ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
เป็นเรื่องที่สมควรที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติในการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ซึ่งนำโดยกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแล รักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีการติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดปรากฏว่ามีการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากการรักษาแล้ว คงเหลือแต่ยารักษาที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น เรมเดซิเวียร์ ยาเนียร์มาเทรเวียร์ ยาโมนูพิราเวียร์ ยาสเตียรอยด์ และฟาวิพิราเวียร์[1]
ในขณะที่ประกาศ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแล รักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีการติดเชื้อโควิด-19 ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ยังคงมีฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชีลำดับแรกสำหรับผู้ป่วยโควิด-19[2]
เป็นเรื่องที่ต้องถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงต้องมีการตัดฟ้าทะลายโจรออกได้อย่างไร
โดยในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ยังคงกลับมาระบาดแต่ความรุนแรงลดลงไปอย่างมากแล้ว ประเทศไทยควรจะต้องทบทวนในหลายๆเรื่องตามมา ทั้งเรื่องผลกระทบและความคุ้มค่าของวัคซีนในสถานการณ์ปัจจุบัน การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 หรือภาวะลองโควิด-19 รวมถึงยาที่ควรจะใช้ในสถานการณ์ความรุนแรงที่ลดลงไปแล้ว
กรณีอย่างโควิด-19 ที่มักเริ่มต้นวิจัยยารักษาในกลุ่มประชากรที่แข็งแรงหรือไม่มีอาการ ตามครรลองของกระบวนการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งกลุ่มคนที่แข็งแรงปกติมีความเสี่ยงน้อย ด้วยเพราะอาจจะหายป่วยเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาอะไรเลยในสภาวะที่โรคระบาดลดความรุนแรงแล้ว ดังนั้น การวิจัยในช่วงที่ความรุนแรงต่อสุขภาพของโรคระบาดลดลงแล้ว ยาหลายชนิดอาจดูใช้ไม่ได้ผลเลยก็ได้ในกลุ่มประชากรที่แข็งแรงระหว่างผู้ใช้หรือไม่ได้ใช้ยารักษาโควิด-19
เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่มีประชากรติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 1 ครั้งก็ดี หรือแม้แต่เคยฉีดวัคซีนไปแล้วก็ดี เมื่อระบบภูมิคุ้มกันได้ปรับตัวหรือเรียนรู้แล้ว ความรุนแรงของการติดเชื้อหลังจากนั้นย่อมลดลงไปโดยปริยาย ยานำมาวิจัยในช่วงนี้ก็อาจผิดพลาดได้ว่าไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย
ตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้งานวิจัยอาจถูกบิดเบือนจึงมีตัวแปรที่สรุปได้ 3 ประการ
1.ความแข็งแรงของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน การวิจัยเฉพาะผู้แข็งแรงหรือกำหนดขนาดของยามาตรฐานเดียวกันอาจทำให้กำหนดการรักษาผิดพลาดได้
2.ภูมิคุ้มกันของคนที่ติดเชื้อมากกว่า 1 ครั้ง ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว (เพราะไม่ได้ตรวจ) รวมถึงการได้รับวัคซีนไปแล้วหรือไม่ หากไม่พิจารณาช่วงเวลาที่ถูกต้องอาจทำให้การตีความของจากรักษาโรคผิดพลาดได้
3.ไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อมาวิจัยในช่วงไวรัสลดความรุนแรงลงแล้ว โดยเฉพาะไปทดสอบกับผู้ที่เคยได้รับวัคซีน, เคยติดเชื้อ, หรือมีความแข็งแรง อาจตีความผิดพลาดในผลการรักษาได้
ถ้าเป็นช่วงเวลาที่มีการวิจัยของประชากรที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน รวมทั้งช่วงเวลาที่ไวรัสกลายพันธุ์แล้วมีระดับอันตรายในความรุนแรงมากที่สุด อาจทำให้เห็นว่ายาใดที่ได้ผลในยามที่เลวร้ายที่สุด
เพราะอย่างน้อยงานวิจัยของประเทศไทยในหลอดทดลอง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Natural Products โดยการเผยแพร่โดยประชาสังคมเคมีอเมริกัน ACS Publicaition ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2564 เป็นที่ชัดเจนว่าสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรมีกลไกในการหยุดการทำงานของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3]
เช่นเดียวกับผลงานการศึกษาของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งได้สำรวจในกลุ่มประชากรแข็งแรงที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แล้วติดตามผลระหว่างการได้รับฟ้าทะลายโจรกับไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งได้เผยแพร่ผ่านการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฉบับไตรมาสแรก คือมกราคม-เมษายน 2564
ในช่วงเวลาที่วิจัยดังกล่าวข้างต้นนั้น เชื้อที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือช่วงสายพันธุ์เดลต้า และคนไทยเกือบในกลุ่มประชากรยังไม่มีใครได้รับวัคซีนเลย !!!!
พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรลดโอกาสการเกิดปอดอักเสบได้ถึงร้อยละ 94.3 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร[4]
ในรายงานครั้งนั้นยังระบุต้นทุนการรักษาว่า ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโดยอาศัยต้นทุนเพียง 180 บาทต่อคน และยังระบุด้วยว่าออกฤทธิ์ในการลดไข้ ต้านการอักเสบ และฆ่าเชื้อไวรัสได้ด้วย
ในขณะที่ยาลดไข้คือพาราเซตตามอล มีต้นทุนในการรักษา 60 บาทต่อคน ได้เพียงการลดไข้ ไม่ได้ต้านการอักเสบ และไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส
ในขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ออกฤทธิ์ฆ่าไวรัสอย่างเดียว ไม่ได้ลดการอักเสบ และไม่ได้ลดไข้ มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 4,800 บาทต่อคน[4]
เช่นเดียวกับ ข้อมูลเบื้องต้นในการให้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยเรือนจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ยังไม่ได้รับวัคซีน และยังเป็นช่วงเวลาของสายพันธุ์เดลต้า แล้วปรากฏว่าผู้ที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรหายป่วยเร็วกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ 4 วัน ทั้งๆ ที่ใช้เพียง 4.8 กรัมต่อวันในเรือนจำกรุงเทพ(ซึ่งน้อยกว่าปริมาณยาในไข้หวัดธรรมดา[5]
กว่าที่จะยอมรับกันได้ว่าฟ้าทะลายโจรแบบผงธรรมดาบรรจุแคปซูล สามารถจ่ายเป็นยาเพื่อใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 ปรากฏว่าแทนที่จะให้แพทย์แผนไทยซึ่งคุ้นเคยในการจ่ายยาผงฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูลในการจำหน่ายให้คนไข้ที่เป็นหวัดธรรมดามาอย่างยาวนาน
กลับปรากฏประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในระบบยาแห่งชาติ กลับให้ “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” เป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น[6]
คำถามที่ตามมาคือเหตุใดจึงมีการกีดกั้นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยในการจ่ายฟ้าทะลายโจรแบบผงบรรจุแคปซูลให้คนไข้ ในขณะที่แพทย์ในหลายโรงพยาบาลที่ได้สิทธิในการเบิกจ่ายฟ้าทะลายโจรนั้นกลับ ”ไม่จ่ายฟ้าทะลายโจรให้คนไข้“
และทำให้ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่ามีขบวนการกีดกั้นฟ้าทะลายโจรให้คนไข้หรือไม่ และมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของยาที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ถูกผูกขาดเอาไว้ให้กับแพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่?
เพราะความจริงแล้วยาฟ้าทะลายโจรเป็นยาทีปลอดภัยมาอย่างยาวนาน โดยยืนยันข้อเท็จจริงผ่านประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2562 โดยระบุเอาไว้ในเอกสารแนบหน้า 274-275 ว่าฟ้าทะลายโจร เป็น “ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ”[7]
โดยระบุในเวลานั้นว่าฟ้าทะลายโจรมีข้อบ่งใช้คือ “1.บรรเทาอาการเจ็บคอ, 2.บรรเทาอาการของโรคหวัด (Common Cold) เช่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ” [7]
และข้อสำคัญคือยานี้มีความปลอดภัยเพียงใดนั้น ก็ให้พิจารณาในเวลานั้นว่าสามารถรับประทานในปริมาณที่รักษาโรคหวัดธรรมดาได้ขนาดยาที่มากกว่าการรักษาโควิด-19 เสียอีก
ความปลอดภัยของการรับประทานยาฟ้าทะลายโจร ดังกล่าวในการประกาศครั้งนั้นระบุว่า “บรรเทาอาการหวัด เจ็บคอให้รับประทานครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน”[7]
แปลให้เข้าใจง่ายๆ คือ หากรับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาดแคปซูล 400 มิลลิกรัม สามารถรับประทานได้ต่ำสุด 15 แคปซูลต่อวัน (ประมาณ 4 เม็ด 4 เวลา) หรือสูงสุด 30 แคปซูลต่อวัน (ประมาณ 8 เม็ด 4 เวลา) ซึ่งแปลว่าขนาดรับประทานยาหวัดธรรมดายังมากกว่าที่จะต้านไวรัสโควิด-19 เสียอีก
และความจริงก็สมเหตุสมผลตรงที่มีการปรับขนาดยาด้วย เพราะแต่ละคนแข็งแรงไม่เท่ากัน รับเชื้อได้ไม่เท่ากัน สายพันธุ์ไวรัสต่างกัน ภูมิคุ้มกันแต่ละคนไม่เท่ากัน การมีขนาดยาที่รับประทานที่ปรับเพิ่มได้สูงสุดถึง 30 แคปซูล (7-8 แคปซูลต่อมื้อ) ก็ยังมีความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการติดเชื้อที่ไม่เหมือนกัน
และความจริงที่มากไปกว่านั้น ในปัจจุบันนี้มีผู้ที่หายป่วยจากฟ้าทะลายโจรเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้ไปโรงพยาบาลเลย และหลายคนบริหารโควิด-19 ในบ้านเหมือนไข้หวัดธรรมดาโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ด้วยเพราะฟ้าทะลายโจรหาซื้อได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง และยังปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ด้วย
ด้วยเหตุผลนี้มีหลายคนเป็นหวัดก็ไม่ได้สนใจตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว เพราะประชาชนจำนวนมากเรียนรู้วิธีรับมือกับโรคระบาดเหล่านี้ ที่อ่อนแรงและไม่รุนแรงเหมือนเมื่อหลายปีก่อนแล้ว
ไม่เชื่อลองไปถามชาวบ้านดูว่าครอบครัวและคนรอบข้าง นึกถึงฟ้าทะลายโจรก่อน หรือนึกถึงว่าต้องไปที่โรงพยาบาลเพื่อรับยานำเข้าจากต่างชาติราคาแพงๆ ก่อนกันแน่?
การตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อโวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคคลากรสาธารณสุข ที่แพทย์จะไม่จ่ายยาฟ้าทะลายโจรแล้ว อย่างน้อยก็ควรจะคืนสิทธิ์ในการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ใช่หรือไม่?
เพราะหากคนไข้ที่ติดโควิด-19 จะไม่สามารถรับประทานยาฟ้าทะลายโจรในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อเบิกเงินในฐานะเป็นยาในบัญชียาหลักได้อีกต่อไป
ไม่เช่นนั้นคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ย่อมถูกตั้งคำถามว่ามีจิตใจคับแคบกีดกันวิชาชีพอื่นในการรักษาคนไข้หรือไม่?
หรือเลวร้ายกว่านั้นมีใครได้ผลประโยชน์ในการนำเข้ายาจากต่างประเทศในราคาแพงๆ แทนที่จะใช้ยาสมุนไพรที่ราคาไม่แพง หาได้ไม่ยาก และพึ่งพาตัวเองอย่างฟ้าทะลายโจรหรือไม่?
ด้วยวามปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษพันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] กรมการแพทย์, แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง, วันที่ 5 มิถุนายน 2567
https://eid.dms.go.th/Content/Select_Eid_Landding_page?contentId=182&bannerId=1
[2] กรมการแพทย์, แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข, ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 26 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
https://eid.dms.go.th/Content/Select_Eid_Landding_page?contentId=178&bannerId=1
[3] Khanit Sa-ngiamsuntorn, et al., Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives, J. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270, Publication Date:April 12, 2021
https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
[4] อัมพร เบญจพลพิทักษ์ และคณะ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, รายงานสังเขปผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย Covid-19, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 19 ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน 2564, หน้า 229-233
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/DTAM_Journal/DTAM_Journal_19-1/index.html
[5] นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี, ประสบการณ์การนำยาสมุนไพรไทยไปใช้ในสถานการณ์การระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในเรือนจำกรุงเทพมหานคร, ในการเสนาวิชาการหัวข้อ “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรในวิกฤต COVID-19, 17 มิถุนายน 2564
[6] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชีนยาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๐, ง ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/120/T_0046.PDF
[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๐, ง ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ หน้า ๘, เอกสารแนบหน้า ๒๗๔-๒๗๕