xs
xsm
sm
md
lg

ทวงคืน “ฟ้าทะลายโจร” ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567  เว็บไซต์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นข่าวเรื่องเกี่ยวกับกรณีเวชปฏิบัติของฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ความว่า

“กรมการแพทย์ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมการใช้ฟ้าทลายโจรและพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

จากการแถลงข่าวโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงประเด็นการสนับสนุนฟ้าทะลายโจร เพื่อการรักษาโควิด19 และการใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ

ในการนี้ กรมการแพทย์ได้รายงานถึงการสนับสนุนนโยบายนี้ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยยืนยันว่าแพทย์ยังสามารถจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อการรักษาโควิด-19 ได้เช่นเดิม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ในการนี้ ยังได้ผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่และแนะนำการใช้ทั้งในรูปแบบเอกสารและออนไลน์ นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและทางเลือกในการผลิตคู่มือการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อการรักษาโควิด 19 เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นประโยชน์และถือเป็นพัฒนาการของกลุ่มยาสมุนไพรที่จะมีคู่มือเวชปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในระบบสาธารณสุขต่อไป”[1]

 คำถามมีอยู่ว่า ข้อความที่กรมการแพทย์แถลงประชาสัมพันธ์ข้างต้นนั้นมีสถานภาพอะไร ระหว่าง…

 1.เป็นคำสั่งของกรมการแพทย์ที่มีต่อแพทย์

 หรือ 2.เป็นการประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนให้สบายใจ

 หรือ 3.เป็นการแถลง “แก้ตัว” เพื่อ “ไม่ต้องแก้ไขใดๆ” กับ หนังสือร้องเรียนของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ขอทวงคืนฟ้าทะลายโจร และให้เปิดเผยข้อมูลการประชุมในการตัดฟ้าทะลายโจรออก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 หรือไม่?[2]

ด้วยเพราะสารtสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่แถลงด้วยข้อความสวยหรูอย่างไร แต่อยู่ที่ความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาฟ้าทะลายโจรจริงๆ หรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 จนถึงสิ้นเดือนที่ผ่านมา มีจำนวนเท่าไหร่ และโรงพยาบาลไหนบ้าง เทียบกับยาอื่นๆ ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ[3],[4]

เพราะข้อความที่กรมการแพทย์แถลงเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นอย่างยิ่งด้วยการเลี่ยงใช้ประโยคว่า  “แพทย์ยังสามารถจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อการรักษาโควิด-19 ได้เช่นเดิม”[1]

คำว่า “แพทย์ยังสามารถจ่าย” เป็นคนละความหมายกับคำว่า  “แพทย์ต้องจ่าย” ตามคู่มือแพทย์ที่ระบุเอาไว้ที่เรียกว่า

“แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข”[5],[6]

เพราะสาระสำคัญคือ แม้ฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว[3]

แต่แนวทางเวชปฏิบัติกับผู้ป่วยโควิด-19 ปรับปรุงครั้งที่ 28 ที่เผยแพร่โดยกรมการแพทย์ฉบับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ปรากฏว่า  “ไม่มีชื่อยาฟ้าทะลายโจร” ที่ให้แพทย์จ่ายยาได้ในขั้นตอนใดเลยในผู้ป่วยโควิด-19[5]

มีแต่ขั้นตอนอื่นๆ สำหรับยาแผนปัจจุบันราคาแพงๆตามบัญชียาหลักแห่งชาติ[4],[5]

มีความหมายว่าฟ้าทะลายโจรมีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติให้แพทย์จ่ายได้ เบิกได้[3] แต่ไม่มีขั้นตอนใดในคู่มือแพทย์ที่เรียกว่า  “แนวทางเวชปฏิบัติ” ให้แพทย์จ่ายยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19[5]

ต่างจากแนวทางเวชปฏิบัติที่ประกาศของกรมการแพทย์ฉบับก่อนหน้านั้นคือฉบับที่ 27 สำหรับโรคโควิด-19 วันที่ 18 เมษายน 2566 ระบุในตารางที่ 2 ว่ามีขั้นตอนอย่างชัดเจนว่ายาฟ้าทะลายโจรให้จ่ายสำหรับคนไข้ความว่า

 “เริ่มยาเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2” [6]

การที่ระบุว่า “แพทย์สามารถจ่ายยาฟ้าทะลายโจรได้” จึงแปลว่าให้แพทย์จ่ายได้โดย “อยู่นอกเหนือแนวเวชปฏิบัติ” ของกรมการแพทย์ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยหลายกรมของกระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ และแพทยสภา

 คำถามมีอยู่ว่าจะมีแพทย์คนไหนกล้าเสี่ยงสั่งจ่ายยาฟ้าทะลายโจรจริงๆ โดยอยู่นอกเหนือคู่มือแพทย์ที่เรียกว่า “แนวทางเวชปฏิบัติ” หรือไม่?

“แนวทางเวชปฏิบัติ” ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเช่นนี้ มีความหมายว่าหากแม้เกิดเหตุร้ายกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเพราะแนวเวชปฏิบัติผิด หรือเกิดความโชคร้ายของผู้ป่วยที่เกิดอาการแทรกซ้อนจากการรักษา แพทย์ที่ปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติย่อมได้รับการคุ้มครอง ตามกฎหมาย เพราะได้ทำตามขั้นตอนตามที่กรมการแพทย์ได้ประกาศแล้ว

 แต่หากแพทย์คนใด “แหกคอก” ด้วยการจ่ายยาฟ้าทะลายโจร โดยอ้างว่า ”สามารถจ่ายได้ “ก็เป็นการจ่ายยา” นอกเหนือ“ จากแนวเวชปฏิบัติที่ประกาศของกรมการแพทย์ที่มีคณะกรรมการโควิด-19 ซึ่งแพทย์ผู้จ่ายยานั้นจะต้องรับผิดชอบทุกสิ่งอย่างหากเกิดอะไรขึ้น

 
 แต่หากโชคร้ายเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเกิดขึ้น แพทย์ผู้นั้นจะต้องถูกสอบสวนว่าได้มีการปฏิบัติ “นอกคำสั่ง” ประกาศของกรมการแพทย์ที่เรียกว่า “แนวเวชปฏิบัติ” หรือไม่?





และหากฟ้าทะลายโจรกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมจากแนวเวชปฏิบัติที่ประกาศโดยกรมการแพทย์ หากเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้แพทย์ผู้นั้นต้องมีภาระในการพิสูจน์ตัวเองทันที ว่าเกิดจากฟ้าทะลายโจรหรือไม่ และแพทย์ผู้จ่ายยาฟ้าทะลายโจรนั้นย่อมมีความเสี่ยงในการทำงานขึ้นทันที จริงหรือไม่?

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลภาครัฐซึ่งมีภาระงานมากอยู่แล้ว จะมีใคร “กล้าเสี่ยง” ไปจ่ายยาฟ้าทะลายโจรที่อยู่นอกเหนือจาก “แนวเวชปฏิบัติ” ของกรมการแพทย์ จริงหรือไม่?

ดังนั้นการแถลงแก้ตัวแค่ไหน หากผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้ยาฟ้าทะลายโจรเร็วที่สุด ผู้ป่วยย่อมสูญเสียโอกาสในการลดอาการความรุนแรงอยู่ดี

โดยเฉพาะหากมีการตัดฟ้าทะลายโจรออกโดยมาจากการอ้างงานวิจัยที่ “ผู้วิจัย” ระบุในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 21 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ว่ายังไม่สมบูรณ์และยังไม่ครบถ้วน ด้วยเพราะไวรัสได้กลายพันธุ์ได้อ่อนแรงจนมีความรุนแรงของโรคน้อยแล้ว กลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไปจึงทำให้เกิดการแปรผลที่ผิดได้

คำถามมีอยู่ว่า มีการอ้างงานวิจัยที่ยังไม่สมบูรณ์เพื่อเป็นเหตุในการตัดฟ้าทะลายโจรนั้นมีจริงหรือไม่?

เรื่องดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องและความโปร่งใสทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 มีแต่จะให้ยาราคาแพงๆกับผู้ป่วยนั้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ หรือเป็นประโยชน์ต่อบริษัทยากันแน่

หรือคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือมีใครทุจริตทางวิชาการเพื่อเอื้อผลประโยชน์กับบริษัทยาบางแห่งหรือไม่? ยิ่งต้องมีการสอบสวนเพื่อแสวงหาความจริงต่อไป

 เพราะตัวอย่าง ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ถูกเตือนมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 จากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยว่า อย่าให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเพราะจะทำให้เชื้อดื้อยาและจะเป็นปัญหาในอนาคตได้[7]

 แต่เหตุใดแนวเวชปฏิบัติฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ซึ่งระบุว่าไม่ให้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลับยังคงให้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กอยู่ต่อไปได้อย่างไร?[4]

และนี่คือเหตุผลว่าทำไม ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเขียนบทความอ้างอิงงานวิจัยเพื่อสอบถามถึงความผิดปกตินี้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ว่า

“ฟ้าทะลายโจร ยาประจำบ้าน รมว.สาธารณสุขถอดฟ้าทะลายโจร ออกจากการรักษาโควิดในคู่มือเวชปฏิบัติ เดือนมิถุนายน 2567 และใส่ยาฟาวิพิราเวียซึ่งไวรัสดื้อจนหมดสิ้นแล้ว และไม่อยู่ในตำรับการใช้ก่อนหน้ามานานแล้ว และทำให้ขณะนี้สถานพยาบาลใช้ฟาวิพิราเวียร์แทนจ่ายให้ผู้ป่วย
การยื่นบันทึกร้องถาม เหตุผลและข้อมูลของกรรมการโควิด กรมการแพทย์ และ อย. ต่อรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น กระทำโดยผ่านสำนักกฏหมายอรุณอมรินทร์ ทั้งนี้มีความประสงค์ที่จะให้ถอดเทปคำตอบคำ ใครเป็นผู้เสนอข้อมูลให้ถอดฟ้าทะลายโจรออก หลักฐานข้อมูลคืออะไร และการตัดสินของคณะกรรมการขึ้นอยู่กับอะไร และทำไมฟาวิพิราเวียร์ ถึงปรากฏตัวอยู่ในเวชปฏิบัติฉบับล่าสุดนี้

ฟ้าทะลายโจรราคาถูกปลูกได้ในประเทศไทย ฟาวิพิราเวียร์ต้องสั่งสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศและให้องค์การเภสัชทำเม็ด เราต้องการความโปร่งใส

ฟ้าทะลายโจร ใช้ได้ในอาการไข้หวัดไม่ว่าจะเล็ก กลาง ใหญ่ ใช้ตั้งแต่เริ่มต้นมีอาการ ใช้สองวันหายก็เลิกกิน ถ้าดีขึ้นแต่ไม่หายสนิทก็กินต่อให้ครบห้าวัน ตับอักเสบไม่เกิด ยกเว้นมีโรคตับอยู่แล้ว เลยไปโทษยา หรือกินยาพาราเยอะเลยตับอักเสบ หรือ การติดเชื้อไวรัสนั้นทำให้เกิดตับอักเสบ”[8]

ความผิดปกติเช่นนี้ทำให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต, อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และ คุณรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา จึงได้ทำหนังสือผ่านสำนักงานกฎหมายอรุณอัมรินทร์ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ให้ดำเนินการ 3 ประเด็น

 1.ขอให้ระงับการประกาศของกรมการแพทย์เรื่องแนวเวชปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ตัดฟ้าทะลายโจรออก เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไปโรงพยาบาลยังคงได้รับยาฟ้าทะลายโจรต่อไปได้ ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง

 2.ขอให้เปิดเผยบันทึกการถอดเทปคำต่อคำในการประชุมโดยละเอียด อันเป็นสาเหตุที่ตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวเวชปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เพื่อดูพฤติการณ์ในการประชุมว่าแต่ละคนมีพฤติการณ์อย่างไร สุจริตหรือไม่ มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ หรือมีการกดดันข่มขู่ว่าจะลาออกเพื่อบีบให้คณะกรรมการตัดฟ้าทะลายโจรหรือไม่

 3.ขอให้เปิดเผยงานวิจัยที่อ้างอิงฉบับเต็มที่ใช้อ้างอิงในการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวเวชปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เพื่อดูว่ามีการนำข้อมูลจากงานวิจัยที่ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องเป็นข้ออ้างในการตัดฟ้าทะลายโจรออกจริงหรือไม่[2]

สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาผ่านไปจนครบ 9 วันแล้ว ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้างต้นยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

คำถามมีอยู่ว่ามันเป็นเรื่องอำมหิตเกินไปหรือไม่ ที่ประชาชนจะไม่ได้มีโอกาสที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรที่โรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงปอดอักเสบตั้งแต่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ

 เรื่องยาฟ้าทะลายโจรนี้จึงไม่สามารถแก้ไขด้วยการแถลง “แก้ตัว” แต่จะต้อง “ลงมือแก้ไข” เวชปฏิบัติทวงคืนฟ้าทะลายโจรกลับคืนมาน่าจะถูกต้องที่สุด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] กรมการแพทย์, กรมการแพทย์ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมการใช้ฟ้าทลายโจรและพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗
https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=49906

[2] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, หนังสือฉบับที่ 2 อ.ปานเทพ หมอธีระวัฒน์ รสนา ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทวงสิทธิผู้ป่วยให้ได้รับยาฟ้าทะลายโจร ที่ กอ.97/2567 เรื่อง ขอรายงานการประชุมและผลการวิจัยในการถอดฟ้าทะลายโจรออกจาก แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 และระงับแนวทางแนวทางเวชปฏิบัติฯ ฉบับที่มีการตัดฟ้าทะลายโจรออก, วันที่ 16 กรกฎาคม 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/1013618043465229/?

[3]ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๓๐ ง, ๒ มิถุนายน ๒๕๖๖, หน้า ๔๕
https://herbal.fda.moph.go.th/media.php?id=511902077832798208&name=001-66.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๐๐ ง, ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖, หน้า ๔๔
https://ndi.fda.moph.go.th/uploads/file_news/20230501883971849.pdf

[5] กรมการแพทย์, แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 28, วันที่ 5 มิถุนายน 2567
https://eid.dms.go.th/Content/Select_Eid_Landding_page?contentId=182&bannerId=1

[6] กรมการแพทย์, แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข, ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เมษายน 2566
https://covid19.dms.go.th/backend///Content//Content_File/Covid_Health/Attach/25660418150721PM_CPG_COVID-19_v.27_n_18042023.pdf

[7] สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, คำชี้แจงเรื่อง การให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว, 6 พฤษภาคม 2564
https://www.idthai.org/Contents/Views/?d=BDVJ!67!1!!734!WgTSmEH8

[8] ผู้จัดการออนไลน์, “หมอธีระวัฒน์” ถาม รมว.สธ.ตัดฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด แต่ใส่ฟาวิฯ ที่เชื้อดื้อยาเข้าไปทำไม, 22 กรกฎาคม 2567
https://mgronline.com/qol/detail/9670000062126#google_vignette


กำลังโหลดความคิดเห็น