xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนไทยชอบทำบุญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



มีข่าวฮือฮาแม่ชีถวายรถบีเอ็ม ซีรีส์ 7 ให้กับพระจนเป็นที่โจษจันกันไปทั่ว โดยแม่ชีเจิ้นวัดป่าบ่อน้ำพระอินทร์ได้โพสต์ภาพนำรถเก๋งหรูบีเอ็มดับเบิลยูสีดำทะเบียนป้ายแดงมาถวายให้กับหลวงตาสินทรัพย์ จรณธมฺโม ประธานที่พักสงฆ์ป่าบ่อน้ำพระอินทร์ จ.อุบลราชธานี โดยระบุข้อความว่า

“กราบอนุโมทนาสาธุการ” หลวงตาเดินทางกิจนิมนต์บ่อยณ โอกาสนี้แม่ชีเจิ้นเล็งเห็นประโยชน์มีความประสงค์อยากน้อมถวายยานพาหนะที่ทรงคุณค่าและคู่ควรที่สุดกับท่านหลวงตา

จนพระสินทรัพย์หรือหลวงตาสิ้นคิด ต้องออกมาบอกว่า ตัวเองไม่ได้อยากได้ เพราะเคยมีรถเบนซ์หลายคันมีบ้านหลายหลังก่อนมาบวชเคยทำเต็นท์รถมาก่อน แต่เป็นศรัทธาของคนที่มอบให้ หลวงตาบอกว่า บวชมาก็ทำแต่ความดีไม่เคยทำอะไรไม่เหมาะสมสิ่งที่ลูกศิษย์ถวายมาหลวงตาก็บริจาคต่อมีรถ 10 กว่าคัน เบนซ์ 5 คันเงินบริจาคมีเป็นสิบๆ ล้านหลวงตาก็บริจาคต่อไม่เคยสะสมเงินทอง

เราคงจะไปห้ามศรัทธาของใครไม่ได้ เป็นสิทธิ์แต่ละคน คนมีมากก็ทำมาก คนมีน้อยก็อย่าไปทำมาก การทำบุญกับพระหรือวัดนั้น เราจะต้องนึกถึงความพอดี คนส่วนใหญ่ที่เข้าไปบวชพระส่วนใหญ่ต้องการละจากกิเลสทั้งปวง อยากแสวงหาความสงบเงียบ ดังนั้นเราจึงไม่ควรไปเพิ่มกิเลสให้พระ

คนไทยส่วนใหญ่กว่า 90% นั้น นับถือศาสนาพุทธ และนิสัยของคนไทยเป็นคนชอบทำบุญ เคยมีข่าวว่าขอทานต่างชาติชอบลักลอบเข้ามาขอทานในไทยมากเพราะมีรายได้ดี แต่เงินส่วนใหญ่ของคนไทยก็คือ การทำบุญกับวัดนี่แหละ ทั้งทำบุญในวาระต่างๆ ของตัวเอง และทำบุญในเทศกาลทอดกฐิน และทอดผ้าป่า เคยมีการสำรวจยืนยันว่า คนไทยทำบุญเป็นอันดับต้นของโลก

คนไทยชอบทำบุญกับวัด โดยเฉพาะวัดที่มีพระดังและมีชื่อเสียง ในแต่ละปีบางวัดได้เงินในเทศกาลทอดกฐินหรือทอดผ้าป่าเป็นเงินหลายสิบล้านบาทหรือบางวัดได้เป็นร้อยล้าน แม้ว่าการทอดกฐินและทอดผ้าป่าจะเป็นประเพณีของพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมานาน แต่ก็มีคำถามว่า เราทำบุญทอดผ้าป่าหรือทอดกฐินให้กับบางวัดจนเกินไปไหม แล้วทำไมเราต้องทอดกับวัดดังหรือพระดังๆ ในขณะที่วัดที่ไม่ดังและพระไม่ดังถึงทอดก็ได้เงินน้อยมาก

แม้ว่าวัดจะได้เงินจากการทำบุญของคนไทยไปสร้างสาธารณูปโภคขึ้นในวัด แต่ก็มีคำถามว่า ยอดเงินที่บางวัดได้รับไปนั้นเกินจำเป็นไหม และจำเป็นไหมที่จะต้องสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดขึ้นมามากมาย และรู้ไหมว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีวัดเพิ่มขึ้นทุกปี ในปัจจุบันมีวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศ 42,655 วัด เป็นพระอารามหลวง 310 วัด วัดราษฎร์ 42,345 วัด วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 25,802 วัด และวัดที่ไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 16,853 วัด

นอกจากวัดจะได้เงินจากการทำบุญของคนไทยแล้ว ในแต่ละปีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังจัดเงินให้วัดด้วย ที่เราเคยได้ข่าวว่ามีเงินทอนวัดจนพระบางองค์ถูกจับสึกติดคุกนั่นแหละ แถมบางวัดยังมีรายได้จากการขายวัตถุมงคลต่างๆอีกจำนวนมาก มีรายได้มหาศาลและมักจะเกิดความขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์กัน พระบางรูปมรณภาพไปพบเงินในกุฏิหลายสิบล้านบาท

แน่นอนแหละว่า เรามักจะเลือกทำบุญกับวัดที่เรามีความใกล้ชิดกับพระที่เราให้ความนับถือ แต่เราควรพิจารณาไหมว่า วัดนั้นมีปัจจัยและสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นมากแล้ว และหากพระในวัดนั้นไม่มีความจำเป็นในรายจ่ายมากนัก เราก็ไม่จำเป็นต้องทอดกฐินวัดนั้นทุกปี หรือไปทำบุญอย่างอื่น เช่น ทำบุญกับโรงพยาบาลซึ่งน่าจะได้อานิสงส์มากกว่าในประเทศไทยของเราโรงพยาบาลยังขาดแคลนเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลระดับตำบลหรืออำเภอ

อย่าไปคิดว่าการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์เป็นภาระของรัฐ เพราะจริงๆ แล้ว รัฐก็ไม่ได้มีงบประมาณมากพอที่จะจัดสรรให้ทุกโรงพยาบาลมีเครื่องมือที่พอเพียงกันได้โดยทั่วหน้า ถ้าเราเปลี่ยนจากการทำบุญกับวัดมาทำกับโรงพยาบาลบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าไหม เพราะสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์จากโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก็คือตัวเราเอง ทำบุญวันนี้แล้วเห็นผลทันที

ผมทราบนะครับว่า ในปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่หันมาทำบุญกับโรงพยาบาล เราเห็นข่าวคราวกับบริจาคของบุคคลและบริษัทห้างร้านต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด โดยคุณจุน-คุณสุนทรีวนวิทย์ และครอบครัวบริจาคเงิน 900,000,000 บาทแก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยมาก

ส่วนตัวผมอยากให้การบริจาคให้โรงพยาบาลเป็นหมุดหมายแรกของคนไทยโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ยังขาดแคลน ส่วนการบริจาคให้กับวัดนั้นเอาเถอะเราเป็นชาวพุทธก็ทำไป แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า เราบริจาคจนทำให้วัดสะสมเงินและก่อสร้างวัตถุจนเกินความจำเป็นไหม

ผมเข้าใจนะครับว่า การทำบุญ การทอดกฐิน การทอดผ้าป่าเป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่พุทธกาล ผมอยากจะให้คนยังคงทำบุญเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ต่อเนื่องไป เพียงแต่ว่าอยากจะให้พิจารณาว่าความพอดีกับการทำบุญให้กับพระและวัดนั้นอยู่ที่ไหน และวัดไหนมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินเพียงใดเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ผมไม่มีตัวเลขการทำบุญของคนไทยในระยะใกล้ๆ แต่เคยมีการสำรวจโดย SCB EIC ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยในปี 2552-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 96% ของครัวเรือนไทยทั้งหมดมีรายจ่ายเพื่อการกุศล (คือมีสมาชิกในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนที่มีรายจ่ายเพื่อการกุศลตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปภายในระยะเวลา 1 ปี) โดยรายจ่ายในส่วนนี้ประกอบไปด้วยค่าอาหาร/ของถวายพระ/ไหว้เจ้าและเงินทำบุญและการซื้อของให้แก่องค์กรต่างๆ

ทั้งนี้มูลค่าของรายจ่ายเพื่อการกุศลรวมทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทหรือ 6.2 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปีเพิ่มขึ้นจากประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาทในปี 2552 หรือ 5.0 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปีหรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8% ต่อปีซึ่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทางเศรษฐกิจ (nominal GDP) ที่ 6.0% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัจจุบันปี 2567 ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นมาก จากตัวเลขการทำบุญของคนไทยมีการทำบุญทางอื่นด้วย เช่น ช่วยผู้ยากไร้ ช่วยองค์กรหรือมูลนิธิด้านเด็ก คนพิการ แต่ผมคิดว่า เงินทำบุญส่วนใหญ่ของคนไทยทำกับพระและวัดนั่นแหละ

ผมเลยอยากจะชวนให้คนไทยและคนพุทธหันมาพิจารณาว่า เราควรทำบุญกับวัดตามความจำเป็นขัดสน อย่าไปมุ่งให้วัดสร้างอาคารวัตถุจนเกินความจำเป็น แต่หันมาทำบุญกับโรงพยาบาลให้มากดีไหม หรือไม่ก็หันมาบริจาคให้โรงเรียนที่ขัดสนอย่าคิดว่าเป็นภาระของรัฐอย่างเดียว

นี่เป็นความเห็นของผมนะครับ ผิดถูกก็น้อมรับแต่โดยดี แต่ใครยังยืนยันว่าจะทำบุญกับวัดและพระต่อไปถ้าคิดว่าดีทำแล้วได้บุญก็ทำไปเถอะ
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan



กำลังโหลดความคิดเห็น