“พัชรวาท” เผยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยดีขึ้น พร้อมขับเคลื่อนนโยบายต่อเนื่อง ชงแผนระยะสั้น-ยาว รับมือการเปลี่ยนแปลง ห่วงปัญหา PM2.5 จากภาคเกษตร แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร หนุนภาคท่องเที่ยวจัดกิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ก.ค.67 ที่ผ่านมา ได้รับทราบรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมพ.ศ.2566 ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติจัดทำ โดยพบว่าสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมมีทิศทางดีขึ้น เช่น ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางเกษตร ลดลง ปริมาณการผลิตและการใช้แร่ลดลง การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างคงที่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำบาดาลคงที่และมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใช้บริโภคได้ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น แนวปะการังมีสภาพสมบูรณ์ดี เป็นต้น แต่ยังมีสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม เช่น ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะพลาสติก ของเสียอันตรายทั้งจากชุมชนและปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม และ ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ในระยะสั้น 2 ปี พบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจาก การขยายตัวของพื้นที่เกษตรและชุมชน การผลิตและการใช้แร่เพิ่มขึ้น การพึ่งพิงพลังงานจากภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและในทะเลถูกคุกคาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีความชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระยะยาว 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทิศทางนโยบายระดับประเทศและระหว่างประเทศจากการคาดการณ์สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต จึงมีเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะสั้น ในช่วง 2 ปีข้างหน้า คือ การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคเกษตร เร่งการจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด สร้างความร่วมมือในการนำวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ จัดทำแผนการเผาวัสดุทางการเกษตรและวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่วิกฤต จัดทำแผนและดำเนินงานป้องกันหมอกควันข้ามแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเป็นรูปธรรม การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรแร่ให้มีการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการวิจัยการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการผลิตและพัฒนา ทรัพยากรแร่ การแปรรูปวัตถุดิบ เศษแร่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ถอดบทเรียนและขยายผลมาตรการปรับัตัวโดยอาศัยระบับนิเวศระดับพื้นที่ สร้างความพร้อมในการปรับตัวของกลุ่มเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนข้อเสนอแนะระยะยาวในระยะยาว 10 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทิศทาง การพัฒนาประเทศ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆโดยการจัดระบบสนับสนุนการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าซึ่้งจะเพิ่มมากขึ้น นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง วิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการจัดการซากที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมบทบาทภาคการเงินการลงทุนเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การเพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความตระหนักแก่ภาคเกษตรถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น การส่งเสริมการบริโภคและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนา ประเทศและระหว่างประเทศ ลดและคัดแยกขยะ ส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การเกษตรยังยืน การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนการท่องเที่ยวยังยืน ให้ผู้บริโภครับทราบ พร้อมขยายตลาด สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะมีการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างยั่งยืน.