“ปิดอบาย เบิกฟ้า พลิกฟื้นใจเมือง” จากศิลาจารึก
โดยนัยแห่งถ้อยคำที่จารึกบนแผ่นศิลาดังกล่าวข้างต้น มีความหมายแบ่งออกได้เป็นมุมมองคือ
1. มองในแง่ของนามธรรมหมายถึง การไม่ทำความชั่วซึ่งมีวิบากกรรมนำไปสู่อบายภูมิคือ นรก ทุคติ และวินิบาต การทำความดีซึ่งมีวิบากกรรมนำไปสู่สวรรค์ ฝึกอบรมจิตใจประชาชนให้มีคุณธรรม และจริยธรรม
2. มองในแง่รูปธรรมหมายถึง สกัดกั้นมิให้คนเลวทำความชั่ว ให้โอกาสคนดีทำความดี ปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อให้ประชาชนเป็นคนดี
ดังนั้น ถ้อยคำข้างต้นจึงสอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องแผ้ว นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จากถ้อยคำข้างต้น ยืนยันได้ว่าการปกครองสมัยกรุงสุโขทัยเป็นระบบคุณธรรม หรือธัมมาธิปไตยคือยึดธรรมเป็นใหญ่ จึงทำให้ประชาชนคนในยุคนั้นอยู่เย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ และมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต จะเห็นได้จากถ้อยคำจากศิลาจารึกที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” เป็นต้น
ในปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก แต่ไม่ก้าวหน้าในด้านการปกครอง เฉกเช่นประเทศต้นแบบในโลกตะวันตก และด้อยกว่าสมัยสุโขทัย ในด้านสังคม และการปกครอง ทั้งนี้ จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละด้านดังต่อไปนี้
1. ในด้านการปกครอง
ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการเลือกตั้งจะต้องโปร่งใส่เพื่อคัดกรองคนไม่ดีออกไป และเอาคนดีเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนในการปกครองประเทศ
แต่การเลือกตั้งในประเทศไทยทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่โปร่งใสเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีการซื้อเสียงกันมาก จึงเปิดโอกาสให้คนไม่ดีเข้าสู่อำนาจรัฐ และถอนทุนโดยการทุจริต คอร์รัปชัน ทั้งการบริหารก็ด้อยคุณภาพขาดคุณธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคเกิดขึ้น
2. ในด้านสังคม
ประชาชนเดือดร้อนเพราะสินค้าราคาแพง รายได้น้อยไม่พอแก่การดำรงชีวิต ทำให้เกิดอาชญากรจำเป็นลักขโมย จี้ ปล้น และธุรกิจหลอกลวงมีให้เห็นดาษดื่น
ในน้ำไม่มีปลาหรือมีน้อยและบางแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษจับมาบริโภคไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต ในนาบางปีไม่มีข้าวให้เก็บเกี่ยวเนื่องจากเสียหายเพราะภัยแล้งหรือน้ำท่วม ชาวนาในยุคนี้จึงยากจนมีแต่หนี้ ดังนั้น ถ้าเปรียบกับยุคสุโขทัยแล้วถือว่าด้อยกว่า
อีกประการหนึ่ง ที่ด้อยกว่าอดีตก็คือ ความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายที่คนรวยซื้อได้ทุกอย่างแม้กระทั่งซื้อให้ตนเองไม่ต้องติดคุกก็ทำได้ และแถมใช้เงินซื้อโอกาสให้ตนเองมีบทบาทเหนือองค์กรของรัฐทุกประเภท โดยยอมรับเงื่อนไขบางประการเป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่แล้วก็ไม่ทำตามเงื่อนไขซึ่งเป็นไปตามสัจธรรมที่ว่า คนชั่วทำดีได้ยาก แต่ทำชั่วได้ง่าย แต่คนดีทำดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยาก
ดังนั้น ใครก็ตามที่ใช้คนชั่วให้ทำดีถือได้ว่าผิดสัจธรรมข้อนี้ และจะต้องจำเพิ่มเติมว่า คนชั่วโดยสันดานทำความดีด้วยความสมัครใจไม่มียกเว้น คนชั่วโดยความจำเป็นหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่น องคุลิมาลเท่านั้นกลับใจเป็นคนดีได้
สุดท้ายขอจบด้วยกลอนบทนี้
เป็นคนดี ใช่ดีได้ ด้วยการพูด
ต้องพิสูจน์ ด้วยการทำ ทำให้เห็น
เป็นคนดี ใช่ดีได้ ด้วยอยากเป็น
ต้องเลือกเป็น คนดี ที่ผลงาน