xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน ตามพรลิงค์ภายใต้ราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัย (พ.ศ.1318-1633) ตอนที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 มีสงครามระหว่างอาณาจักรมอญ 2 แห่งคือละโว้และหริภุญชัยหลายครั้ง [Munro-Hay 2001: 65-66] จากจารึกโอ เสม็ค (O Smach) หลังจากพระเจ้าอัตราสตกะราช/ตราพกะ/โภคราชของหริภุญชัยขึ้นครองราชย์ได้ 2 ปี ได้ยกกองทัพลงใต้บุกละโว้ทำให้พระเจ้าอุฉิฏจักรวรรดิ/พระเจ้าอุชาจิตตะจักรวัตถี/อุจนิตตจักรพรรดิยกกองทัพขึ้นไปตั้งรับทางเหนือ กษัตริย์จากเมืองสิริธรรมนคร (ตามพรลิงค์) ได้ฉวยโอกาสส่งกองทัพเรือบุกเข้าโจมตีเมืองละโว้มีพระนามว่าสุจิตราชในตำนานจามเทวีวงศ์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21) พระนามว่าวรราชในตำนานมูลศาสนา (พ.ศ.1963) และพระนามว่าชีวกราชในชินกาลมาลินี (พ.ศ.2059) ซึ่งอาจคัดลอกมาจากจารึกแผ่นเดียวกัน หลังจากสูญเสียละโว้กษัตริย์มอญทั้งสองยกทัพแย่งกันไปยึดเมืองหริภุญชัย หลังจากยึดหริภุญชัยไม่สำเร็จ พระเจ้าอัตราสตกะราชจึงยกทัพลงใต้มาตั้งมั่นที่แพรกศรีราชา (อ.สังขบุรี) ส่วนกษัตริย์ตามพรลิงค์กลับเข้ามาในเมืองละโว้สักการะสิงศักดิ์สิทธิ์และพระรูปของพระมารดาซึ่งอาจเป็นเจ้าหญิงแห่งละโว้และตั้งให้บุตรชายของตนอภิเษกกับอดีตราชินีแห่งละโว้หรืออาจจะเป็นเจ้าหญิงเขมรที่หนีการชิงบัลลังก์ในอาณาจักรพระนครและขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ละโว้ทรงพระนามว่าพระเจ้ากัมโพชราชบูรพโกศลซึ่งในยุคนั้นเมืองละโว้ยังเป็นอิสระจากกัมพูชา ไม่มีใครทราบว่ากษัตริย์ตามพรลิงค์พระองค์นี้ประทับอยู่ที่ละโว้หรือเสด็จกลับตามพรลิงค์

สามปีตอม่าในปีพ.ศ.1449 พระเจ้ากัมโพชราชยกทัพบุกหริภุญชัยและบาดเจ็บกลับมาและพยายามตีเมืองนาคบุรีแต่แพ้ จึงมีสงครามระหว่างละโว้กับหริภุญชัยหลายครั้ง [เพ็ญสุภา สุขตะ 2019ก.,ข.] ชีวกะแปลว่าชวา-มลายู การโจมตีละโว้ส่อว่าตามพรลิงค์อาจเป็นอิสระจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยในระดับหนึ่งการบุกยึดละโว้ครั้งนี้ทำให้อิทธิพลศิลปะศรีวิชัยได้แผ่ขยายขึ้นมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะมีการสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ตามคติพุทธมหายานหลายแห่งในภาคกลางเช่น ลพบุรี (ละโว้) ราชบุรี (คูบัว) [สันติ เล็กสุขุม พ.ศ.2544] ในศิลาจารึกบ้านโคกสะแกราชหรือจารึกซับบาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา (พ.ศ.1609) กล่าวถึงการที่กษัตริย์กัมพูชาพระเจ้าอาทิตย์อุทัยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1593-1611) ประกอบพิธีเพื่อไม่ให้พวกชวารุกราน [กังวล คัชชิมา พ.ศ.2550] อาจหมายถึงการยกทัพของตามพรลิงค์ที่ขึ้นกับศรีวิชัยในขณะนั้นมารุกรานกัมพูชาก็เป็นได้ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ขึ้นครองราชย์ยึดละโว้ได้ในปีพ.ศ.1545 และผนวกอาณาจักรละโว้เข้ากับอาณาจักรพระนครในปี พ.ศ.1565

ในระหว่างพ.ศ.1543-1559 เมื่อมหาราชาศรีจุฑามณีวรมเทวะในราชวงศ์ไศเลนทร์ปกครองสมาพันธรัฐศรีวิชัย อาณาจักรในเกาะชวาได้โจมตีจัมบิจนทำให้พระองค์ต้องย้ายที่ประทับไปอยู่ที่เคดาห์ ทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยอ่อนแอลง จากพงศาวดารซ่งสือ ทศกะหรือทา-ซิ่ว-กี่ (多須機ตั้ว-ซื่อ-จี๊) แห่งทัน-มีย์-ลิว (丹眉流ตั้น-เหมย-หลิว) หรือตามพรลิงค์ ส่งราชทูต 9 คนไปจีนมีชื่อว่าแทง-ยิต-แม (打吉馬 ต๋า-จี๋-หม่า) แทง-ลับ (打臘 ต๋า-ล่า) และเบ-เน่ย (皮泥ผี-หนี) หรือในพงศาวดารซ่งฮุ่ยเย่า เรียกว่าแทง-คู-แม (打古馬ต๋า-กู่-หม่า) และชัท-เบ-เน่ย (刹皮泥ช้า-ผี-หนี) เป็นต้น พร้อมไม้จันทน์ 10,000 ท่อนในปี พ.ศ.1544 ในสมัยจักรพรรดิซ่งเจิ้นจง (宋真宗 พ.ศ.1540-1565) และต่อมาในปีพ.ศ.1557 ราชสำนักซ่งห้ามตามพรลิงค์ส่งทูตเกินกว่า 10 คนเพื่อไม่ให้มีสถานภาพเทียบเท่าสมาพันธรัฐศรีวิชัย [Wolters 2002: 89-92] มีการค้นพบโบราณวัตถุในสมัยราชวงศ์ซ่งเป็นจำนวนมากในบริเวณอ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทำให้นักวิชาการไทยหลายท่านสันนิษฐานว่าเมืองตามพรลิงค์น่าจะย้ายมาอยู่บริเวณนี้ในช่วงนี้ [ศรีศักร วัลลิโภดม พ.ศ.2562; วลัยลักษณ์ ทรงศิริ พ.ศ.2562] แต่จริงๆแล้วอาจจะย้ายมาก่อนหน้านี้

ในจารึกธิรุกกะไดยูร์ที่เทวาลัยพฤหัตเทศวรในธันจาวูร์นครโบราณของตันชอร์ในรัฐทมิฬนาดูในปี.พ.ศ.1570 ระบุว่าพระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 ได้โจมตีเมือง 13 เมืองในสมาพันธรัฐศรีวิชัยรวมทั้งมัทธมาลิงกัม (ตามพรลิงค์) เรียกศรีวิชัยว่า ศรีวิชัยยัม และ ปาเล็มบังว่า เมวิลิมบังกัม ซึ่งเป็นช่วงที่มหาราชาสงครามวิชโยตุงคะวรมันแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์ สมาพันธรัฐศรีวิชัยเข้าแทรกแซงและขัดขวางการค้าขายโดยตรงระหว่างโจฬะกับราชสำนักซ่งผ่านทางช่องแคบมะละกาที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยควบคุมอยู่พระองค์เลยตัดสินพระทัยโจมตีทุกเมืองในสมาพันธรัฐศรีวิชัย [Kulke 2016] โดยมีจารึกหลักที่ 29 เป็นอักษรทมิฬเขียนเป็นภาษาสันสกฤตเป็นหลักฐานที่นครศรีธรรมราชว่าพวกโจฬะเคยมาอยู่ที่ตามพรลิงค์ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี (พ.ศ.2530) สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ประมาณปีพ.ศ.1568-1587 ตรงกับสมัยโจฬะการค้นพบโบราณวัตถุศิลปะโจฬะที่ไชยาและนครศรีธรรมราชอาจจะแสดงว่าโจฬะยึดเมืองเหล่านี้ หรือพ่อค้าทมิฬโจฬะเข้ามาค้าขายในศรีวิชัย ไชยาและตามพรลิงค์ก็เป็นได้

พงศาวดารซ่งฮุ่ยเย่ากล่าวว่าในปีพ.ศ.1613 ทศกะหรือทา-ซิ่ว-กี่ (多須機 ตั้ว-ซื่อ-จี๊) แห่งเมืองทัน-ลิว-มีย์ (丹流眉ตั้น-หลิว-เหมย) หรือตามพรลิงค์ส่งทูตไปจีนอีกในสมัยจักรพรรดิซ่งเสิ่นจง (宋神宗 พ.ศ.1610-1628) ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเมืองตามพรลิงค์ได้เป็นอิสระจากโจฬะในปีพ.ศ.1587 พร้อมๆกับเมืองลังกาสุกะ เพราะสมาพันธรัฐศรีวิชัยขอร้องให้พระเจ้าวีระราเชนทราโจฬะมาปราบกบฎที่เคดาห์ในปีพ.ศ.1613 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เมืองตามพรลิงค์ส่งทูตไปจีนเป็นเอกเทศ แสดงว่าเป็นช่วงที่ราชวงศ์ไศเลนทร์อ่อนแอลงมาก และพวกโจฬะก็ไม่สามารถทำให้ตามพรลิงค์และเมืองอื่นๆบนแหลมมลายูตอนเหนือกลับเข้ามาอยู่ใต้อำนาจของสมาพันธรัฐศรีวิชัยภายใต้อิทธิพลของโจฬะ ต่อมาเมื่อราชวงศ์ไศเลนทร์หมดอำนาจลงและศูนย์อำนาจของสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ย้ายจากเคดาห์ไปจัมบิในปีพ.ศ.1633 มีความเป็นไปได้ที่ตามพรลิงค์อาจจะเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่และกลับเข้ามาขึ้นกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยตามเดิมหรือไม่ก็เป็นราชวงศ์เก่า เพราะราชวงศ์ทา-ซิ่ว-กี่นั้นมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์ไศเลนทร์ อย่างไรก็ตามทั้งพงศาวดารซ่งสือและซ่งฮุ่ยเย่าเรียกผู้ครองเมืองตามพรลิงค์ในปีพ.ศ.1544 และพ.ศ.1613 ว่าทศกะหรือทา-ซิ่ว-กี่ (多須機 ตั้ว-ซื้อ-จี๊) ที่น่าจะเป็นตำแหน่งผู้ครองนครหรือชื่อราชวงศ์มากกว่าที่จะเป็นชื่อบุคคล พระนามที่บันทึกในซ่งสือและซ่งฮุ่ยเย่าอาจจะบันทึกจากตราลัญจกรที่ประทับไว้ในพระราชสาสน์ก็เป็นได้ เพราะกษัตริย์ที่ส่งบรรณาการไปจีนอาจจะต้องใช้ตราประทับอักษรจีนเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจกันได้

เอกสารอ้างอิง
กังวล คัชชิมา พ.ศ.2550. “มุมมองด้านพิธีกรรม ศาสนา และชาตินิยม ในประวัติศาสตร์เขมร และจากจารึกซับบาก.” ดำรงวิชาการ 6 (2): 126–44.

ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี พ.ศ.2530. อาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา.

เพ็ญสุภา สุขคตะ 2562ก. “ปริศนาโบราณคดี l ‘สงครามสามนคร’ (1): กษัตริย์หริภุญไชยผู้พลัดถิ่นหนีไปแถบเมืองสรรคบุรี?” มติชน.

เพ็ญสุภา สุขคตะ 2562ข. “ปริศนาโบราณคดี : ‘สงครามสามนคร’ (จบ) : การปรากฏนามของพระเจ้ากัมโพชแห่งกรุงละโว้?” มติชน.

ศรีศักร วัลลิโภดม พ.ศ.2562. “รัฐตามพรลิงค์.” เมืองโบราณ 45 (3): 20–27.

สันติ เล็กสุขุม พ.ศ.2544. ประวัติศาสตร์ศิลปไทย:การเริ่มต้นและสืบเนื่องงานช่างในศาสนา (ฉบับย่อ). กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ พ.ศ.2562. “ฮินดูในรัฐตามพรลิงค์.” เมืองโบราณ 45 (3): 28–39.

Kulke, Hermann. 2016. “Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy.” Bulletin de l’École Française d’Extrême-Orient 102:45–95.

Munro-Hay, Stuart. 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Bangkok: White Lotus.

Wolters, Oliver Williams. 2002. “Tambralinga.” In V. Brakinsky. Classical Civilization of Southeast Asia, 84–105. London: RoutledgeCurzon.



กำลังโหลดความคิดเห็น