรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของชาติแล้ว มันก็ไม่ง่ายหรอกที่จะผ่านพลังอำนาจในสังคมจนประสบความสำเร็จได้ แม้เวลาจะเดินไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่งก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น