xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน ตามพรลิงค์ภายใต้ราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัย (พ.ศ.1318-1633) ตอนที่ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ตามพรลิงค์บันทึกเป็นทัน-ลิว-มีย์ (丹流眉ตั้น-หลิว-เหมย) หรือทัน-มีย์-ลิว (丹眉流ตั้น-เหมย-หลิว) ในพงศาวดารซ่งสือและซ่งฮุยเย่า วอลเตอร์เข้าใจผิดว่าทง-ลิว-มีย์ (登流眉เติ๊ง-หลิว-เหมย) คือตามพรลิงค์ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังหลงทางตามกันมากว่าเป็นเมืองเดียวกัน แต่ในจูฟ่านจื้อและเต้าอี้จาจื้อแยกทัน-แม-เลียง (单马令ตั้น-หม่า-ลิ้ง) และทง-ลิว-มีย์ออกจากกัน และบอกว่าทง-ลิว-มีย์ขึ้นกับเจนละ

หลังจากดาโต๊ะ (ราชา) ธรรเสตุแห่งราชวงศ์ศรีชัยนาศแห่งศรีวิชัยบนเกาะสุมาตราได้เป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งมะธะรัมบนเกาะชวาแล้ว พระองค์มอบหมายให้ราไคปนมกรณและเจ้าชายธรณินทราชา (อาจเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องกัน) แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ยกกองทัพเรือมาตีตามพรลิงค์ก่อนที่จะยกทัพไปตีครหิ (ไชยา) กองทัพราชวงศ์ไศเลนทร์น่าจะยกพลขึ้นบกที่ชายหาดบริเวณโบราณสถาน อ.ท่าศาลาเมื่อได้รับชัยชนะอาจจะย้ายเมืองไปอยู่ที่ อ.เมือง แล้วจึงสร้างปราสาท 3 ฤดูเป็นวิหาร 3 หลังได้สลักจารึกหลักที่ 23 ด้านหน้า (Ligor A) เอาไว้เป็นที่ระลึกซึ่งอยู่ที่วัดเสมาเมือง จ.นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.1318 อุทิศให้ดาโต๊ะ (ราชา) ธรรมเสตุไว้เป็นที่ระลึกที่นครศรีธรรมราชตามที่ได้เขียนในจารึก ส่วนเจ้าชายธรณินทราชาต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชาศรีสงครามธนัญชัยแห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยตามจารึกด้านหลัง (Ligor B) เมื่อสมาพันธรัฐศรีวิชัยขยายอิทธิพลขึ้นมาบนแหลมมลายู จะมีอิทธิพลของชวามากกว่ามลายู อาจเป็นเพราะใช้ราชวงศ์ไศเลนทร์เป็นหัวหอกในการขยายอิทธิพล มาชุมดาร์ กรอม (Krom) และบอส (Bosch) เชื่อว่าจารึกหลักที่ 23 ด้านหน้าและด้านหลังกล่าวถึงกษัตริย์คนละองค์ต่อมาเซเดซ์และคูลเก้ (Kulke) ก็เชื่อตามนี้ จารึกด้านหน้าใช้คำว่าศรีวิชาเยนทราชา (ราชาอินทราแห่งศรีวิชัย) ศรีวิชาเยนทรวรภูบดีและศรีวิชาเยนฤบดี ที่ใกล้เคียงกับคำว่าดาโต๊ะศรีวิชัย (Datu Srivijaya) ในจารึกซาบกกิงกิงที่ปาเล็มบังซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของสมาพันธรัฐและมีคำว่าธรฺมสฺถิรตา (สะพานแห่งธรรม) หมายถึงชื่อ ธรรมเสตุ ดังนั้นด้านหน้าหมายถึงราชา (ดาโต๊ะ) ธรรมเสตุ ส่วนด้านหลังกล่าวถึงมหาราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ที่น่าจะเป็นมหาราชาศรีสงครามธนัญชัยซึ่งสันนิษฐานว่าจะสลักขึ้นในภายหลังพ.ศ.1318 คูลเก้ไม่รู้ว่าศรีวิชัยกับไศเลนทร์รวมกันยังไง แต่กรอมกับบอสเชื่อว่าเป็นพันธมิตรกันเพราะจารึกหน้าหลังประกบกันน่าจะเป็นสัญลักษณ์พันธมิตรระหว่างสมาพันธรัฐศรีวิชัยแห่งเกาะสุมาตรากับราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งเกาะชวาเดอ คาสปาริส (De Casparis) บอกว่าผู้กำจัดศัตรูในจารึกด้านหลังขึ้นครองราชย์แล้วสลักจารึกเกรูลัค และจากที่ปรีชา นุ่นสุข (พ.ศ.2525) ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้วจารึกนี้มาจากนครศรีธรรมราชไม่ใช่ไชยาตามที่ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนีและธรรมทาส พานิชเคยทักท้วงเอาไว้และจารึกหุบเขาช่องคอยจารึกโดยอักษรปัลวะอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 13 กล่าวถึงศรีวิชัยในชื่อ ศรีวิชัยธิการและไม่ได้ส่งบรรณาการไปจีนจนถึงปี พ.ศ.1513

ในช่วงนี้น่าจะมีชาวชวาและมลายูอพยพเข้ามา วิหาร 3 ฤดูอาจจะอยู่ในแนวถนนราชดำเนินเป็นตั้งวัดเสมาเมือง วัดเสมาชัยและวัดมเหยงค์ที่เคยมีศิลาจารึกอยู่ แต่เนื่องจากเจดีย์เก่าเป็นศิลปะแบบชวาจึงน่าจะสร้างโดยช่างชาวชวาของราชวงศ์ไศเลนทร์ [ปรีชา นุ่นสุข พ.ศ.2525] จันฑิเหล่านี้อาจบรรจุอัฐิกษัตริย์ผู้ล่วงลับ พระพุทธรูปหรือเทวรูปซึ่งนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยปัจจุบันเชื่อว่าสร้างไว้เป็นที่บวงสรวงกษัตริย์ผู้ล่วงลับหรือให้สาธารณชนกราบไหว้บูชาและสร้างในเวลาไล่เลี่ยกับบรมพุทโธที่เกาะชวา มีความเป็นไปได้ว่าราไคปนมกรณและเจ้าชายธรณินทราชาอาจจะสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการพิชิตเมืองตามพรลิงค์ที่เป็นเมืองอินเดีย-มอญโบราณมาก่อน โดยมีการสร้างพุทธศาสนสถานนิกายมหายานแบบศรีวิชัยขึ้นเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ราชาธรรมเสตุ เดอ คาสปาริส สันนิษฐานว่าเมื่อสมาพันธรัฐศรีวิชัยยึดตามพรลิงค์ได้แล้วก็ส่งเชื้อพระญาติจากเกาะชวามาปกครองตามพรลิงค์ [De Casparis 1950] อย่างไรก็ตามศิลาจารึกของสมาพันธรัฐศรีวิชัยในประเทศไทยไม่เขียนเป็นภาษามลายูโบราณหรือชวาโบราณจึงสันนิษฐานว่าเมืองทางเหนืออย่างไชยาและตามพรลิงค์น่าจะเป็นชุมชนหลายเชื้อชาติ (Cosmopolitan and Multiethnic) เช่นอินเดีย มอญ ชวาและมลายู ภาษาสันสกฤตจึงถูกใช้เป็นภาษากลาง (Lingua franca) ในการเขียนจารึก เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ.2437-2441 มีการค้นพบพระเจดีย์ของพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเดิมในแบบจันฑิเกาะชวาข้างๆเจดีย์องค์ใหม่และพระบรมธาตุไชยาซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากและเจดีย์ทรงจันฑิในบริเวณใกล้เคียง [กระทรวงวัฒนธรรม; www.m-culture.go.th/young/ewt_news.php?nid=541] จึงสันนิษฐานได้ว่าราไคปนมกรณและเจ้าชายธรณินทราชาที่นำช่างชาวชวามาก่อสร้างสถาปัตยกรรมเหล่านี้ตามคติพุทธศาสนาแบบมหายาน ปรีชา นุ่นสุขได้ตรวจสอบแล้วว่าเจดีย์ศรีวิชัยที่เป็นจันฑิแบบชวาไม่ได้ถูกเจดีย์พระธาตุนครศรีธรรมราชที่เป็นศิลปะแบบลังกาสมัยโปลนนารุวะทำครอบไว้ แต่มีอยู่เดิมและอยู่ข้างนอก เนื่องจากถูกรื้อถอนจึงไม่มีผู้พบเห็นร่องรอย ราชวงศ์ไศเลนทร์อาจมอบหมายให้ผู้ปกครองที่ชื่อว่าทา-ซิ่ว-กี่ (多須機 ตั้ว-ซื่อ-จี๊) หรือทศกะซึ่งอาจเป็นผู้ปกครองตามพรลิงค์เดิมปกครองต่อไปหรือเป็นผู้ปกครองใหม่ในเวลาต่อมาเนื่องจากกษัตริย์จากตามพรลิงค์ชื่อ “ทา-ซิ่ว-กี่” ที่ส่งทูตไปจีนสองครั้งซึ่งในพงศาวดารซ่งสือและซ่งฮุ่ยเย่าโดยทิ้งช่วงห่างกัน 63 ปี ในปีพ.ศ.1446 หรือปี พ.ศ.1467-1470 [Jacq-Hergoual’ch 2002: 351-352; 2004] ทำให้สันนิษฐานว่าอาจไม่ใช่ราชวงศ์ไศเลนทร์ปกครองตามพรลิงค์ดังที่เดอ คาสปาริสเคยสันนิษฐานเอาไว้ [De Casparis 1950]

เอกสารอ้างอิง

ปรีชา นุ่นสุข พ.ศ.2525. หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย. นครศรีธรรมราช: ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช.

De Casparis, Johannes Gijbertus. 1950. Prasasti I: Inscripties Uit de Cailendra-Tijd. Bandung: AC Nix.

Jacq-Hergoualc’h, Michel. 2002. The Malay Peninsula: Crossroads of the Maritime Silkroad: 100BC-1300AD. Leiden: EJ Brill.



กำลังโหลดความคิดเห็น