xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน ความสัมพันธ์กับรัฐไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


พงศาวดารหยวนสือ (??)
โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ในปี พ.ศ.1821 (ค.ศ.1278) พงศาวดารหยวนสือ (元史) เล่มที่ 134 กล่าวถึงเสียน (暹) เป็นครั้งแรกและหลัว-หู่ (羅斛) ที่เคยปรากฏในซ่งฮุ่ยเย่าและจูฟ่านจื้อที่เรียกตามสำเนียงจีนยุคกลางว่าลา-ฮุก ก่อนปีพ.ศ.1830 แสดงว่าหลัว-หู่ (ละโว้) เป็นเมืองที่เก่ากว่าเสียน เล่มที่ 12 กล่าวว่าวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.1825 เป็นการปรากฏของเสียนในหยวนสือครั้งแรกส่งทูตชื่อเหอจื่อจื้อ (何子志) ผู้บัญชาการทหารเป็นทูตไปเสียน [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 2; Ishii 2004] หยวนสือ เล่มที่ 210 ทูตเดินทางไปเสียนถูกพวกจามฆ่าใน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.1825 เล่มที่ 15 และ16 กล่าวว่าหลัว-หู่ ส่งทูตมาในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.1832 และ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.1834 และเล่มที่ 17 กล่าวว่าเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระสุพรรณบัฏของเสียน วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.1835 [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 3] หยวนสือเล่มที่ 17 วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.1836 ส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมให้เสียนมาอ่อนน้อม จากบันทึกข้างต้นแสดงว่าเสียนไม่ยอมราชวงศ์หยวนง่ายๆ ทำให้อิชิอิสันนิษฐานว่าพวกมองโกลไม่กล้าเสี่ยงที่จะยกกองทัพเรือบุกเสียนจึงค่อนข้างประนีประนอม [Ishii 2004] เพราะเคยพ่ายแพ้ไดเวียด จามปาและมัชปาหิตมาแล้ว

หยวนสือ เล่มที่ 18 วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.1837 กัน-มู่-ติงหรือกมรเต็งเป็นบรรดาศักดิ์เขมรที่ใช้เรียกเจ้าเมืองของเพชรบุรีส่งทูตไปจีน แสดงว่ามีเมืองเพชรบุรีแล้ว เล่มที่ 18 วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.1837 มีราชโองการให้กมรเต็งจากเสียนเข้าเฝ้า ถ้าไม่มาให้ส่งบุตรหลานหรืออำมาตย์ผู้ใหญ่มาเป็นตัวประกันแบบที่ทำกับศรีวิชัยของตรีภูวนราช ราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลมีนโยบายให้เมืองที่ส่งบรรณาการไปจีนส่งตัวประกันไปด้วยต่างจากราชวงศ์อื่นๆของชาวฮั่น [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 4] และกมรเต็งจากเสียนเดินทางไปต้าตู หยวนสือ เล่มที่ 19 กล่าวว่าวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.1839 หลัว-หู่ส่งทูตไปจีน และวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.1840 เสียนและหลัว-หู่ส่งทูตไปจีน เล่มที่ 20 เสียน หลัว-หู่และจัมบิ (ศรีวิชัยหรือมลายู) ส่งทูตไปจีน เล่มที่ 210 กล่าวว่า ในปีพ.ศ.1842 เสียนส่งทูตไปจีน กล่าวว่าวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.1842 ซู่-กู่-ซี่ (速古漦) หรือสุโขทัยส่งทูตมาจีน [Fukami 2004a: กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 5] สุโขทัยจึงไม่ใช่เสียน เพราะส่งทูตมาในปีเดียวกันแต่คนละชื่อ กษัตริย์ที่ส่งทูตมาน่าจะเป็นพญาเลอไท ต้าเต๋อหนานไห่จื้อพ.ศ.1847 บอกว่า ซู่-กู๋-ตี้ (速孤底) ขึ้นกับเสียนและอยู่ทางเหนือน้ำ ทำให้ยามาโมโต้ ทัตสุโร่เชื่อว่าเสียนควบคุมสุโขทัย [Yamamoto 1989] แต่ในความเป็นจริงสุโขทัยจำเป็นต้องใช้เมืองของเสียนในการส่งสินค้าไปจีนก็เป็นได้

หยวนสือเล่มที่ 20 กล่าวว่าวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.1857 เสียนส่งทูตมาจีน เล่มที่ 25 กล่าวว่าวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.1857 เสียนส่งทูตชื่ออ้ายตานมาจีน เล่มที่ 26 กล่าวว่าวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.1861 เสียนส่งทูตมาจีน และ เล่มที่ 28 เสียนกับหลัว-หู่ส่งบรรณาการไปราชวงศ์หยวนเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1865 [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 5] ความสัมพันธ์ระหว่างเสียนละโว้เป็นไปในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน แม้ว่าคริส เบเกอร์และฟูกามิ ซุมิโอะ เชื่อว่าเสียนเป็นเมืองท่าอโยธยาแต่เสียนพึ่งพาข้าวจากละโว้เพราะวังต้าหยวนบอกว่าเสียนอยู่ในหุบเขามีเขาล้อมรอบปลูกพืชไม่ได้และเสียนเป็นศูนย์กลางทางการค้าในยุคหลังศรีวิชัย [Ishii 2004] ดังนั้นเสียนไม่น่าจะอยู่ใกล้ทะเลและอาจเป็นสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี ในเต้าอี้จื้อเลื่อยและหมิงสือลู่บอกว่าเสียนขึ้นกับละโว้ในเดือนที่ 5 ของปีพ.ศ.1892 และในเอกสารราชวงศ์หยวนก็ไม่ได้กล่าวถึงอีกเลย หมายความว่าพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1894 หลังจากที่เสียนรวมกับละโว้ประมาณ 2 ปี และในเอกสารราชวงศ์หมิงจะพบแต่คำว่าเสียนหลอหรือเสียนหลอหู่ โดยหมิงสือลู่เรียกสุพรรณบุรีว่าซู-เหมิน-ปิน อโยธยาเมืองเก่าเชื่อกันว่าเริ่มมีราวปีพ.ศ.1600 แต่เสียนปรากฏในหยวนสือเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.1821 ตามพรลิงค์อาจจะเป็นพันธมิตรกับสุโขทัย เพชรบุรีหรืออโยธยาก็ได้แล้วแตว่าใครจะมีอำนาจขึ้นมา การที่นครศรีธรรมราชส่งบรรณาการให้สุโขทัยตามจารึกหลักที่ 1 ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองขึ้นเสมอไปแล้วแต่มุมมองอาจจะเป็นพันธมิตร สุโขทัยไม่สามารถปกครองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอ่าวไทยได้ จึงไม่ได้ปกครองละโว้และอโยธยา แต่อาจผ่านสุพรรณภูมิและเพชรบุรีไปนครศรีธรรมราชได้ตามศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ ต่อมาราชวงศ์หมิงได้ห้ามเอกชนชาวจีนค้าขายกับต่างชาติโดยตรงตั้งแต่ปีพ.ศ.1911-พ.ศ.2110 เป็นเวลา 2 ศตวรรษ จารึกลานทองวัดส่องคบ (พ.ศ.1951) สมัยพระรามราชากล่าวถึงศรีอยุธยาและศรีสุพรรณภูมิเป็นนครรัฐหลักซึ่งเป็นการกล่าวถึงสุพรรณภูมิอีกครั้งหลังจากจารึกพ่อขุนรามคำแหง แสดงว่าเสียนอาจจะเป็นสุพรรณภูมิแต่ใช้เมืองท่าอโยธยา ราชบุรีหรือเพชรบุรีในการยกกองทัพบุกโจมตีเมืองมลายูในช่องแคบมะละกา และอาจจะร่วมมือกับนครศรีธรรมราชหรือไม่ก็ได้

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. 2564. ความสัมพันธ์ไทย-จีนจากเอกสารสมัยหยวน หมิง ชิง. กรุงเทพ: กรมศิลปากร.
Fukami Sumio 深見純生 2004. “The Long 13th Century of Tambralinga: From Javaka to Siam.” Memoir of the Research Department of the Toyo Bunko 62: 45-79.

Ishii, Yoneo, 石井 米雄2004. “Exploring a New Approach to Early Thai History.” Journal of the Siam Society 92:37–42.

Yamamoto Tatsuro, 山本建郎 1989. “Thailand as Referred in Da-De-Nan-Hai-Zhi at the Beginning of 14th Century.” Journal of East-West Maritime Relation 1.



กำลังโหลดความคิดเห็น