xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน การแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างกรุงศรีอยุธยากับมัชปาหิต (พ.ศ.1847-1943)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


พงศาวดารซ่งฮุ่ยเย่า (???)
โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

มัชปาหิตเป็นอาณาจักรสุดท้ายที่เหลือในยุคก่อนอิสลามที่มีอายุถึงพุทธศตวรรษที่ 21 ละโว้เป็นเมืองมอญภายใต้การปกครองของเขมร คนไทยเริ่มอพยพจากริมฝั่งแม่น้ำโขงมาปะปนกับคนมอญในสุพรรณบุรีและละโว้ประมาณปี พ.ศ.1584 พงศาวดารซ่งฮุ่ยเย่า (宋会要) บอกว่าละโว้ (羅斛หลัว-หู่) ส่งบรรณาการให้ใน พ.ศ.1658 และจูฟ่านจื้อ กล่าวถึงละโว้อีกในปีพ.ศ.1768 น่าจะเป็นอิสระจากเขมรแล้ว ก่อนปีพ.ศ.1894 จากเอกสารจีนสันนิษฐานได้ว่านครศรีธรรมราชอยู่ในการช่วงชิงอำนาจระหว่างมัชปาหิต ศรีวิชัยและกรุงศรีอยุธยา มัชปาหิตรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยพระเจ้าฮายัม วูรุค (พ.ศ.1893-1932) บันทึกเต้าอี้จื้อเลื่อย (島夷志略) ของวังต้าหยวน (汪大淵) นักเดินเรือชาวจีนเดินทางมาแหลมมลายูในปีพ.ศ.1873-1877 และพ.ศ.1880-1882 ในปี พ.ศ.1893 กล่าวถึงตามพรลิงค์ กลันตัน ตรังกานู ปาหัง ลังกาสุกะ พัทลุง สายบุรีและนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลลดลงในแหลมมลายูโดยมีอาณาเขตติดกับพัทลุงและสายบุรีโดยไม่มีกษัตริย์มีแต่เจ้าเมืองปกครอง มุนโร-เฮย์กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับเพชรบุรีศรีมหาราชา พ.ศ.1861 [Munro-Hay 2001]

เนื่องจากละโว้และสุพรรณภูมิต้องพึ่งพาอาศัยกันอาจจะใช้ท่าเรืออโยธยาที่เป็นเมืองลูกหลวงของละโว้เป็นฐานทัพเรือ เต้าอี้จื้อเลื่อยกล่าวว่าในปีพ.ศ.1873 เสียนหมายถึงพันธมิตรละโว้-สุพรรณภูมิ-อโยธยามากกว่าสุโขทัย-สุพรรณบุรี-นครศรีธรรมราชในหยวนสือ ได้ยกทัพเรือสำเภา 70 ลำบุกโจมตีตั้น-หม่า-ซี (ทูมาสิกหรือสิงคโปร์) แต่ทหารทูมาสิกต้านเอาไว้ได้ 1 เดือนจนกองทัพเรือมัชปาหิตมาถึงทำให้อโยธยาจึงยกทัพเรือกลับและนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับบันทึกว่าพันธมิตรสุพรรณภูมินี้มีอิทธิพลถึงสิงคโปร์ [Miksic 2013; Baker & Phongpaichit 2017] โดยอาจร่วมมือกับนครศรีธรรมราช เมื่อนครศรีธรรมราชได้หมดอำนาจลงในปีพ.ศ.1883 [Miksic 2010] อาณาจักรมัชปาหิตจึงได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาทางตอนใต้ของแหลมมลายูโดยยึดหัวเมืองมลายูเอาไว้หลายเมืองเช่นปีพ.ศ.1884 ได้บุกยึดเมืองลังกาสุกะ [ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก: 63-64] ในช่วงประมาณปีพ.ศ.1893 เมืองตามพรลิงค์ สโรคม ลาลิลู เซียวไล ปาหัง กลันตัน ตรังกานู ลังกาสุกะ บนแหลมมลายูยังคงค้าขายกับจีนโดยตรงอยู่ [Heng 2009] เมื่อพันธมิตรสุพรรณภูมิ-ละโว้-อโยธยา และมัชปาหิตแผ่อำนาจเข้ามาในแหลมมลายู นครศรีธรรมราชหรือธรรมนครีจึงหมดอิทธิพลลง โดยที่เพชรบุรี สุพรรณบุรีและละโว้-อโยธยาน่าจะเกี่ยวข้องทางเครือญาติ

ในปี พ.ศ.1908 ในสมัยพระเจ้าฮายัม วูรุคอาณาจักรมัชปาหิตได้ปกครองอดีตเมืองขึ้นตามพรลิงค์ในแหลมมลายูได้หลายเมืองตามหลักฐานจากในบทกวีเทศวรรณะ (Desawanna) (พรรณนาประเทศ) หรือนครเขตร์คาม (Negara Kertakama) ของมปู ประพันจาในบทที่ 14 ได้แก่ ปาหัง เลงกาสุกะ (ลังกาสุกะ) ซาอิมวัง กลันตัน ตรังกานู ยะโฮร์ ปะกา ดุนกุน ทูมาสิกหรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน เกลาง (หุบเขากลัง) เคดาห์ เจราย (กุนุงเจราย) และกันจาปินนิรัน เอาไว้หมดและยอมรับว่านครศรีธรรมราชในชื่อ“ธรรมนครี” ไม่ใช่“ตามพรลิงค์”ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา [Robson 1997; Prapanca 1995 (1365)] เทศววรณะเขียนในสมัยฮายัม วูรุคกล่าวว่ามัชปาหิตเป็นมิตรกับอยุธยาและนครศรีธรรมราช และยังปกครอง ทูมาสิก หลงหย่าเหมิน (ในสิงคโปร์) มลายู (จัมบิ) ด้วย พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและมัชปาหิตต่างก็อ้างสิทธิบรรณาการเหนือหัวเมืองมลายูที่เคยอยู่ใต้อำนาจของนครศรีธรรมราชในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน การแย่งชิงอิทธิพลระหว่างอยุธยาและมัชปาหิตในแหลมมลายูจึงเข้มข้นจนบางเมืองเช่นทูมาสิก ลังกาสุกะอาจต้องส่งบรรณาการให้ทั้งละโว้-อโยธยาและมัชปาหิตแบบเจ้านาย 2 ฝ่ายฟ้า มัชปาหิตมองว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ต้องคอยรักษามิตรภาพเอาไว้และอาจจะเคยแลกเปลี่ยนทูตกับกรุงศรีอยุธยา [Munandar 2020] หมิงสือลู่ (明實錄)กล่าวว่า จักรพรรดิหมิงไท่จู่ส่งทูตหลื่อจงจุ้น (呂宗俊) มากรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.1913 ในเวลาเดียวกับที่ส่งไปศรีวิชัยเพื่อแจ้งว่าได้ขับไล่พวกมองโกลออกไปแล้วในสมัยสมเด็จพระราเมศวรโดยทรงส่งทูตตอบกลับไปในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.1914 โดยกล่าวว่าเสียนกับหลัว-หู่รวมกันแล้ว [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 8] หมิงลือลู่กล่าวว่าสุพรรณบุรีส่งทูตมาจีนวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.1917 และเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ.1918 กรุงศรีอยุธยาและศรีวิชัยส่งทูตมาจีน [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 17]

ในปีพ.ศ.1919 กรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งหลวงศรีวรวงศ์ให้ปกครองนครศรีธรรมราช หลวงพิเรนทร์เทพ น้องชายของเจ้าเมืองสุพรรณบุรีส่งทหารไปขับไล่ทหารจากอารุในเกาะสุมาตราที่มาโจมตีนครศรีธรรมราชและยึดพัทลุง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่1 (พ.ศ.1913-1931) มีสนมคนหนึ่งเป็นธิดามุขมนตรีเมืองปัตตานีทำให้อยุธยาและปัตตานีร่วมมือกันสู้กับมัชปาหิต [Munro-Hay 2001; ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ข] ในปีพ.ศ.1919 กรุงศรีอยุธยายกกองทัพไปตีกำแพงเพชร ในปีพ.ศ.1920 พระเจ้าฮายัม วูรุคได้ส่งกองทัพเรือมัชปาหิตปราบปรามหัวเมืองมลายูที่เคยเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัยในเกาะสุมาตราที่ยังคงกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับอำนาจของมัชปาหิตโดยการส่งทูตไปจีนเพื่อให้ราชสำนักหมิงรับรองเอกราชทำให้เจ้าชายปรเมศวรหรือศรี ตรีบัวนา (ราชวงศ์เมาลิ) หนีจากปาเล็มบังหรือจัมบิไปทูมาสิก (สิงคโปร์) ตามพงศาวดารมลายู หลังจากมัชปาหิตมีอิทธิพลลดลงในแหลมมลายูเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอภิเษกกับเชื้อพระวงศ์ในรัฐปาหัง ปัตตานีและทูมาสิกและมีอิทธิพลเหนือแหล่งแร่ดีบุกที่สะลังงอร์และเคดาห์ [Pires 2017 (1512-1515); Bendahara 1970; Bradley 2009; Porath 2011] และเป็นคู่ค้าที่สำคัญตามเอกสารราชวงศ์หมิงหลายฉบับ [Lin & Zhang 1988; Perret & Santo Alves 2022]

ในปีพ.ศ.1929 ขุนหลวงพะงั่วยกทัพไปตีเมืองลำปาง ขุนหลวงพะงั่วน่าจะเป็นคนกวาดต้อนชาวล้านนาจากลำปางลงไปตั้งถิ่นฐานทางภาคใต้เช่นที่ ไชยา นครศรีธรรมราช มีหลักฐานมีคนเหนือถูกกวาดต้อนมา เนื่องจากมีจารึกภาษาไทยที่ใช้อักษรธรรมล้านนาปรากฏที่วัดแวง (วัดตะพาน) ในไชยาประมาณปีพ.ศ.1935-1970 ที่ใช้ตัวอักษรอยุธยาแทนที่อักษรกวิของชวาเป็นครั้งแรกทางภาคใต้ของไทย [เพลงเมธา ขาวหนูนา พ.ศ.2558] ซึ่งน่าจะบ่งบอกได้ว่ามีการใช้ภาษาไทยอย่างแพร่หลายทางภาคใต้ของประเทศไทยในเขตสมาพันธรัฐตามพรลิงค์เดิมหลังจากที่จารึกก่อนหน้านี้ไม่ใช้ภาษาไทย ในเวลาต่อมาคนไทยจึงได้อพยพไปเกือบทั่วแหลมมลายูโดยตั้งถิ่นฐานไปถึง 4 รัฐทางเหนือในมาเลเซียในปัจจุบัน ได้แก่กลันตัน ตรังกานู เคดาห์และปะลิส ได้รับสัญชาติมาเลเซียเรียกว่าโอรังสยาม (Orang Siam) ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าตั้งถิ่นฐานในบริเวณนั้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ.1926 จีนได้ใช้ระบบหนังสือเดินทางและคำหับป้องกันคนเข้าออกผิดกฎหมายในจีนโดยบังคับใช้กับคนจีนและชาวต่างชาติ ยกเลิกการค้าเสรีที่มีมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง นครศรีธรรมราชได้ถูกผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยาในราวปีพ.ศ.1930 [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 23]

ในปี พ.ศ.1935 เมืองทูมาสิกก่อกบฎขับไล่เจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยาออกไปทำให้ในปีพ.ศ.1939 กรุงศรีอยุธยาโจมตีทูมาสิกอีกครั้ง [Miksic 2013; Baker & Phongpaichit 2017] และ 2 ปีต่อมามัชปาหิตยกทัพเรือไปถล่มทูมาสิกในปีพ.ศ.1941 เพื่อขับไล่กรุงศรีอยุธยาออกไป ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.1940 ราชสำนักหมิงขอให้กรุงศรีอยุธยาแจ้งไปยังศรีวิชัย เนื่องจากได้ยินว่าศรีวิชัยขึ้นกับชวาแล้ว [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 33-35] ซึ่งเป็นปีที่มัชปาหิตผนวกเมืองในเกาะสุมาตราและแหลมมลายูเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงยกเลิกการส่งบรรณาการไปจีนในปีพ.ศ.1941 การช่วงชิงอิทธิพลระหว่างกรุงศรีอยุธยาและมัชปาหิตทำให้สถานะประเทศราชหรือเมืองขึ้นในแหลมมลายูตอนล่างมีความไม่แน่นอนการส่งบรรณาการของหัวเมืองเหล่านี้ให้กับกรุงศรีอยุธยาและมัชปาหิตในเวลาเดียวกันแบบเจ้านายสองฝ่ายฟ้าจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อความอยู่รอด หลังจากพุทธศาสนามหายานเสื่อมลงในเมืองต่างๆของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์การเข้ามาของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาและศาสนาอิสลามทำให้เมืองมลายูของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์แบ่งเป็น 2 ส่วนคือทางเหนือที่ไม่เคยอยู่ใต้อิทธิพลมัชปาหิตเช่นตามพรลิงค์ ไชยา พัทลุง สงขลา กลายเป็นรัฐพุทธที่ต่อมากลายเป็นรัฐไทยเมื่อถูกผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยา ส่วนทางใต้ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของมัชปาหิตเช่น ลังกาสุกะ สายบุรี กลันตัน ตรังกานู เจอร์เต๊ะ ปาหัง กวนตัน สุไหงปะกาและเอนเดากลายเป็นรัฐมุสลิมมลายู [Munro-Hay 2001] อย่างไรก็ตามมัชปาหิตและกรุงศรีอยุธยาต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่ปะทะกันตรงๆ กรุงศรีอยุธยามองว่ากองทัพเรือมัชปาหิตยิ่งใหญ่ในขณะที่มัชปาหิตมองว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นมหาอำนาจ

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร พ.ศ.2564 ความสัมพันธ์ไทย-จีนจากเอกสารสมัยหยวน หมิง ชิง. กรุงเทพ: กรมศิลปากร.

ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก. ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ข. อาณาจักรลังกาสุกะ ประวัติศาสตร์ยุคต้นของชายแดนใต้. ปัตตานี: ภูริปริ๊นช๊อบ.

เพลงเมธา ขาวหนูนา. 2558. “เมืองโบราณไชยาในสมัยอยุธยา.” Veridian E-Journal ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปะ 8 (3).

Baker, Chris, and Pasuk Phongpaichit. 2017. History of Ayutthaya: Siam in Early Modern World. Cambridge: Cambridge University Press.

Bendahara Tun Sri Lanang. 1970 (1612). Sejarah Melayu or Malay Annals. Translated by C. C. Brown. Kuala Lampur: Oxford University Press.

Bradley, Francis R. 2009. “Moral Order in a Time of Damnation: The ‘Hikayat Patani’ in Historical Context.” Journal of Southeast Asian Studies 40 (2): 274–75.

Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.

Lin Yuanhui 林远辉and Zhang Yinglong 张应龙1998. Zhongwen Gujide Malaixiya Ziliaohuibian中文古籍中的马来西亚资料汇编. Kuala Lumpur: Gabungan Pertubuhan Cina Malaysia.

Miksic, Norman Miksic. 2010. The A-Z of Ancient Southeast Asia. Lanham, MD: Scarecrow Press.

Miksic, John Norman 2013. Singapore and the Silk Road of the Sea 1300-1800. Singapore: NUS Press.

Munandar, Agus Aris. 2020. “Majapahit and the Contemporary Kingdoms: Interactions and Views [Majapahit and Negeri-Negeri Sezaman: Interaksi and Pandangan.” Berkala Arkeologi 40 (1): 1–22.

Munro-Hay, Stuart. 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Bangkok: White Lotus.

Perret, Daniel and Jorge Santos Alves. 2022. Patani Through Foreign Eyes: Sixteenth and Seventeenth Centuries. Hors-Séries 2. Paris: Association Archipel.

Pires, Tomé. 2017. Suma Oriental. Edited by Rui Manuel Loureiro. Lisboa: Centro Científico e Cultural de Macau and Fundação Jorge Álvares; Macau: Fundação Macau.

Porath, Nathan. 2011. “The Hikayat Patani: The Kingdom of Patani in the Malay and Thai Political World.” Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society 84 (2): 45–65.

Prapanca, Mpu. 1995 (1365). Desawarnana (Nagarakertagama). Translated by Stuart O Robson. Leiden: KITV.

Robson, Stuart. 1997. “Thailand in Old Javanese Sources.” Bijdragen Tot de Taal-, Land- En Volkenkunde 153: 431–35.



กำลังโหลดความคิดเห็น