xs
xsm
sm
md
lg

(ยุวชนแดง) สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้อำนาจรัฐใดออกหมายเรียกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
น้องใหม่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2537


สภานิสิตจุฬาฯ เชิญ ศ. (พิเศษ) ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ เข้าอธิบายแนวทางการจัดการเรียนการสอน เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาฯ หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญน่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

โดยสภานิสิตฯ จะซักถาม ศ. (พิเศษ) ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ในวาระ การเสนอพิจารณาผลกระทบด้านมาตรฐานทางวิชาการของหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตอันเนื่องมาจากการยุบพรรคก้าวไกล ในการประชุมสามัญสภานิสิตฯ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งทุกคนสามารถรับชมการประชุมและการซักถามได้ผ่าน Facebook Live ที่เพจสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

📲 ช่องทางการติดต่อสภานิสิตฯ
Facebook : สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Instagram : @sapanisitchula
Twitter : @sapanisitchula




ผมเองในฐานะนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นน้องใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อ พ.ศ.2537 ได้อ่านประกาศและจดหมายดังกล่าวด้วยความตกใจยิ่ง และทำให้ตัดสินใจต้องเขียนและแสดงความคิดเห็นเพื่อเตือนน้อง ๆ ดังนี้ครับ

น้อง ๆ นิสิตครับ

ความสนใจในการเมืองและปัญหาบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ดี
แต่ควรมีมารยาท และไม่ควรแสดงอำนาจกร่างจนเกินไปครับ
การเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการมาให้ข้อมูลนั้น
มิใช่จะเรียกได้ตามอำเภอใจ เช่นเดียวกันกับที่น้องจะชวนเพื่อนไปกินเหล้านะครับ
น้องต้องเข้าใจรู้ฐานะของตนว่าตนอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด มีอำนาจรัฐใดๆ ในการทำอะไร
หากน้องไม่ประมาณตน ไม่เจียมตัว ไม่มีมารยาท มันจะเสื่อมเสียถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ครับ
น้องๆ นิสิตจุฬาฯ อย่าได้ทำพฤติกรรมเลียนแบบยุวชนแดงเรดการ์ดในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนแดงคอมมิวนิสต์เลยครับ ล้าสมัยเกินไปแล้วครับ แม้สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่สมาทานแนวทางนั้นแล้ว น้องควรเท่าทันโลกนะครับ

มีผู้เข้ามาโต้แย้งโพสต์ของผมว่า


เป็น อ.พิเศษ ในมหาลัย และสภานิสิต ก็เป็นตัวแทนนศ. ผมคิดว่า เขามีสิทธิเชิญมาสอบถาม ในฐานะ อาจารย์พิเศษของมหาลัย แต่เอาจริงๆ ควรเป็นสโมสรรัฐศาสตร์ มากกว่าที่เชิญ เพราะมันถูกคณะ และตรงด้วย

แต่ก็มีผู้มาแสดงความคิดเห็นแย้งว่า


ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ก็ไม่มีสิทธิ์ครับ หลักกฎหมายมหาชนง่ายๆเลย

ผมเองก็ได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งไปว่า


อันนั้นเป็นหน้าที่สภาวิชาการ หรือ ที่จุฬาฯ เรียก คณะวุฒยาจารย์ ตาม พรบ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหน้าที่รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ หรือหน้าที่สภาจุฬามหาวิทยาลัยด้วย ขอให้ลองศึกษา พรบ. อุดมศึกษา กับ พรบ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนซักนิด

แล้วก็เป็นไปตามที่คิด สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความมั่นใจและความคิดเห็นสูงกว่าความรู้มาก จึงได้โพสต์ใน Facebook โต้ประเด็นกับผมว่า สภานิสิตจุฬาฯ อาศัยอำนาจตามระเบียบสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529 ดังนี้


นายยิ่งศักดิ์ สุคนธทรัพย์ นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นโต้แถลงการณ์ของสภานิสิตจุฬาฯ ที่อ้างระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ดังนี้

เรื่อง อำนาจหน้าที่ของสภานิสิตฯ


อ้างถึง ระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียน ท่านประธานสภาฯ ที่เคารพ


ท่านกำลังเข้าใจผิดอะไรหรือเปล่าครับ สภานิสิตฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรนิสิตฯ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานของ อบจ. สภานิสิตฯ ไม่ใช่รัฐสภา ท่านประธานก็ไม่ใช่ประธานรัฐสภาหรือประธานกรรมาธิการการยุติธรรมหรือการศึกษา ท่านใช้อำนาจหน้าที่จากบทบัญญัติใดในระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตฯ ในการออกหนังสือแถลงการณ์ฉบับนี้


อนึ่ง ตราสัญลักษณ์ของสภานิสิตฯ คือ SC ที่ใช้เป็นรูปโปรไฟล์และหัวกระดาษที่ใช้อยู่ซึ่งได้จากการจัดประกวดไม่ใช่หรือ เหตุใดจึงใช้ตราที่มีรูปพระเกี้ยวในหนังสือแถลงการณ์ฉบับนี้


ด้วยความเคารพท่านประธาน...
นิสิต (เก่า) คนหนึ่งที่รักจุฬาฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เป็นนิสิตใหม่

เหตุการณ์ที่สภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้เป็นอาจารย์พิเศษมาชี้แจงนั้น ทำให้ผมคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

เหตุการณ์แรกคือ นิสิตนักศึกษา ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นำโดยขบวนการนิสิตนักศึกษา ไป เดินตรวจตาชั่งของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด แทน กองมาตรา ชั่ง ตวง วัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยถือว่าพ่อค้าแม่ค้าโกงตาชั่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง และเป็นความไม่ถูกต้องในสังคม

เหตุการณ์สองคือ ขบวนการนิสิตนักศึกษา ไปสนับสนุนกลุ่มแรงงาน ให้ยึดโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ฮาร่า ของครอบครัวกมลวิศิษฎ์ (โรงงานเป็นของนายเจริญ และนางจำเนียร กมลวิศิษฎ์ บิดา-มารดาของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และยังดำเนินกิจการโดยครอบครัวมาจนปัจจุบัน https://www.posttoday.com/business/15874) ในซอยวัดไผ่เงิน มาบริหารเอง ผลิตเอง และออกขายหุ้นให้ประชาชนด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ 6 ตุลากับความรุนแรงที่ไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร https://prachatai.com/journal/2009/10/26085 แต่บริหารได้ไม่นานโรงงานก็เจ๊งไม่เป็นท่า แรงงานกับนักศึกษาทำธุรกิจไม่เป็น และอาจจะร่วมกันโกงด้วยหรือไม่ ฝ่ายขบวนการแรงงานได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า


วันที่ 9 ตุลาคม 2518 กรรมกรหญิงโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงิน เริ่มนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ การนัดหยุดงานครั้งนี้ กลายเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและดุเดือดที่สุด เพราะฝ่ายนายจ้างไม่ยอมเจรจาและยังมีคำสั่งไล่คนงานที่ประท้วงออกจากงาน การประท้วงดำเนินไปจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2518 กรรมกรได้ยึดโรงงานและทำการผลิตสินค้าออกมาขายโดยใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่ และตั้งชื่อโรงงานว่า “สามัคคีกรรมกร” มีการขอระดมทุนช่วยเหลือ โดยการขายหุ้นให้ประชาชนหุ้นละ 20 บาท ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม 2519 ฝ่ายตำรวจได้บุกเข้ายึดโรงงานคืน และจับนักศึกษาและกรรมกรหลายคนไปคุมขังไว้ในข้อหาผิดกฎหมายโรงงาน อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาราได้กลายเป็นตำนานแห่งการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรไทย ที่ชี้ให้เห็นจิตใจที่ต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร
ที่มา: https://doct6.com/learn-about/how/chapter-2/2-2/2-2-1

คำถามคือ 1. นิสิตนักศึกษาเข้าไปสนับสนุนแรงงานในการหยุดงานและยึดกิจการมาได้อย่างไร ใช้อำนาจรัฐอะไร?

คำถามคือ 2. การยึดกิจการของนายทุนโดยนิสิตนักศึกษาและแรงงานมาบริหารกิจการเอง เป็นเวลาประมาณหกเดือน คิดว่ากิจการจะเจริญรุ่งเรืองหรือไม่ นักศึกษาและสหภาพมีความชอบธรรมที่จะยึดกิจการของนายทุนมาบริหารเองหรือไม่

คำถามคือ 3. การขายหุ้น สามัคคีกรรมกร แก่ประชาชน ของนิสิตนักศึกษา มีความชอบธรรมหรือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่? ควรทำเช่นนี้กับกิจการอื่นๆ ในประเทศไทยด้วยหรือไม่?

คำถามคือ 4. ทั้งนิสิตนักศึกษาและแรงงานเอาอำนาจรัฐอะไรไปยึดกิจการของนายทุน นิสิตนักศึกษาและแรงงานถืออำนาจรัฐแทนกรมบังคับคดีตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

คำถามคือ 5. นิสิตนักศึกษาในยุคนั้น ถืออำนาจรัฐอะไรไปตรวจตาชั่งพ่อค้าแม่ค้า ไปยึดโรงงาน

คำถามคือ 6. เราจะแก้ปัญหาความไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรมในสังคม ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องเช่นนั้นหรือ ในเมื่อไม่มีอำนาจรัฐที่จะให้ใช้ แต่ไปใช้อำนาจรัฐแทนหน่วยราชการที่ไม่ทำหน้าที่ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

คำถามคือ 7. นิสิตนักศึกษาในยุคนั้นแสวงหาความชอบธรรมหรือหลักการใดในการสถาปนาอำนาจรัฐให้ตนเอง หากทุกคนในสังคมสามารถสถาปนาอำนาจรัฐได้ด้วยตนเองแล้วจะทำให้บ้านเมืองเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) มีสภาพเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนหรือไม่

คำถามคือ 8. ทำไมนิสิต นักศึกษา จึงไม่ไปกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจที่เขามีตามกฎหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นิสิตนักศึกษาก็สามารถตรวจสอบร้องเรียนตลอดจนฟ้องร้องได้มิใช่หรือ ควรหรือไม่ที่นิสิตนักศึกษาจะเข้าไปสถาปนาอำนาจรัฐเป็นของตนเอง ด้วยตนเอง

คำถามคือ 9. การที่นิสิตนักศึกษาสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาเป็นของตนเองเช่นนี้ ถือหลักว่ารัฐคือฉัน L'État, c'est moi. หรือ "I am the state" อันเป็นพระราชดำรัสของพระเจ้าจักรพรรดิหลุยส์ที่ 14 ใช่หรือไม่ แล้วที่นิสิตนักศึกษามีท่าทีต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย หรือแม้กระทั่งเห็นดีเห็นงามกับการปฏิวัติในฝรั่งเศสเพื่อโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับนำหลักการ รัฐคือฉัน มาสถาปนาอำนาจรัฐใช้กันเองเช่นนี้ ไม่ย้อนแย้งในตนเองใช่หรือไม่

คำถามคือ 10. การที่นิสิตนักศึกษาสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาใช้เองเช่นนี้ จะเกิดการใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ผิดได้หรือไม่ เช่น ไปขูดรีดข่มขู่พ่อค้าแม่ค้าที่โกงตาชั่ง อำนาจที่สถาปนาขึ้นมาเองโดยนิสิตนักศึกษา เมื่อไม่มีหลักกฎหมายรองรับนั้นก็เป็นเพียงกฎหมู่ใช่หรือไม่ การมีอำนาจโดยสมบูรณ์ทำให้เกิดการทุจริตฉ้อฉลโดยสมบูรณ์ใช่หรือไม่ (Absolute power corrupts absolutely.)

คำถามคือ 11. พฤติกรรมเช่นนี้ของนิสิตนักศึกษาเป็นเหตุผลที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ ประชาชน เกลียดชังนักศึกษามากเหลือเกินจนเกิดขวาพิฆาตซ้ายในกาลต่อมา ขบวนการนิสิตนักศึกษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุดก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ใช่หรือไม่?

คำถามคือ 12. นี่คือสาเหตุทางความคิดจิตใจที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยกจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นบาดแผลในใจของสังคมไทย ใช่หรือไม่?

รองศาสตราจารย์ ดร. พุทธกาล รัชธร แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้เคยทำหน้าที่ด้านกิจการนิสิตมาโดยตลอดยาวนาน ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้ความรู้ว่า


ความทรงจำครั้งหนึ่ง ในปี 2517 นั้น ทางฝ่ายเศรษฐกิจของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในช่วงนั้น พวกเราเคยทำจดหมายถึงปลัดกระทรวงการคลัง (นายบุญมา วงศ์สวรรค์) เพื่อขอทราบเหตุผลการขึ้นภาษี 200 กว่ารายการ และเรียนเชิญท่านมาให้ข้อมูลที่ตึกจักรพงษ์ อันเป็นที่ตั้งของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในเวลานั้น ท่านปลัดกระทรวงเลยขอให้พวกเราไปพบที่กระทรวงการคลัง ในเขตพระบรมมหาราชวัง แทน (เวลานั้นกระทรวงการคลังตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก) เพราะสะดวกและมีข้าราชการให้ข้อมูลดีกว่า และก่อนเริ่มการชี้แจงท่านมีความกรุณามาก ท่านขอพูดในฐานะส่วนตัวว่า การกระทำของพวกเราแม้มีเจตนาดี แต่ไม่ค่อยเหมาะสม พวกเราเป็นนิสิตควรใฝ่เรียนรู้ รู้จักกาละเทศะ เมื่ออยากเรียนรู้ท่านก็ชี้แจงความจำเป็น ในการขึ้นภาษีอย่างละเอียด จนกลุ่มนิสิตทุกคนประทับใจ และหัวหน้าคณะได้กราบขอขมาท่าน ที่ล่วงเกินครับ

พฤติกรรมของนิสิตนักศึกษา ที่เราได้เห็นก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และแทรกแซงโดยขบวนการลัทธิคอมมิวนิสต์ อันมีหลักฐานปรากฏชัดเจน เนื่องจากประชาธิปไตยเบ่งบาน ขบวนการนักศึกษาตื่นรู้ เข้มข้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง มีการประท้วงของนิสิตนักศึกษาและประชาชนถี่ยิบ จนขัดแย้งกับตำรวจเป็นประจำ
สอง มีการนัดหยุดงานประท้วงของกลุ่มแรงงานถี่ยิบ โดยมีกลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมและสนับสนุน
สาม มีการเดินขบวนและการต่อต้านฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย
สี่ นักศึกษาบางกลุ่มได้จัดนิทรรศการจีนแดง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์
ห้า แกนนำนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งได้เลียนแบบกลุ่มยุวชนแดง หรือ เรดการ์ด
หก ในบางสถาบันการศึกษา ขบวนการนิสิตนักศึกษามีการนำอาจารย์ไปสัมมนาเปลี่ยนแนวคิดใหม่ อาจารย์หลายคนทนไม่ไหว ก็ลาออกไปเลิกสอนหนังสือ บางคนก็ย้ายไปสอนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแทนเพราะทนความก้าวร้าวของนักศึกษาไม่ไหว
เจ็ด ขบวนการนิสิตนักศึกษา นำนิสิตนักศึกษาหมุนเวียนเข้ารับการอบรมเปลี่ยนแนวคิดทางการเมือง
แปด กลุ่มขวาจัดเรียกร้องให้ปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด

ยุวชนแดง Red Guards หรือ หงเว่ยปิง (???; พ.ศ. 2509-2519)
มีประเด็นที่น่าคิดหลายประการดังนี้

หนึ่ง การที่สภานิสิตจุฬาฯ แสดงอำนาจเช่นนี้ ราวกับมีอำนาจรัฐนั้น เหมาะสมหรือไม่ กร่างเกินไปหรือไม่ และจะนำไปสู่เหตุการณ์หรือความรุนแรงใดต่อไป
สอง สภานิสิตจุฬาฯ ต้องการเปลี่ยนแนวความคิดอาจารย์ ดังเช่นขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นำอาจารย์ไปสัมมนาเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ใช่หรือไม่
สาม ความก้าวร้าวและไร้มารยาทของสภานิสิตจุฬาฯ ทำให้เกียรติภูมิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสื่อมเสียหรือไม่ จะอ้างว่าเกียรติภูมิจุฬาฯ คือการรับใช้ประชาชน ด้วยวิธีการเลวทรามไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร อาจารย์ นิสิตเก่า และประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถยอมรับและเห็นด้วยได้หรือไม่?
สี่ การที่สภานิสิตจุฬาฯ ใช้อำนาจรัฐที่ไม่มี สถาปนาอำนาจรัฐได้ตามอำเภอใจ จะเป็นแนวทางเช่นเดียวกันกับการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์หรืออนาธิปไตยใช่หรือไม่

ขอวิงวอนให้น้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ โดยเฉพาะสภานิสิตจุฬาฯ จงโปรดได้เข้าใจว่า แนวทางปฏิบัติของน้องนั้นสอดคล้องกับกลุ่มยุวชนแดง และขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และโปรดเข้าใจประวัติศาสตร์ ตลอดจนบาดแผลของสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ของยุวชนแดงที่สถาปนาโดยมาดามเจียงชิง ภริยาของประธานเหมาเจ๋อตุงนั้นก็สูญหายไปพร้อมกับนางทั้งสี่ หัวขบวนการภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา

แนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรมของยุวชนแดงนั้น ก้าวร้าว รุนแรง ทำลายล้าง และไม่ยอมรับความเห็นต่าง ตีตราเรียกคนที่เห็นต่างว่าเป็นพวกปฏิกิริยา (Reactionary) เป็นพวกล้าหลัง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ต้องกำจัดไปให้สิ้น แนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรมของยุวชนแดงนั้น นำไปสู่การฆ่าล้าง สงครามกลางเมือง บุตร-ธิดาแจ้งจับกุมหรือเข้าร่วมจับกุมหรือมีส่วนร่วมสังหารบิดา-มารดาของตนเอง เพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ลูกศิษย์ก็แจ้งจับกุม ร่วมกำจัด ครูบาอาจารย์ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า แตกต่างจากตนเอง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั้งในแผ่นดินจีน และแผ่นดินกัมพูชา ที่ขบวนการยุวชนแดงเข้าไปหยั่งรากและเติบโต

ทุ่งสังหารเกิดการฆ่าคนหัวโบราณ พวกล้าหลัง พวกปฏิกิริยา เกิดขึ้นเพราะอะไร ทั้งในเขมรและในจีน ซึ่งเมื่อผ่านไปหลายสิบปี อดีตยุวชนแดงก็ต้องหลั่งน้ำตาเสียใจกับการหลงผิดกระทำผิดไปของตนที่ฆ่าบิดา-มารดาของตน ฆ่าครูบาอาจารย์ของตนและไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว

ในทางตรงกันข้าม ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย ที่กลุ่มคนขวาจัด ไล่ล่าสังหาร นิสิตนักศึกษา กวาดล้างหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็สร้างบาดแผลในใจให้กับสังคมไทยมิได้แตกต่างกัน

น้อง ๆ สภานิสิตจุฬาฯ ที่รัก น้องเริ่มมีพฤติกรรมบางอย่างคล้ายกับขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และคล้ายกับยุวชนแดง จงได้โปรดฉุกคิด และอย่าได้นำสังคมไทยไปสู่การสังหาร กวาดล้าง และการนองเลือดอีกเลย ขอวิงวอน


กำลังโหลดความคิดเห็น