xs
xsm
sm
md
lg

ไอเรื้อรังหลังป่วยโควิดไม่หายสักที ทำยังไงดี? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


คุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ (แอ้ม) พิธีกรและผู้สื่อข่าวได้รายงานผลโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ความว่า

“ขอบพระคุณอาจารย์ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่กรุณาให้รุ่นน้องส่งยามาให้บรรเทาอาการไอเรื้อรัง โดยปกติแอ้มจะไม่ถนัดสายสมุนไพรค่ะ (อย่างที่หลายท่านทราบ) แต่ยานี้ทานได้ค่ะ ทานเพียงไม่กี่มื้อ อาการบรรเทาลงทันตาเห็น ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ”[1]

โดยเรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ คุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ หลังจากหายป่วยโรคโควิด-19 ก็เกิดอาการไอเรื้อรัง ไม่หายสักที เลยโทรศัพท์ติดต่อสอบถามผมว่า ที่ผมเคยได้นำเสนอใน “รายการความจริงมีหนึ่งเดียวครั้งที่ 2” ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เลยสอบถามผมอีกครั้งว่าผมใช้ตำรับยาอะไรสำหรับผู้ที่ยังมีอาการไอเรื้อรังหลังป่วยโควิด-19

ก็เลยเป็นที่มาให้ทางทีมงานสมุนไพรบ้านพระอาทิตย์ได้จัดส่งไปตำรับยาขนานหนึ่ง มีชื่อเรียกในวงการแพทย์แผนไทยว่า “ยาขาว” โดยผมได้ให้คำแนะนำกับคุณสโรชาไปว่าให้รับประทานไปพร้อมกับ “โซดา”(กรดคาร์บอนิก) เป็นน้ำกระสายยา รับประทานวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ก่อนอาหาร และเป็นที่คาดการณ์สรรพคุณเอาไว้ได้อย่างที่คุณสโรชาแจ้งมาคือ “อาการบรรเทาลงทันตาเห็น”

เดิมทีตำรับยาดังกล่าวนี้เป็นตำรับยาโบราณซึ่ง “ไม่มีชื่อตำรับยา” แต่เป็นตำรับยาขนานสุดท้ายในแผ่นศิลาจารึกแผ่นหนึ่งของศิลาจารึกวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ทว่า ต่อมาแผ่นศิลาดังกล่าวนี้ได้ถูกรื้อออกมา และแผ่นศิลาดังกล่าวนี้ได้สูญหายไป และไม่มีใครรู้ว่าสูญหายไปสมัยใด

แต่ที่เรารู้ได้ว่าแผ่นศิลาแผ่นนี้เคยอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งของวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ก็เพราะว่าได้มีการบันทึกใน “ตำรายา” ของศิลาจารึกของวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ที่ระบุเอาไว้ใน “ตำรายา” ว่า แผ่นศิลาแผ่นนี้ “ได้ถูกรื้อออกมาจากศาลาต่างๆ”ดังนั้นจึงถือว่าโชคดีที่ได้มีการบันทึกตำรับยาสำคัญนี้สืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

โดยตำรายาวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ฉบับเก่า 51 ปีที่แล้ว คือ พ.ศ. 2516 ได้บันทึกตำรับยานี้เอาไว้อยู่ที่หน้า 62-64[2]

ตำรับยาขนานนี้ได้บรรยายสรรพคุณว่า เพียงตำรับยาเดียวสามารถ “แก้สรรพไข้จากโรคระบาด” หลายชนิดในตำรับยาเดียว โดยตำรายาศิลาจารึกบันทึกว่าตำรับยานี้ใช้สมุนไพร 15 ตัวและมีสรรพคุณแก้สรรพไข้จากโรคระบาดหลายชนิด โดยระบุในบันทึกของแผ่นศิลาความตอนนี้ว่า

“ขนาน 1 เอา กระเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากส้มเส็ดรากข้าวไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากหญ้านาง รากฟักข้าวรากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาคทำเปนจุณ บดทำแท่ง ไว้ละลายน้ำซาวข้าวกินแก้ไข้รากสาด ออกดำ แดง ขาว และแก้ไข้ประกายดาษ ไข้หงษ์ระทด และแก้ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ละอองไฟฟ้า และแก้ไข้มหาเมฆ มหานิล ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น และยาขนานนี้แก้ได้ทุกประการ ตามอาจารย์กล่าวไว้ ให้แพทย์ทั้งหลายรู้ว่าเปน มหาวิเศษนัก”[2]

ไม่เพียงเฉพาะตำรับยาขนานเดียวสามารถที่จะแก้สรรพไข้โรคระบาดหลายชนิดเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าตำรับยาขนานนี้อาจเป็น “วิวัฒนาการ” ของการใช้ตำรับยาเพื่อรักษาโรคระบาดด้วย

เพราะมีความแตกต่างจากการใช้ยาหลายขนานและหลายขั้นตอนในประวัติศาสตร์ของการรักษาโรคระบาดด้วยการดำเนินตามพระคัมภีร์ตักกะศิลา ซึ่งเป็นคัมภีร์ว่าด้วยโรคระบาดเป็นการเฉพาะตั้งแต่ในสมัยอยุธยา

โดยในสมัยก่อนตั้งแต่อยุธยา สยามประเทศก็ได้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดมาหลายครั้ง แต่ก็ได้มีการบันทึกเป็นกระบวนการรักษาโรคระบาดเอาไว้ในพระคัมภีร์หนึ่งชื่อว่า “พระคัมภีร์ตักกะศิลา” ซึ่งเป็นคัมภีร์ว่าด้วยโรคระบาดเป็นการเฉพาะตั้งแต่ในสมัยอยุธยา

เจ้าพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) เจ้าเมืองจันทบูร ได้แต่งคัมภีร์ฉันทศาสตร์เอาไว้ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีหัวข้อชื่อ “ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลา” อันเป็นการอรรถาธิบายรวบรวมองค์ความในการใช้ยาที่เกิดโรคระบาดโดยละเอียดขึ้นโดยใช้ภาษาแบบร้อยกรอง ซึ่งสามารถสรุปในเป็นยา 7 ขนาน โดยมีหลักการวางเอาไว้ 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 การใช้กระทุ้งพิษไข้ เพื่อกระทุ้งพิษออกให้หมดทางผิวหนังในรูปของผื่นหรือตุ่ม

ขั้นตอนที่ 2 การใช้ยาแปรไข้ เพื่อรักษาอาการไข้ภายในและผิวภายนอก

ขั้นตอนที่ 3 การใช้ยาครอบไข้ตักศิลา เพื่อไม่ให้เกิดไข้ซ้ำ

ซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่ลักษณะอาการของโรคได้ทั้งหมด 11 กลุ่ม เทียบเคียงโรคทางแพทย์แผนปัจจุบันจากฐานข้อมูลได้ทั้งหมด 22 กลุ่มอาการ[3]

นอกจากนี้สามารถแบ่งสมุนไพรในตํารับรวมได้ทั้งหมด 34 ชนิด แบ่งเป็นพืชวัตถุ 32 ชนิด และธาตุวัตถุ 2 ชนิด รสของยาสมุนไพร ส่วนใหญ่มีรสขม เมื่อศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าสมุนไพรแต่ละชนิดส่วนใหญ่มีฤทธิ์ลดไข้และต้านการอักเสบ[3]

คำถามที่น่าสนใจในมิติ “การประยุกต์ใช้” ตำรับยาที่มีเครื่องยาเป็นสมุนไพรจำนวนมาก มีหลายขั้นตอน หลายขนาน และต้องอาศัยหมอยาที่มีความเชี่ยวชาญจำนวนมากอีกด้วย เงื่อนไขดังกล่าวจะสามารถรับมือได้ “ทันเวลา” กับการเกิดโรคระบาดที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะก่อนที่จะมีการจารึกในแผ่นศิลาจารึกที่วัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) สยามประเทศได้เคยเผชิญหน้ากับโรคระบาดใหญ่ 2 ครั้งในปีเดียวกัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 คือ

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 - 3 มิถุนายน 2363 ในสมัยรัชกาลที่ 2อหิวาตกโรค โรคป่วงระบาด มีประชาชนล้มตายเกลื่อนกลาดเต็มไปด้วยศพ ประชาชนหนีออกจากเมือง มีผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง 3 หมื่นคนในระยะเวลา 15 วัน อัตราการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 30 ในขณะนั้น กรุงเทพฯ มีประชากรเพียง 1 แสนคน ไข้ป่วงระบาดมาทาง ทะเล มาจากเกาะหมาก (ปีนัง) มาระบาดในเมืองสมุทรปราการ มีคนตายจำนวนมาก แล้วจึงระบาดมาถึงกรุงเทพฯ

ส่วนอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สำราญ วังศพ่าห์ ราชบัณฑิต ได้รวบรวมจากเอกสารของ กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร พบว่าการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่ที่มีบันทึกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 204 ปีที่แล้ว คือ ปี พ.ศ. 2363 (สมัยรัชกาลที่ 2)[4]-[5]

จากประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 ถึง 2 ครั้ง ในปีเดียวกัน จึงย่อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ว่าการดำเนินการรับมือกับโรคระบาด ย่อมให้เกิดวิวัฒนาการในการรับมือต่อๆ กันมาไม่ว่าจะเป็นตำรับยา และการเริ่มใช้วัคซีนในโรคฝีดาษในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367 -2394) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ครั้งใหญ่ พร้อมทั้งขยายอาณาเขตพระอาราม ใช้เวลานานถึง16 ปี 7 เดือน (พ.ศ. 2367-2384)

ในการนี้โปรดให้เหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมตรวจสอบและคัดเลือกสรรพความรู้ในสาขาต่างๆ จารึกประดับไว้ในอาคารเขตพุทธาวาส เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ราษฎร มีทั้งตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย เป็นต้น นำมาจารึกลงบทแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามบริเวณผนัง คอสอง เสาของระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระ
วิหารคต และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือประชุมจารึก วัดพระเชตุพนฯฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. 2462 ว่า:

“... ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์

ถ้าจะเรียกอย่างนี้ทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มีเรียนอยู่ตามวัดทั่วไป แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลายยังศึกษาได้แต่ในสกุล ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญ ไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ จึงสมควรจะเล่าเรียนให้เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆโดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่าตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถเล่าเรียนได้ จากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี โบราณคดี และศาสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา”[6]

สำหรับวิชาการแพทย์แผนไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบเสาะหาตำราที่ศักดิ์สิทธิ์ ตำราลักษณะโรคทั้งปวง ตามพระราชาคณะ ข้าราชการ ตลอดจนราษฎรมาจารึกในแผ่นศิลา โดยผู้ถวายตำรายาต้อง “สาบาน” ว่า ยาขนานนั้นตนได้ใช้มามีผลดีและไม่ปิดบัง แล้วให้พระยาบำเรอราชแพทย์ตรวจอีกทีก่อนจะนำไปจารึก [7]

เมื่อถึงขั้นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่ากว่าที่จะมีการลงบันทึกในศิลาจารึกนั้น นอกจากจะมีการเสาะหาตำราการแพทย์ มีการตรวจสอบความถูกต้อง แล้วยังต้องให้มีการสาบานอีก ซึ่งในสมัยยุคนั้นการสาบานย่อมมีความสำคัญยิ่งกว่าสัญญาใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโครงการที่ดำเนินไปตามพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทย

เรื่องราวในการปฏิสังขรณ์ บันทึกไว้อย่างละเอียดว่าผู้ใดมีหน้าที่รับผิดชอบส่วนไหนได้มีการจารึกลงศิลาบอกไว้ที่นั้น และเขียนเป็นคำร้อยกรอง ดังปรากฏโคลงต้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯว่า

“พระยาบำเรอราชผู้ แพทยา ยิ่งฤา

รู้รอบรู้รักษาโรคพื้น

บรรหารพนักงานพา โอสถ ประสิทธิ์เอย

จำหลักลักษณะยาพื้น แผ่นไว้ทานหลัง”[7]

ปรากฏว่าตำรับยาที่รับมือโรคระบาดตามพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์ “ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลา” 7 ขนาน 3 ขั้นตอน ตามพระคัมภีร์ตักกะศิลาที่เคยใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กลับไม่พบในตำรายาหรือในแผ่นศิลาจารึกวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

ในขณะเดียวกันโรคระบาดปรากฏอย่างชัดเจนอยู่ในเพียงแผ่นศิลาแผ่นเดียว โดยมีขนานสุดท้ายในแผ่นศิลาแผ่นนี้ ยาขนานเดียวแต่กลับบรรยายสรรพคุณว่าสามารถรักษาสรรพไข้ในโรคระบาดหลายชนิด[2]

จนเมื่อเกิดโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศในปลายปี 2562 และเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในปี 2563 แต่ยังมีผลกระทบไม่รุนแรงมาก ปรากฏว่าทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชุมขึ้นเป็นการประชุมพัฒนาองค์ความรู้การขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2563[8]

โดยให้ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยได้ให้ความเห็นลงคะแนนผ่าน Google Form ในตำรับยาที่มีโอกาสจะรักษาโรคโควิด-19 อันดับ 1 คือ “ยาขาว” มากที่สุดอันดับหนึ่ง ตามที่บันทึกเอาไว้ในตำรายาศิลาจารึกวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)[8]

แต่เนื่องจากตำรับยาขาวต้องใช้เครื่องยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพร 15 ชนิด อาจสลับซับซ้อน ยุ่งยากในการหาเครื่องยาในช่วงการเกิดโรคระบาด จึงไม่คล่องตัวเมื่อเทียบกับความเรียบง่ายของยาเดี่ยวคือ ฟ้าทะลายโจร ที่ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเอง เพราะยาฟ้าทะลายโจรนั้น ยังเข้าลักษณะของ “รสยาขม” ที่ใช้ในช่วงการเกิดโรคระบาด ตามคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลาที่ว่า

“ถ้ายังไม่รู้ให้แก้กันดู แต่พรรณฝูงยา เย็นเป็นอย่างยิ่ง ขมจริงโอชา ฝาดจืดพืชน์ยา ตามอาจารย์สอน”[9]

โดยเฉพาะเมื่อการวิจัยฟ้าทะลายโจรว่ามีกลไกออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อโควิด-19 ได้ในหลอดทดลองและมีความปลอดภัยต่ออวัยวะมนุษย์[10]

ตามมาด้วยรายงานสังเขปในการสำรวจของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกใน ผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรว่าสามารช่วยลดความเสี่ยงปอดอักเสบที่ใช้ในผู้ป่วย Covid-19[11]

ต่อมาเป็นผลทำให้ฟ้าทะลายโจรได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ให้เป็นบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร[12]-[13]

ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการเผยแพร่งานวิจัยประสิทธิภาพในเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรได้ผลดีในประเทศไทยปรากฏวารสารชั้นนำต่างประเทศในช่วงเชื้อสายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงที่สุดและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน[14]-[15]

ฟ้าทะลายโจรนั้นหาได้ง่าย คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยและรู้จักอยู่แล้ว อีกทั้งยังสามารถปลูกและขึ้นได้โดยง่าย การใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่หาซื้อได้ง่ายและใช้สะดวก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยพึ่งพาตัวเองได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องพึ่งพาหมอหรือโรงพยาบาลเลย และทำให้ประเทศไทยรอดพ้นในการอยู่กับโรคโควิด-19ได้ โดยไม่ต้องกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีสมุนไพรที่มีลักษณะเช่นนี้

ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจและพูดถึงยาขาวน้อยลง เพราะมีฟ้าทะลายโจรที่ใช้ได้ง่ายและสะดวกกว่า




ต่อมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการประชุมขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 โดย คุณบุษราภรณ์ ธนสีลังกูล สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยายเรื่อง “R2R ทบทวนวรรณกรรมยาขาว ตำรับยาแก้ไขในศิลาจารึกวัดโพธิ์ สู่การนำไปใช้ในโรคโควิด-19”[16]

การทบทวนวรรณกรรมในครั้งนั้นได้ถูกนำเสนอเกี่ยวกับ “ยาขาว” ความว่ามีโครงสร้างยาเป็นดังนี้

“ตัวยาตรง” หมายถึง ตัวยาที่ใช้บำบัดอาการโดยตรง ได้แก่ กระเช้าผีมด, คล้า, ง้วนหมู, ส้มเส็ด, จิงจำ, สะแก, ย่านาง, ผักสาบ และผักหวานบ้าน โดยในกลุ่มนี้มีสรรพคุณโดยรวม คือ แก้ไข้ แก้อักเสบ ดับพิษร้อน

“ตัวยารอง” หมายถึง ตัวยาที่ใช้แก้อาการอื่นนอกเหนือจากอาการหลักเพื่อเสริมฤทธิ์ ได้แก่ ทองพันชั่ง, สวาด, มะนาว และฟักข้าว โดยในกลุ่มนี้มีสรรพคุณโดยรวม คือ ขับลมในกระเพาะและลำไส้ และถอนพิษทั้งปวง

“ตัวยาประกอบ” หมายถึง ตัวยาที่ใช้ป้องกันโรคตามหรือบำรุงในส่วนที่หมอเห็นควร หรือใช้คุมฤทธิ์ยาอื่น ได้แก่ รากชา มีสรรพคุณ คือ ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อ และท้องเสีย[16]

เมื่อมีการทบทวนวรรณกรรมสมุนไพรแต่ละชนิดข้างต้น ก็จะเห็นความมหัศจรรย์ในสรรพคุณหลายประการว่าทำไมในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเหลือตำรับ “ยาขาว” ขนานเดียวในการแก้สรรพไข้ในโรคระบาดหลายชนิด ดังนี้

สมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านไวรัส (Antiviral) ได้แก่ รากทองพันชั่ง, รากชาเมี่ยง, รากจิงจ้อดอกเหลือง, รากสวาด, รากสะแก, รากย่านาง, รากฟักข้าว

สมุนไพรที่มีสรรพคุณปรับระดับภูมิคุ้มกันร่างกาย (Immunodulator) ได้แก่ รากชาเมี่ยง

สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการต้านการอักเสบ (Antiinflamation) ได้แก่ รากชาเมี่ยง และรากชาฟักข้าว

สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ได้แก่ กระเช้าผีมด, รากทองพันชั่ง, รากชาเมี่ยง, รากสวาด, รากย่านาง และรากฟักข้าว

สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการต้านแบคทีเรีย (Antibacterial) ได้แก่ รากทองพันชั่ง, รากชาเมี่ยง, รากส้มเส็ด, รากสวาด, รากย่านาง

สมุนไพรที่มีสรรพคุณเกี่ยวกับการต้านเชื้อรา (Antifungal) ได้แก่ รากทองพันชั่ง

สมุนไพรที่มีสรรพคุณบรรเทาไข้หวัด (Reducing Cold or Flu) ได้แก่ รากชาเมี่ยง

สมุนไพรที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการไอและปอดบวม (Cough and pnuemonia) ได้แก่ รากส้มเส็ด[16]

และเมื่อพิจารณาลักษณะของ “รสยา” แล้ว ยาขาวมีลักษณะเป็นยา “รสสุขุมเย็น”[16]
นอกจากตำรับยาขนานเดียวจะมีหลายสรรพคุณแล้ว การบรรยายในครั้งนั้น ยังได้มีการเปรียบเทียบกับคัมภีร์ตักกะศิลาแล้วพบว่ามีลักษณะสมุนไพรบางตัวเหมือนกับยาครอบไข้ด้วย ซึ่ง “ยาครอบไข้มักจะใช้เป็นยาขนานสุดท้ายเป็นประจำจนกว่าจะหาย”[16]

สำหรับน้ำกระสายยาที่ใช้ในตำรับยานี้ คือ “น้ำซาวข้าว” ซึ่งมีรสเย็น มีสรรพคุณถอดพิษสำแดง แก้พิษร้อนภายใน ถ้าใช้เป็นน้ำกระสายยามักใช้กับยาแก้ไข้ เพราะช่วยเสริมฤทธิ์ลดไข้ของยา[16]

จึงสรุปการบรรยายในครั้งนั้นว่า เมื่อพิจารณาการวิเคราะห์ตำรับยาตามหลักการเภสัชกรรมแผนไทยที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าตำรับยาแก้ไข้นี้มีสรรพคุณแก้พิษไข้ตามที่มีการบันทึกไว้ในตำราเภสัชฉบับสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3[16]

ต่อมาหลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน เว็บไซต์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ตำรับยาไทยสำหรับการแก้สรรพไข้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยระบุเนื้อหาเกี่ยวกับ ”ยาขาว” ในข้อบ่งใช้ว่า

“บรรเทาอาการไข้ แก้ไข้รากสาด ไข้ออกดำไข้ออกแดง ไข้ออกขาว ไข้ประกายดาษ ไข้หงส์ระทด ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ละอองไฟฟ้าไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล”[17]
และอธิบายถึงวิธีการใช้ว่า

“ชนิดผง รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 5 ครั้ง ทุก 3 ชั่วโมง (06.00, 09.00,12.00, 15.00, 18.00 น.)ติดต่อกัน 5 วัน

หมายเหตุ ให้ละลายน้ำซาวข้าวเป็นกระสายยา หากมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก และไอมีเสมหะ

ให้ใช้กระสายยาเป็นน้ำมะนาวแทรกเกลือ”[17]
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขนั้น นอกจากจะระบุน้ำกระสายยาให้ใช้น้ำซาวข้าวตามภูมิปัญญาในศิลาจารึกของวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร(วัดโพธิ์)แล้ว ยังมีการประยุกต์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่แผ่นศิลาได้กำหนดเอาไว้ โดยให้ใช้สำหรับอาการคัดจมูก มีน้ำมูก และไอมีเสมหะให้ใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือด้วย ซึ่งในบางครั้งที่มีการใช้จริงก็ยังมีการใช้น้ำโซดาด้วย

การที่มีการประยุกต์ใช้นอกเหนือจากศิลาจารึกนั้น ก็เพราะได้จากการรวบรวมประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ในวงการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านที่มีการใช้ยาตำรับยาขนานดังกล่าวนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

สำหรับน้ำกระสายยานั้น มีความหมายว่า “น้ำซึ่งได้มาจากนำพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ มาคั้น ต้ม ฝน แช่ หรือโดยวิธีการหนึ่งวิธีการใดเพื่อให้ได้น้ำนั้นมาใช้ผสมยาสำหรับรับประทาน หรือรับประทานร่วมกับยา”[17]

โดยประโยชน์ของน้ำกระสายยาที่แตกต่างกันไปนั้น ก็มุ่งหวังประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เช่น บางครั้งเพื่อให้กลืนยาง่าย ไม่ฝืดคอ ไม่ติดคอ บางครั้งเพื่อเพิ่มฤทธิ์หรือสรรพคุณของยาให้โรคหายเร็วขึ้น บางครั้งเพื่อให้สรรพคุณยาตรงกับโรคยิ่งขึ้น บางครั้งเพื่อผสมกับเครื่องยาอื่นๆในตำรับ เพื่อช่วยเตรียมยาให้เป็นรูปแบบยาบางประเภท เช่นยาลูกกลอน บางครั้งเพื่อลดผลเสียบางประการของยาบางชนิดให้น้อยลง ฯลฯ

ดังนั้นสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโควิด-19 ซึ่งได้ผ่านกระบวนการในการรักษาที่ใช้ฟ้าทะลายโจรแล้ว หรือหายแล้ว หากมีอาการหลงเหลืออยู่ แพทย์แผนไทยหลายคนอาจทดลองใช้ยาขาวเป็นทางเลือกยาขนานท้ายๆสำหรับผู้ป่วยได้ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของยาครอบไข้ด้วย

อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาวะในปัจจุบันที่มีประชาชนได้รับผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 ด้วย หากจะใช้ตำรับยาใดเพื่อบรรเทาอาการที่ตามมา ก็จะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง

[1] สโรชา พรอุดมศักดิ์,เว็บไซต์เฟซบุ๊ก, 10 กรกฎาคม 2567
https://www.facebook.com/share/p/tf7PVCPxDxFftJ6D/

[2] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์), ตำรายา ศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ฉบับสมบูรณ์ ฉบับ พ.ศ.๒๕๑๖หน้า ๖๒ - ๖๔

[3] พิชชานันท์ เธียรทองอินทร์ และ รัชฎาพร พิสัยพันธุ์, การวิเคราะห์องค์ความรู้ไข้ตามคัมภีร์ตักศิลา: คัมภีร์ว่าด้วยโรคระบาด, วารสารหมอยาไทยวิจัย, ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2566), หน้า 131-152
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ttm/article/view/258845/180094

[4] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, บทบาทของ “ยาไทย” กับไข้หวัดไวรัสอินฟลูเอนซา 102 ปีที่แล้ว?, ผู้จัดการออนไลน์, 11 มิถุนายน 2564
https://mgronline.com/daily/detail/9640000056416

[5] ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม2, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 09 มาแล้ว, หน้า 91-93
https://onedrive.live.com/?cid=3EF94ED9992ABC17...

[6] สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. 2462

[7] กลุ่มงานวิชาการเภสัชกรรมแผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำราพื้นฐานวิชาการแพทย์แผนไทย เล่ม ๑ วิชาปรัชญาและพื้นฐานการแพทย์แผนไทย พิมพ์ที่ บริษัท พิมพ์ดี จำกัด๓๐/๒ หมู่ ๑ ลงเจษฎาวิถี ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ISBN 978-616-11-3509-6

[8] รายงานการประชุม การประชุมพัฒนาองค์ความรู้การขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุมสถาบันการแพทย์แผนไทย อาคาร ๓ ชั้น ๔ กรมการแพทย์แผนไทยและแแพทย์ทางเลือก

[9] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๓๗

[10] Khanit Sa-ngiamsuntorn, et al., Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives, J. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270, Publication Date:April 12, 2021
https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324

[11] อัมพร เบญจพลพิทักษ์ และคณะ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, รายงานสังเขปผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย Covid-19, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 19 ฉบับที่1, มกราคม-เมษายน 2564, หน้า 229-233
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JTTAM/article/view/249140/168781

[12] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชีนยาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๐, ง ๔มิถุนายน ๒๕๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/120/T_0046.PDF

[13] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๓๐ ง, ๒ มิถุนายน๒๕๖๖, หน้า ๔๕
https://herbal.fda.moph.go.th/media.php?id=511902077832798208&name=001-66.pdf

[14] Kulthanit Wanaratna, et al., Efficacy and Safety of Andrographis Paniculata Extract in Patients with Mild COVID-19: A Randomized Controlled Trial, Fortune Journal, Volume 5 Issue 3, Archives of Internal Medicine Research (5), 2022 page 423-427
https://www.fortunejournals.com/articles/efficacy-and-safety-of-andrographis-paniculata-extract-in-patients-with-mild.pdf

[15] Amporn Benjaponpitak, et al., Effect of Andrographis paniculata Treatment for Nonimmune Patients with Early-Stage COVID-19 on the Prevention of Pneumonia: A Retrospective Cohort Study, Fortune Journal, Volume 6 Issue 2, Archives of Internal Medicine Research (6), 2023 page 35-43
https://www.fortunejournals.com/articles/effect-of-andrographis-paniculata-treatment-for-nonimmune-patients-with-earlystage-covid19-on-the-prevention-of-pneumonia-a-retros.pdf

[16] บุษราภรณ์ ธนสีลังกูล สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข บรรยายเรื่อง R2R ทบทวนวรรณกรรมยาขาว ตำรับยาแก้ไขในศิลาจารึกวัดโพธิ์ สู่การนำไปใช้ในโรคโควิด-19 วันที่ 25มีนาคม 2564
[17] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำรับยาขาว, รวมตำรับยาไทยแก้สรรพไข้, เว็บไซต์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 10 พฤษภาคม 2564 ปรับปรุงข้อมูล 25 ธันวาคม 2564
https://www-old.dtam.moph.go.th/images/morthai-covid/Thai-Med-fever/morthai-covid-Thai-Med-fever15-YaKhao.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น