คำว่า พอเพียง หมายถึงให้รู้จักพอไม่แสวงหาเกินกว่าที่ศักยภาพของตนเองจะพึงทำได้ โดยความชอบธรรม ไม่ใช้สอยทรัพยากรเกินกว่าปริมาณทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยภาษาพื้นๆ ก็คือ การไม่ใช้จ่ายเกินตัว ประเภทมี 5 จ่าย 10 ติดลบ 5 อะไรประมาณนี้
แต่มิได้หมายความว่าให้งอมือ งอเท้า และพอใจอยู่กับความยากจนทนอยู่กับความลำบาก แต่ให้ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากินอย่างเต็มกำลังความสามารถ และให้ยินดีในสิ่งที่ตนได้มาโดยชอบธรรม ทั้งจะต้องไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยใช้จ่ายเกินฐานะทางการเงินของตนเอง ในทำนองเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง
ดังนั้น ดังความพอเพียงจึงเป็นภูมิคุ้มกันมิให้เกิดความโลภ ความอยากได้ โดยไร้ขอบเขตแห่งคุณธรรม และจริยธรรม แล้วนำไปสู่การทุจริต คอร์รัปชัน ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นในสังคมไทยในขณะนี้
อนึ่ง คำว่า พอเพียงมีรากเหง้าหรือที่มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วยสันโดษหรือความยินดี 3 ประการคือ
1. ยถาลาภสันโดษคือ ยินดีในสิ่งที่ตนหามาได้โดยความชอบธรรม
2. ยถาพลสันโดษคือ ยินดีเท่าที่หามาได้ตามกำลังของตน
3. ยถาสารุปปสันโดษคือ ยินดีในสิ่งที่เหมาะกับเพศภาวะและสถานะทางสังคมของตนเอง
ดังนั้น ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยเพื่อนำไปปฏิบัติในการแก้ปัญหาความยากจน จึงสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น และสอดคล้องกับสุภาษิตไทยที่ว่า นกน้อยทำรังแต่พอตัว ทั้งยังสอดคล้องกับปรัชญาพุทธที่ว่าด้วยการหาทรัพย์และการใช้ทรัพย์ที่ว่าผู้ครองเรือน จงดูการทำงานของตัวผึ้งในการแสวงหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ แม้ทีละน้อยค่อยสะสมเป็นรวงใหญ่โตได้ และให้ดูการใช้ยาหยอดตาแม้ทีละหยดก็หมดได้
โดยนัยแห่งปรัชญาในเชิงอุปมาอุปไมยดังกล่าวข้างต้น หมายถึงให้ขยันหาทรัพย์เหมือนผึ้งหาน้ำหวาน และให้ใช้อย่างประหยัดอย่าใช้โดยไม่จำเป็นแม้ทีละน้อยก็หมดได้ ในทำนองเดียวกับยาหยอดตา
ในขณะเดียวกัน พระพุทธองค์ได้ทรงสอนหลักการใช้เงินไว้อย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และสอดคล้องกับความพอเพียงที่ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์ที่หามาได้ออกเป็น 4 ส่วน เรียกว่า โภควิภาค 4 คือการแบ่งทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กันดังนี้
หนึ่งส่วนหรือ 25% ใช้เพื่อการเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมเท่าที่จำเป็น
สองส่วนหรือ 50% ใช้เพื่อประกอบกิจการงานที่จะก่อให้เกิดรายได้
หนึ่งส่วนหรือ 25% สุดท้ายเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
โดยนัยแห่งความพอเพียงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพียงแต่ผู้ที่จะเดินตามแนวทางนี้จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนลงมือปฏิบัติ จึงจะให้ผลคือหลุดพ้นจากความจนได้ โดยเริ่มจากลด ละ และเลิกความฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือยอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความจน และเข้าสู่ความสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายแล้วค่อยๆ ก้าวขึ้นสู่ความร่ำรวยโดยการนำเงินที่สะสมไว้ไปลงทุนไม่ต้องกู้ยืม
ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วหลายรายที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า พอเพียง จะเห็นได้จากที่บอกว่า คำว่า พอเพียง เป็นแค่วาทกรรมทำไม่ได้จริง และบางคนพูดในทำนองล้อเลียน เสียดสี เฉกเช่นที่โน้ส อุดม แต้พานิช ได้พูดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยการด่าตนเองกระทบสังคมโดยมุ่งให้คนฟังเกิดความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะได้ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ เพราะสามารถหาเงินได้จากคนที่มีธาตุแท้เหมือนกัน แต่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ฟังแล้วเห็นต่าง นอกจากไม่ขบขันแล้วยังเกิดความรู้สึกไม่พอใจ และได้ออกมาตอบโต้ทางสื่ออย่างกว้างขวาง จึงเท่ากับสร้างความแตกแยกโดยไม่ตั้งใจ
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเห็นว่าถ้าโน้สต้องการจะโดดเด่นในเส้นทางคนขายหัวเราะต่อไป ควรจะศึกษาและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ตนจะนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเสียงหัวเราะให้รอบคอบ และรัดกุมก่อนจะได้ไม่มีศัตรูทางสังคม เฉกเช่นตลกดังในอดีตเช่น จำรูญ หนวดจิ๋ม และสมพงษ์ พงษ์มิตร เป็นต้น
อนึ่ง จะต้องไม่ลืมว่า การนำจุดด้อยของคนดังมาล้อเลียนจะต้องทำในลักษณะยาขมเคลือบน้ำตาลให้คนที่ถูกล้อเลียนได้ประโยชน์จากการได้รับรู้จุดด้อยของตนเอง แล้วนำไปแก้ไข แต่ที่โน้สพูดเกี่ยวกับความพอเพียงเป็นการพูดแบบเอาศิลปะห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอม จึงทำให้คนที่มองเห็นสิ่งที่ถูกห่อหุ้มไว้ออกมาตอบโต้ได้