การเคลื่อนไหวบนท้องถนนของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เงียบหายไป ในขณะที่การดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะกล่าวถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่างๆ นับร้อยราย บ้างยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี บ้างศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว มีทั้งที่ศาลตัดสินให้มีความผิด รอลงอาญา และยกฟ้อง ซึ่งสะท้อนว่า การพิจารณาคดีเป็นไปตามพยานหลักฐานและเป็นธรรมและในการเบื้องต้นส่วนใหญ่ศาลจะให้ประกันตัว
ตอนนี้คนที่ถูกดำเนินคดีกำลังรอคอยความหวังว่า พรรคก้าวไกลจะสามารถผลักดันการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เข้าไปกับการนิรโทษกรรมทางการเมืองที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาด้วย แต่ส่วนตัวผมไม่คิดว่าสามารถทำได้ เพราะความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้เป็นความผิดทางการเมือง แต่เป็นการละเมิดพระประมุขของรัฐ ที่แม้จะกระทำเช่นนั้นกับบุคคลธรรมดาก็มีความผิด
แต่ถ้าถามว่าความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ก็ต้องตอบว่า ใช่ และมีพรรคการเมืองให้ท้ายเพราะความมุ่งหมายทางการเมืองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ที่เป็นอุดมการณ์ของพรรค แต่ต้องพิจารณาแยกกันกับการกระทำผิดตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นทั้งบนท้องถนนและในโซเชียลมีเดีย เพราะเราต้องไม่เอาพระมหากษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ถ้าใครจำได้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่บนท้องถนนที่เต็มไปด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคายและมีผู้ใหญ่หลายคนให้ท้ายว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่กระทำแบบนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง โดยเฉพาะนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ล่วงลับไปแล้วให้ท้ายว่า คำหยาบคือเครื่องมืออย่างดีในการทำลาย “ช่วงชั้น” อันแสนละเอียดอ่อนของสังคมและวัฒนธรรมไทย คนรุ่นใหม่จึงยิ่งกล่าวถึงสถาบันด้วยคำหยาบกันใหญ่ก็ยิ่งเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย
แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไป เพราะทักษิณก็ถูกดำเนินคดีด้วย ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยอาจจะผลักดันให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 ด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะยัดเยียดความผิดตามมาตรา 112 ใส่ไว้ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง เพราะหากสองพรรคจับมือกันก็จะกลายเป็นเสียงข้างมาก และเมื่อพ้นจากมือ สว.ชุดปัจจุบันไปเข้ามือ สว.ชุดที่กำลังเลือกกันอยู่ก็น่าจะผ่านสภาฯ ได้ง่ายขึ้น
ตอนนี้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ถูกดำเนินคดีลดน้อยลง เพราะส่วนใหญ่กำลังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี และเชื่อว่าน่าจะมีการส่งสัญญาณให้หยุดเคลื่อนไหวไม่เช่นนั้นก็ผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมอาจจะมีความยากขึ้น
แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องคิดก็คือว่า การพิจารณานิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองที่ทักษิณจะได้รับอานิสงส์ไปด้วยนั้น จะย้อนรอยการนิรโทษกรรมสุดซอย ที่กลายเป็นชนวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมบนท้องถนนและนำมาสู่การรัฐประหารในที่สุด ถ้าใครจำได้ความชะล่าใจของพรรคเพื่อไทยในตอนนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเชื่อว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังถดถอยและอ่อนแรงลงแล้ว
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบคำถามถึงการผลักดันมาตรา 112 เข้าไป พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เราก็ยังเห็นว่าสมควรเพื่อที่จะเป็นประตูอีกบานหนึ่งที่สำคัญในการคลี่คลายความตรึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันหรือเพื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะมาพูดคุยกันหาจุดลงตัวหาจุดร่วมให้ได้โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย
คำกล่าวของชัยธวัชชวนให้ตั้งคำถามว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายผู้อื่นนั้นเป็นความเห็นต่างทางการเมือง หรือเราควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยการพูดคุยให้การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายผู้อื่นเป็นเสรีภาพหรือ
และใช่หรือไม่ว่าการเอาคดีมาตรา 112 มาเป็นส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรมนั่นแหละที่เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเสียเอง
เป็นที่ทราบกันดีว่าการที่พรรคก้าวไกลต้องออกมาผลักดันการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 เพราะพลาดหวังจากการยกเลิกมาตรา 112 จากหมวดความมั่นคงไปเขียนกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แล้วว่า มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกันซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ การให้ความผิดตามฐานนี้สามารถยอมความได้ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และถือว่าเป็นผู้เสียหายถือเป็นการลดสถานะการคุ้มครองพระมหากษัตริย์
นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ว่า การเสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งเป็นการใช้นโยบายทางการเมืองโดยนำสถาบันฯ ลงมาเพื่อหวังผลในการได้คะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้งซึ่งเป็นผลทำให้สถาบันฯตกเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน จึงถือว่ามีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯได้ในที่สุด
และจากพฤติกรรมดังกล่าวของพรรคก้าวไกลนั้นนำมาซึ่งคดีที่ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาไต่สวนคดีอยู่ในขณะนี้
แต่ดูเหมือนสิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังต่อสู้อยู่ไม่ใช่เป็นเนื้อหาและพฤติกรรมในการกระทำที่เกิดขึ้น แต่มุ่งต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยกระบวนการยื่นร้องของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำไม่เป็นการล้มล้าง การยุบพรรคการเมืองควรเป็นมาตรการสุดท้าย ฯลฯ
การแถลงของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหมือนจะยอมรับกลายๆแล้วว่า ไม่สามารถสู้ในข้อเท็จจริงได้ จึงหันมาต่อสู้ในเรื่องทางเทคนิคเสียมากกว่า ก็ต้องรอดูว่า การนัดฟังคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นนั้นพรรคก้าวไกลจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไร
อย่าลืมว่าข้อกล่าวหาของพรรคก้าวไกลก็คือ กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อพรรค นอกจากจะส่งผลกระทบกรรมการบริหารพรรคบางคนหากถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่สุดท้ายแล้วพรรคก้าวไกลก็จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อพรรคใหม่ ความนิยมของพรรคต่อคนรุ่นใหม่และฐานเสียงก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง และอาจจะเป็นได้ที่พิธาพูดอย่างเชื่อมั่นว่า หากพรรคถูกยุบก็ยิ่งจะเหมือนติดเทอร์โบ แต่การพิจารณาบังคับใช้กฎหมายก็จะต้องยึดตามตัวบทเมื่อผิดก็ต้องว่าไปตามผิดจะคำนึงถึงผลที่จะตามมาก็คงจะไม่ได้
และหากเราจำกันได้การลุกขึ้นมาชุมนุมของคนรุ่นใหม่บนท้องถนนจนกลายเป็นกระแสในช่วงนั้นก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นเอง หากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคก็อาจจะมีการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนอีก
แต่แน่นอนว่าคงไม่สามารถหยุดยั้งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงและการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งด้วยการยุบพรรคของพวกเขา แต่ทุกรัฐก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องระบอบและรูปแบบของรัฐสิ่งนี้จึงไม่ใช่นิติสงคราม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan