xs
xsm
sm
md
lg

อิสราเอลฆ่าผู้นำฮามาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


อิสมาเอล ฮานิเยห์ ผู้นำฮามาส
อิสราเอลรุกหนักครั้งนี้สามารถบุกเข้าไปสังหารผู้นำกองกำลังฮามาส ในอิหร่าน นายอิสมาเอล ฮานิเยห์ ซึ่งเป็นผู้นำสูงสูงสุด เคยรอดจากการลอบสังหารโดยอิสราเอลมาหลายครั้ง

แต่ครั้งนี้หน่วยสังหารของอิสราเอลประสบความสำเร็จเมื่อบุกเข้าไปสังหารเหยื่อในอาคารที่พักอาศัยในอิหร่าน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก

แต่ก็จะนำไปสู่สภาวะที่รุนแรงเพราะกลุ่มติดอาวุธฮามาสต้องเอาคืนไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม เพราะการสูญเสียผู้นำถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างมาก

นายฮานิเยห์ โดยปกติแล้วอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และระมัดระวังตัวตลอดเวลาเป็นตัวเจรจากับกลุ่มต่างๆ เพื่อหาทางออกให้กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน

นายฮานิเยห์ ได้ไปลงนามร่วมกับอีก 3 กลุ่มของปาเลสไตล์ด้วยการประสานงานของรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนนายหวังอี้ เพื่อสร้างรัฐบาลสามัคคีชั่วคราวสู้เพื่อรัฐปาเลสไตน์

แม้อิสราเอลจะไม่ยอมรับโดยตรงว่าเป็นผู้สังหาร แต่ก็ไม่มีใครอื่นเพราะช่วงนี้เป็นสงครามร้อนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

อิหร่านคงรู้สึกเสียหน้าเช่นกันเพราะอิสราเอลบุกเข้าไปสังหารผู้นำฮามาสในประเทศ ขณะที่เพิ่งเสียผู้นำประเทศจากเครื่องบินตกไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียรุนแรงเช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้สงครามในตะวันออกกลางย่อมไม่ไปในทิศทางอื่น นอกจากการสู้รบที่จะรุนแรงขึ้นเพราะอิสราเอลเริ่มใช้กองทัพออกอากาศโจมตีกรุงเบรุตเมืองหลวงของประเทศเลบานอน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกองกำลังเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าอิสราเอลมากนัก

การที่อิสราเอลใช้เครื่องบินโจมตีกรุงเบรุตเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนว่าพร้อมจะทำลายประเทศเลบานอนเหมือนกับที่กระทำกับฉนวนกาซา ซึ่งสังหารชาวปาเลสไตน์ไปมากถึง 40,000 รายและผู้บาดเจ็บสูงถึง 90,000 ราย

การโจมตีด้วยอาวุธระหว่างกองกำลังในเลบานอนและอิสราเอลเริ่มมีความถี่และรุนแรงขึ้นพร้อมกับความเสียหายและการเสียชีวิตของประชาชนทั้งสองฝ่าย แต่กองกำลังติดอาวุธในเลบานอนวันนี้แตกต่างจากหลายปีก่อน ซึ่งอิสราเอลก็ไม่สามารถเอาชนะได้เช่นกัน

สิ่งที่อิสราเอลคาใจอย่างมากก็คือไม่ว่าจะเป็นศัตรูของอิสราเอลในกาซา เยเมนของกำลังติดอาวุธในอิรัก ซีเรีย และส่วนหนึ่งอยู่ในจอร์แดนหมายความว่าอิสราเอลถูกแวดล้อมด้วยศัตรูพร้อมโจมตีตลอดเวลา

อิสราเอลต้องการให้สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในสงครามถ้ามีการขยายตัวเพื่อจัดการอิหร่าน ซึ่งให้การสนับสนุนกองกำลังทั้งหมดที่เป็นศัตรูกับอิสราเอลในตะวันออกกลาง เว้นแต่ประเทศที่ไม่ได้สู้รบโดยตรงอย่างเช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย

แต่สหรัฐฯ ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้นำประเทศหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 5 พฤศจิกายน และโจ ไบเดนซึ่งเป็นประธานาธิบดีอยู่แต่แทบไม่มีบทบาทในการตัดสินใจเพราะได้ถอนตัวออกจากการเป็นคู่ชิงไปแล้วก็คงไม่อยากยุ่งมาก

ยังมีเหตุการณ์ที่อยากจะแทรกเข้ามาเพราะผู้นำของตุรเคีย ก็อยากส่งทหารไปรบกับอิสราเอลเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์เช่นกัน แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนเพราะตุรเคียเป็นสมาชิกขององค์กรนาโตแต่เป็นประเทศมุสลิมและเป็นศัตรูตัวร้ายกับอิสราเอลด้วย

ถ้าเล่นกันไม่ยั้งคงไม่มีใครห้ามได้ยิ่งสหรัฐฯ เข้ามาจัดการกับอิหร่านก็คงจะต้องกลายเป็นสงครามในภูมิภาคเกี่ยวโยงกับทั้งอิรักและซีเรีย และรัสเซียคงไม่อยู่เฉยถ้าสหรัฐฯ มีบทบาทด้วย

จีนซึ่งเป็นตัวกลางสมานไมตรีระหว่างอิหร่านกับประเทศอาหรับและเชื่อมโยงไมตรีระหว่างกลุ่มปาเลสไตน์ก็คงจะไม่อยู่เฉยเช่นเดียวกัน เพราะถ้าขาดเสถียรภาพในตะวันออกกลางย่อมหมายถึงปัญหาด้านพลังงานไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ

ถ้าเกิดสงครามคงไม่มีใครยอมได้เพราะสหประชาชาติก็คงไร้น้ำยาเหมือนเดิม แม้แต่คณะมนตรีความมั่นคงก็คงไร้ความหมาย

ต้องรอดูอย่างเดียวว่าถ้าสงครามลามไปแล้ว จะไปถึงไหนจะกลายเป็นสงครามโลกหรือไม่ ถ้าถึงขั้นนั้นเล่นกันด้วยนิวเคลียร์ก็คงไม่มีอะไรต้องพูดกันอีกต่อไป

เห็นชัดเจนว่ามนุษย์แม้จะเจริญแค่ไหนก็ยังคิดค้นเอาอาวุธมาฆ่ากัน แทนที่จะอยู่ด้วยกันโดยสงบสันติภาพแต่กลับต้องการเป็นใหญ่และหารายได้จากขายอาวุธ ซึ่งจะต้องเป็นผลของการขัดแย้งและสงคราม

รอดูแล้วกันว่าอิสราเอลจะกล้าเสี่ยงกับอนาคตและความอยู่รอดของตัวเองท่ามกลางกลุ่มประเทศอาหรับหรือไม่ และสหรัฐฯ จะเสี่ยงกับอนาคตตัวเองหรือจะยอมประเมินตัวเองว่าไม่พร้อมที่จะเป็นหนึ่งเดียวในโลกอีกต่อไป เพราะความล้าหลังทางเทคโนโลยีและการผลิตอาวุธ


กำลังโหลดความคิดเห็น