ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมเป็นลูกค้าประจำแอพพลิเคชัน Robinhood นะครับ
ใช้เรียกรถแท็กซี่ก็ได้ ใช้สั่งอาหารก็ได้ อันนี้ใช้บริการบ่อยที่สุด ซื้อของก็ได้ จองตั๋วก็ได้ ทำให้สะดวกมากและเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากครับ โดยเฉพาะช่วงโควิด และ Robinhood นี้นับวันก็ยิ่งมีผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นครับ
หนึ่ง ใช้ง่ายสะดวกมาก ดาวน์โหลดติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนได้สบายๆ
สอง เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้ใช้ ไม่โขกผู้ใช้ครับ
สาม เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบไรเดอร์ ไม่โขกหรือขูดรีดเอากับไรเดอร์แบบเจ้าอื่นๆ
สี่ เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบร้านค้า ร้านค้าที่ขายของหรือเข้าร่วมกับ Robinhood ไม่โดนหักหนักมากเท่ากับเจ้าอื่นๆ ครับ
ห้า ราคาค่าบริการไม่แพง ถูกกว่าทุกเจ้า
ผมนี่ถึงกับต้องไปเปิดบัญชีกับไทยพาณิชย์ หรือ SCB เพื่อจะใช้ Robinhood นี่แหละครับ และผมก็คิดมานานหลังจากเห็น Business model ว่า SCB X คงต้องเลิกให้บริการในเร็ววัน เพราะว่า
หนึ่ง SCB ตั้ง Robinhood มาเพื่อขาดทุนโดยเฉพาะ ไม่ต้องการทำกำไร เห็นได้ชัดเจนจากโครงสร้างราคาที่ต่ำมาก บวกค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ต่ำมาก และหักค่า fee ต่างๆ จากไรเดอร์หรือร้านค้าต่ำมากเช่นกัน ทำให้โครงสร้างต้นทุน (Cost structure) สูงมาก ยิ่งมีผู้ใช้บริการมาก Robinhood ก็จะยิ่งขาดทุนมาก พูดง่ายๆ ยิ่งขายดี มีคนใช้มาก Robinhood จะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นไปมากเท่านั้น
สอง ตั้ง Robinhood มาแบบเฉพาะกิจ เพื่อขาดทุนช่วงโควิด แค่ราว 2-3 ปี คือไม่ได้คิดจะทำกิจการนี้ยาวๆ แต่อย่างใด เพราะไม่ใช่กิจการหลัก (Core business) ของ SCB และ SCB X เลย
สาม ตั้งมาเพื่อช่วยประชาชน ร้านค้า และไรเดอร์ อ่านชื่อดูดีๆ Robinhood ก็ตั้งชื่อมาเพื่อบอกนัยยะว่าจะช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน ชนชั้นล่างและชั้นกลาง ที่ไม่สะดวกจะออกไปไหนแต่ต้องกินต้องใช้ในช่วงปิดเมือง (lock-down) ในระหว่างโควิดระบาดหนัก
นอกจากนี้ยังช่วยไรเดอร์ในช่วงโควิดที่ตกงานกันให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีการทำสินเชื่อรถจักรยานยนต์ให้ไรเดอร์ของทาง SCB ด้วย เพื่อให้คนที่ตกงานเปลี่ยนอาชีพมาเป็นไรเดอร์ได้
สี่ ตั้งเป้าว่าจะขาดทุนปีละ 200 ล้านบาท ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินกิจการ
ห้า ตั้งมาห้าปีแล้ว หมดโควิดแล้ว ขาดทุนเฉลี่ยปีละประมาณพันล้านบาท รวมขาดทุนสะสมไปแล้วราวห้าพันห้าร้อยล้านบาท ปีล่าสุดปีเดียวขาดทุนสองพันล้านบาท ถ้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ SCB แล้ว SCB X คงทำธุรกิจแบบนี้ไม่ได้
หก ในเวลานี้มีกิจการแบบ Robinhood มากมาย แข่งขันกัน เลิกไปก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ประชาชนก็มีทางเลือกอื่นแล้ว ไรเดอร์ก็ไปขับเจ้าอื่นได้ ร้านค้าก็ย้ายไปใช้บริการ application อื่นได้ ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด และแน่นอนว่าเมื่อเลิกกิจการไปก็ยังมี SCB ดูแลเรื่องสินเชื่อของไรเดอร์ที่ผ่อนชำระรถจักรยานยนต์อยู่ต่อไป ไม่ได้เกิดปัญหาอะไรใดๆ ทั้งสิ้น
เจ็ด ถ้าคิดแบบทุนนิยมเสรีจริงๆ SCB ก็ควรเลิกทำกิจการที่ขาดทุนแบบ Robinhood ให้เจ้าอื่นได้แข่งขันกันอย่างแท้จริงตามกลไกตลาด ให้กลไกตลาดได้ทำงานเต็มที่
นอกจากนี้ SCB และ SCB X ยังเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ทำธุรกิจขาดทุนเพื่อสังคมในระยะเวลาหนึ่งนั้นทำได้ แต่จะทำไปยาวๆ จะให้คำอธิบายผู้ถือหุ้นทุกคนให้พอใจได้นั้นคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง
ขาดทุนคือกำไรของประชาชน แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา
ช่วยคนต้องช่วยให้เขาช่วยเหลือตนเองได้ เลิกไปในเวลาที่เหมาะสม จึงมีเหตุผลเช่นนี้