xs
xsm
sm
md
lg

พระราชอำนาจ ตอนที่ 1 : สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


###################

อารัมภกถา-เนื่องจากได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อพระราชอำนาจ ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นเวลา 3 ชั่วโมง เมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 และคิดว่าเนื้อหาที่บรรยายนั้น น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคมไทย จึงได้นำโครงร่างของเนื้อหาการบรรยายมาทยอยเขียนนำเสนอเป็นบทความในหนังสือพิมพ์เป็นตอน ๆ จำนวน 18 หัวข้อ ดังนี้

1. สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
2. สถานภาพและการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์: บนเส้นทางสู่ระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ
3. พระราชทานประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนชาวไทย
4. สถานภาพและการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ
5. บรมราชาภิเษก: พระราชพิธีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ
6. พระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุขและองค์รัฏฐาธิปัตย์
6.1 พระราชอำนาจในฝ่ายบริหาร
6.2 พระราชอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ
6.3 พระราชอำนาจในฝ่ายตุลาการ
6.4 The king can do no wrong ในการใช้พระราชอำนาจ
6.5 ความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุขและองค์รัฏฐาธิปัตย์
6.6 รัฐประหารกับองค์รัฏฐาธิปัตย์ เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่เคยทรงรับรองรัฐประหาร
7. พระราชอำนาจในฐานะองค์จอมทัพไทย
8. พระราชอำนาจในฐานะองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
9. พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
9.1 พระราชอำนาจในราชการแผ่นดิน (Government Affairs)
9.2 พระราชอำนาจในราชการส่วนพระองค์ (Royal affairs)
9.3 พระราชอำนาจตามจารีตประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
10. พระราชอำนาจพิเศษ (Royal prerogative)
11. พระราชอำนาจในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
12. พระราชอำนาจตามกฎหมายอื่นๆ
13. พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษและผดุงความยุติธรรมในสังคม
14. พระราชอำนาจในการเจริญพระราชไมตรี
15. พระราชอำนาจอันเกิดจากพระราชบารมี
16. ความพยายามในการลิดรอน/ก้าวล่วงพระราชอำนาจ
17. การถวายคืนพระราชอำนาจ รบกวนเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่?
และ 18. จิตสำนึกและปฏิญาณในการรับสนองพระบรมราชโองการและการปฏิบัติหน้าที่
ในบทความแรกนี้จะได้นำเสนอในหัวข้อ สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ผู้เขียนจะพยายามขยันหมั่นเขียนทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ หวังว่าผู้อ่านจะได้ติดตามศึกษาและได้รับสารประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อย


#######################

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยและเป็นศูนย์รวมจิตใจมายาวนานนับพันปี เราเริ่มต้นนับประวัติศาสตร์ไทยนับแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี (หรือประมาณเจ็ดร้อยกว่าปี) เพราะเรายึดเกณฑ์การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามอย่างตะวันตก คือ เริ่มต้นนับตั้งแต่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นของตัวเอง นั่นคือลายสือไทยในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้น แต่แท้จริงแล้วภาษาไทยอันเป็นภาษาในกลุ่มตระกูลไท-ไตมีความเก่าแก่ยาวนานไปมากกว่านั้นมากนับพันปี และสังคมไทยก่อนสมัยสุโขทัยก็มีพระมหากษัตริย์มาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน

ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนอธิบายลักษณะเฉพาะของสังคมไทยในหัวข้อ สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ในหนังสือ ลักษณะไทย เล่มสอง ภูมิหลัง อันเป็นหนังสือในชุดลักษณะไทย (ประกอบด้วย 4 เล่ม) เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก พร้อมภาพประกอบที่สวยงามทรงคุณค่า ตามดำริของนายบุญชู โรจนเสถียร มีอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมชและพันเอกหญิง ดร. คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์อภินันทนาการโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งผู้เขียนได้อ่านแล้วเห็นว่าเขียนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยได้อย่างถูกต้องแม่นยำลึกซึ้งมากที่สุดบทความหนึ่งเท่าที่เคยได้อ่านมา จึงขอนำมาเขียนเล่าขยายความให้เชื่อมโยงมายังปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

อาจารย์คุณชายคึกฤทธิ์ได้อธิบายลักษณะเด่นของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยเอาไว้ว่า




ประการแรก สังคมไทยไม่เคยไร้กษัตริย์ ธรรมเนียมนี้ใช้กันทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์โดยถือว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนสวรรคต กษัตริย์พระองค์ใหม่จะนับว่าขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อโดยทันที เป็นการ "สืบสันตติวงศ์" ต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสาย เพื่อไม่ให้แผ่นดินไทยไร้กษัตริย์ ดังมีวลีในภาษาอังกฤษที่ว่า The king is dead, long live the king! หรือในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า Le roi est mort, vive le roi! อันแปลได้ว่า พระมหากษัตริย์ (พระองค์ก่อน) เสด็จสวรรคต ขอพระมหากษัตริย์ (พระองค์ใหม่) ทรงพระเจริญ

ดังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากมีประกาศสำนักพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี ในเวลาหัวค่ำ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็แถลงการณ์ต่อในทันทีว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้ว ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ทรงพระเจริญ”

แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลานั้น ยังมิได้ลงมติกราบบังคมทูลเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ก็ตาม (สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ตามหลักเอนกชนนิกรสโมสรสมมติ) แต่ก็ยึดถือตามธรรมเนียมว่าแผ่นดินไทยไม่เคยไร้กษัตริย์ ให้นับต่อเนื่องไปในทันทีว่าแผ่นดินมีพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้วนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ย้อนหลังไปตามธรรมเนียม แผ่นดินไทยไม่เคยไร้กษัตริย์ ทั้งนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงแต่งตั้งองค์พระรัชทายาทไว้ที่ สยามมกุฎราชกุมาร (Crown prince) นับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2515 โดยทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สามของไทย ผู้จะทรงสืบต่อราชสันตติวงศ์มิขาดสายตามธรรมเนียมดังกล่าวนี้



พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2515
ประการที่สอง สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยแตกต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของชาติอื่นๆ

2.1 สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงใกล้ชิดราษฎรเป็นอย่างยิ่ง

ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุน ทรงนำกระดึงแขวนไว้ที่หน้าวัง เมื่อราษฎรมีทุกข์ร้อนก็สามารถมีตีกระดึงร้องทุกข์ต่อพ่อขุนได้ ดังจารึกไว้ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม” ในช่วงหลังของสุโขทัย สถานะของพ่อขุนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความใกล้ชิดกับราษฎรก็ยังคงอยู่ปรากฏชัดเจน แต่เปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองด้วยธรรม และเปลี่ยนการขนานพระนามพระมหากษัตริย์จากพ่อขุนเป็นมหาธรรมราชา เช่นพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งปกครองโดยธรรมทำให้ “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ความใกล้ชิดของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับราษฎรนั้นกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิในการเข้าถึงตัวผู้ครองแผ่นดิน (Right to access) ของราษฎร

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ความใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับราษฎรยิ่งปรากฏเด่นชัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5) โปรดเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรแบบ incognito ไม่แสดงตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือทรงให้เจ้านายพระองค์อื่นปลอมพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งไม่ทรงรู้สึกสนุกที่จะต้องปลอมพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงปลอมพระองค์เป็นข้าราชการ ขุนนาง หรือคหบดี ธรรมดา ๆ อยู่เสมอ การเสด็จประพาสต้นดังกล่าวทำให้ทรงใกล้ชิดราษฎรและทรงทราบทุกข์สุขของราษฎรตลอดจนความประพฤติทั้งที่ดีและไม่ดีของราชการ อันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการปกครองแผ่นดิน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 7) อันเป็นรัชสมัยที่ไม่ยาวนานนัก โปรดเสด็จเยี่ยมราษฎรตามหัวเมือง ที่พระเจ้าแผ่นดินไทยก่อนหน้านั้นยังไม่เคยเสด็จไปถึง ทางเหนือ เสด็จไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ทางใต้เสด็จไปจนถึงจังหวัดยะลา เป็นต้น

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (ในหลวงรัชกาลที่ 8) แม้จะเป็นเวลาอันแสนสั้น ยังไม่ทันจะทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งบาดหมางระหว่างชาวไทยกับชาวไทยเชื้อสายจีน ในหลวงรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชาธิราช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ก็เสด็จพระราชดำเนินประพาสสำเพ็งด้วยพระบาท บนทางแคบ ๆ ให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด จนทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวสลายลงพลันด้วยพระราชบารมี

รัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานกว่า 70 ปี เสด็จไปทั่วแผ่นดินไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินกันดารทุรกันดาร อันยากลำบาก ทรงใกล้ชิดและโปรดราษฎรผู้ยากไร้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุด ทรงประทับนั่งกับพื้นดินเพื่อทรงซักถามสารทุกข์สุกดิบของราษฎรอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานับชั่วโมง

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างสมัยใหม่ ใกล้ชิดราษฎรมากที่สุด พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนที่เข้าเฝ้ารอรับเสด็จสามารถใช้กล้องโทรศัพท์มือถือฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมเฟรม (Selfie) ได้ อันเป็นธรรมเนียมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทรงรับการถวายความเคารพโดยทรงยกพระหัตถ์วันทยาวุธเพื่อทรงตอบรับการถวายความเคารพจากเด็กชายตัวเล็ก ๆ ที่มารับเสด็จและตะเบ๊ะถวายและส่ายหน้าดุ๊กดิ๊กตามพระราชนิยม นับว่าทรงให้ความสำคัญกับเด็กและทรงใกล้ชิดกับราษฎรเป็นอย่างยิ่ง

2.2 สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยดำรงความศักดิ์สิทธิ์เพราะทรงเป็นสมมุติเทวราช

แม้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจะทรงใกล้ชิดราษฎรเป็นอย่างยิ่ง แต่สังคมไทยก็ยึดถือเป็นธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามสืบมาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงความศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) เพราะทรงเป็นสมมุติเทวราช

คนไทยจะไม่ทำตัวเทียมเจ้า เพราะเกรงกลัวว่าจะไม่เป็นสิริมงคลกับตนเอง คนไทยจะปฏิบัติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยความเคารพ ในสมัยโบราณถึงกับมีกฎมณเทียรบาล (อันแปลว่ากฎที่ปกป้องคุ้มครองพระราชมณเทียร คือสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้หมายความถึงเพียงแค่กฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์อย่างที่เข้าใจกันในสมัยนี้) ธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ยึดถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงความศักดิ์สิทธิ์นั้นได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอดแทบทุกฉบับ ดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 6 วรรคแรก ว่า มาตรา ๖ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ทั้งนี้ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทวราช อันเป็นไปตามลัทธิเทวราชหรือลัทธิไศเลนทร์ ที่เริ่มแพร่หลายจากศรีวิชัย ชวา แล้วถ่ายทอดมายังกัมพูชา แล้วถ่ายทอดมายังราชอาณาจักรอยุธยา

ลัทธิเทวราชหรือการที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทวราช ทำให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (Coronation) มาจนกระทั่งปัจจุบัน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเป็นพิธีพราหมณ์ที่บรรดาพราหมณ์ผู้สามารถติดต่อพระเจ้าหรือเทวราช สืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ของพระเป็นเจ้า แสดงการยอมรับในองค์พระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็นหัวหน้าพราหมณ์เพราะทรงเป็นเทวราชองค์หนึ่ง
อย่างไรก็ตามในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น แม้ว่าพราหมณ์จะแสดงการยอมรับและถวายราชสมบัติให้สมมุติเทวราชคือพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์ แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มีการแอบซ่อนสัญลักษณ์เพื่อเตือนพระสติของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เช่น

หนึ่ง ในการเริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีขั้นตอนของทัณฑนิติ โดยในขณะที่พระสงฆ์เจริญพระปริตรให้เป็นมงคลถวายแด่พระมหากษัตริย์นั้น พราหมณ์จะทูลเกล้าถวายกิ่งไม้มงคลสามชนิด ให้พระมหากษัตริย์ทรงปัดพระองค์ เป็นสัญลักษณ์เตือนพระสติพระมหากษัตริย์ให้ทรงรู้จักการถูกเฆี่ยนตีหรือถูกลงโทษผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองเสียก่อน จะได้มิทรงเฆี่ยนตีหรือลงโทษราษฎรหรือขุนนางอย่างไร้ความเมตตาปราณี

ใบไม้มงคลสามชนิดมัดรวมกันถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้ปัดพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันเป็นการทัณฑนิติเพื่อเตือนพระสติให้พระเจ้าแผ่นดินทรงระมัดระวังการลงโทษเฆี่ยนตีราษฎรหรือขุนนางที่ทรงต้องปกครอง  ที่มาของภาพ https://library.stou.ac.th/wp-content/odi/online/exhibition-racha-maimongkon/index.html
สอง มีการสรงน้ำพระพุทธมนตร์ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก (มุรธา แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ อภิเษก คือการแต่งตั้ง รวมความแปลได้ว่าการแต่งตั้งผู้เป็นใหญ่) เพื่อแสดงตนว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะก็ต้องทรงปกครองแผ่นดินโดยพุทธธรรม อันเป็นการปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน

ขั้นตอนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองขั้นตอนที่สำคัญอันเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทวราชคือ

หนึ่ง พราหมณ์ถวายน้ำอภิเษกด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระเจ้าของพราหมณ์ ทรงเป็นเทวราชนับแต่บัดนั้น

สอง พระมหากษัตริย์ทรงหลั่งน้ำถวายแผ่นดิน อันเป็นไปตามหลักมหาสมมติของพิธีราชสูยะ ในศาสนาฮินดู เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมอบหมายจากปวงชน (Popular mandate) หลังจากนั้นจึงพระปฐมบรมราชโองการ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ อันเป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ของเทวราชหรือองค์ราชาแห่งทวยเทพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม) ถวายน้ำพระพุทธมนตร์ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก อันเป็นขั้นตอนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่มาของภาพ https://www.posttoday.com/politics/588164

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับการถวายน้ำอภิเษกด้วยพระเต้าเบญจคัพย์จากพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) พระราชครูวามเทพมุนี ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพราหมณ์ประจำเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (เสาชิงช้า) ผู้นำสูงสุดแห่งลัทธิพราหมณ์ในประเทศไทย เราจะสังเกตได้ว่าพราหมณ์ราชสำนักเป่าสังข์ถวายอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน ก่อนมีพระปฐมบรมราชโองการ

ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน ก่อนมีพระปฐมบรมราชโองการ
เมื่อทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงทรงใช้คำนำหน้าพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วจึงขนานพระนามถวายว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

การที่พระมหากษัตริย์ของไทยทรงดำรงความศักดิ์สิทธิ์ในพระราชฐานะสมมุติเทวราช ทำให้มีธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่สำคัญแตกต่างจากประชาชนคนทั่วไปหลายประการดังนี้

ประการแรก การกราบบังคมทูลองค์พระมหากษัตริย์ต้องใช้ราชาศัพท์เพราะทรงเป็นเทวราช ทั้งนี้ธรรมเนียมราชาศัพท์ของไทย รับคำราชาศัพท์มาจากศัพท์ภาษาเขมรมาเป็นจำนวนมาก เช่น ประสูติ เสวย บรรทม เนื่องจากลัทธิเทวราชหรือลัทธิไศเลนทร์ของไทยนั้นได้รับต่อมาจากกัมพูชาอีกต่อหนึ่ง อย่างไรก็ตามธรรมเนียมการใช้ราชาศัพท์กับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายลง ส่วนหนึ่งเพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชประสงค์ใกล้ชิดประชาชน ทั้งยังทรงวางพระองค์อย่างสมัยใหม่และเสรีนิยม ดังเช่น การแสดงถวายหน้าพระที่นั่งในปัจจุบันหรือการขอพระราชทานสัมภาษณ์ ก็นิยมกราบบังคมทูลพระกรุณาไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์แต่ใช้คำสามัญแทน

ประการที่สอง องค์พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องมิได้ ธรรมเนียมนี้มีมาแต่โบราณ เพราะมีความเชื่อว่าห้ามแตะต้องถูกพระวรกายพระมหากษัตริย์เป็นอันขาด เนื่องจากถือว่าเป็นของร้อนและอาจจะไม่เป็นมงคลแก่ผู้ที่ไปแตะต้องพระวรกายพระมหากษัตริย์ อาจจะเกิดอันตรายได้ (หรืออาจจะเป็นกุศโลบายป้องกันการลอบทำร้ายหรือปลงพระชนม์)

อย่างไรก็ตามธรรมเนียมนี้ยึดถือกันเคร่งครัดจนมีบัญญัติไว้ในกฎมณเทียรบาลว่าห้ามแตะต้ององค์พระมหากษัตริย์และพระมเหสี ดังนั้นในเรือพระที่นั่งต้องมีมะพร้าวห้าวผูกไว้เพื่อถวายให้ทรงเกาะเมื่อเรือล่ม แต่แล้วด้วยธรรมเนียมนี้ทำให้เกิดเหตุอันโศกสลดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม ล่มที่ตำบลบางพูด นนทบุรี ทำให้เกิดการสูญเสียถึงสามพระองค์ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ธรรมเนียมนี้ในภายหลังจึงผ่อนคลายลงไปมาก และไม่เป็นที่ยึดถือปฏิบัติอีกต่อไปในปัจจุบันนี้

ประการที่สาม พระราชสรีระขององค์พระมหากษัตริย์จะถูกต้องแผ่นดินมิได้ การทรงพระเครื่องใหญ่หรือการตัดพระเกษาถวายพระมหากษัตริย์ต้องมีพานรองรับมิให้ตกต้องแผ่นดิน เพราะเชื่อว่าทรงเป็นเทวราชจะทำให้แผ่นดินแห้งแล้งได้ (แต่ธรรมเนียมนี้ก็ถูกยกเลิกไปจนหมดสิ้น)

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงขลิบพระเกศาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก่อนจะทรงพระผนวช
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่แห่งใดต้องทรงสวมฉลองพระบาท (รองเท้า) เพื่อมิให้พระบาทแตะต้องแผ่นดิน เพื่อให้แน่ใจว่าพระบาทจะมิแตะต้องแผ่นดินจึงต้องปูลาดพระบาท (พรม) อีกชั้นหนึ่ง

ในสมัยโบราณพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปที่แห่งใด ราษฎรต้องปิดประตูหน้าต่าง ราษฎรหรือขุนนางผู้เข้าเฝ้าไม่สามารถสบตาหรือมองพระมหากษัตริย์ได้ เพราะเชื่อกันว่าทรงเป็นเทวราชมีรัศมีอันร้อนแรงอาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้พบเห็น

ธรรมเนียมโบราณเหล่านี้ ถูกยกเลิกไปจนหมดสิ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช โดยมีพระราชนิพนธ์ประกาศให้ยกเลิกธรรมเนียมเหล่านี้เพื่อให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าได้อย่างใกล้ชิดเพราะทรงมีพระราชประสงค์จะมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎร ทรงปรารถนาจะทราบถึงทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์เอง

ประการที่สี่ ห้ามพระโลหิตของพระมหากษัตริย์ (และพระบรมวงศานุวงศ์) ตกต้องแผ่นดิน ดังนั้นหากมีความจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องมีการสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์ต้องถวายคลุมถุงแดงวางบนใบตองแล้วถวายทุบด้วยท่อนจันทน์ การถวายทุบด้วยท่อนจันทร์นั้นเป็นการทุบไปที่ท้ายทอยหรือต้นคอเพื่อให้คอหักและสวรรคตในทันทีโดยไม่มีการตกพระโลหิต การถวายทุบด้วยท่อนจันทน์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร โดยสำเร็จโทษพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ด้วยทรงส้องสุมผู้คนคิดอ่านจะเป็นกบฏ

ประการที่ห้า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราช การตายของพระมหากษัตริย์จึงต้องใช้คำว่าสวรรคต อันเป็นการเสด็จพระราชดำเนินกลับยังสรวงสวรรค์ ธรรมเนียมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจึงต้องสร้างพระเมรุมาศถวายประหนึ่งเขาพระสุเมรุบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่เดิมการสร้างพระเมรุมาศนั้นใหญ่โตมาก แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย จึงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุมาศของพระองค์เองเอาไว้ตั้งแต่เมื่อทรงดำรงพระชนม์อยู่ว่า “เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป...” (ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง การพระเมรุพระบรมศพ, เล่ม ๒๗ ก, ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๔๓) ซึ่งยึดถือปฏิบัติมาจนปัจจุบัน

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร