xs
xsm
sm
md
lg

อนุสติต่อสังคมจากปัญหาประวัติศาสตร์-โบราณคดีที่วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้หรือไม่? พระแท้ พระปลอม พระเก่าเพิ่งเอามาแช่น้ำไม่นาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สืบเนื่องมาจากประเด็นมีการเจอพระพุทธรูปโบราณในแม่น้ำโขง อายุประมาณห้าร้อยปีหากสันนิษฐานตามพุทธศิลป์และประวัติศาสตร์ศิลป์ ประกอบกับตำนานและจารึกต่างๆ มากมายนั้น

บ้างก็ว่าจริงแท้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นเซียนพระ พ่อค้าพระเครื่อง วัตถุโบราณ นักสะสมของเก่าหรือพระเครื่อง

บ้างก็บอกว่าของเก่า เพิ่งเอามาลงแช่น้ำไม่นานนัก เป็นการจัดฉาก สร้างสตอรี่เพื่อพุทธพาณิชย์และการค้าวัตถุโบราณ

งั้นเรามาลองพิจารณากันว่าปัญหาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สามารถตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ได้บ้างหรือไม่กันดังนี้

หนึ่ง มีนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ไปศึกษาพระพุทธรูปโบราณองคนี้จริงที่ฝั่งลาว แล้วเขียนข้อความว่า
เนื้อพระพุทธรูปสำริด (องค์ที่มีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่า พระเจ้าตนหลวง) เต็มไปด้วยคราบสนิมจับ กระจายทั่วทุกจุด มีรอยผุกร่อนแตกเป็นร่อง เป็นแผ่น หลายช่วง ซึ่งมองในระยะไกลจะไม่เห็น ต้องใช้กล้องเลนส์ซูมจึงจะเห็นชัด

คำถามคือ พระพุทธรูปทำด้วยโลหะสำริด จมน้ำมานับร้อยปี มีรอยสนิมและรอยผุกร่อนทั่วองค์ แต่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องเลนส์ซูมจึงจะเห็น

ตกลงจมน้ำมาร้อยปีแล้วเกิดสนิมและริ้วรอยผุกร่อนแค่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น?

หรือเพิ่งยกลงไปแช่ไม่กี่วัน? เลยเพิ่งเริ่มผุกร่อนและมีสนิมนิดหน่อยชนิดที่ต้องใช้กล้องซูมจึงจะเห็น

ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกัน ไม่ตัดสิน

สอง พระพุทธรูปแช่น้ำร้อยปี ยางรักที่พระเนตร ดำขลับ ไม่หลุดร่อน เป็นเพราะอะไร

เพราะพุทธานุภาพของพระพุทธรูปโบราณ หรือ ปาฎิหาริย์ของพญานาคแม่น้ำโขง หรือ เพิ่งยกลงไปแช่น้ำไม่นาน

ยางรักเป็นสารอินทรีย์เลยยังไม่ละลายน้ำ ไม่หลุดร่อน ได้เป็นร้อย ๆ ปี ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกัน ไม่ตัดสิน

สาม สำริดแช่น้ำในแม่น้ำโขงเป็นร้อยปี ไม่มีรอยบุบสลาย ไม่เคยโดนหินกระแทก ไม่เคยโดนซุงกระแทก แต่กรวดแม่น้ำกลมมนหมด น้ำแม่โขงหน้าแล้งกับน้ำฝน เชี่ยวกราก สูงต่างกันเป็นสิบเมตร หอบดิน ตะกอนจนเกิดเดลต้าปากแม่น้ำโขงขนาดใหญ่ยักษ์ที่เวียดนามตอนใต้ได้ หน้าแล้งลงไปเดินข้ามได้

มีข้อถกเถียงว่า ลึกตั้งห้าเมตรตอนขุด จะมีรอยบุบสลายได้อย่างไร

อ้อ วันที่ตลิ่งพังลงไป พญานาคแม่น้ำโขงท่านช้อนรับไว้ แล้วกวัดหางคุ้ยกรวดทรายแม่น้ำโขงฝังไว้ลึกห้าเมตร เป็นร้อยปีเลยไม่บุบสลาย

กับถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์ ลงน้ำไปร้อยปี เจอหิน ซุงกระแทกใส่ ค่อยๆ สะสมตะกอนจนหนาห้าเมตร ไม่ได้เอาไปฝังดินห้าเมตรทีเดียว

ถ้าเป็นอย่างหลัง รอยบุบรอยกระแทกจะเต็มไปหมด เพราะผ่านการสะสมตะกอน (Sediment) ต่างๆ ตามธรรมชาติทีละเล็กละน้อย ต้องเจอการกระแทกจนบุบจนเป็นรอย

ตกลงอันไหนธรรมชาติหอบตะกอนมาฝังให้ อันไหนมนุษย์ ขุดลงไปฝังไว้ไม่นาน

ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกัน ไม่ตัดสิน

สี่ ทองคำเปลวที่ปิดไว้ ด้วยยางรัก แช่น้ำร้อยปี ไม่หลุดร่อน ยังหลงเหลือ มหัศจรรย์

อันนี้ก็มีคนแก้ต่างว่าเป็นกระแสน้ำทองตอนหลอมสำริด

บางคนก็บอกว่าเป็นการเปียกทองแบบโบราณจึงคงทนมาก

อันนี้พิสูจน์ไม่ยาก ขูดนิดเดียวก็ทราบว่าเป็นทองคำเปลวที่ปิดบนยางรัก หรือเป็นกระแสทองในน้ำสำริดหลอมเหลว

ถ้าเป็นการเปียกทองยิ่งง่าย โลหะหนักพวกตะกั่วหรือปรอทจะมาเต็ม

ปัญหานี้ ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน วิทยาศาสตร์มีคำตอบได้หมด พิสูจน์ได้ไม่ยากเลย

ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกัน ไม่ตัดสินว่าควรจะตรวจพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ง่ายๆ หรือไม่ หรือจะเถียงมุดไปทางโน้นทางนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ว่ากัน

ห้า องค์พระสำริด ใช้วิธีการเข้าเดือย ตอกแสว้แบบโบราณ หรือเชื่อมกันแบบสมัยใหม่

อันนี้ตรงรอยต่อหากยิงลำแสงซินโครตรอนลงไปแล้ววิเคราะห์จะทราบว่าเป็นการทำแบบโบราณหรือหากเป็นลวดเชื่อมสมัยใหม่ เคมีที่ปนเปื้อนในลวดเชื่อมสมัยใหม่ จะสำแดงออกมาในลำแสงซินโครตรอนเอง อย่างชัดเจน หรืออาจจะตรวจวิเคราะห์ทางเคมีก็ได้ หากเจอสารในลวดเชื่อมสมัยใหม่ก็จะได้อีกคำตอบหนึ่ง

ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกัน ไม่ตัดสินว่าควรจะตรวจพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ง่ายๆ หรือไม่ หรือจะเถียงมุดไปทางโน้นทางนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ว่ากัน

หก พุทธศิลป์แบบใดก็ปลอมแปลงได้ทั้งนั้น ถ้าเงินถึง

อันนี้เซียนพระที่ทำพระปลอมขายให้ข้อมูลและยืนยันกับผมเอง

ยิ่งสมัยใหม่มี 3D Scanner และมี 3D modeling สามารถ reconstruct ให้สวยด้วยพุทธศิลป์แบบไหนก็ได้

ที่แตกหักมาก็ reconstruct ให้สวยสมบูรณ์แบบในคอมพิวเตอร์ได้

ทำแม่พิมพ์โลหะสมัยใหม่ที่ใช้อุปกรณ์ทันสมัย คอมพิวเตอร์กลึงให้อย่างดี ไม่ได้มีแต่ 3D printer หรอกครับ

จะทำกี่พระพุทธรูปกี่ชิ้นเพื่อต่อเดือยประกอบกันแบบไหนก็ทำได้

ของที่ไม่เคยทำได้ง่ายๆ มี computer ดีๆ กับ AI และอุปกรณ์สามมิติ ดีๆ บวกมีเงินจ้างช่าง ทำปลอมแปลงได้เหมือนมากหมด

ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกันว่า พุทธศิลป์ บวก ประวัติศาสตร์ศิลป์ vs. เงิน บวกฝีมือและความพยายามของช่างฝีมือที่เห็นแก่เงิน กับเทคโนโลยี อะไรจะเหนือกว่าใคร

เจ็ด การตรวจสอบอายุ (Dating) หรือการกำหนดอายุด้วยประวัติศาสตร์ศิลป์แล้วเทียบเคียงกัน อะไรจะแม่นยำกว่ากัน ใครจะถูกหลอกได้ง่ายกว่ากัน

อย่างสารอินทรีย์นั้นทำได้ด้วยเทคโนโลยี เช่น Carbon 14 dating

สำหรับโลหะอาจจะใช้ Radioactive isotope และเทคนิคอื่นๆ อันใช้หลักฟิสิกส์และเคมีประกอบเข้าด้วยกัน

การพิสูจน์อายุโบราณวัตถุด้วยการอ้างอิงพุทธศิลป์หรือประวัติศาสตร์ศิลป์อย่างเดียว จะถูกหลอกได้ง่าย โดยเฉพาะเซียนพระที่ทำของปลอม พวกนี้มีความรู้ดีกว่านักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ที่เป็นนักวิชาการแท้ๆ ตามเล่ห์กลเขาไม่ทันหรอกครับ

แต่วิทยาศาสตร์นั้นไม่โกหก

มีตำราทางโบราณคดีบางเล่ม ที่เซียนพระหรือเซียนปลอมวัตถุโบราณบางคม ชี้ให้ผมดูเลยว่า ตำราที่อาจารย์นักวิชาการเขียน หน้าไหนเป็นของที่เขาทำปลอมขึ้นมา แล้วนักวิชาการถูกหลอกให้เอาไปเขียนงานวิชาการและงานวิจัย เรื่องอย่างนี้มีเต็มไปหมด

แล้วเซียนปลอมพระกับเซียนปลอมวัตถุโบราณเขาภาคภูมิใจด้วยว่าเขาหลอกอาจารย์โบราณคดีบางคนได้

ก็ลองคิดไตร่ตรองดูเอาตามหลักวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกเอาเองก็แล้วกัน ไม่ตัดสิน

แปด นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ต้องมีความรู้แบบสหวิทยาการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific thinking) และต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์มากมายหลายสาขา จึงจะทำงานได้ดีพอ

อันนี้ความเห็นของประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่พอจะมีความรู้นิดๆ หน่อย บ้างเท่านั้น วงวิชาการจะรับฟังหรือไม่รับฟังก็ได้ ไม่ว่ากัน

ฝากอนุสติให้สังคมไทยกันครับ การตั้งคำถามและการวิเคราะห์แบบมีวิจารณญาณ (Critical thinking) แบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์บ้างครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น