xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวงรัชกาลที่ 4 พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงล้างอาถรรพ์ของการถ่ายรูปและการปั้นรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เรื่องถ่ายรูป วาดรูป หรือ ปั้นรูปคนเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่ คนสมัยโบราณนั้นถือกันมาก กลัวว่าจะเป็นอาถรรพ์ ไม่เป็นมงคล กลัวไปในทางไสยศาสตร์

พระเจ้าแผ่นดินไทยที่ทรงทันสมัยที่สุด ที่คิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ ทรงลบล้างความเชื่อเหล่านี้คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 โปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เพื่ออัญเชิญไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษเป็นการเจริญพระราชไมตรี

ในหลวงรัชกาลที่ 4 โปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์กับเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียถวายมา เช่น แท่นกระปุกหมึก ปืนไรเฟิล ปืนสั้น พระขรรค์ เป็นต้น กล้องที่ใช้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชบรรณาการ เพื่อถวายกลับยังสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร


ผมคิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์แรกที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ถ่ายด้วยกล้องสมัยใหม่ (หากมีใครมีข้อมูลที่เก่าแก่กว่านี้โปรดแจ้งทันทีด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง)

ก่อนหน้านั้นภาพถ่ายหรือแม้แต่ภาพวาดพระเจ้าแผ่นดินนั้น เป็นภาพวาดที่ฝรั่งตะวันตกวาดเองจากความทรงจำทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพเชอวาเลีย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยื่นถวายพระราชสาสน์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ที่พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เมืองลพบุรี นั้นก็วาดจากจินตนาการของจิตรกรชาวตะวันตก

ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทันสมัยมาก ไม่ทรงเชื่อเรื่องถ่ายรูปแล้วอาถรรพ์ จะไม่เป็นมงคล ก็เลยทรงให้ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ไปถวายพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเป็นการเจริญพระราชไมตรี และเป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามนั้นทันสมัยอีกด้วย

ธรรมเนียมเดิมของไทย ไม่ถ่ายรูป ไม่ปั้นรูป แต่สร้างพระแล้วถวายนามพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระนามพระพุทธรูป แต่ก็สร้างพระหลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ สวรรคตแล้ว ดังที่ปรากฎ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรขนาดใหญ่สององค์ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

พี่เอนก นาวิกมูล ได้ค้นคว้าและเขียนบทความชื่อ “รุสโซเก็บพระบรมรูปชิ้นแรกของกษัตริย์ไทย” ใน หนังสือ “ฝรั่งเขียนไทย” เอาไว้ว่าพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ได้ไปพบกับมงซิเออร์รุสโซ เรสิดัง ในกรุงพนมเปญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้พอสืบทราบรายละเอียดได้ว่ารัฐบาลสยามได้ว่าจ้างมงซิเออร์ซาตรูสชาวฝรั่งเศสให้เป็นผู้ปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพ.ศ. 2406 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรพระบรมรูปปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ก็ทรงเห็นว่าผิดเพี้ยนไม่ถูกต้องจึงไม่โปรด (ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกไว้) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ช่างปั้นไทยฝีมือเยี่ยมปั้นพระบรมรูปถวายแทน

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม




พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์ที่ไม่โปรดนั้น เมื่อเอนก นาวิกมูลได้ไปค้นคว้าอัลบั้มในหอสมุดดำรงราชานุภาพ ก็ได้พบรูปภาพพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 4 ที่ค่อนข้างผิดสัดส่วนไปมาก น่าจะเป็นสาเหตุที่ไม่โปรด แต่มีเอกสารว่ามีการปั้นพระบรมรูปในสมัยรัชกาลที่ 4 จริงๆ ดังมีจดหมายจากพระยาศรีสหเทพมาทูลราชเลขานุการว่าได้ไปพบพระบรมรูปปั้นโดยมงซิเออร์ซาตรูสและเก็บไว้โดยมงซิเออร์รุสโซและมีประสงค์จะทูลเกล้าถวาย ทั้งนี้พระบรมรูปองค์นี้น่าจะเก็บอยู่ที่ใดที่หนึ่งในกระทรวงวังหรือพระบรมมหาราชวังแต่ก็ยังไม่มีผู้ใดค้นพบ คงเป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้ากันอีกต่อไปในอนาคต


สำหรับพระบรมรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ช่างปั้นไทยฝีมือดีปั้นถวายนั้น คือพระบรมรูปที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังได้อัญเชิญพระบรมรูปองค์นี้มาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร และสร้างองค์จำลองไปประดิษฐานที่เขาวัง จังหวัดเพชรบุรีแทน


สรุปคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ทรงกลัวอาถรรพ์ โปรดให้ทั้งฉายพระบรมฉายาลักษณ์และปั้นพระบรมรูปของพระองค์เอง มาก่อนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดๆ ในแผ่นดินสยาม

ส่วนเรื่องปั้นพระบรมรูปบูรพกษัตริย์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงปั้นพระบรมรูป ในหลวงรัชกาลที่ 1-4 ดังที่ประดิษฐานไว้ในปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์ ความทรงจำ เอาไว้ว่า


“.....พระบรมรูป 4 พระองค์นั้นโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการเมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะแน่ชัดแต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ที่เคยได้เห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ 4 คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2 พระองค์ 1 , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง องค์ 1 , เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน 1 , กับเจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน 1 ปั้นพระบรมรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2414 แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก....”

พระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ 9 รัชกาลในปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ส่วนพระองค์เองก็มีพระบรมรูปทรงม้าที่โปรดให้ปั้นเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ที่โรงหล่อ “SUSSE Fres Fondeurs PARIS” ของ “พี่น้องตระกูลซูส ปารีส” ซึ่งได้จารึกไว้ ณ ฐานพระบรมรูปทรงม้าอย่างชัดเจน

พระบรมรูปทรงม้ากับบรรดาช่างปั้น ช่างหล่อ ณ โรงหล่อในกรุงปารีส
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นี้ทรงเล่นกล้องด้วยพระองค์เอง โปรดประทับให้ศิลปินวาดภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ถวาย เรียกได้ว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงทันสมัยอย่างเต็มที่ โปรดเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงกล้องถ่ายรูปกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับเป็นแบบให้นายเซซาเร แฟร์โร เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ บริเวณหน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ใกล้กับพระที่นั่งวิมานเมฆ ในพระราชวังดุสิต
ดังนั้นแต่โบราณ จึงหาพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ยากยิ่ง ถ้าหากเป็นพระบรมฉายาสาทิศลักษณ์คือภาพวาด ก็จะเป็นภาพที่วาดโดยชาติตะวันตกจากความทรงจำที่ได้เข้าเฝ้าหรือจากจินตนาการ ถ้าหากเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ก็จะยิ่งยากมาก เพราะกล้องอาจจะยังไม่มี

เรื่องความกลัวอาถรรพ์ของการถ่ายรูป ปั้นรูป ของคนโบราณนี่ น่าจะเป็นกันทั่วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงพบเจอแต่เทวรูปหรือพระพุทธรูปเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเจอวัตถุโบราณพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินมากนัก

ประติมากรรม โกลเด้นบอย ที่เกิดคดีความในสหรัฐอเมริกา เป็นเผือกร้อนที่ทาง The Met หรือ The Metropolitan Museum of Art นครนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา เร่งรีบส่งคืนให้กรมศิลปากรของไทยนั้น ได้มีการวิเคราะห์กันว่าเป็นพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินเขมรโบราณคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมายก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกันกัน แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเขมรโบราณทรงทันสมัย ไม่กลัวอาถรรพ์เรื่องรูปถ่ายหรือรูปปั้นเลย ก็อาจจะต้องวิเคราะห์สืบสวนหาหลักฐานให้ชัดเจนมากกว่านี้ แต่บางทีพระเจ้าแผ่นดินเขมรโบราณอาจจะทรงทันสมัยมากก็ได้ เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่ขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น