xs
xsm
sm
md
lg

5 ประเด็นบิดเบือนข้อมูลเรื่องกัญชาเพื่อนำเป็นยาเสพติด จะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องได้ ควรตั้งคณะกรรมการศึกษาความจริงรอบด้านให้เป็นที่ยุติเสียก่อน / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากกรณีที่มีการเสนอ ร่างแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ…. โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 และมาตรา 29 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยมีการเตรียมนำเสนอให้  ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง กลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกครั้ง โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์นั้น

ขอสรุปในโอกาสนี้ว่า  ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว  เพราะประเทศไทยได้เคยดำเนินการเช่นนี้มาแล้วแต่ผลการศึกษากลับปรากฏว่าผู้ป่วยและประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกัญชาได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะแพทย์ส่วนไม่จ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วย

ดังปรากฏในรายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดในผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กัญชายังเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ กลับพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆนอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 แต่ผลการศึกษากลับพบว่าหลังใช้กัญชาโรคที่เป็นมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ 93[1]

 หมายความว่าหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกจะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ปลูกและใช้กัญชาหรือกัญชงเพียง 1 ต้นจะต้องถูกจับกุมกลายเป็นอาชญากรที่ต้องอยู่ในเรือนจำเหมือนในช่วงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงเพราะแพทย์ไม่จ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วย ดังนั้นการนำกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดย่อมจะสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไปอย่างแน่นอน

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนให้มีการตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่มีความยืดหยุ่นพอที่จะสามารถสร้างสมดุลในระบบนิเวศของผู้ที่ใช้กัญชาและผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชา เพื่อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จริงในทางปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการมีระบบในการควบคุมตลอดจนบทลงโทษในส่วนที่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมได้ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเรื่องที่น่าห่วงใยว่าในขณะนี้ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรีมี  “ธงทางการเมือง” ที่จะนำช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง โดยมีการ  “เลือกข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่รอบด้าน” เพื่อที่จะใช้เป็นเหตุอ้างในการนำกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดอย่างเดียว โดยไม่ได้มีการพิจารณาหรือหักล้างข้อขัดแย้งทางวิชาการจากทุกภาคส่วนให้เป็นที่ยุติเสียก่อน อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขาดกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและทางวิชาการอย่างรอบด้าน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ขาดความรอบคอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยพบข้อมูลสรุปสาระสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

 ประการแรก ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้ฐานข้อมูลปัจจุบันผิดพลาดว่าผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นหลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด เพราะมีการนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ “ผิดปกติ”

 ประการที่สอง ไม่คำนึงถึงประเด็นผลกระทบกัญชาในการช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) รวมถึงการลดการดื่มแอลกอฮอล์และลดการสูบบุหรี่

 ประการที่สาม ไม่คำนึงถึงกรณีผู้ที่มีอาการยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ แต่แอบอ้างรายงานเท็จว่าใช้กัญชา

 ประการที่สี่ ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้กัญชาเพื่อลดยาจิตเวช หรือเป็นจิตเวชจึงหันมาใช้กัญชากันแน่

 ประการที่ห้า ไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำของเด็กเยาวชนที่มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องส่วนตัวจึงใช้กัญชาหรือไม่?

โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 ประการแรก ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้ฐานข้อมูลปัจจุบันผิดพลาดว่าผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นหลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด เพราะมีการนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ “ผิดปกติ” 

เนื่องด้วยมีการบิดเบือนข้อมูลนำหลังการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 และ 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาคลี่คลายจากสถานการณ์โควิด-19 ไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาในปี 2564 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาผิดปกติเพราะเป็นปีที่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มช้นในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) โดยอ้างว่าหลังปลดล็อกแล้วตัวเลขผู้ใช้กัญชาที่เข้าโรงพยาบาลมากขึ้นก็ดี หรือหลังปลดล็อกกัญชาแล้วจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นก็ดี เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง

ดังตัวอย่างเช่น การอ้างว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้านจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับปีก่อนปลดล็อกกัญชาในปี 2564 (ซึ่งเป็นปีที่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ)

แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำรายงานจากรมสุขภาพจิตพบความจริงว่าในปีงบประมาณ 2566 มีผู้รับบริการด้านจิตเวชประมาณ 2.9 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีเริ่มเข้าสู่โควิด-19 คือประมาณ 2.8 ล้านคน และน้อยกว่าปี 2560 และ 2561 ด้วย[2]

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้รับบริการอาจไม่ได้สะท้อนผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ผู้ป่วยจิตเวชอาจไม่มารับบริการในโรงพยาบาลในสถานการณ์ล็อคดาวน์ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการน้อยกว่าความเป็นจริงในปี 2564 และทยอยมารับบริการมากขึ้นในปี 2565, 2566 และ 2567 โดยไม่สามารถสรุปเหมาเอาได้ว่าผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น เพราะมาจากการปลดล็อกกัญชาในช่วง 2 ปี

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ระบุอย่างชัดเจนว่า 1 ใน 8 ของคนทั่วโลกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือคิดเป็น 970 ล้านคนทั่วโลก และสถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้นเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ[2]

เมื่อพิจารณารายงานสัดส่วนของผู้เข้ารับบริการด้านจิตเวชในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับยาบ้า และยาเสพติดอื่นๆ กลับมีสัดส่วนลดลง โดยในปี 2564 ก่อนปลดล็อกกัญชามีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการใช้ยาบ้าและสารเสพติดอื่นๆคือเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ลดลงมาเหลือร้อยละ 13.7 ในปี 2565 และลดลงเหลือร้อยละ 12.8 ในปี 2566 โดยสัดส่วนของผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้ามีสัดส่วนสูงที่สุดของผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการ[3]

โดยฐานข้อมูลของ HDC กระทรวงสาธาณสุขระหว่างปีงบประมาณ 2564-2567 ระบุว่าผู้มารับบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติดในปีงบประมาณ 2564 เฉลี่ยต่อเดือน 14,647 ราย, ปีงบประมาณ 2565 เฉลี่ยต่อเดือน 10,514 ราย, ปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ยต่อเดือน 13,883 ราย และ 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 เฉลี่ย 10,789 ราย[4]


แปลว่าสถิติผู้มารับการบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติดปี 2564-2567 ลดลงเฉลี่ยเดือนละ 2,225 ราย หรือปีละ 26,705 ราย ดังนั้นการปลดล็อกกัญชาแล้วเพิ่มปัญหาจิตเวชและเพิ่มการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดจึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

 โดยจากสถิติของข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดในประเทศไทยถึง 3 เดือนแรกของต้นปีงบประมาณ 2566 พบว่า ผู้ที่เข้าบำบัดรักษามากถึงร้อยละ 75 คือ “ยาบ้า” ในขณะที่กัญชามีผู้เข้ารับการบำบัดเพียงประมาณร้อยละ 4 ทั้งๆ ที่ยาบ้าอยู่ในบัญชียาเสพติดและมีบทลงโทษรุนแรงยิ่งกว่ากัญชา


สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในขณะที่กัญชาถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดและยังไม่มีพระราชบัญญัติในการควบคุม แต่ก็ส่งผลกระทบน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับยาบ้า ดังน้้นจึงเป็นบทพิสูจน์ว่าการนำสิ่งใดไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอาจจะไม่สามารถเป็นหลักประกันในการแก้ไขปัญหาได้ ตราบใดที่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

 ประการที่สอง ไม่คำนึงถึงประเด็นผลของกัญชาในการช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) รวมถึงการลดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 

“Harm Reduction” หรือการลดอันตรายจากยาเสพติดที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มประชุมขับเคลื่อนผลักดัน “กัญชา” เพื่อลดปัญหา  “ยาบ้า” อาจนำไปสู่การได้มาซึ่งการคืนกลับมาสู่สังคมของผู้ที่ติดยาบ้า หรือยาเสพติดที่ร้ายแรงได้ เป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016)

โดยประเทศไทยในฐานะภาคีจะต้องกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction)รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาปรับใช้เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน[5]

 ทั้งนี้ งานวิจัยพบความจริงว่า “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่ทำให้เกิดการเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[6] และมีความน่าจะเป็นในการติดกัญชาอยู่เพียงระดับ “กาแฟ” เท่านั้น[7]

ในขณะที่สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) ได้รายงานว่าในปี 2563 มีประชากรในโลกที่อายุ 15-64 ปีมีผู้ใช้สารเสพติดมากถึง 284 ล้านคน แบ่งเป็นการใช้กัญชามากถึง 209 ล้านคน(ร้อยละ 73.59), รองลงมาอันดับที่สองคือกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ 61 ล้านคน (ร้อยละ 21.48), ยาบ้า 34 ล้านคน (ร้อยละ 11.97), โคเคน 21 ล้านคน(ร้อยละ 7.39) และยาอีประมาณ 20 ล้านคน (ร้อยละ 7.04)[8]

จากกลุ่มผู้ใช้ยาทั้งหมด มีสาเหตุการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกกลับเป็นยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77, ยาบ้ามีสัดส่วนร้อยละ 7, โคเคนมีสัดส่วนร้อยละ 4, กัญชามีสัดส่วนร้อยละ 4[8]

 โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรที่ใช้สารเสพติด กับ จำนวนการตายอันเนื่องมาจากยาเสพติดนั้น ย่อมเห็นสัดส่วนได้อ่างชัดเจนว่า ในขณะที่กัญชามีผู้ใช้มากที่สุดถึง 209 ล้านคน (ร้อยละ 73.59) แต่กลับมีสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าทั้งโอปิออยด์ ยาบ้า และโคเคน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า “กัญชา” อันตรายน้อยกว่ายาเสพติดที่รุนแรงเหล่านี้อย่างชัดเจน[8]

นอกจากนั้นกัญชายังมีบทบาทในฐานะเป็นสมุนไพรที่ช่วยทดแทนเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction)อีกด้วย

โดยกัญชาได้ถูกนำมาเริ่มต้นนำมาใช้สารสกัดแคนนาบิไดออลทั้งในกัญชาหรือกัญชง เพื่อลดการติดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ รวมทั้งเฮโรอีน[9] รวมทั้งการใช้กัญชาเพื่อลดการติดโคเคนในแคนนาดาอีกด้วย[10]

โดยวารสารเกี่ยวกับการลดความรุนแรงจากยาเสพติดโดยตรงที่เรียกว่า Harm Reduction Journal ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 นั้น คณะวิจัยชาวแคนนาดาได้ทำการสำรวจประชากรชายและหญิงประมาณ 3,110 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต 1,700 คน หรือประมาณร้อยละ 83.7 และพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อแทนใบสั่งยา เพื่อลดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ เพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดบุหรี่ และทดแนยาเสพติดอื่นๆ โดยงานวิจัยมีความเห็นแนะนำว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมให้เหมาะสม สามารถส่งผลทำให้ลดความรุนแรงจาก โอปิออยด์, แอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆได้[11]

ต่อมาผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า  “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอีน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึงร้อยละ 50 และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีกร้อยละ 31[12]

หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และ ได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ  Cannabis and Cannabinoid Research เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เป็นการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร 5,706 คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาเสพติดที่รุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดได้มากขึ้น[13]

ดังนั้น ผู้ที่ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นอาจเป็นกลุ่มที่กำลังลดความรุนแรงของยาเสพติดที่รุนแรงหลายชนิด รวมถึงการลดพฤติกรรมความรุนแรงของยาเสพติดชนิดอื่น รวมถึงการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่เป็นปัญหาการเสียชีวิตของคนทั้งโลกมากขึ้นด้วย ซึ่งหากมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจะต้องไม่สำรวจเพียงว่ามีประชากรใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ แต่ควรต้องสำรวจลึกไปกว่านั้นว่าคนที่ใช้กัญชานั้นเป็นไปเพื่การลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงหรือไม่ด้วย

 ประการที่สาม ไม่คำนึงถึงกรณีผู้ที่มีอาการยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ แต่แอบอ้างรายงานเท็จว่าใช้กัญชา 

โดยนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นวันปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ได้เป็นผลทำให้ผู้ที่มีอาการต่างๆจากการใช้ยาเสพติดอื่นจนต้องเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาล เช่น ยาบ้า ยาอี เฮโรอีน ฯลฯ และมีการแอบอ้างว่ามีอาการเพราะใช้กัญชา เพื่อเป็นการเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากประมวลกฎหมายยาเสพติด

โดยมีการสำรวจกรณีศึกษาโรงพยาบาล 18 แห่งในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน โดยในจำนวนที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากกัญชา 172 ราย พบว่ามีการส่งตรวจหากัญชาเพียงร้อยละ 36 เท่านั้น ในขณะที่ผู้ที่ถูกนำส่งในการตรวจกลับพบกัญชาเพียงร้อยละ 40.3 ของจำนวนที่ตรวจเท่านั้นด้วย[4] ซึ่งมีความหมายว่า “ส่วนใหญ่” ของผู้ที่อ้างว่าใช้กัญชาเป็นข้อมูลเท็จ และทำให้ร้ายต่อกัญชาเกินสถานการณ์จริงไปอย่างมาก[14]

 ประการที่สี่ ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้กัญชาเพื่อลดยาจิตเวช หรือเป็นจิตเวชจึงหันมาใช้กัญชากันแน่ 


ผลการศึกษาในประเทศไทย ของวารสารสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (2023) เดือนกันยายน 2566 พบว่า ความชุกของการปัญหาสุขภาพจิตหลังติดเชื้อโควิด-19 พบความเครียดร้อยละ 46.3 ภาวะวิตกกังวลร้อยละ 10.3 ภาวะซึมเศร้าร้อยละ 10.5 และนอนไม่หลับร้อยละ 35.8 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดปัญหาสุขภาพจิตหลังติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ การว่างงานมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะเครียดและภาวะวิตกกังวล และอายุมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะนอนไม่หลับ[15]

ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทย มีปัญหาสุขภาพจิตและมีความเครียดมากขึ้น โดยข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตตนเอง ของกรมสุขภาพจิต ปี 2566 พบว่าเยาวชนร้อยละ 18 มีความเครียดสูง เสี่ยงตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าร้อยละ 26 และเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายร้อยละ 12.5 และในส่วนของการประเมิน 3 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าเยาวชนไทยกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการเรียนรู้ร้อยละ 26.8 และมีคึวามเครียดสูงร้อยละ 18.3 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว[16]

อย่างไรก็ตาม บทบาทของกัญชาและกัญชงสามารถลดอาการสุขภาพจิตเหล่านี้ได้ ปรากฏในงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2565 เป็นการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้  “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามีการลดการจ่ายยาต่างๆ ลง

คือ ประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ 11.1, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไปร้อยละ 12.2, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ 8, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ 10.7, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ 10.8, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ 9.5[17]

สอดคล้องไปกับวารสาร  Harm Reduction Journal ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ได้รายงานเอาไว้เช่นกันว่า ในขณะที่ร้อยละ 91 ของประชากรที่ใช้กัญชาโดยไม่มีใบสั่งยา พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งใช้กัญยาเพื่อทดแทนใบสั่งยา ใช้กัญชามาแทนยาแก้อาการปวด บรรเทาอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคจิต ลดอาการชัก บรรเทาอาการโรคข้อเสื่อม ช่วยทำให้นอนหลับ บรรเทาอาการวิตกกังวล คลายกล้ามเนื้อ รักษาไมเกรน ฯลฯ[18]


 งานวิจัยดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจหันมาใช้กัญชามากขึ้นเพื่อบรรเทาหรือลดการใช้ยาความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า โรคจิต และนอนไม่หลับ หลังได้รับผลกระทบรอบด้านทั้งในระหว่างและภายหลังวิกฤติของสถานการณ์โควิด-19

ในขณะที่วารสารทางการแพทย์  JAMA network open ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในช่วงโควิด-19 พบว่าผลการใช้สารสกัดกัญชงแคนนาบิไดออล (CBD) สามารถช่วยลดภาวะความอ่อนล้าและภาวะหมดไฟในการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้อย่างมีนัยยะสำคัญ[19]

ดังนั้น การตรวจพบผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มขึ้นแล้วเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับที่มีการใช้กัญชาด้วย อาจมีความหมายว่าเพราะผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิตจึงต้องใช้กัญชาในการบรรเทาอาการสุขภาพจิตของตนเอง

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิจัยหาคำตอบที่ถูกต้องให้เป็นที่ยุติเสียก่อน ไม่ใช่ฟังแต่เสียงของกลุ่มบุคคลที่มีเบื้องหลังของบริษัทยาหรือแพทย์บางกลุ่มที่อาจสูญเสียผลประโยชน์เพราะกัญชาไปแย่งตลาดกลุ่มยาลดอาการซึมเศร้า ยาลดวิตกกังวล ยาลดอาการจิตเวช ยาบรรเทาอาการปวด ยาบรรเทาอาการนอนไม่หลับ และยาบรรเทาอาการลมชัก ฯลฯ

 ประการที่ห้า ไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำของเด็กเยาวชนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องส่วนตัวจึงใช้กัญชาหรือไม่?

แม้ว่ากฎหมายในประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้กัญชา หรือและยาเสพติดใดๆ อย่างไรก็ตามเมื่อความจริงปรากฏว่าเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งมีปัญหาทางสุขภาพจิตจากภาวะความเครียด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาส่วนตัว[16] จึงมีโอกาสที่จะมีคนบางกลุ่มฝ่าฝืนกฎหมายขายสุรา ขายบุหรี่ ขายกัญชา ขายยาบ้า หรือหรือยาเสพติดอื่นๆให้กับเด็กและเยาวชนได้

แม้ว่ากัญชาจะเสพติดยากกว่าสุราและบุหรี่ และมีอันตรายน้อยกว่ายาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท แต่ถึงกระนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไม่มีกฎหมายควบคุม หากแต่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการจับกุมและลงโทษผู้ใหญ่ที่จำหน่ายสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้นและจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามผลการศึกษาในมลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการเปิดการนันทนาการกัญชาให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายมาหลายปี ก็มีปัญหาในลักลอบการใช้กัญชาในเยาวชนเพิ่มขึ้นอยู่ดี หากแต่ผลการศึกษาอีกด้านกลับพบว่าเด็กเยาวชนดื่มสุราลดลง สูบบุหรี่ลดลง และลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงอื่นๆ ลดลง มีการจบการศึกษามากขึ้นและตกออกน้อยลง[20] ย่อมแสดงว่ากัญชาอาจจะไม่ได้ทำให้ระดับสติปัญญาลดลงเสมอไปเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยจำนวนมากก็ได้

ทั้งนี้ เมื่องานวิจัยจำนวนมากส่วนใหญ่พบว่าผู้ใช้กัญชาซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา แต่อาจจะแปลได้ 2 ทาง คือ ทางที่หนึ่งแปลว่ากัญชาทำให้ระดับสติปัญญาของเด็กต่ำลงจริงๆ หรือ ทางที่สองแปลว่าเด็กมีปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาส่วนตัวอยู่แล้ว จึงทำให้ระดับสติปัญญาต่ำอยู่แล้ว จึงใช้กัญชาเพื่อลดความเครียด ลดภาวะวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้าก็ได้

ด้วยเหตุผลนี้จึงมีนักวิจัยจำนวนหนึ่งเริ่มเห็นปัญหา  “ตัวแปรกวน” ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการตีึความผิดในงานวิจัย และจำเป็นจะต้องออกแบบงานวิจัยให้มีข้อสรุปที่ยอมรับและมีความชัดเจนได้มากกว่านี้

วิธีการหนึ่งก็คือตัดตัวแปรความแตกต่างให้เหลือน้อยที่สุด ก็คือ  “เปรียบเทียบในคู่แฝด” ซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน อยู่ครอบครัวเดียวกัน รับประทานอาหารในสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกัน สถานภาพทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาไม่แตกต่างกัน ฯลฯ แม้จะยังเหลือตัวแปรกวนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุดวิธีหนึ่งเท่าที่จะทำได้ในเวลานี้

งานวิจัยชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา  เรียกว่า Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อปี พ.ศ.2559 ใช้ประชากรทดสอบ “ฝาแฝด” 3,066 คน แบ่งเป็นการทดสอบระดับสติปัญญา 2 รูปแบบ โดยแบ่งเป็นการวัดระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว (I.Q.) 2 ช่วง คือช่วงเวลาก่อนใช้กัญชาระหว่างอายุ 9-12 ปี กับช่วงเวลาที่ใช้กัญชาแล้วระหว่างอายุ 17-20 ปี กลับพบว่ากัญชาไม่ได้ส่งผลทำให้มีนัยยะสำคัญในกลุ่มฝาแฝด แต่สิ่งที่มีผลต่อสติปัญญาลดลงกลับเป็นปัจจัยปัญหาครอบครัว[21]

เช่นเดียวกันกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการเสพติด Addiction เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้ทำการวิจัยประชากรกลุ่มประชากรที่เกิดในอังกฤษและเวลส์ระหว่าง พ.ศ. 2537-2538 เข้าถึงกัญชาและทำการตรวจวัดระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว (I.Q.) สรุปว่า การใช้กัญชาในระยะสั้นของกลุ่มคนหนุ่มสาวไม่ปรากฏว่าเป็นสาเหตุของการลดลงระดับสติปัญญาโดยรวมแม้กระทั่งกลุ่มคนที่พึ่งพา (ติด)กัญชาแล้วด้วย แต่กลับพบปัญหาครอบครัวที่ทำให้ระดับสติปัญญาลดลง[22]

สอดคล้องไปกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการติดยาและแอลกอฮอล์  Drug Alcohol Dependence เมื่อปี พ.ศ.2563 พบสาระสำคัญคือ ผู้ใช้กัญชาในกลุ่มฝาแฝดมีผลต่อสติปัญญาไม่มาก แต่สิ่งที่มีผลต่อสติปัญญาความคิดมากกลับเป็นปัญหาเรื่องรหัสพันธุกรรมมากกว่า เมื่อพิจารณาไปพร้อมกับงานวิจัยก่อนหน้านี้จึงมีคำแนะนำว่ากัญชาอาจจะไม่ใช่สาเหตุของการลดลงในความสามารถในกระบวนความคิดและสติปัญญาสำหรับผู้ใช้กัญชาทั่วไป[23]

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้กัญชาอย่างเด็ดขาด และควรจะมีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้น ควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่เด็กฝ่าฝืนกฎหมายมาใช้กัญชา สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กันไป ด้วยการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว

 เมื่อข้อมูลการนำเสนอตัวอย่างข้างต้น มีความแตกต่างกันเช่นนี้ จึงควรจัดคณะกรรมการเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงทางวิชาการเพื่อหาข้อยุติให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และในความจริงแล้วการแก้ปัญหาด้วยการตราพระราชบัญญัติในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา กัญชงเป็นการเฉพาะจะมีความยืดหยุ่นให้สามารถปฏิบัติได้จริงได้ดีกว่าการนำกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดอีก

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ, การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง, ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[2] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2567, หน้า 18
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5493&filename=socialoutlook_report

[3] เรื่องเดียวกัน(เพิ่งอ้าง), หน้า 19

[4] HDC, กระทรวงสาธารณสุข สถิติผู้ที่มารับการบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติดในปี พ.ศ. 2564-2567

[5] ผู้จัดการออนไลน์, ประชุมขับเคลื่อนผลักดันนำกัญชาลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่รุนแรง แก้ปัญหาหลักยาบ้า, เผยแพร่: 11 ต.ค. 2565 15:57 ปรับปรุง: 11 ต.ค. 2565 15:57
https://mgronline.com/politics/detail/9650000097644

[6] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/

[7] Steven C. Markoff. Is Marijuana Addictive? The Medical Marijuana Magazine. http://www.drugsense.org/mcwilliams/www.marijuanamagazine.com/toc/addictiv.htm

[8] World Drug Report, United Nations Office on Drugs and Crime : New York, 2020, Page 60
https://www.unodc.org/res/wdr2022/MS/WDR22_Booklet_1.pdf

[9] Hurd YL, Yoon M, Manini AF et al. Early phase in the development of cannabidiol as a treatment for addiction: opioid relapse takes initial center stage. Neurotherapeutics. 2015;12(4):807–815. doi: 10.1007/s13311-015-0373-7. [PMC free article] [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

[10] Socías ME, Kerr T, Wood E et al. Intentional cannabis use to reduce crack cocaine use in a Canadian setting: a longitudinal analysis. Addict Behav. 2017;72:138–143. doi: 10.1016/j.addbeh.2017.04.006. [PMC free article] [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

[11] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019). https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-6

[12] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[13] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[14] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดผลวิจัยผู้ป่วยอาการแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาในกาฬสินธุ์ พบใช้กัญชาจริงเพียงร้อยละ 16-40 บางส่วนอ้างกัญชาเพื่อเลี่ยงกฎหมาย, เผยแพร่: 5 มิ.ย. 2567 21:14 ปรับปรุง: 6 มิ.ย. 2567 17:03 น.
https://mgronline.com/qol/detail/9670000048294

[15] ชุติกาญจน์ ทิพย์ปัญญา และคณะ, ความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดปัญหาสุขภาพจิตภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยที่รับบริการ home isolation สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, วารสารสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (2023): กันยายน 2566
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/journalsomdetchaopraya/article/view/262891

[16] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2567, หน้า 20
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5493&filename=socialoutlook_report

[17] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519

[18] Sinikka L. Kvamme,et al.,Exploring the use of cannabis as a substitute for prescription drugs in a convenience sample, Harm Reduction Journal, Published: 10 July 2021
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-021-00520-5

[19] José Alexandre S Crippa,et al, Burnout and Distress Prevention With Cannabidiol in Front-line Health Care Workers Dealing With COVID-19 (BONSAI) Trial Investigators (2021). Efficacy and Safety of Cannabidiol Plus Standard Care vs Standard Care Alone for the Treatment of Emotional Exhaustion and Burnout Among Frontline Health Care Workers During the COVID-19 Pandemic: A Randomized Clinical Trial. JAMA network open, 4(8), e2120603.
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2782994

[20] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/ors/docs/reports/2021_SB13-283_Rpt.pdf

[21] Nicholas J. Jackson, et al., Impact of adolescent marijuana use on intelligence: Results from two longitudinal twin studies, Proc Natl Acad Sci U S A. 2016;113(5):E500-E508. accepted by the Editorial Board December 14, 2015 (received for review August 20, 2015)
https://www.pnas.org/doi/full/10.1073/pnas.1516648113

[22] Meier MH et al., Associations between adolescent cannabis use and neuropsychological decline: A longitudinal co-twin control study. Addiction. 2018; 113, 257–265.
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/add.13946

[23] Ross JM, Ellingson JM, Rhee SH, et al. Investigating the causal effect of cannabis use on cognitive function with a quasi-experimental co-twin design. Drug Alcohol Dependence. Volume 206, 1 January 2020, 107712
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0376871619304892

[24] J S Hayes, et al., Five-year follow-up of rural Jamaican children whose mothers used marijuana during pregnancy, West Indian Medical Journal, 1991 Sep;40(3):120-3.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1957518/

[23] Ciara A. Torres, Totality of the Evidence Suggests Prenatal Cannabis Exposure Does Not Lead to Cognitive Impairments: A Systematic and Critical Review, Frontier, Psychol., 08 May 2020
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2020.00816/full 


กำลังโหลดความคิดเห็น