หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ไม่ว่าชะตากรรมของพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไร แต่ทุกอย่างในประเทศนี้ก็คงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ บ้านเมืองต้องมีกฎหมายเป็นขื่อแปที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เพื่อปกป้องรูปแบบและองค์ประกอบอุดมการณ์ของความเป็นรัฐ ขณะเดียวกันหากถูกยุบพรรค สมาชิกของพรรคก้าวไกลก็คงจะยังก่อตัวกัน ตั้งพรรคขึ้นมาใหม่และสืบทอดอุดมการณ์ของตัวเองต่อไป
ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องรักษากฎหมายของบ้านเมือง และสมาชิกพรรคก้าวไกลก็ต้องรักษาอุดมการณ์ของตัวเอง ถ้าถูกยุบพรรคก็เพราะกระทำในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ว่าผลสะท้อนกลับจะเป็นอย่างไร พรรคใหม่ที่สืบต่อจากพรรคก้าวไกลอาจจะเติบโตขึ้นก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่ถ้าศาลบอกว่าไม่ผิด ก็ต้องทบทวนว่า จะทำอย่างไรไม่ให้พรรคกระทำในสิ่งที่สุ่มเสี่ยงและขัดกับอุดมการณ์ของรัฐอีกต่อไป
ต้องยอมรับว่า การก่อตั้งพรรคการเมืองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่แล้วกลายมาเป็นพรรคก้าวไกลนั้นทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งตื่นตัวเข้าสู่การเมือง และการยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นเป็นชนวนก่อเหตุให้เกิดการชุมนุมบนท้องถนนนำมาซึ่งการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งๆ ที่สถาบันกษัตริย์ของเรานั้นตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการเมืองเลย
ไม้ขีดไฟก้านแรกหลังถูกยุบพรรคอนาคตใหม่ก็คือ การเคลื่อนไหวของอานนท์ นำภา ผ่านม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่วิพากษ์วิจารณาสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 20 วัน แต่หลังจากอานนท์ออกมาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ผู้ใหญ่จำนวนมากที่แอบอยู่ข้างหลังต่างส่งเสียงเชียร์และดันให้อานนท์เดินหน้าทะลุทะลวงไปเรื่อยๆ จนเขาถูกดำเนินคดีอีกหลายคดี และจนถึงตอนนี้อานนท์ถูกคำพิพากษาจำคุกรวมกันไปแล้ว 14 ปี 20 วัน มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เดินตามรอยถูกศาลสั่งจำคุก และอีกจำนวนมากที่รอคำพิพากษา
การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทำให้ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เคยผิดหวังเคว้งคว้าง ยังมีอารมณ์ค้างข้ามทศวรรษจากความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่เคยเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กลับมามีความหวังอีกครั้ง ผู้ใหญ่เหล่านี้แหละที่ออกมาซุกอยู่ข้างหลังเด็กรุ่นใหม่และส่งเสียงเชียร์ให้คนรุ่นใหม่ทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ แทนที่จะเตือนให้พวกเขาเคลื่อนไหวด้วยความระมัดระวังที่จะกระทำผิดตามกฎหมาย และต่อมาเกิดเป็นกลุ่มทะลุต่างๆ รวมไปถึงเอาความคิดยัดปากของ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับข้อเรียกร้อง 10 ข้อบนเวทีธรรมศาสตร์ที่กล่าวหาสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรงและเป็นเท็จที่เธอกำลังถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้
จริงๆ แล้วคนรุ่นเก่าที่ยังมีอารมณ์ค้างกับความฝันที่จะทำให้ฟ้าสีทองผ่องอำไพและประชาชนยังเป็นใหญ่อยู่ในแผ่นดินนั้นมีเหลืออยู่ไม่มาก แต่ความคิดของคนอารมณ์ค้างข้ามศตวรรษเหล่านั้นมาสอดคล้องกับเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะการขาดความรู้และประสบการณ์และถูกมอมเมาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่มีความคิดปฏิกษัตริย์นิยม
ในขณะที่ยังมีคนจำนวนมากที่กลับจากป่าสู่เมืองในอดีตเมื่อย่างสู่วัยชรา พวกเขาเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองมองเห็นแล้วว่า ความเป็นอยู่วัฒนธรรม ประเพณี และสถาบันกษัตริย์นั้นต่างหากเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองของเราตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงงดงาม
ปรากฎการณ์นี้สอดคล้องกับสุภาษิตของฝรั่งที่ว่า “ถ้าคุณไม่ใช่เสรีนิยมเมื่อคุณยังเด็ก คุณก็ไม่มีหัวใจ ถ้าคุณไม่ใช่อนุรักษ์นิยมเมื่อคุณแก่ คุณก็จะไม่มีสมอง” บางคนบอกว่าสุภาษิตนี้วินสตัน เชอร์ชิลล์เป็นผู้กล่าว แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเขาเป็นผู้กล่าวคำนี้จริงหรือไม่ และแม้ว่าที่มาของสุภาษิตนี้จะไม่ชัดเจน แต่บุคคลทางการเมืองและนักวิจารณ์หลายคนได้แสดงความเห็นที่แตกต่างกันไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดเบื้องหลังคำพูดนี้ปรากฏขึ้นในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งก่อนสมัยของเชอร์ชิลล์
สุภาษิตนี้บอกเราว่า “เมื่อยังเด็ก” คนรุ่นเยาว์มักถูกมองว่าเป็นพวกอุดมคติมากกว่าและเปิดรับแนวคิดก้าวหน้าหรือเสรีนิยมมากกว่า วลีที่ว่า “คุณไม่มีหัวใจ” สื่อถึงว่าวัยหนุ่มสาวเป็นช่วงเวลาแห่งความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น แม้ว่าวิธีการหรือแนวคิดดังกล่าวจะไม่สามารถใช้ได้จริงเสมอไปก็ตาม แต่ “เมื่อแก่ตัวลง” เมื่อคนเราอายุมากขึ้น คนเรามักจะมองโลกในแง่จริง รอบคอบ และบางทีก็อาจจะอนุรักษ์นิยมมากขึ้น วลีที่ว่า “คุณไม่มีสมอง” บ่งบอกว่าเมื่ออายุมากขึ้น คนเราก็จะมีความฉลาดและเข้าใจความซับซ้อนของโลกมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คนเราโน้มเอียงไปทางอุดมคติแบบอนุรักษ์นิยมที่เน้นความมั่นคง ประเพณี และการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย
แน่นอนว่า เมื่อผ่านวัยวันเข้าสู่วัยชรา คนหนุ่มสาวหลายคนจะมีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป ใช้สมองมากขึ้นและหันมาทบทวนกับความคิดของตัวเองที่กระทำในวัยเยาว์ เมื่อเรียนรู้และมองโลกอย่างรอบคอบมากขึ้นจากประสบการณ์ที่มากขึ้นก็จะมองเห็นความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง แต่ยังมีบางคนอาจจะยังคงเก็บความคิดความฝันในวัยเยาว์เอาไว้ตลอดไป กักขังความคิดนั้นไว้ในสมองเอาไว้ทรมานตัวเอง แก่เฒ่าแล้วก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นนักปฏิวัติอยู่ตลอดเวลา
หากย้อนกลับไปมองยุคที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการเมืองในอดีต ก็นับว่าโชคดีมากที่บ้านเมืองของเราสามารถที่จะรักษารูปแบบและอุดมการณ์ของรัฐได้ ไม่ถูกยึดครองด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงสามารถรักษาความเป็นราชอาณาจักรเอาไว้ และทำให้ประเทศของเราเจริญวัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ ลองหลับตาย้อนมองกลับไปว่า ถ้าวันนั้นพวกคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะประเทศของเราวันนี้จะเป็นอย่างไร
ความเร่าร้อนตามช่วงวัยของคนหนุ่มสาวนั้นทำให้ถูกอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน หล่อหลอมความคิดให้คนรุ่นใหม่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ แล้วใช้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของตัวเอง และทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากถูกดำเนินคดี และอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้ใหญ่ที่ดันอยู่ข้างหลังก็ใช้การถูกดำเนินคดีนั้นมาส่งเสียงฟ้องต่อชาวโลกว่ารัฐไทยปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน
การก่อตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่จากพรรคอนาคตใหม่มาเป็นพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องที่ดี การทำให้คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมือง และมีความกระตือรือร้นกับความเป็นไปของบ้านเมืองก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าพรรคการเมืองท้าทายต่อรูปแบบและอุดมการณ์ของรัฐก็ต้องถูกต่อต้านจากระบอบของรัฐไม่ว่าจะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าอำนาจเก่าหรือ Deep State ก็ตาม ดังนั้นเมื่อเผชิญกับคำพิพากษาของตุลาการรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นกระบวนการปกติที่จะต้องเผชิญหากท้าทายต่ออุดมการณ์ของรัฐ
ความผิดพลาดของพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกลก็คือ การปลูกฝังความคิดปฏิกษัตริย์นิยมลงไปในคนรุ่นใหม่ ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทั้งที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าพวกเขาต้องการอำนาจทางการเมือง ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ควรจะสู้ในกรอบของการเมืองที่ไม่พาดพิงไปถึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งหากกระทำเช่นนี้พวกเขาก็อาจจะได้อำนาจรัฐไปแล้ว
ไม่รู้หรอกว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นกรอบกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยึดมั่นกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกป้องรูปแบบของรัฐและรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ความคิดและอุดมการณ์ของใครก็ตามเราไม่อาจห้ามใครคิดและมีความมุ่งหวังได้ แต่ก็ต้องไม่เกินไปกว่ากรอบที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ถ้าบ้านเมืองไม่มีกฎหมายไม่ยึดถือหลักการของกฎหมายรัฐนั้นก็คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ถ้าพรรคก้าวไกลรอดจากการถูกยุบพรรค ก็ต้องตระหนักและคิดให้ได้ว่า สิ่งที่ผ่านมานั้นพรรคทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงและท้าทายต่ออุดมการณ์ของรัฐ แต่ถ้าพรรคถูกยุบก็ต้องทบทวนให้ได้ว่า หากตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาจะต้องทำอย่างไรที่จะไม่เผชิญชะตากรรมเช่นนี้ซ้ำๆ อีก
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan