หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยจำนวนมาก ไม่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อเทียบกับคนรุ่นเบบี้บูม เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์หรือวาย หรือคนที่เกิดก่อนปี 2523 เป็นต้นไป อายุของคนที่เกิดรุ่นนี้จะเข้า 44 ปีขึ้นไปแล้ว เพราะคนรุ่นหลังจากนี้ไม่ได้เห็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินไปตามท้องถิ่นต่างๆ ที่ทุรกันดารของพระมหากษัตริย์เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินและความกินดีอยู่ดีของราษฎร
สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีความสำคัญทางจิตวิญญาณและทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธและอัตลักษณ์ประจำชาติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นเป็นที่รู้กันว่าพระองค์ทรงเดินทางไกลในชนบทของประเทศไทย ทรงมีปฏิสัมพันธ์และตอบสนองความต้องการของราษฎรโดยตรง ทรงมีพระราชดำริโครงการสวัสดิการสาธารณะ การพัฒนาชนบท และโครงการริเริ่มทางสังคม ซึ่งทำให้พระองค์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยตรงกับราษฎรมากขึ้น โครงการพัฒนาสังคมจำนวนมากที่ดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์ไทยทำให้เกิดการรับรู้ถึงความใกล้ชิดและความห่วงใยต่อสวัสดิการของประชาชนอย่างแท้จริง
ถ้าเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของชาติอื่น สถาบันกษัตริย์ไทยมีส่วนร่วมโดยตรงและเป็นส่วนตัวกับประชาชนมากกว่า โดยมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่า การเคารพและการมีปฏิสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ไทยในที่สาธารณะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกใกล้ชิดซึ่งอิงจากอำนาจทางศีลธรรมและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาประเทศ
และเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยไม่ทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองนอกจากในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤตความขัดแย้งในชาติ ที่ทรงลงมาเป็นคนกลางเพื่อทำให้คนไทยหันหน้ามาเกิดความสามัคคีกัน ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งในประเทศจะบานปลายคนไทยหันมาประหัตประหารกันเอง ซึ่งไม่มีทางที่เราจะมีคนกลางที่ทุกฝ่ายพร้อมจะรับฟังถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะ
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับราษฎร จึงมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกับสถาบันกษัตริย์ของชนชาติอื่น
แต่ด้วยการที่คนรุ่นใหม่เกิดไม่ทันพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำงานหนัก ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ถูกกล่อมเกลาในรั้วมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยนักวิชาการที่มีความคิดปฏิกษัตริย์นิยม สามารถหล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมีความคิดที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และคนรุ่นใหม่เหล่านั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนท้องถนนภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่พวกเขาชื่นชม
ถ้าเราสดับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขาเช่น ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น ให้ยกเลิกองคมนตรี ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด
นั่นคือเป้าหมายที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์แยกออกจากความสัมพันธ์กับประชาชน นั่นคือ สถาบันกษัตริย์กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ โดยพยายามอ้างรูปแบบของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราษฎรแบบไทย แม้จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นกัน
และเราจะเห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของนักการเมืองเลย และรู้ไหมว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษมีสิทธิที่จะให้คำปรึกษา มีสิทธิที่จะสนับสนุน และมีสิทธิที่จะตักเตือน ซึ่งหมายความว่าพระมหากษัตริย์จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีเป็นประจำ (โดยทั่วไปเป็นรายสัปดาห์) เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลในปัจจุบัน แม้ว่าการประชุมเหล่านี้ถือเป็นความลับก็ตาม และแม้ว่าคำแนะนำดังกล่าวจะไม่เป็นทางการและไม่มีผลผูกพัน นายกรัฐมนตรีไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพระมหากษัตริย์ แต่สามารถนำไปพิจารณาได้ซึ่งลองพิจารณาดูว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษจะนำมาปฏิบัติหรือไม่ เราอาจจะไม่รู้เพราะไม่รู้ว่าทรงมีคำแนะนำว่าอย่างไร
แต่ถามว่าคนรุ่นใหม่ของอังกฤษมีความสัมพันธ์เช่นไรกับสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่มีความคลางแคลงใจและการประเมินสถาบันกษัตริย์อย่างวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้น จากประเด็นต่างๆ เช่น ความไม่เท่าเทียม สิทธิพิเศษ และความเกี่ยวข้องของสถาบันกษัตริย์ในสังคมร่วมสมัย มักถูกหยิบยกขึ้นมาในการอภิปรายจากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่คนหนุ่มสาวเผชิญ เช่น ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและความไม่มั่นคงในการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อมุมมองของพวกเขาต่อสถาบันที่มองว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิพิเศษและความมั่งคั่ง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนรุ่นใหม่ในอังกฤษจำนวนมากที่ยังคงสนับสนุนและชื่นชมความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์อยู่มาก
ในประเทศไทยนั้นฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมสามารถหยิบเอาช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่นมาเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นให้คนรุ่นใหม่มองว่า สถาบันกษัตริย์เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย ผู้เฒ่าหลายคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมา พากันปลาบปลื้มที่คนรุ่นใหม่จุดประกายความหวังของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง เราจึงเห็นคนรุ่นเก่าหลายคนที่ออกมาให้ท้ายสนับสนุนการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนท้องถนนของคนรุ่นใหม่
แต่เมื่อคนรุ่นใหม่ขาดความจัดเจนและข้อมูลที่แท้จริงทำให้เกิดความพลาดพลั้งกระทำความผิดเข้าข่ายมาตรา 112 คนรุ่นใหม่เหล่านั้นก็ต้องเผชิญชะตากรรมกับการต่อสู้คดีความ และหลายคนถูกตัดสินจำคุก แม้ในระยะหลังศาลจะลงโทษด้วยโทษขั้นต่ำสุดของกฎหมายก็ตาม แต่ยังมีหลายคนที่ถูกดำเนินคดีหลายปี เพราะกระทำความผิดในหลายกระทงนั่นเอง
แน่นอนว่าเครื่องมือสำคัญของพวกเขาก็คือพรรคการเมือง ที่วันนี้ความนิยมของพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลที่ต่อเนื่องมาจาก พรรคอนาคตใหม่ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่ได้เสียงข้างมาก แต่ชัดเจนว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคของพวกเขาสามารถได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 และเชื่อกันว่า พรรคของพวกเขาจะกลายเป็นพายุแห่งกาลเวลาที่พัดพาสิ่งเก่าให้สูญหายไปในที่สุด และสุดท้ายพรรคการเมืองพรรคนี้จะได้เข้ามาบริหารประเทศ
แต่จริงแล้ว เราก็จะเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ของไทยเองก็พยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยและบริบทของสังคมในปัจจุบัน เพียงแต่ไม่ได้ทอดทิ้งราษฎร ไม่ละความพยายามในการสร้างความกินดีอยู่ดีของราษฎรผ่านการทำงานอย่างหนักขององคมนตรีหากเราติดตามข่าวคราวในช่วงข่าวพระราชสำนัก ปัญหาก็คือ ฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมนั้นไม่ต้องการให้มีความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรเลย
สังเกตได้ว่า ฝ่ายหนึ่งมักจะกล่าวหาฝ่ายอนุรักษนิยมว่าใช้สถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งที่แท้จริงแล้ว พวกเขาปกป้องสถาบันกษัตริย์จากความพยายามเซาะก่อนบ่อนทำลายของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมผ่านการแสดงออกของคนรุ่นใหม่บนท้องถนน ดังนั้นจริงๆแล้วฝ่ายที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กระทั่งมีความพยายามที่ลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ออกจากราษฎรนั่นต่างหากเล่าที่ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ถ้าฝ่ายหนึ่งสนับสนุนพรรคก้าวไกล อีกฝ่ายสนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมหรือพรรคอื่นเช่น พรรคเพื่อไทย ต่างฝ่ายต่างก็แข่งขันในกรอบการเมืองโดยไม่ใช้สถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวเช่นความพยายามที่จะใช้การยกเลิกมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลมาเป็นการสร้างความนิยมทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ไทยก็ตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเลย หรือว่าถ้ามาตรา 112 เป็นเป้าหมายที่จะต้องล้มล้าง ขอเพียงแต่ไม่ไปดูหมิ่น หมิ่นอาฆาตมาดร้าย กฎหมายมาตรานี้ก็ไม่มีความหมายอันใด และพระมหากษัตริย์ก็ทรงอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
อนาคตนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องแยกแยะสถาบันกษัตริย์ของเราออกจากสถาบันกษัตริย์ของต่างชาติ เพราะชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นมุ่งมั่นที่จะทำให้พสกนิกรของพระองค์มีความกินดีอยู่ดี ไม่ได้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองเลย หากประเทศไม่ถึงทางตันที่จะต้องหาคนกลางมาไกล่เกลี่ยก่อนทุกอย่างจะบานปลาย
คนรุ่นใหม่เป็นอนาคตของประเทศแน่ แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติ และความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์และประชาชนนั้นเป็นความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งจนไม่อาจแยกจากกันได้
ติดตามผู้เขียนได้ที่