xs
xsm
sm
md
lg

“ดีอี-สภาฯ” จับมือหนุนบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ยกระดับสู่รัฐสภาดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กระทรวงดีอี-สำนักเลขาฯสภาฯ” ลงนาม MOU สนับสนุนบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) ยกระดับการทำงาน ”รัฐสภาดิจิทัล“

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.67 ที่อาคารรัฐสภา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสนับสนุนบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ” (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนาม โอกาสนี้ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
นายประเสริฐ กล่าวตอนหนึ่งว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตั้งระบบงานและแพลตฟอร์ม สำหรับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลาวด์ โครงสร้างการบริหาร แนวทางการบริหารจัดการด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารจัดการข้อมูล กระบวนการในการเลือกใช้คลาวด์ การโอนย้ายระบบงานของภาครัฐ ตามนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสนับสนุนการทำงานของรัฐสภาดิจิทัล เพื่อพัฒนาบริการของภาครัฐที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง


นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า โดยกระทรวงดีอี ได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ภายในประเทศให้สามารถรองรับการใช้บริการของภาครัฐและเอกชน โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งมีจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุนจากผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลระดับใหญ่ (Hyperscale Data Center) ที่จะมีการให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่มีมาตรฐานในการป้องกันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub)

รมว.ดีอี กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ GDCC เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พ.ค.62 และ วันที่ 29 มี.ค.65 ที่เห็นชอบให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ GDCC ซึ่งปัจจุบัน สดช. (สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อรองรับหน่วยงานภาครัฐที่มีความต้องการใช้งานทรัพยากรทางคอมพิวเตอร์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย พื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลโดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสากลตามมาตรฐาน ช่วยให้ภาครัฐเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ให้ทันต่อการใช้งาน และตอบสนองต่อความต้องการปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการประชาชนให้เปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว

“ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งระดับกระทรวง กรม และหน่วยงานในระดับภูมิภาคใช้บริการ GDCC แล้วจำนวน 206 กรม 1,020 หน่วยงาน 3,413 ระบบงาน” นายประเสริฐ ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น