หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การเมืองเมื่อปี 2537 จากการเชิญชวนของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แล้วเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลชวน หลีกภัย ภายใต้ปีกของพรรคพลังธรรมก่อนจะมาจัดตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2541 แล้วชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2544 จากนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยก่อนถูกยึดอำนาจ หลังจากนั้นทักษิณก็ไม่ห่างหายไปจากการเมืองไทยเลยแม้จะหนีไปอยู่ในต่างประเทศ
การเป็นนายกรัฐมนตรีของทักษิณวิบากกรรมแรกคือการซุกหุ้นที่ฝากไว้กับคนใช้และคนขับรถที่ทักษิณเพิ่งจะเดินทางไปเผาศพที่โคราชจนอ้างว่าติดโควิดและไม่ได้ไปพบอัยการในวันสั่งฟ้องคดี 112 ครั้งนั้นทักษิณรอดมาได้ด้วยมติ 8-7
มติ 8-7 ของศาลรัฐธรรมนูญ สร้างความงุนงงให้กับคนทั่วไป เพราะใน 8 เสียงที่ตัดสินให้ทักษิณพ้นผิดนั้น มี 2 เสียงที่ลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี แต่ถูกเอาเข้าไปบวกรวมกับคะแนนเสียง 6 เสียงที่บอกว่าไม่ผิด ทำให้ผลการตัดสินออกมากลายเป็น 8 ต่อ 7 ไม่ใช้ 6 ต่อ 7 ทำให้ทักษิณพ้นผิด เกิดคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพราะกลัวกระแสของสังคมเพราะทักษิณฟีเวอร์มากในตอนนั้น
หลังถูกรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตตกลิน ทักษิณเตร็ดเตร่อยู่ต่างประเทศพักหนึ่งและกลับมากราบแผ่นดิน แล้วหนีออกไปอีกครั้งโดยอ้างว่าจะไปดูโอลิมปิกที่ประเทศจีน ก่อนจะตัดสินคดีที่ดินรัชดาที่ทักษิณในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐเซ็นชื่อให้ภรรยาซื้อที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนผิดกฎหมายปปช.มาตรา 100 ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคู่สัญญามีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ แต่มีความพยายามสร้างวาทกรรมว่า ทักษิณผิดเพราะเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน
ทักษิณหนีไปอยู่ต่างประเทศ 16 ปี แต่ระหว่างนั้นก็ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดเวลาในฐานะเจ้าของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา ผ่านนายกรัฐมนตรีที่เป็นนอมินีคือ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย และมาจนถึงชัยชนะในการเลือกตั้งภายหลังรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พ้นจากตำแหน่งแล้วเปิดให้มีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยของทักษิณก็ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์” ทำ
และเมื่อยิ่งลักษณ์ถูกยึดอำนาจแล้วรัฐบาลคสช.เปิดงานให้หนีไปอยู่ต่างประเทศอีกคน ทักษิณพูดหลายครั้งว่า เขาอยากจะวางมือทางการเมืองกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน เพราะแก่มากแล้ว แต่ในที่สุดทักษิณก็กลับมาประเทศหลังหลบหนีคดีไป 16 ปี ในขณะที่พรรคเพื่อไทยของเขาได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสว.สายของพล.อ.ประยุทธ์ยกมือให้กับเศรษฐาอย่างท่วมท้น จึงมองว่านี่เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดา และมีการพูดกันเรื่อง “ดีล”
การกลับเข้ามาของทักษิณได้รับการอำนวยการจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างดี มีการทูลเกล้าเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้อย่างรวดเร็ว สุดท้ายก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปีจากทั้งหมด 8 ปี เชื่อกันว่าการลดโทษเหลือ 1 ปี อาจจะไม่เป็นไปตามที่ทักษิณคาดมากนัก แต่สุดท้ายทักษิณก็ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยอ้างว่าป่วย แล้วมานอนพักที่ห้องรอยัลสูทชั้น 14 ห้องพักที่ดีที่สุดของโรงพยาบาลตำรวจแบบนักโทษเทวดา แพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจอ้างว่าทักษิณมีอันตรายเสี่ยงต่อชีวิต จนกระทั่งได้พักโทษ เมื่อนอนอยู่ในโรงพยาบาลครบ 6 เดือน
แต่เมื่อทักษิณได้พักโทษอาการป่วยของเขากลับหายเป็นปลิดทิ้ง ภาพที่เขาลงเล่นน้ำในสระไม่ปรากฎร่องรอยการอ้างว่าถูกผ่าตัดที่หัวไหล่แม้แต่น้อย แล้วทักษิณก็เดินสายไปทั่วประเทศตั้งแต่เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ได้รับการต้อนรับแห่แหนราวกับเป็นอภินายกรัฐมนตรี โดยไม่แคร์สายตาและคำติฉินของสังคมที่ตั้งคำถามเรื่องการป่วยทิพย์ เพราะกล่าวกันว่า ทักษิณเชื่อมั่นในพลังอำนาจที่ตัวเองมี ที่สำคัญมี “ดีล” ที่เชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในสังคม
การป่วยทิพย์ของทักษิณที่ท้าทายต่อสังคมและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทำให้ถูกมองถึงความเป็นอภิสิทธิชนและความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม ทำให้คนหลายคนที่เคยต่อสู้กับทักษิณท้อถอยวางมือ กระทั่งหันไปสนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิม
ทักษิณยังเป็นทักษิณคนเดิมที่มีความโอหังมมังการเมื่อมีอำนาจ โดยเฉพาะการยิ่งพยายามแสดงออกให้สังคมรู้ว่าตัวเองยังคงมีอำนาจที่สะท้อนภาวะทางจิตวิทยาจากการพลัดพรากแผ่นดินไป 16 ปีก็ยิ่งทำให้เขาต้องแสดงตัวให้เห็นว่ายังเป็นคนที่มีความสำคัญและยังมีอำนาจอยู่ออกมา
จนกระทั่งถูกอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องในคดีมาตรา 112 ตามอัยการสูงสุดคนเก่าที่มีคำสั่งฟ้องไว้แล้ว แต่ทักษิณได้ยื่นขอความเป็นธรรมหลังจากมาจากต่างประเทศ หลังจากนี้ก็ดูว่า ทักษิณจะต่อสู้คดีแบบไหน ในวันที่ 18 มิถุนายนจะมารายงานตัวเพื่อส่งฟ้องต่อศาลไหม และจะได้ประกันตัวไหมในฐานะที่เคยมีประวัติการหลบหนีคดีมาก่อน และเป็นผู้มีอิทธิพลที่อาจจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ มีรายงานข่าวว่า มีอดีตประธานศาลฎีกา 2 คน ที่มีวาระติดกันพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้ประกันตัว แต่หากได้ประกันก็น่าจะรอดูว่าศาลจะสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่
อย่าลืมว่าทักษิณมีเครื่องบินส่วนตัว และโอลิมปิกที่ปารีสก็ใกล้จะเปิดโรงแล้ว บรรยากาศจึงคล้ายๆกับที่เขาหลบหนีออกไปครั้งแรก
การเมืองไทยนับตั้งแต่ปี 2537 ที่ทักษิณเข้าสู่การเมือง เขาจึงเป็นตัวหลักสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรืออยู่ต่างประเทศ เราไม่รู้หรอกว่า เขามีข้อตกลงอะไรใน “ดีล” ที่กลับประเทศโดยไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว และหลังจากพักโทษแล้วเขากลับแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของเขาที่มีเหนือรัฐบาลเพื่อส่งสัญญาณให้สังคมส่วนใหญ่รับทราบว่า เขายังมีบารมีและเป็นคนสำคัญในทางการเมือง เพื่อจะบอกว่า วิกฤตที่ท้าทายต่อระบอบและรูปแบบรัฐของประเทศนี้จากพรรคก้าวไกลนั้นจะต้องพึ่งพาเขาเท่านั้น
แต่ความจริงที่เราเห็นก็คือ การแสดงออกของทักษิณที่ท้าทายต่อความถูกต้องทั้งมวลนั้น กลับกลายเป็นกระแสตีกลับถึงความยิ่งใหญ่และโอหังยิ่งกว่าเก่าของทักษิณ กลายเป็นไปเพิ่มความนิยมให้พรรคก้าวไกลมากขึ้นกว่าจากผลการสำรวจที่ออกมาและมีความน่าเชื่อถือว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่พรรคก้าวไกลจะยิ่งได้รับการเลือกตั้งมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า รอวัดดวงกันแต่ว่าพรรคก้าวไกลจะได้ชัยชนะเกินครึ่งไหม แ ละถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังต้านทานพรรคก้าวไกลเอาไว้ได้ ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าอีกไม่นานสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงก็จะกวาดทุกอย่างที่เคยมีเคยเป็นให้มลายหายไป
ไม่รู้เหมือนกันว่า การถูกเชือกรัดคอไว้ด้วยคดี 112 นั้น จะทำให้ทักษิณทบทวนและลดทอนความโอหังของตัวเองลงหรือไม่ และพยายามแสดงตัวให้เห็นว่าตัวเองเป็นอภินายกรัฐมนตรีและเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงลดน้อยลงหรือไม่
สำหรับคนไทยที่ไม่เอาระบอบทักษิณและเกรงกลัวความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายของพรรคก้าวไกลหากพวกเขาได้อำนาจรัฐ ดูจะไม่มีทางเลือกและทางออกให้เลือกเดินมานัก นอกจากรอคอยชะตากรรมเพราะฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีอำนาจและพลังที่จะต่อรองมากนัก จนต้องฝากประเทศเอาไว้กับทักษิณ จะยอมรับได้หรือไม่ก็ต้องยอมจำทน แต่ทักษิณก็ไม่ได้ทบทวนบทเรียนในอดีต กลับแสดงธาตุแท้และนิสัยของตัวเองออกมาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แต่หากพรรคก้าวไกลได้อำนาจรัฐก็ไม่รู้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่ให้ประเทศอยู่ในมือของพวกเชาที่เหมือนกับปล่อยให้หมอมือใหม่ทำหน้าที่ผ่าตัดประเทศ ซ้ำรอยกับการยึดอำนาจของปรีดีในยุคที่“มีอำนาจ ก็ไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อมีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ”จนประเทศเสียหายจนถึงวันนี้หรือไม่ หรือความคิดที่สุดโต่งของพวกเขาที่ต้องการลดทอนอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป้าหมายที่ซ่อนเร้นจะกลายเป็นชนวนของความแตกแยกในสังคมไทยและเกิดมิคสัญญีในสังคมไทยอีกครั้ง และประเทศไทยจะวนเข้าสู่ลูปของการยึดอำนาจโดยทหารอีกไหม
ดูไม่ออกเหมือนกันว่า การพึ่งพาทักษิณกับการไม่พึ่งพาทักษิณเพื่อต้านทานการเปลี่ยนแปลงนั้นอะไรที่จะทำให้ประเทศไทยเผชิญกับชะตากรรมที่วิกฤตกว่ากัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan