xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน การช่วงชิงอิทธิพลในช่องแคบมะละการะหว่างกรุงศรีอยุธยากับมะละกา (พ.ศ.1943-พ.ศ.2054) บทบาทของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


พงศาวดารมลายู หรือ เซอจาราห์มลายู (Sejarah Melayu)
โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

พงศาวดารมลายูหรือเซอจาราห์มลายู [Sejarah Melayu, Bendahara 1970] กล่าวว่าราชวงศ์มะละกามาจากเจ้าชายศรีตรีบัวนา (Sri Tribuana) ปรากฏตัวที่บูกิต เซกุนตังซึ่งเป็นที่ฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัย และสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (สุลต่านอิสกานดาร์ ซุนคาร์ไนอัน) คล้ายกับพงศาวดารซิอัคของเปรัก มิสมลายู ไม่มีในปาตานีและมะโรงมหาวงศ์ พยายามบอกว่ารัฐมลายูไม่เคยส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งขัดกับหมิงสือ หมิงสือลู่และเอกสารโปรตุเกสหลายฉบับ โดยถือว่าปาไซกับอารุมีสถานะเท่าเทียมแต่ระวังอาเจะห์ กรุงศรีอยุธยาและมัชปาหิตและขอความคุ้มครองและค้าขายกับจีน อินเดียและโลกมุสลิมแต่ฮิกายัต ปาตานีและมะโรงมหาวงศ์ไม่ยืนยัน พงศาวดารมลายูพยายามเชื่อมโยงมะละกากับศรีวิชัยที่ปาเล็มบังไม่ใช่ราชวงศ์เมาลิที่จัมบิ เอกสารโปรตุเกสหลายฉบับยืนยันว่ามะละกาเคยส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา เช่น จดหมายลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2053 จากรุย ดึ อเราฌุ (Rui de Araújo) ถึง อฟงซุ ดึ อบูแกร์ก (Afonso de Abuquerque) และคำสั่งในปีพ.ศ.2055 ของอบูแกร์กถึง อันตอนิอุ ดึ มิรันด้า ดึ อซึแวดุ (António de Miranda de Azevedo) [Abuquerque 1903; 1923] รวมทั้ง The Suma Orienta volume II, Malacca หน้า 238 ของโตเม่ ปิรึช [Cortesão 1944] แม้ว่าเอกสารทางฝั่งมาเลเซียจะอ้างว่าการส่งบุหงา มาสให้กับอยุธยาจะเป็นการแสดงมิตรภาพ แต่ถ้าหัวเมืองมลายูไม่ส่งบุหงา มาสมาให้กรุงศรีอยุธยาก็จะถูกโจมตีทันทีซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากเอกสารฝั่งไทย จีนและโปรตุเกส นครรัฐในทะเลใต้นั้นส่งบุหงา มาสให้กับจีนที่เรียกว่าจินฮัว (金华) หรือดอกไม้ทองเป็นเครื่องบรรณาการเป็นพันปีแล้วไม่ใช่เป็นความคิดของกรุงศรีอยุธยา

กองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาเริ่มโจมตีเมืองต่างๆ ในช่องแคบมะละกา [Baker & Phongpaichit 2022] เจ้าชายปรเมศวรได้สังหารข้าหลวงของกรุงศรีอยุธยาที่นั่นในปีพ.ศ.1944 แล้วหนีจากทูมาสิกไปก่อตั้งเมืองมะละกาขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1945 [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 43-44] โตเม่ ปิรึช [2017 (1512-1515)] กล่าวว่าข้าหลวงคนนี้เป็นโอรสของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยากับธิดาเจ้าเมืองปัตตานียุคนั้นอาจจะชื่อโกตามะห์ลิฆัย พงศาวดารมลายูกล่าวว่าเจ้าชายปรเมศวรเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.1957 แต่จากเอกสารแวดล้อมอื่นเช่นของจีนและโปรตุเกสน่าจะสันนิษฐานได้ว่าเจ้าชายปรเมศวรไม่เคยนับถือศาสนาอิสลาม ผู้ปกครองมะละกาหันมานับถือศาสนาอิสลามในช่วงรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยที่ศาสนาอิสลามตั้งมั่นในมะละกาในสมัยสุลต่านมุสซัฟฟาร์ที่ต่อสู้กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ

พงศาวดารหมิงสือ (明史) กล่าวว่าในปี พ.ศ.1946 พระปรเมศวรแต่งคณะทูตไปขอความคุ้มครองจากจีนทำให้จีนส่งนายพลเรืออิ๋นชิง (尹庆) มามะละกา (滿剌加) และพบว่ามะละกาส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา หม่าหวน (1985 [1433]) กล่าวว่ากรุงศรีอยุธยาต้องการให้มะละกาส่งทองคำ 40 เหลียงให้ทุกปีและจะส่งกองทัพโจมตีถ้าไม่ส่งบรรณาการราชสำนักหมิงพระราชทานลัญฉกร ผ้าคลุมทอง (คำหับ) และสัปทนให้พระปรเมศวรทำให้สมเด็จพระรามราชาธิราชส่งกองทัพอยุธยาโจมตีมะละกาในปีพ.ศ.1947 (ค.ศ.1404) จนเจ้าชายปรเมศวรหนีไป สุลต่านฮิสคานดาร์โอรสของเจ้าชายปรเมศวรจึงส่งบรรณาการมากรุงศรีอยุธยา สงครามกลางเมืองในมัชปาหิตระหว่างปีพ.ศ.1948-1949 ทำให้มัชปาหิตไม่เข้ามายุ่งกับหัวเมืองในแหลมมลายู นายพลเรือเจิ้งเหอ (郑和) เดินทางไปหลายครั้งตั้งแต่ปีพ.ศ.1948-1976

ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.1947 กษัตริย์อยุธยาติดต่อกับริวกิว [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 39; Piyada Chonlaworn 2004] และในปีพ.ศ.1948 เจิ้งเหอ เดินทางไปสมุทรา-ปาไซ [หม่าหวน 1985 (1433); เฟยซิ่น 1969 (1436)] ในปี พ.ศ.1950 สมเด็จพระรามราชาธิราชส่งกองทัพอยุธยาโจมตีสุมาตราที่สมุทรา-ปาไซ ปาหังและมะละกา ทำให้วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.1950 (ค.ศ.1407) จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ออกราชโองการตำหนิกรุงศรีอยุธยาเรื่องการโจมตีสมุทรา-ปาไซ ปาหังและมะละกา [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 42] เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาพยายามแย่งตราตั้งสุวรรณลัญฉกรและคำหับที่จักรพรรดิหมิงมอบให้มะละกา [Mingshilu, Wade 2005a; Wolters 1970; กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 60-61] ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.1951 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ส่งเจิ้งเหอไปมะละกาและกรุงศรีอยุธยา [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 45] และกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาส่งทูตมาวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 1951 เพื่อยอมรับผิด [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 46]

ในปีพ.ศ.1952 จักรพรรดิ์หมิงเฉิงจู่ให้นายพลเรือเจิ้งเหอ ไปรับรองมะละกาทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่กล้าโจมตีมะละกาหลังจากนั้น [หม่าหวน 1985 (1433); เฟยซิ่น 1969 (1436)] เพื่อคุ้มครองมะละกาจากกรุงศรีอยุธยาและมัชปาหิตโดยรับรองว่าปรเมศวรเป็นประมุขแห่งมะละกาทำให้กษัตริย์ 3 องค์แรกไปจีนเพื่อให้จีนปกป้องจากอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยาและ ในปีพ.ศ.1952 พระปรเมศวรเสด็จไปจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ในปีพ.ศ.1954 ราชสำนักหมิงรับรองกลันตันทำให้กลันตันไม่ส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ.1957 เจิ้งเหอเดินทางไปมะละกาและพระปรเมศวรสิ้นพระชนม์ลง และเมกัต อิสคานดาร์ ชาห์ขึ้นครองราชย์และเสด็จไปเมืองจีนหลายครั้ง [Mingshilu, Wade 2005a] ในปีพ.ศ.1956-1957 สุลต่านเมกัต อิสคานดาห์ ชาห์ ส่งทูตที่เป็นพี่เขยมากรุงศรีอยุธยาเพื่อขอเสบียง [Baker & Phongpaichit 2022]

ต่อมา วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.1962 เมกัต อิสคานดาร์ ชาห์รายงานราชสำนักหมิงว่าถูกกรุงศรีอยุธยารุกราน [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 52-53] ซึ่งเฟยซิ่น [1969 (1436)] ที่มากับกองเรือเจิ้งเหอบันทึกยืนยันเหตุการณ์นี้ ทางจีนจึงห้ามสมเด็จพระนครินทราธิราชส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาโจมตีมะละกา ซี่งทำให้มะละกาเลิกส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยาหลังจากที่มะละกามีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในช่องแคบมะละกา หลังจากที่นายพลเรือเจิ้งเหอเสียชีวิตมะละกาก็เริ่มคุ้มครองตนเองจากกรุงศรีอยุธยา ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.1964 สมเด็จพระนครินทราธิราชส่งบรรณาการมาจีนเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษที่รุกรานมะละกาโดยมอบสินค้าพื้นเมืองหลังจากที่จีนกดดัน [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 60-61] ทางกรุงศรีอยุธยาจำเป็นต้องอ่อนน้อมต่อจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าเนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ หม่าหวน [1985 (1433)] นักเดินเรือที่มากับเจิ้งเหอบันทึกว่าอยุธยามักส่งกองทัพปราบปรามประเทศเพื่อนบ้านและกรุงศรีอยุธยาต้องการให้มะละกาส่งบรรณาการให้ สุลต่านแห่งมะละกาไปเยือนจีนครั้งสุดท้ายคือในปีพ.ศ.1967 และพ.ศ.1976

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.1964 กรุงศรีอยุธยาใช้ทูตมุสลิมไปจีน [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 54] ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นขุนนางมุสลิมในราชสำนักน่าจะเป็นมุสลิมมลายูที่เจ้าเมืองส่งลูกหลานเข้ามารับราชการในราชสำนักดังที่ตำนานนครจัมบิและโตเม่ ปิรึชกล่าวไว้ เอกสารต่างประเทศเช่น มลายู จีน โปรตุเกส สเปนและเนเธอร์แลนด์มักจะกล่าวถึงชาวมลายูในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาและพ่อค้ามุสลิมที่ไปติดต่อกับอาณาจักรต่างๆในเอเชียอยู่เสมอ ในปีพ.ศ.1972 กษัตริย์กลันตันอภิเษกกับกษัตริย์มัชปาหิต จึงไม่ส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.1974 มะละกาฟ้องจีนที่ถูกกรุงศรีอยุธยากีดกันไม่ให้ส่งทูตจากมะละกาที่โดยสารเรือปาไซเพื่อส่งบรรณาการไปจีน [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 68] ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ขยายอิทธิพลบุกโจมตีกัมพูชาและบุกเมืองจัมบิบนเกาะสุมาตราตามที่เอกสารอาณาจักรริวกิว (หมู่เกาะโอกินาว่าในปัจจุบัน) อ้างจากพ่อค้าที่ไปค้าขายว่าในปีพ.ศ.1974 บันทึกว่ากษัตริย์อยุธยาส่งเรือไปที่ ซัน-โฝ-ฉี 三佛齐 (จัมบิ) ลงโทษเจ้าเมืองคนก่อนและแต่งตั้งคนใหม่ หลังจากนั้นก็ไม่มีการกล่าวถึงการรุกรานหัวเมืองมลายูของอยุธยาในเอกสารภาษาจีนอีก แต่ตำนานนครจัมบิ (Hikayat Negeri Jambi) กล่าวว่าในช่วงเวลานั้นราชบุตรของตุน ตลาไนซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของกษัตริย์อยุธยาได้มากับกองทัพเรืออยุธยาเพื่อบุกจัมบิและสังหารตุน ตลาไนแล้วเดินทางกลับไปกรุงศรีอยุธยาจากนั้นมาจัมบิก็ไม่มีกษัตริย์อีก [Baker& Phongpaichit 2022; Kukushkin 2004] ทำให้ตัดเส้นทางไปจีน ทำให้ราชสำนักหมิงส่งเจิ้งเหอไปเตือนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และแวะพักที่มะละกาเป็นเวลา 1 เดือน

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร พ.ศ.2564 ความสัมพันธ์ไทย-จีนจากเอกสารสมัยหยวน หมิง ชิง. กรุงเทพ: กรมศิลปากร.

หม่าหวน 马欢. 1985 (1433). อิ๋งหย่าเซิ่งหลัน 瀛涯胜览 [การสำรวจชายฝั่งโดยรวม]. ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์จงหัว 中华书局.

เฟยซิ่น 费信. 1969 (1436). ซิ่งฉาเซิ่งหลั่น 星槎胜览 [พรรณาหมู่ดาว]. ซินเป่ย, ไต้หวัน: สำนักพิมพ์กวางเหวิน 广文书局.

จางทิ้งหยู 张廷玉 และคณะ 1995 (1739). พงศาวดารหมิงสือ 明史 ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์จงหัว 中华书局.

Abuquerque, Afonso de. 1903. Cartas de Afonso de Abuquerque, Segunda de Documentos Que as Elucidam. Tomo 3 3. Lisboa: Academia Real das Sciencias de Lisboa.

Baker, Chris, and Pasuk Phongpaichit. 2022. “Melaka and Ayutthaya in the Long 15th Century: Feudal Relation, Tribute and Magical Relation.” Journal of the Siam Society 110 (2): 107–20.

Bendahara Tun Sri Lanang. 1970 (1612). Sejarah Melayu or Malay Annals. Translated by C. C. Brown. Kuala Lampur: Oxford University Press.

Cortesão, Amando. 1944. The Suma Oriental of Tomé Pires : An Account of the East, from the Red Sea to Japan, Written in Malacca and India in 1512-1515, and, the Book of Francisco Rodrigues, Rutter of a Voyage in the Red Sea, Nautical Rules, Almanack and Maps : Written and Drawn. London: Hakluyt Society.

Kukushkin, Sergei. 2004. “Hikayat Negeri Jambi: The Structure and Sources of A Nineteenth-Century Malay Historical Work.” Indonesia and the Malay World 32 (92): 53–61.

Pires, Tomé. 2017. Suma Oriental. Edited by Rui Manuel Loureiro. Lisboa: Centro Científico e Cultural de Macau and Fundação Jorge Álvares; Macau: Fundação Macau.

Piyada Chonlaworn 2004. “Relation between Ayutthaya and Ryukyu.” Journal of the Siam Society 92: 43–63.

Wade, Geoff.. 2005a. “Southeast Asia in the Ming Shilu: An Open Access Resource.” E-Press. Asia Research Institute and the Singapore E-Press. 2005. https://epress.nus.edu.sg/msl.

Wolters, Oliver Williams. 1970. The Fall of Srivijaya in Malay History. Ithaca, NY: Cornell University Press.



กำลังโหลดความคิดเห็น