xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เซลส์แมนจะไหวมั้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ถ้าพูดเรื่องความขยันต้องยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน มีความขยันมากกกก ก.ไก่หลายตัว เขาไม่ได้นั่งทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลบนหอคอยงาช้าง แต่เดินทางชีพจรลงเท้าไปทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา คะแนนความขยันนั้นเต็มสิบ แต่ต้องดูว่าผลพวงที่ได้รับมานั้นมีอะไรบ้าง

ในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนักธุรกิจบ้านจัดสรรที่ชื่อเศรษฐา เขาเดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว 15 ครั้งในหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ศรีลังกา ซาอุดีอาระเบีย ประเทศอาเซียนหลายประเทศฯลฯ รวมไปถึงการไปร่วมประชุมดาวอสที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีรายงานข่าวว่าที่นั่นเขาเข้าพบกับผู้บริหารบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ ระดับโลกมากมาย

การประชุมดาวอสนั้นผ่านมาแล้ว 12 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ผู้นำประเทศเขาไม่ได้บินไปเอง นายกรัฐมนตรีของไทยที่ผ่านมาก็ไม่มีใครเคยไปร่วมประชุมมาก่อน แต่เศรษฐาก็ยังบินไป แม้ข่าวคราวออกมาว่าได้พบกับผู้บริหารธุรกิจต่างชาติจำนวนมากและบินต่างประเทศเป็นว่าเล่นก็ยังไม่มีข่าวเลยว่า มีนักลงทุนที่ไหนเข้ามาลงทุนในประเทศที่พอจะตื่นเต้นดีอกดีใจได้เลย

รวมไปถึงข่าวคราวนายกฯ เศรษฐา เปิดทำเนียบรัฐบาลให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปพบหลายครั้ง ทั้งยังเปิดให้บริษัทธุรกิจที่มาลงทุนในประเทศไทยเข้าพบด้วย ดังนั้นไม่แปลกหรอกที่จะได้รับฉายาว่า นายกรัฐมนตรีเซลส์แมน เพียงแต่มีคำถามว่า วันนี้เซลส์แมนขายอะไรได้แล้วหรือยัง

สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ ไมโครซอฟท์ เดินทางมาประเทศไทยก็เพียงแต่ยาหอมว่าจะ “ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทย” บอกว่าศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในประเทศไทย จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างอนาคตประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย Digital first และ AI แต่ไม่บอกว่าเมื่อไหร่และไม่มีตัวเลขเม็ดเงินลงทุนที่จริงจัง แต่พอไปมาเลเซีย ประกาศว่าบริษัทจะลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ใน 4 ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของมาเลเซีย และเมื่อไปอินโดนีเซียไมโครซอฟท์ประกาศว่าจะลงทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 4 ปี

ในขณะที่นักลงทุนระดับโลกหลั่งไหลไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย รายชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเช่น ExxonMobil บริษัทพลังงานข้ามชาติ Toyota บริษัทรถยนต์รายใหญ่ จากญี่ปุ่นUnilever บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค Alphabet หรือ Google และ Tesla ที่ตัดสินใจเลือกสร้างโรงงานแบตเตอรี่และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนมาเลเซียมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนมากที่สุดในภูมิภาค นำโดย 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่Nvidia, Microsoft, Google, ByteDance รวมเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 10,600 ล้านดอลลาร์  

สื่อรายงานว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในประเทศมาเลเซียมีจำนวนสูงถึง 74,600 ล้านริงกิต ในปี 2565เทียบกับ 50,400 ล้านริงกิตในปีก่อน (2564) ตามรายงานของกรมสถิติ สถิติดังกล่าวแสดงถึงการหลั่งไหลเข้าของ FDI ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 หลังจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (DIA) จากมาเลเซียมีมูลค่า 58,600 ล้านริงกิตในปี 2565 ซึ่งนับเป็น DIA ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2564 อยู่ที่ 19,400 ล้านริงกิต

ในขณะที่ในประเทศนั้นมีรายงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ยอดปิดโรงงานย้อนหลังตั้งแต่ ม.ค. 2565-มิ.ย. 2567 รวม 2 ปี 5 เดือน พบโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 3,418 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวม 231,245 และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 88,675 คน หากแยกเฉพาะเดือนม.ค.-พ.ค. 2567 รวม 5 เดือน มีโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 485 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวม 13,990.61 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 12,472 คน รวมถึงข่าวยุติการลงทุนในประเทศไทยของค่ายรถยนต์อย่างซูซูกิ และซูบารุ

ต้องยอมรับนะครับว่า ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่พากันบ่นงึมงำกับภาวะเศรษฐกิจในระยะนี้ แบบว่ามองไม่เห็นทางออกและอนาคต และไม่รู้ว่าจะรอคอยความหวังจากไหน

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% ของจีดีพี มีความอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ โดยข้อมูลหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในเครดิตบูโร ในไตรมาสแรกปี 67 มีมากถึง 13.64 ล้านล้านบาท ไม่นับรวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์และหนี้ กยศ. ในจำนวนหนี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสีย 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8% ของหนี้รวม ซึ่งมากที่สุดเป็นหนี้เสียรถยนต์ 2.4 แสนล้านบาท เติบโต 32%, หนี้เสียบ้าน 1.99 แสนล้านบาท เติบโต 18%, หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 12% และหนี้เสียบัตรเครดิต 64,000 ล้านบาท เติบโต 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่กระทรวงการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ แต่ถึงเวลาจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายหรือไม่ก็ต้องติดตามกันดู แต่ยังไงก็ถือว่า เป็นการเติบโตที่รั้งท้ายประเทศอาเซียนโดยไม่นับพม่า ลาว และกัมพูชา

ส่วนตลาดหุ้นไทยนักลงทุนรายย่อยก็อยู่ในภาวะท้อแท้และสิ้นหวัง ตั้งแต่นายกฯ เศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศตลาดหุ้นตกลงมาแล้วกว่า 200 จุด ไม่มีทีท่าและความเชื่อมั่นว่าจะโงหัวกลับไปได้เลย กลายเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งหลังจากปีที่แล้วที่ดัชนีตลาดก็แย่ที่สุดในโลก ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลักๆ ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างทั่วหน้า อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นโดดเด่นในขณะที่เศรษฐกิจไทยถดถอยลงมาก

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ยังให้โอกาสนายกฯเศรษฐาอยู่ แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีครบปีในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะภาพของความขยันนั้นยังพอจะขายได้ แต่หลังจากผ่านปีนี้เป็นต้นไปหรือภายในปีนี้ถ้าไม่ออกดอกออกผลอะไรสังคมก็คงจะเริ่มตั้งคำถามถึงความรู้ความสามารถอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับเจ้าของพรรคอย่างทักษิณอาจจะมี “ดีล” ที่ต้องแบก นั่นคือต้องทำให้รัฐบาลชุดนี้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน เพื่อเรียกศรัทธาของประชาชนกลับมาให้ได้ ปัจจัยสำคัญก็คือการทำให้ภาวะเศรษฐกิจเติบโต ไม่ประสบภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองจนบ่นระงมกันทั้งประเทศอย่างทุกวันนี้ เพราะถ้าเศรษฐกิจเติบโตปัญหาทางการเมืองก็จะน้อยลง สิ่งที่ทักษิณต้องแบกในดีลก็คือ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้เพื่อเรียกประชาชนไปฝากความหวังไว้กับพรรคก้าวไกลให้กลับมาและทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อได้ว่าประเทศของเรายังมีอนาคตที่จะก้าวไปด้วยกันได้

คิดว่าทักษิณจะทำอย่างไร หากรัฐบาลเศรษฐาไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและประชาชนสามารถเงยหน้าเงยตาขึ้นมาได้บ้างเพื่อดีลที่ตัวเองต้องถืออยู่แลกกับการกลับมาประเทศโดยไม่ต้องติดคุกสักวันเดียว

ก็ต้องรอดูว่าเวลาที่เหลืออยู่ของนายกฯ เศรษฐาจะสามารถกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจนำพาไทยไปรอดไหมกับบทบาทนายกฯเซลส์แมน แล้วทักษิณเจ้าของพรรคจะให้โอกาสถึงตอนไหน

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น