“พัชรวาท” ถกโรดแม๊ปลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบปี 2573 เพื่อเร่งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนกับทุกภาคส่วน พร้อมเคาะแผน เข้าถึงกลไกทางการเงินระหว่างประเทศ กำชับทุกหน่วยงานเร่งมือเต็มที่
เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 1/2567 โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
ในการประชุมมีวาระพิจารณาติดตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในทุกสาขา ภายในปี พ.ศ. 2573 สืบเนื่องจากการยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิม ร้อยละ 20-25 เทียบกับกรณีปกติ เป็นร้อยละ 30 (ดำเนินการเอง) และร้อยละ 40 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ ตามร่างแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ที่ได้มีการเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ร้อยละ 0.7 โดยมุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ร้อยละ 22.5 ภาคขนส่ง ร้อยละ 8.2 ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม
และการใช้ผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 0.3 ภาคของเสีย ร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ ผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 60.33 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการดำเนินงาน เนื่องจากยังห่างจากเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการเองอีก 2 ใน 3 ส่วน
ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
ทั้งนี้ ในส่วนของการขอรับการสนับสนุนระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ได้จัดทำและพร้อมเผยแพร่กรอบการขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศ ขั้นตอนและหลักเกณฑ์
ในการพิจารณาโครงการภายใต้กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อเป็นเครื่องมือ
ให้ทุกภาคส่วนใช้ในการขอรับการสนับสนุนเงินต่อไป ซึ่ง กนภ. ได้ให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งนี้ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนภ. ได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1.เห็นชอบในหลักการร่างแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร และของเสีย จะนำไปปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ร้อยละ 30 – 40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอร่างแผนปฏิบัติการฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาตามขั้นตอนการนำเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2.เห็นชอบต่อร่างรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการรายสาขา ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 รวม 60.33 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) จากเป้าหมายประมาณ 184.8 MtCO2eq ในปี พ.ศ. 2573 (กรณีดำเนินการเอง) โดยมอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) นำไปประกอบการจัดทำรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี (Biennial Transparency Report: BTR) ฉบับที่ 1
3.เห็นชอบในหลักการต่อร่างบันทึกความตกลง (Letter of Agreement) และเอกสารโครงการ (Project Document) ของโครงการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (BTR1) และรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ร่วมกับรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 2 (NC5/BTR2) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนลงนามในเอกสารดังกล่าว และเร่งจัดทำรายงาน BTR ฉบับที่ 1 ซึ่งจะต้องส่งให้สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2567
4.สำหรับโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวประหยัดพลังงานได้เห็นชอบในหลักการต่อร่างบันทึกความตกลงโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน
5.เห็นชอบร่างกรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
และ 6.เห็นชอบร่างขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยมอบหมายให้ สส. เผยแพร่เอกสารดังกล่าวต่อสาธารณชน.