xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน สถานภาพของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ การแย่งชิงอำนาจกันในช่องแคบมะละกาในสมัยนครศรีธรรมราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

พงศาวดารหยวนสือ เล่มที่ 18 กล่าวว่าในปีพ.ศ.1838 จักรพรรดิหยวนเฉินจง (พ.ศ.1837-1850) ออกพระราชโองการคุ้มครองธรรมศรายาหรือมลายูจากเสียนที่อาจเป็นพันธมิตรสุโขทัย-สุพรรณบุรี-นครศรีธรรมราชโดยห้ามไม่ให้ต่อสู้กันอีกและเล่มที่ 19 กล่าวว่าเสียนกับมลายูฆ่าฟันกันมานานจึงห้ามชาวเสียนทำร้ายชาวมลายู เพราะพันธมิตรนี้บุกศรีวิชัยที่เมืองจัมบิ ในปีพ.ศ.1838 [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 4] และหนังสือประวัติอี้เหยหมี่อิ้นชื่อ (亦黑迷失) บอกว่าทูตธรรมศรายาเดินทางกลับประเทศในปีพ.ศ.1837 [Fukami 2004a] แสดงว่ากองทัพเรือศรีวิชัยได้ปะทะกับกองทัพเรือเสียน นอกจากนี้มีพงศาวดารหลายฉบับทางฝั่งมาเลเซียและอินโดนีเซียกล่าวว่าเสียนได้บุกหัวเมืองบนเกาะสุมาตรา เช่น สมุทรา-ปาไซซึ่งเป็นอาณาจักรอิสลาม พงศาวดารมลายูกล่าวว่าอวี ดีชู (Awi Dishu) นำกองทัพเสียนของชารุนนุวี (Shahru’n-muwi) โจมตีสมุทราแล้วจับตัวสุลต่านปาไซและไซดี อาลี กิตายุดดิน (Saidi’Ali Ghitayu’d-din) ได้นำตัวกลับมา แต่พงศาวดารปาไซ (Hikayat Raja-Raja Pasai) กล่าวว่าตาลัก เซจัง (Talak Sejang) นำกองทัพเรือเสียนส่งเรือเล็กและใหญ่ 100 ลำบุกปาไซโดยบารัง ลักษมณา (Barang Laksamana) ตุน ราวัน เปอร์มาตัง (Tun Rawan Permatang) ตุน อาเรีย จอง (Tun Aria Jong) แม่ทัพปาไซ 3 คนยกทัพออกมาต่อสู้จนกระทั่งสุลต่านมาลิค อัล-มาห์มูด ยกทัพหลวงมาช่วย และสังหารตาลัก เซจังจนสามารถขับไล่กองทัพเรือเสียน [Thomas 1979; Miksic 2013, 2015; Baker & Phongpaichit 2017; Hill 1990; ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก] สุลต่านมาลิค อัล-ซาลีร์ที่สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.1840 ที่สมุทราซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวกับสุลต่านปาไซในพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับเพราะห้วงเวลาใกล้เคียงกันซึ่งนับเป็นเวลาเกือบร้อยปีหลังจากสุลต่านลามูรีที่สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.1745 [Ricklefs et al 2010; Rajani 1976b]

สงครามระหว่างเสียนกับเมืองบนเกาะสุมาตราเช่น ศรีวิชัยและปาไซเป็นการแย่งชิงอิทธิพลในช่องแคบมะละกา ต่อมามหาราชาตรีภูวนราชแห่งศรีวิชัยส่งทูตไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิหยวนเฉินจง ในปีพ.ศ.1842 และพ.ศ.1844 โดยสมัครใจเพื่อยืนยันความเป็นเอกราช โดยทูตมีนามว่าธิวะการะ ศรีสมันตะ สตวรมัน และศรีวิศวกุมาร [Heng 2009] และในปีพ.ศ.1847 บันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อ บอกว่าซัน-โฝ-ฉียังมีเมืองขึ้น 17 เมืองในเกาะสุมาตรา เช่น สมุทรา ลามูรี อารุ เป็นต้นซึ่งบางเมืองผู้ปกครองเป็นมุสลิม ดังนั้นเมื่อเสียนใช้เมืองท่าอโยธยาหรือเพชรบุรีที่อยู่ใกล้ทะเลก็สามารถยกทัพเรือไปโจมตีศรีวิชัยโดยลำพังไม่จำเป็นต้องพึ่งนครศรีธรรมราชแต่เสียนอาจจะมีขุนนางหรือแม่ทัพเรือชาวมลายูที่มีความชำนาญในยุทธนาวีอยู่ในราชสำนัก

เศรษฐกิจการค้าของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์
นโยบายการค้าต่างประเทศของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์จะต่างจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยเนื่องจากนโยบายการค้าต่างประเทศของจีนในสมัยปลายราชวงศ์ซ่งและหยวนไม่ได้ใช้ระบบบรรณาการบังคับรัฐโพ้นทะเลเพื่อให้ส่งบรรณาการมารักษาสิทธิในการส่งสินค้ามาจีนเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ไม่เคยส่งทูตไปจีนอีกเลยหลังจากปีพ.ศ.1739แต่พ่อค้าชาวจีนสามารถเดินทางมาค้าขายกับเมืองต่างๆที่ขึ้นกับสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ได้อย่างเสรี จึงไม่มีเมืองใดในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ส่งทูตไปจีนเลยเช่นเดียวกัน จีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับตามพรลิงค์เหมือนกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย เนื่องจากพ่อค้าจีนสามารถเดินทางไปค้าขายได้อย่างเสรี การแยกตัวของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์จากสมาพันธรัฐศรีวิชัยทำให้ไม่มีอาณาจักรใดควบคุมช่องแคบมะละกาได้จนถึงสมัยมัชปาหิต เรือของจีนสามารถผ่านช่องแคบมะละกาไปค้าขายกับอินเดีย ตะวันออกกลางและแอฟริกาได้อย่างเสรี และเมืองในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์เป็นเมืองท่าส่งออกไม่เหมือนกับเมืองในช่องแคบมะละกาที่เป็นเมืองท่าในการขนถ่ายสินค้าด้วย (Transshipment)

ราชวงศ์หยวนไม่รับรู้การมีอยู่ของรัฐในทะเลใต้ระหว่างจามปากับมะละบาร์ในอินเดียใต้จึงไม่กล่าวถึงศรีวิชัยในพงศาวดารหยวนสือซี่งอาณาจักรท้องถิ่นแถบนั้นยังรับรู้อยู่หลังจากสิ้นราชวงศ์ซ่งได้ไม่นานมีความขัดแย้งระหว่างราชสำนักหยวนกับกลุ่มการค้ามุสลิมเชื้อสายเอเชียกลาง อาหรับและเปอร์เซียที่ยังมีอิทธิพลในฝูเจี้ยน หลังจากตกลงกันได้ในปีพ.ศ.1823 จึงมีการบันทึกชื่อศรีวิชัยในพงศาวดารหยวน ซึ่งกลุ่มการค้าเหล่านี้ต้องการใช้ระบบบรรณาการแบบราชวงศ์ซ่งแต่ราชสำนักหยวนไม่เห็นด้วยเพราะต้องการหากำไรจากการค้าทางทะเลโดยตรง ราชสำนักหยวนจึงไม่รับรองศรีวิชัยในฐานะรัฐบรรณาการอีกต่อไปเพราะมีหลายรัฐจากช่องแคบมะละกาที่อ้างชื่อศรีวิชัย ตามพรลิงค์จึงไม่เคยส่งบรรณาการให้ราชวงศ์หยวน [Fukami 2004b; Heng 2005]

ระบอบการปกครองของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์
สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ปกครองโดยระบอบสมาพันธ์แห่งนครรัฐหรือเครือรัฐที่เรียกกันว่าระบอบมณฑล (Mandala model) หรือระบอบจักรวาล (Galactic polities) เช่นเดียวกับอาณาจักรพุทธ-พราหมณ์อื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ล้านนา ล้านช้าง สุโขทัย อยุธยา ทวารวดี เป็นต้น นครรัฐที่เข้มแข็งที่สุดจะเป็นศูนย์กลางโดยมีนครรัฐบริวารส่งบรรณาการให้ ผู้ปกครองนครรัฐบริวารเหล่านี้เรียกว่ามหาราชา นครรัฐผู้นำจะเป็นที่หนึ่งในท่ามกลางนครรัฐที่เท่าเทียมกัน (First among equal) ซึ่งกษัตริย์แต่ละองค์จะมีพันธะกับสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ นครรัฐในสมาพันธรัฐมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเกี่ยวดองกันด้วยการแต่งงาน หรือนครรัฐผู้นำอาจจะส่งลูกหลาน เครือญาติหรือคนสนิทที่ไว้ใจได้ไปปกครองนครรัฐพันธมิตร และกษัตริย์ที่ปกครองรัฐพันธมิตรจะมีอิสระในการปกครอง บันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อให้รายชื่อนครรัฐต่างๆในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์เอาไว้ โดยแต่ละนครรัฐไม่มีอาณาเขตที่แน่นอนแบบจีน เกาหลี ญี่ปุ่นหรือยุโรปในสมัยโบราณ ระบอบการปกครองเน้นความสัมพันธ์ตามระบอบอุปถัมป์ (Patron-client relationship) ระหว่างพลเมืองกับนครรัฐมากกว่าดินแดน นครรัฐในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์เป็นภาษามลายูว่า “เกดาตวน” และภาษาไทยว่า “เมือง” ซึ่งต่อไปจะใช้แทนคำว่านครรัฐในบทความนี้ โดยปกติแล้วเมืองผู้นำจะไม่ก้าวก่ายการปกครองภายในเมืองบริวาร แต่ระบอบมณฑลของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์แตกต่างจากระบอบมณฑลอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณดังนี้

1.เป็นสมาพันธรัฐเมืองท่า (Thalassocracy or port polities) คล้ายๆกับสันนิบาตฮันซิอาติคเพราะเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าชายทะเลที่ไม่ขยายชุมชนลึกเข้าไปในทวีปหรือเกาะมากนักความสัมพันธ์ระหว่างเมืองผู้นำและเมืองพันธมิตรนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สถานภาพของความสัมพันธ์นี้ไม่คงที่จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้รวมศูนย์อย่างเด็ดขาดเหมือนระบอบมณฑลอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อยุธยา มัชปาหิต พม่า เป็นต้น โดยเป็นเมืองท่าที่ค่อนข้างเป็นอิสระต่อกันตามแบบจำลองต้นน้ำ-ปลายน้ำของบรอนสัน

2. อาจมีการแต่งงานข้ามระบอบมณฑลระหว่างเมืองของตามพรลิงค์กับเมืองของระบอบมณฑลอื่น เช่นสิงหสาหรี ศรีวิชัยหรือกัมพูชา หรือแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เช่น มลายู-ชวา มลายู-เขมร เป็นเรื่องปกติ เป็นสมาพันธรัฐที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม มีคนหลายเชื้อชาติอยู่ในเมืองเดียวกันหรือในสมาพันธรัฐ

3. เมืองบริวารไม่ลอกเลียนแบบโครงสร้างการปกครองและประเพณีของเมืองศูนย์กลางมาใช้ เช่นเมืองตรังกานูเปลี่ยนไปนับถืออิสลามใช้กฎหมายอิสลามแต่ก็ยังส่งบรรณาการให้ตามพรลิงค์ซึ่งเป็นเมืองพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ เมืองตามพรลิงค์ที่เป็นศูนย์กลางก็ไม่ไปก้าวก่ายปล่อยให้เมืองเหล่านี้เลือกประเพณีและโครงสร้างการปกครองที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมของตนต่อไป

4. เมื่อมีศึกสงครามก็อาจจะระดมไพร่พลจากเมืองพันธมิตรมาเข้าร่วมทำสงคราม เช่นมหาราชาจันทรภาณุอาจเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองพันธมิตรมาร่วมกันบุกศรีลังกา สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ไม่สามารถได้เข้าควบคุมเส้นทางการค้านานาชาติหรือเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยเฉพาะช่องแคบมะละกาและซุนดาซึ่งเป็นสายการคมนาคมทางทะเลสำคัญระหว่างจีนกับอินเดียและตะวันออกกลางได้เหมือนกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย จึงไม่มีการคงกองกำลังทางเรือเพื่อควบคุมช่องแคบมะละกา

5. ไม่มีหลักฐานว่าสมาพันธรัฐตามพรลิงค์มีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจนกระทั่งการเข้ามาของศาสนาอิสลามที่เมืองตรังกานูในปีพ.ศ.1846 ที่มีจารึกบัญญัติให้ประชาชนใช้กฎหมายอิสลาม จึงสันนิษฐานว่าสมาพันธรัฐตามพรลิงค์มีกฎหมายคล้ายกับศรีวิชัยที่เดิมทีไม่ใช่กฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยจารีตประเพณี คล้ายคลึงกับกฎหมายแองโกล-แซกซอนของอังกฤษ ส่วนกฎหมายการค้าและพาณิชย์นาวีอาจจะอ้างอิงกฎหมายจีนเป็นหลัก เพราะจีนเป็นจุดหมายปลายทางหลักของสินค้าจากสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ เป็นกฎหมายที่ไม่เน้นการลงโทษทางอาญาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมแต่เน้นโทษทางแพ่งเป็นค่าปรับ ระบบกฎหมายตามพรลิงค์อาจจะไม่มีการขังคุกแต่เอาคนเป็นทาส เป็นต้น การฆ่าคนตายหรือลักทรัพย์นั้นมีโทษแค่การถูกปรับเท่านั้น แต่จะใช้การประหารชีวิตก็ต่อเมื่อผู้กระทำผิดไม่มีเงินชดใช้ค่าปรับในคดีฆาตกรรมหรือลักทรัพย์ อย่างไรก็ตามเมืองอื่นๆในแหลมมลายูที่เข้ามาอยู่ภายใต้สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ เช่น ตรังกานู อาจมีระบอบการปกครองและกฎหมายต่างออกไปจากการที่รับเอากฎหมายอิสลามเข้ามา เนื่องจากตามพรลิงค์ที่เป็นเมืองศูนย์กลางไม่เคยก้าวก่ายการปกครองภายในของเมืองบริวารเช่นเดียวกับศรีวิชัย อย่างไรก็ตามเมืองที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามก็ยังคงจงรักภักดีต่อนครศรีธรรมราชและส่งคนไปเรียนภาษาโบราณที่ยังอยู่ในจารึกจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อสืบต่อประวัติศาสตร์ของตน [Ahamat & Alias 2018]

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร พ.ศ.2564 ความสัมพันธ์ไทย-จีนจากเอกสารสมัยหยวน หมิง ชิง. กรุงเทพ: กรมศิลปากร.

ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Baker, Chris, and Pasuk Phongpaichit. 2017. History of Ayutthaya: Siam in Early Modern World. Cambridge: Cambridge University Press.

Fukami Sumio 深見純生. 2004a. “The Long 13th Century of Tambralinga: From Javaka to Siam.” Memoir of the Research Department of the Toyo Bunko 62:45–79.

Fukami Sumio, 深見純生. 2004b. “Passage of Emporium: The Malacca Straits during the Yuan Period 元代のマラッカ海峡-通路か拠点か.” Southeast Asia: History and Culture 33: 100–118.

Hasiff Ahamat and Nizamuddin Alias 2018. “The Evolution of the Malay Sultanate States”. In. International Law and Islam. by Ignacio de la Pasilla de Moral and Ayesha Shalid, 249-276. Leiden: E J Brill

Heng, Derek Thiam Soon. 2005. Economic Interaction between China and the Malacca Straits Region: Tenth to Fourteenth A.D. Doctoral Thesis, Hull, UK: University of Hull.

Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.

Hill, A.H. 1990. “Hikayat Raja-Raja Pasai: A Romanised Version with an English Translation, an Introduction and Notes.” Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society 32 (2): 127.

Miksic, John Norman 2013. Singapore and the Silk Road of the Sea 1300-1800. Singapore: NUS Press.

Miksic, John Norman. 2015. "Kerinci and the Ancient History of Jambi." In A 14th Century Malay Code of Laws: The Nitisarasmuccaya, by Uli Kozok, 17-49. Singapore: ISEAS.

Mom Chao Chand Chirayu Rajani. 1976b. "Review Articles: Background to Srivijaya Story Part V (Conclusion)." Journal of the Siam Society 64 (2): 237-310.

Ricklefs, Merle Calvin, Bounce Lockhart, Albert Lau, Portia Reyes, and Maitrii Aung-Thwin. 2010. A New History of Southeast Asia. New York: PalgraveMacmillan.

Thomas, Philips L. 1979. “Thai Involvement in Pasai.” Journal of the Siam Society 66 (1): 89–101.



กำลังโหลดความคิดเห็น