xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบของพรรคประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



พรรคประชาธิปัตย์พรรคการเมืองเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับคณะราษฎรในฐานะปีกของอนุรักษนิยมที่เชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม เคยเป็นมาแล้วทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน คือ ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชวน หลีกภัย ที่เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 ที่ทำให้ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกจากนั้นไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย แม้เวลาต่อมาหัวหน้าพรรคคือชวนได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมาก็เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองที่กลายเป็นตำนานของงูเห่าทางการเมืองทั้งสองครั้ง

ความโดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตก็คือ การมีขุนพลฝีปากกล้าในพรรค วีระ มุสิกพงศ์ สมัคร สุนทรเวช เฉลิม อยู่บำรุง จาตุรนต์ ฉายแสง ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์มาก่อนจะแยกย้ายออกไปอยู่พรรคการเมืองอื่น นักการเมืองฝีปากกล้าจากภาคใต้อีกหลายคนที่ขึ้นชื่อในการอภิปรายที่โดดเด่นทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่หวั่นเกรงของพรรครัฐบาลในวันที่พรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะชวนที่ได้ฉายาว่า มีดโกนอาบน้ำผึ้ง

เอกลักษณ์ที่มีลีลาโวหารโดดเด่นเป็นคุณสมบัติของสส.ในพรรคนั้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ครองใจคนภาคใต้ได้ยาวนาน อาจจะเพราะคนใต้เป็นคนชอบการเมือง รวมไปถึงวัฒนธรรมการเล่นหนังตะลุงของภาคใต้ที่เจือปนไปด้วยกลิ่นอายทางการเมืองทำให้การเมืองอยู่ในสายเลือดของคนใต้ สอดคล้องกับลีลาการเชือดเชือนด้วยวาทะของ สส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่ถูกอกถูกใจไม่ต่างจากนายหนังตะลุง จนประชาธิปัตย์เชื่อมั่นตัวเองว่า แม้จะส่งเสาไฟฟ้าลงในนามพรรคประชาธิปัตย์คนใต้ก็กาคะแนนให้

ในอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์มักจะมีภาพของสุภาพบุรุษนักการเมือง เป็นนักการเมืองน้ำดี ที่ไม่ค่อยแสวงหาตำแหน่งผลประโยชน์มากนัก ถึงเวลาก็พร้อมจะเป็นฝ่ายค้านโดยไม่กระเสือกกระสนจะเป็นรัฐบาล นอกจากสามารถครองใจคนใต้ได้แล้วยังเป็นขวัญใจของคน กทม.ด้วย แม้คน กทม.มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส แต่เมื่อผิดหวังก็มักจะหันกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์เสมอ ดังนั้นหลายครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะกลับมาสู่ความนิยมได้อีก

พรรคประชาธิปัตย์ยังเคยได้ชื่อว่า เป็นพรรคที่เป็นขวัญใจของคนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน และคนหนุ่มสาววัยทำงานด้วย แต่ปัจจุบันจะเห็นว่า คนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน คนวัยทำงานพากันหันไปสนับสนุนพรรคประชาชน (ก้าวไกล) กันหมดแล้ว รวมถึงคนกรุงเทพฯ ด้วย ยากมากที่จะหวนกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกเหมือนในอดีต

ใครบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยรุ่งโรจน์แล้วตกต่ำก็จะกลับมาได้เสมอ แต่ถึงยุคนี้ก็อาจจะไม่กลับมาอีกแล้ว แม้จะได้ชื่อว่า เป็นพรรคเก่าแก่ที่เป็นสถาบันการเมือง แต่คุณสมบัติเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในยุคปัจจุบัน

รวมถึงฐานเสียงในภาคใต้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ในอดีตอาจจะส่งเสาไฟฟ้าลงคนใต้ก็เลือก แต่ในระยะหลังๆ ที่ผ่านมาชัยชนะในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายอีกแล้ว และคนใต้ก็ไม่ได้ยึดติดกับพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวเหมือนในอดีต มีพรรคการเมืองอื่นสามารถเข้ามาแย่งชิงเก้าอี้ได้มาก อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับพรรคของทักษิณเท่านั้นที่คนใต้ไม่เลือก แต่ล่าสุดคนภูเก็ตก็เลือกพรรคก้าวไกลทั้งจังหวัด และพรรคก้าวไกลสามารถได้คะแนนบัญชีรายชื่อในภาคใต้สูงเป็นอันดับ 1 ด้วย

บุคลิกของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ในอดีตนั้นเป็นพวกที่ไม่กลัวเกรงอำนาจเผด็จการ สอดคล้องกับคนใต้ที่ชอบรบกับนาย (ข้าราชการ) อย่างไม่เกรงกลัว บุคลิกแบบนี้ปัจจุบันตกไปอยู่กับพรรคก้าวไกล และอาจเป็นไปได้มากว่าในอนาคตพรรคก้าวไกลจะได้ที่นั่งมากในภาคใต้เพิ่มขึ้นเพราะภาพของ สส.ประชาธิปัตย์ในปัจจุบันไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านที่ต่อสู้กับฝ่ายที่มีอำนาจอย่างโดดเด่นอีกแล้ว

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเคยเป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่ค่อยจะมีความโดดเด่นในการสร้างนโยบายที่ได้รับการยอมรับ ลักษณะของพรรคประชาธิปัตย์เวลามีอำนาจก็มักจะปล่อยให้กลไกของระบบราชการขับเคลื่อนจนนายกรัฐมนตรีชวนถูกเปรียบเปรยว่าเป็นปลัดประเทศมากกว่า การที่ทักษิณ ชินวัตรได้รับความนิยมอย่างสูงในการเข้าสู่การเมืองก็เพราะคนกำลังเบื่อความเชื่องช้าของรัฐบาลชวนในตอนนั้นนั่นเอง

คอการเมืองมักพูดกันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านดีกว่าเป็นรัฐบาล เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วมักจะทำอะไรที่ผิดพลาด จนถูกโจมตีว่าพูดเก่งแต่ทำงานไม่เป็น

แต่เมื่อทักษิณเข้าสู่การเมือง ความเชื่อที่ทำให้คนเข้าใจว่ารวยแล้วไม่โกงไม่เป็นความจริง เพราะทักษิณหาประโยชน์จากนโยบายรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่งตั้งพรรคพวกของตัวเองในระบบราชการโดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถและทำลายระบบคุณธรรม พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นแนวร่วมกับประชาชนคนชั้นกลางที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณจนได้ชื่อว่าเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองกัน แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะพรรคของทักษิณอีกเลยนับแต่นั้นมาก็ตาม

ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองฝีปากกล้าที่ท้าทายฝ่ายที่มีอำนาจรัฐและเคยยืนยันหยัดต่อสู้กับเผด็จการอีกแล้ว ความผิดพลาดมากก็คือ การเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหาร แม้ครั้งนั้นดูจะไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่ร่วมรัฐบาลประยุทธ์ก็ต้องไปยืนอยู่กับพรรคทักษิณก็ตาม แต่ครั้งนั้นก็ไม่ทำให้ชนะใจมวลชนได้และเหลือสส.เพียงไม่กี่คนในเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงที่กำลังตกต่ำ และวันเวลาที่เคยรุ่งโรจน์อาจจะไม่หวนคืนกลับมาอีกแล้วความเป็นสถาบันการเมืองไม่มีความหมายอะไร สิ่งที่ควรทำก็คือการยืนหยัดคุณลักษณะและอุดมการณ์แบบพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตให้กลับคืนมาคือไม่แสวงหาอำนาจ พร้อมที่จะเป็นพรรคฝ่ายค้านต่อสู้กับฝ่ายที่มีอำนาจเพื่อสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีของตัวเอง แต่สิ่งที่ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันกระทำก็คือ การโหยหาอำนาจ อยากได้ตำแหน่งแห่งหน แม้จะต้องเข้าไปร่วมกับระบอบทักษิณที่ฉ้อฉลซึ่งเคยต่อสู้กันมาก็ตาม

การเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคของทักษิณในยุคที่ทักษิณดันลูกสาวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยิ่งตกต่ำลงอีกการได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลของทักษิณนั้นไม่มีวันที่จะสร้างความโดดเด่นเพื่อเรียกคะแนนความนิยมกลับมาได้แน่ เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ สส.ที่น้อยลงไปอีก โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นก็จะเหลือไม่กี่ที่นั่ง ไม่ต้องพูดถึงภาคอื่นหรือ กทม.เลยที่ไม่มีวันที่พรรคประชาธิปัตย์จะเอาชนะใจประชาชนได้อีกต่อไปแล้ว

สำหรับคนที่เป็นเสียงข้างน้อยในพรรคประชาธิปัตย์อย่างชวน บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ฯลฯ ไม่มีเวลาแล้วที่จะกอบกู้พรรคให้กลับคืนมา และต้องยอมรับด้วยว่าที่ผ่านมา ตัวเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีชะตากรรมเช่นวันนี้

ความจริงที่จะต้องยอมรับแม้จะเจ็บปวดก็คือ ณ เวลานี้ความเป็นพรรคเก่าแก่ของประชาธิปัตย์และการเป็นสถาบันการเมืองจบสิ้นลงไปแล้ว และคนที่นอนหลับฝันดีก็คือ ทักษิณนั่นแหละ
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น