xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมการสืบทอด “รัฐวงศ์ชิน” ต้องแอบจับมือกับ “พรรคประชาชน” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 การสืบทอดอำนาจของครอบครัวชินวัตร ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย ย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า ครอบครัวชินวัตรสามารถสืบทอดได้โดยสายโลหิต ที่สามารถทำให้ใครก็ได้ที่เป็นญาติพี่น้อง ลูกหลาน สามารถมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือประสบการณ์น้อยกว่าคนอื่นๆ ในพรรคก็ตาม

ซึ่งบังเอิญว่า  “รัฐวงศ์ชิน” ยังมีการผลิตลูกหลานขึ้นมาอีกมากมาย แสดงให้เห็นว่าเผ่าพันธุ์ตระกูลชินวัตรยังมีศักยภาพสืบทอดอำนาจรัฐได้อีกนานหลายรุ่น (ถ้าไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เสียก่อน)ฃ

ฃอย่างไรก็ตาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ก็ยังเชื่อว่าจะสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แม้จะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์น้อยกว่าอีกหลายคนในพรรค เพราะความเป็นรัฐบาลต้องอาศัย “ทีมงาน” ในการทำงานจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาในมิตินี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ยังสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ โดยมี  นายทักษิณ ชินวัตร คอยเป็นที่ปรึกษาให้อยู่

อย่างน้อยคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีที่ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง เงื่อนไขนี้ย่อมบีบให้คณะรัฐมนตรีต้องคัดกรองผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีให้มีความขาวสะอาดมากขึ้น ในขณะเดียวกัน “การกระทำ” ที่จะเป็นความเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมืองก็ย่อมมีการ  “ถอย” เพื่อความปลอดภัยในสถานภาพของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ตัวอย่างการตรวจคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีอย่างละเอียด และการกำหนดนโยบายถอยเรื่อง  ดิจิทัลวอลเลต เพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดต่อกฎหมายแต่ยังคงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ด้วยการ  “แจกเงินสด” อย่างน้อยก็น่าเชื่อได้ว่าการดำเนินไปในเรื่องการบริหารประเทศของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยจะเลวร้ายลงในเรื่องการบริหารประเทศแต่อย่างใด

แม้ว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคนี้จะถูกขุดเรื่องราวในอดีต หรือตัดคลิปเพื่อด้อยค่าจากฝ่ายตรงกันข้ามกับระบอบทักษิณ แต่ความสุ่มเสี่ยงในเรื่องการบริหารของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็น่าจะเป็นเรื่องอื่นที่เป็นจุดเปราะบางมากกว่ากลับเป็นเรื่องการกระทำผิดต่อกฎหมายจากเรื่องราวในอดีตที่แก้ไขไม่ได้แล้ว กับเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวในปัจจุบันและอนาคตกับการใช้อำนาจทางการเมืองภายใต้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 โดยเฉพาะการถือหุ้นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในบริษัทที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ซึ่งเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ โดยศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ไม่รับอุทธรณ์ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งผลทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ต้องโทษจำคุก 2 ปี เพราะใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง

คดีดังกล่าวสิ้นสุดสมบูรณ์แล้ว และมีผู้กระทำความผิดจริง จึงไม่สามารถอ้างเรื่องการพ้นความผิดของนายเสนาะ เทียนทอง เพียงเพราะคดีหมดอายุความได้ และไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าความผิดในคดีนี้มีความสุ่มเสี่ยงต่อสถานภาพของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในประเด็นเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่มีความผิดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

 คดีดังกล่าวน่าจะยังมีความเสี่ยงต่อคุณสมบัติต่อรัฐมนตรีซึ่งย่อมถูกนำไปเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 1/2564 ของนางสาวปรีณา ไกรคุปต์ ที่ได้รับมรดกจากบิดาที่เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลฎีกาได้สั่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ให้นางสาวปรีณาไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวันที่ 6 เมษายน2565 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง

 คำถามที่มากรณีการส่งรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้กฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี “ทุกวงเล็บ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 นั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตรจะกล้าหาญเพียงพอเพื่อสอบถามกฤษฎีกาในคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจากรณีการถือหุ้นอัลไพน์ด้วยหรือไม่? ถ้าจะเลือกปฏิบัติหรือ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ที่จะไม่สอบถามกฤษฎีกาในประเด็นของตัวเองด้วยแล้ว ลักษณะซ้ำรอยนายเศรษฐา ทวีสิน ในกรณีที่รู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

คดีดังกล่าวนี้หากจะมีการดำเนินรอยตามคดีของนางสาวปรีณา ไกรคุปต์ หมายความว่าหากสมมุติว่าเพียงแค่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลความผิดสั่งฟ้องแล้ว นางสาวแพทองธาร ชินวัตรจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่อย่างใด

คดีล่าสุดที่นายสนธิญา สวัสดี ยื่นคำร้องต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีการทำผิดขอนายทักษิณ ชินวัตร ที่แต่งชุดขาวนอกราชการอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตรเป็นอดีตนักโทษมีโทษจำคุกในการปฏิบัติไม่ชอบ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ว่านายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่เพิ่งพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี อันเป็นเหตุให้มีความเสี่ยง หากมีคำพิพากษาให้จำคุกอีกย่อมไม่สามารถได้รับการรอลงอาญาได้

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับทราบการแต่งกายของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสุ่มเสี่งต่อการกระทำความผิดต่อหน้า จึงต้องเลือกว่าจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือบิดาตัวเองหรือไม่ ซึ่งหากทำเช่นนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

คือแค่วันแรกในการได้รับพระบรมราชโองการ ก็เสี่ยงต่อกฎหมายไปทั้งพ่อและลูกตระกูลชินวัตรเสียแล้ว

นอกจากนั้น ความเสี่ยงคดีทั้งหลายของนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งเรื่องการไม่ติดคุกเลยแม้แต่วันเดียว หรือการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดึเหล่านี้จะเป็นความเสี่ยง เสมือนโซ่ตรวนคล้องคอแล้วกระตุก นายทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ และเมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบได้ และจะนำไปสู่การผลักดัน “นิรโทษกรรม” ให้กับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเอื้อประโยชน์ของทักษิณหรือไม่

 จากความเสี่ยงในความผิดของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่าง พรรคเพื่อไทยกับประชาชน และพรรคเพื่อไทยกับกองทัพไทยด้วยหรือไม่?

ความระแวงในเรื่องนี้ใช่หรือไม่จึงทำให้  นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงพยายามที่จะประชุมสภากลาโหม เพื่อขอความเห็นชอบในการแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพได้ หากมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะมีการทำรัฐประหาร

แต่ความพยายามแก้ไขเรื่องของการโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพด้วยอำนาจทางการเมือง และความพยายามในการสมรู้ร่วมคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อประโยชน์ของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งในการต่อต้านของประชาชน ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการรัฐประหารได้ทั้งสิ้น

ความพยายามในการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการแก้ไขแก้ไขพระราชบัญญัติ การจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นประโยชน์ร่วมกันของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจริงหรือไม่

หรือเรียกสั้นๆ ว่า  “ฮ่องกงดีล”!!!


 ด้วยเหตุนี้ การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย จึงเป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ในการร่วมกันโจมตีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และอาศัยที่เผลอในการลงมติกฎหมายการลงประชามติ หรือการนิรโทษกรรม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นวาระที่ทยอยดำเนินต่อไปในสภาผู้แทนราษฎร จริงหรือไม่?

แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ได้ดำเนินไปโดยง่ายด้วยเพราะเสียงข้างมากของสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติในอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนแล้ว แต่เป็น ส.ว.สีน้ำเงิน ที่ยังยึดมั่นในความมั่นคงต่อสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์อยู่

ความสุ่มเสี่ยงต่ออำนาจของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะอาศัยอำนาจในการดำเนินกระบวนการที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบิดาตัวเองหรือไม่

ในขณะที่นโบายที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตรเคยหาเสียงเอาไว้ ประชาชนย่อมต้องทวงถามนโยบายการลดราคาพลังงาน  “ทันที” ว่าจะทำได้หรือไม่

 ความเสี่ยงในนโยบายที่อาจจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ในครอบครัวชินวัตรหรือไม่ เช่น พื้นที่แหล่งพลังงานที่อ้างสิทธิทางทะเลระหว่างไทยกัมพูชา หากไม่เดินหน้าก็อด แต่เดินหน้าต่อไปความเสี่ยงทางการเมืองและกฎหมายอย่างแน่นอน

เมื่อมองไปแล้ว การใช้อำนาจและการไม่ใช้อำนาจของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงเห็นแต่ความเสื่อมและความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า อย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดยเฉพาะ ความเสี่ยงจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งจากหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น หนี้สินภาครัฐสูงขึ้น ปัญหาปากท้องรุมเร้า ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทยอยปิดโรงงานอุตสาหกรรม การแย่งแข่งขันทางการค้าและการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงจากต่างประเทศ

แต่ยังมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีความเสี่ยงถึงขั้นเป็นความขัดแย้งหรือสงครามระดับโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีและทีมงานจะมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ผันผวน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้หรือไม่โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้าน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและยารักษาโรค ฯลฯ

 การแอบจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องที่มองไม่ออก เพราะทุกฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าใครกำลังทำอะไร รอเพียงเวลาตัดสินใจของทุกฝ่ายเท่านั้น

 สถานภาพของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในความเสี่ยงมาก และเดิมพันสูงอย่างยิ่งของรัฐวงศ์ชินวัตร



กำลังโหลดความคิดเห็น