xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐาน 3 ชิ้น 2 กลุ่มผลประโยชน์ กติกาล็อกสเปกกัญชาเป็นยาเสพติดเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ กีดกันแพทย์แผนไทย-หมอพื้นบ้าน ผู้ป่วยต้องซื้อของแพงจริงหรือไม่?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567  นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดจะเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง กลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ไปแล้ว[1] โดยอาจเสนอเพิ่มเติมมากกว่านั้นคือให้  กิ่ง ก้าน เมล็ด ใบ ต้องได้รับอนุญาตก่อนด้วย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอมากไปกว่าที่มีการทำประชาพิจารณ์ด้วย ทั้งๆ ที่ กิ่ง ก้าน เมล็ด ใบไม่มีทางที่จะเป็นยาเสพติดไปได้เลย

ที่สำคัญ คือนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่ากรณีที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอร่างประกาศฯ แบบมีเงื่อนไขการใช้เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องยังสามารถใช้กัญชา กัญชงได้ มีการเสนอไปพร้อมกันหรือไม่?

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ กล่าวว่า

 “ไม่ได้ส่งไป เนื่องจากร่างประกาศฯ ที่มีมติจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ได้ถูกส่งไปก่อนแล้ว ส่วนร่างประกาศฯ ฉบับของนายปานเทพ เจ้าตัวจะต้องไปยื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ส.“[1]

นั่นก็แสดงว่ากรณีที่ผมได้ยื่นเสนอ  “ข้อเสนอใหม่” ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ได้รับการเสนอแนะจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ไม่ได้มีการทบทวนใดๆ มีแต่เพียงการจัดฉากว่ารับเรื่องไปอย่างส่งเดช ใช่หรือไม่?

แสดงว่าการรับฟังความเห็นกลายเป็นเรื่องการถ่วงเวลาภาคประชาชนใช่หรือไม่ แล้วจะให้เชื่อ “ความจริงใจ” ว่าจะแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอย่างไร?

เพราะถ้ามีความจริงใจก็สามารถนำเสนอเรื่อง  “ข้อเสนอใหม่” ที่ทะลายการล็อกสเปกผูกขาดให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะกรณีการที่ตั้งข้อสังเกตอันเป็นสาระสำคัญว่า ทิศทางในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น กำลังจะนำไปสู่ทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่อย่างแน่นอนดังนี้

 หลักฐานชิ้นที่ 1 ล็อกสเปกกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน ผ่านประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 32

โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา 32 กลับไม่ระบุให้ชัดถึงวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านให้มีความชัดเจนดังที่เคยปรากฏตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แต่กลับเลี่ยงใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น“

เปิดช่องทำให้เกิดการตีความหรือรอกฎหมายลำดับรองว่าจะหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านหรือไม่ หรือให้มีเงื่อนไขต่างจากวิชาชีพอื่น อันเป็นช่องทางในการกีดกั้นวิชาชีพกลุ่มนี้หรือไม่ โดยบัญญัติเอาไว้ว่า

“มาตรา 32 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด“[2]

สถานภาพของ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน จึงมีแต่ความคลุมเครือ ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มแพทย์ที่จ่ายน้ำมันกัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาให้กับผู้ป่วยและชาวบ้านมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน

 หลักฐานชิ้นที่ 2 ล็อกสเปกผ่านประกาศกระทรวงสาธารณสุขดักหน้า ไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชาและกัญชงได้ ส่วนแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่กล่าวถึงในการสั่งจ่ายยาเสพติให้โทษประเภท 5 ได้

โดยราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 “ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง” พ.ศ. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ลงนามโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 เมษายน 2567 กลับไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้

อีกทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านให้สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกด้วย[3]

ย่อมทำให้แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถจ่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดใดๆ ให้ผู้ป่วยได้อีกต่อไป

 การที่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ไม่สามารถสั่งจ่ายสารสกัดกัญชา และสารสกัดกัญชงได้ ส่วนแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงให้จ่ายยาที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ด้วย ก็เพราะผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มแพทย์เหล่านี้จ่ายให้ผู้ป่วยนั้น ล้วนเป็นการผลิตภายในประเทศที่ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องผลิตโดยโรงงานผลิตยาขนาดใหญ่ใช่หรือไม่?

แต่อาจจะทำให้กลุ่มโรงงานผลิตภัณฑ์กัญชาเสียผลประโยชน์เพราะขายกัญชาแพงๆ ไม่ได้ใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม การกระทำข้างต้น อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความว่า

“มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนา ภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่งต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรคการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย“[4]

 หลักฐานชิ้นที่ 3 ล็อกสเปกประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 40 และ 95 เพิ่มบทบาทเภสัชกรในการปลูกกัญชา เอื้อเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน




โดยบทบาทเพิ่มขึ้นของเภสัชกรในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนถึงขั้นอาจมีปัญหาที่ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือหากปฏิบัติได้ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่ได้ยกเลิกไป แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาในประเด็นดังกล่าวอันเนื่องด้วยกระท่อมและกัญชาได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไปเสียก่อนที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว

โดยปัญหาที่สำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ในอำนาจหน้าที่ของเภสัชกรที่อาจกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญจนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายลำดับรองได้ คือมาตรา 40 และ 95

โดยในมาตรา 40 บัญญัติว่า

“มาตรา 40 ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้าส่งออก หรือจำหน่าย ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาตพร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง”[2]

และมาตรา 95 บัญญัติว่า

“มาตรา 95 ห้ามผู้รับอนุญาตผู้ใดดำเนินการผลิตหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจำควบคุมกิจการ”[2]

อย่างไรก็ตามคำว่า “ผลิต” ได้ปรากฏนิยามตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ว่า

“ผลิต หมายถึง เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์”

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกษตรกรผู้ที่ปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง ย่อมต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา อันเป็นการฝืนธรรมชาติและความเป็นจริงในการดำเนินการ หรือหากทำได้ก็แปลว่าต้นทุนของกัญชาก็ต้องแพงขึ้นสำหรับผู้ป่วย

 หรือหากจะทำได้ก็ต้องเป็นผู้ผลิตยากัญชาที่มีสายการผลิตตั้งแต่การปลูกในโรงปิด ผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้เภสัชกรอยู่แล้ว ดังนั้น นี่คือการล็อกสเปกให้กับกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น จริงหรือไม่?

และการทำลายร้านกัญชา (แม้จะปรับให้จ่ายได้เฉพาะผู้มีใบสั่งยา)ก็ดี ทำลายแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านไม่ให้จ่ายสารสกัดกัญชา กัญชง หรือจ่ายได้ยากนั้น จะทำให้กลุ่มทุนใหญ่ที่นำเข้ายาจากต่างประเทศ หรือกลุ่มที่ร่วมทุนธุรกิจกัญชาจากต่างชาติสามารถกำจัดคู่แข่งใช่หรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวอิศรา ได้เคยรายงาน สถานภาพของ นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัทร่วมทุนสัญชาติแคนาดาในธุรกิจกัญชากัญชง[5]-[8]

และนโยบายที่กำลังจะเปลี่ยนที่ล็อกสเปกเพื่อเอื้อกลุ่มทุนเช่นนี้ จะทำให้หุ้นส่วนในธุรกิจกัญชาหรือกัญชาที่มีสายสัมพันธ์กับนายมาริษ เสงี่ยมพงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะสามารถเปลี่ยนจากสถานภาพจากที่เคยขาดทุนมาเป็นกำไรได้หรือไม่ในวาระนี้?

ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง รวมถึง คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือแม้แต่คลินิกแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็น “นิติบุคคล” ที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา กัญชง ซึ่งเดิมสามารถสั่งจ่ายยาสมุนไพรทุกชนิดให้คนไข้ได้โดยไม่ต้องมีเภสัชกร ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ และเป็นกำลังสำคัญในการจ่ายยากัญชาให้คนไข้ ก็จะต้องจัดให้มีเภสัชกรซึ่งเป็นคนละวิชาชีพอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะปฏิบัติได้จริงในวิถีของวิชาชีพ




หากผู้ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนไม่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 150[2]

 ดังนั้นสถานพยาบาลแบบไหนที่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาได้ ถ้าไม่ใช่ “โรงพยาบาล” ซึ่งโดยปกติโรงพยาบาลของภาครัฐก็จ่ายกัญชาน้อยมากอยู่แล้ว การมีบทบัญญัติเหล่านี้จึงย่อมเอื้อผลประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลเอกชน จริงหรือไม่?

ตัวอย่างโรงพยาบาลเอกชนหนึ่งที่อาจได้ประโยชน์จากการล็อกสเปกต่อไปหรือไม่ คือ บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุดคือ ครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์

กล่าวคือ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แม่ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 292,062,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 37.14,

นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.64

นายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชายหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.64

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.64[9]-[10]

 สรุปผลคือ

 1.แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน “ห้าม” จ่ายสารสกัดกัญชา หรือแม้แต่สารสกัดกัญชง แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านไม่สามารถจ่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้

 หรือแม้แต่หมอแผนปัจจุบันจ่ายยากัญชาไม่ได้โดยสะดวก เพราะสถานพยาบาลทุกแห่งที่จ่ายกัญชาต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลา ทำให้คลินิกที่ไม่มีเภสัชกรจ่ายกัญชาทั่วประเทศต้องยุติการจ่ายยากัญชา หรือไม่ก็เสี่ยงทำผิดกฎหมายยาเสพติด

 คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือ ยาแพงๆ ที่มีสิทธิบัตรยาข้ามชาติ หรือโรงงานขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานสูงทัดเทียมต่างชาติ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนแผนปัจจุบันขนาดใหญ่ที่มีเภสัชกรอยู่ประจำ (เพราะโรงพยาบาลภาครัฐส่วนใหญ่ก็จะไม่จ่ายกัญชาอยู่แล้ว)

 2.เกษตรกรไทยปลูกกัญชาจะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาทำการเท่านั้น แปลว่าคงจะมีแต่กลุ่มทุนใหญ่ที่มีสายการปลูก และผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงที่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลา ทั้งการปลูกและการผลิต แปลว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้นเช่นกัน

 3.ผู้ป่วยปลูกกัญชาเองไม่ได้ แต่ไม่มีใครจ่ายยาให้ เพราะหมอแผนปัจจุบันไม่จ่ายกัญชาให้ หรือหากจะจ่ายได้ ก็ต้องเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศที่มีสิทธิบัตรในราคาแพงๆที่มีผลประโยชน์ตอบแทนผูกขาดเฉพาะกลุ่มทุนทางการแพทย์

 4.ร้านจำหน่ายกัญชาที่กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรแผนปัจจุบันอยู่ประจำการตลอดเวลา ก็ต้องปิดกิจการ การถูกกวาดล้างเช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้เป็นคู่แข่งกับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ใช่หรือไม่ และคงเหลือแต่รายใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์ในการจ้างเภสัชกร ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนก็น่าจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างนี้จริงหรือไม่

และถ้าหนังสือขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทบทวน หรือข้อเสนอใหม่ที่อยู่บนฐานของความห่วงใยในปัญหาการเอื้อประโยชน์ของกลุ่มทุนรายใหญ่ กลับถูกปฏิเสธ หรือเอาไปทิ้งขยะ โดยไม่เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ส. ก็จะทำให้ประชาชนได้เห็นความจริงใจว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาหรือไม่?

อย่างไรก็ตามประชาชนก็จะทำตามขั้นตอนต่อไปให้ถึงที่สุด โดยขั้นตอนต่อไปจะได้ยื่นหนังสือซ้ำอีกครั้งถึง “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะประธานคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] มติชนออนไลน์, สธ.ส่งร่างประกาศ ‘กัญชา-กัญชง’ เป็นยาเสพติดให้ ป.ป.ส.แล้วแต่ไร้ฉบับ ‘ปานเทพ’, 17 กรกฎาคม 2567
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4685630
[2] ราชกิจจานุเบกษา, ประมวลกฎหมายยาเสพติด, เล่ม 138 ตอนที่ 73 ก, 8 พฤศจิกายน 2564, หน้า 11-80
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/073/T_0001.PDF
[3] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสัั่งใช้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง, เล่ม 141 ตอนพิเศษ 97 ง, 4 เมษายน 2567,หน้า 1
https://narcotic.fda.moph.go.th/media.php?id=621976479554740224&name=NC_034%20ประกาศ%20สธ%20ผปก.แผนไทยสั่งใช้%20ยส.5%20ที่มิใช่สารดสกัดจากกัญชาหรือกัญชง.pdf
[4] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก, 6 เมษายน 2560 (มาตรา 55 หน้า 15)
https://www.senate.go.th/assets/portals/13/files/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร%20พุทธศักราช%20๒๕๖๐.pdf
[5] สำนักข่าวอิศรา, ขุดลึก บ.ปลูกวิจัยกัญชา ‘มาริษ-พวก' หุ้นส่วนคนใน ‘เบอร์มิวดา’ ด้วย-ขาดทุน 55 ล., 20 พฤษภาคม 2567
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/128685-invesdsdsdsdsds.html
[6] สำนักข่าวอิศราเปิดธุรกิจ ‘มาริษ’ รมว.ต่างประเทศคนใหม่ กก. 5 บริษัท ร่วมหุ้นทุนแคนาเดียน สิงคโปร์, 2 พฤษาคม 2567
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/128232-invesmarid.html
[7] สำนักข่าวอิศรา, แกะรอยบริษัทแคนาดา โชว์รูป 'มาริษ' ปธ.สยาม เมดเทคฯแจ้งทำธุรกิจกัญชา, 16 พฤษภาคม 2567
https://www.isranews.org/article/main-issue/128619-isranews-Marizzzzzzzz.html
[8] สำนักข่าวอิศรา, INFO : เจาะธุรกิจ ‘มาริษ’ รมว.ตปท. กก. 6 บริษัท- ร่วมทุนต่างชาติ 2 แห่งปลูกวิจัยพืชกัญชา
https://www.isranews.org/article/infographic/129109-isranewsinfosuriANONEcccyyd.html
[9] เว็บไซต์โรงพยาบาลพระราม 9, รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่
https://investor.praram9.com/th/shareholder-information/major-shareholders
[10] SET, บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน), ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/PR9/major-shareholders


กำลังโหลดความคิดเห็น