xs
xsm
sm
md
lg

CPR-112 และบุ้งเสียชีวิตเวลา 11.22 นาฬิกา บทละครการเมืองโดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปัณฑพ/วริษฐ์รีไรท์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคมหรือบุ้ง ทะลุวังนะครับ ผมทราบข่าวแล้วก็ห่วงมากว่าจะมีการโหนศพ แห่ศพ บุ้งเพื่อผลทางการเมือง เลยได้เขียนข้อคิดเป็นการดักทางสังคมและกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองบางกลุ่มเอาไว้ว่า

หนึ่ง ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของบุ้ง โดยเฉพาะกับครอบครัวของบุ้งนะครับ และโปรดอย่าได้ยินดีหรือเย้ยหยันกับการเสียชีวิตของบุ้งเลยครับ โปรดให้ความเคารพกับผู้ตายด้วย

สอง ผมคิดว่าบุ้งยังมีความบริสุทธิ์ใจหรืออุดมการณ์ในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสูงกว่าอีแอบเบื้องหลังบุ้งที่ใช้บุ้งและน้องหยกเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่ตัวเองไม่ได้ออกมาต่อสู้เอง แต่อาจจะสนับสนุนทางการเงินหรือยุยงส่งเสริมอยู่เบื้องหลัง คนพวกหลังนี้น่ารังเกียจมากครับ

สาม โปรดอย่าโหนศพหรือแห่ศพบุ้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ อีกต่อไปเลย ตอนที่บุ้งมีชีวิตก็ใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมามากพอแล้ว


สี่ น้องๆ เยาวชนมวลชนด้อมส้มเอง เมื่อตอนที่บุ้งยังมีชีวิตอยู่และผลักดันการเคลื่อนไหวกับน้องหยก ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของน้องหยกและบุ้งมากสักเท่าไหร่ เมื่อบุ้งตายไปแล้วก็ควรให้เกียรติบุ้งด้วย และอย่าได้โหนศพบุ้งเพื่อแสดงอคติทางการเมืองอีกต่อไปเลย


ห้า การเสียชีวิตของบุ้งน่าจะเป็นประเด็นอยู่ไม่นาน แล้วก็จะจุดไม่ติด เพราะบุ้งไม่ได้เป็นตัวแทนสำคัญของการต่อสู้หรือสัญลักษณ์สำคัญหรือ public figure ของการต่อสู้ แล้วเมื่อจุดประเด็นจากการโหนศพหรือแห่ศพไม่ติด เศษธุลีแห่งประวัติศาสตร์ที่ชื่อบุ้งก็จะลบเลือนหายไปในสายลมในท้ายที่สุด ก็แค่นั้น


หก การเสียชีวิตของบุ้ง เป็นการอดอาหารจนเสียชีวิต และอยู่ในระหว่างการดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพและการผ่าศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ไม่สามารถทำตามพินัยกรรมของบุ้งได้ที่ต้องการเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ และอาจจะทำให้ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของบุ้งซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดจากการอดอาหารและน้ำแค่นั้นแต่อาจจะมีสาเหตุอื่นด้วย ให้รอฟังผลการตรวจศพให้ชัดเจนโดยแพทย์นิติเวช ก็จะชัดเจนขึ้น
เจ็ด อยากให้น้องๆ คนรุ่นใหม่ มวลชนสีส้ม ถอยห่างออกมาสังเกตการณ์ว่าใครที่ออกมาโหนศพและแห่ศพบุ้ง เพื่ออะไร แล้วทำแล้วได้อะไรอย่างที่พวกเขาคาดหมายหรือไม่ แล้วจงสรุปบทเรียนจากเครื่องมือทางการเมืองอันบริสุทธิ์ที่ชื่อบุ้ง ไว้สำหรับสอนตัวเองต่อไปอย่างคนชาญฉลาดและรู้เท่าทัน ก็อยากจะฝากให้คิดและเตือนสติสังคมครับ

แต่เมื่อได้ฟังแถลงการณ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุ้งทะลุวังแล้วก็ต้องตกใจและผิดหวังมาก เพราะราวกับเป็นการจงใจสร้าง content ทางการเมืองด้วยตัวเลข 112 ราวกับเป็นบทละครการเมืองที่เขียน กำกับ และเล่นเอง โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่พยายามจะให้โยงกับคดีอาญามาตรา 112 ของบุ้งและกลุ่มการเมืองที่ทางทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฝักใฝ่เสียให้ได้

ทำไมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติต้องทำ CPR นาน 112 นาทีจนบุ้งเสียชีวิตในเวลา 11.22 นาฬิกา

CPR ย่อมาจาก Cardiopulmonary resuscitation เป็นเทคนิคทางการแพทย์ในการกู้ชีพหลังจากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure: HF) อาจจะมีการช็อคไฟฟ้าด้วยหรือไม่ก็ขึ้นกับสถานการณ์และสภาพร่างกายของผู้ป่วย

ทางทนายด่างหรือกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงเองว่าบุ้งเสียชีวิตแล้วตั้งแต่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แล้วทำไมต้องส่งไป รพ. ธรรมศาสตร์ไกลกว่า 30 กิโลเมตร โรงพยาบาลใกล้ๆ เช่น โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ของ นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ทำไมไม่ส่งไปที่นั่น

ผศ.นพ.ไวกูณฐ์ สถาปนาวัตร อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยตีพิมพ์ใน Scandinavian Journal of Trauma, Resuscitation and Emergency Medicine ซึ่งมี H-index สูงมากถึง 64 เป็น Scimago Quartile 1 มายาวนาน ผลการวิจัยนี้ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ทำ CPR เพื่อกู้ชีพกับผลตอบสนอง (ที่หัวใจจะกลับมาเต้นใหม่) เป็นไปดังกราฟเส้นด้านล่างนี้

โอกาสที่จะตอบสนองต่อ CPR จะสูงสุด (เส้นบนสุุด) ถ้าช็อคไฟฟ้าได้และมีผู้พบเห็นขณะหัวใจล้มเหลว (Witnessed and shockable)

โอกาสที่จะตอบสนองต่อ CPR จะต่ำสุด (กราฟเส้นล่างสุด) ถ้าช็อคไฟฟ้าไม่ได้และไม่มีผู้พบเห็นขณะหัวใจล้มเหลว

ยิ่งเวลาทำ CPR นานมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะตอบสนองหรือรอดชีวิตยิ่งลดลงในทุกกรณี

หลังจากทำ CPR ไปนาน 60 นาที โอกาสที่จะตอบสนองหรือรอดชีวิตจะลู่เข้าหาศูนย์

หมอและพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จะทำ CPR ไปจนถึงนาทีที่ 112 ทั้ง ๆ ที่บุ้งเสียชีวิตตั้งแต่ รพ. ราชทัณฑ์เมื่อ 6.30 นาฬิกา และส่งต่อมาอีก 30 กิโลเมตร จนถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเวลา 9.30 นาฬิกา และพยายามกู้ชีพไปจนเสียชีวิตเวลา 11.22 นาฬิกา ไปเพื่อเหตุผลทางการแพทย์หรือเหตุผลทางการเมือง

ทำไปเพื่ออะไร?

ตกลงบุ้งเสียชีวิตเพราะซี่โครงหักทิ่มทะลุปอดจากการทำ CPR 112 นาทีหรือไม่?






ข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ว่า บุ้งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่หกโมงครึ่ง พยายามกู้ชีพแล้วก็ไม่ฟื้น แทนที่จะส่งไปโรงพยาบาลใกล้ๆ โน่น ส่งไปที่ รพ. ธรรมศาสตร์ ห่างออกไปสามสิบกว่ากิโลเมตร

แล้วทำ CPR กู้ชีพกันไป 112 นาที จนเสียชีวิตเวลา 11.22 นาฬิกา

ปกติพยายาม CPR กันไม่เกินชั่วโมง นี้พยายามกู้ชีพกันตั้งแต่หกโมงครึ่งจนเกือบเที่ยง

เป็นอะไรที่บุ้งอาจจะทรมานมาก หรืออาจจะไม่ทรมานเลย เพราะเสียชีวิตไปแล้ว

คำถามคือแพทย์กับพยาบาลที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ทำไมต้องพยายามกู้ชีวิตยาวนานขนาดนั้น

ผมเคยได้ฟังความพยายามทำ CPR ยาวนานเป็นชั่วโมงมาก่อนเหมือนกัน แต่เป็นเหตุผลคนละกรณี เพื่อให้ความเป็นธรรมกับบุคลากรโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ จะได้เห็นเปรียบเทียบกัน เป็นเคสที่หมอกับพยาบาลพยายามกู้ชีพเหมือนกันอย่างถึงที่สุดเหมือนกัน เพราะหมอกับพยาบาลยังทำใจไม่ได้

พี่พยาบาลที่สนิทกันที่ศิริราช เป็นพยาบาลเด็ก ที่หันมาทำงานเรื่องการรักษาแบบประคับประคอง (palliative) care ในภายหลัง เคยเล่าให้ฟังว่า

มีเคสหนึ่งที่ เป็นผู้ป่วยวิกฤติเรื้อรัง อยู่ไอซียูเด็ก มาเกือบสิบปี เรียกว่าโตมาในไอซียูเด็ก

หมอเด็ก พยาบาลเด็ก เลี้ยง รัก และดูแลเหมือนลูกของตัวเอง

น้องคนไข้คนนี้จะไม่รอดชีวิตก็หลายครั้ง แต่ทีมแพทย์และพยาบาลศิริราชที่ไอซียูเด็ก ก็รักสุดใจพยายามช่วยมาสุดฝีมือสุดความสามารถมาโดยตลอด

วันหนึ่งที่น้องจะจากไป น้องก็หัวใจหยุดเต้น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในไอซียูเด็กเหมือนเดิม พยายามกู้ชีพเท่าไหร่ก็ไม่ฟื้น หมอพยาบาลผลัดกันขึ้นไป CPR ไม่ยอมเลิกเพราะเลี้ยงมา รักและผูกพันมาก

พ่อกับแม่ของน้อง เดินอุ้มพระพุทธรูปเข้ามาในไอซียูเด็กทั้งน้ำตา แล้วยกมือไหว้หมอกับพยาบาลที่พยายามยื้อชีวิตอย่างที่สุด แล้วพูดสั้นๆ ว่า

ปล่อยให้น้องเขาไปสบายเถอะคะ ขอขอบคุณนะครับ

หมอเด็กกับพยาบาลเด็ก ก็เลยถอยออกมาให้พ่อกับแม่ อุ้มพระเข้าไปหาน้อง ให้บอกลากัน ให้ไหว้พระจะได้ไปเกิดใหม่ พ้นทรมาน

ผมถามว่าหมอเด็ก พยาบาลเด็กที่อยู่ตรงนั้น รู้สึกอย่างไร พี่เขาตอบว่า เคารพการตัดสินใจของพ่อแม่ แต่ตัวหมอกับพยาบาลเอง ยังทำใจไม่ได้!!!! แต่รู้ว่าตัวเองต้องหยุดฝืนธรรมชาติและเคารพสัจธรรมของชีวิต

นายแพทย์โชคชัย เรืองโรจน์ กุมารแพทย์ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า

ในแถลงการณ์ก็บอกชัดเจน ว่าหลังจาก CPR อย่างต่อเนื่องมา 3 ชั่วโมงกว่า เมื่อถึง รพ. ธรรมศาสตร์ ก็ไม่มีสัญญาณชีพ ไม่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระบบประสาทไม่ตอบสนอง

1. อะไรเป็นแรงจูงใจให้ CPR ต่อเนื่องอีกเกือบ 2 ชั่วโมง รวมเป็น 5 ชั่วโมง จนได้เลขที่หมกมุ่นกันเลขนั้น
2. ระยะเวลา 112 นาที ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เป็นความบังเอิญ หรือ จงใจ
3. หากบอกว่าทำเช่นนี้ตามมาตรฐานการแพทย์ ประชาชนทั่วไป สามารถเอาระยะเวลานี้ไปอ้างอิงได้หรือไม่ ว่าสำหรับผู้หัวใจหยุดเต้นรายอื่นๆ ควรได้รับการพยายามยื้อชีวิตยาวนานขนาดนี้
4. เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำต่อร่างของผู้เสียชีวิตเกินสมควรหรือไม่
5. ล่อแหลมต่อการผิดจริยธรรมการแพทย์หรือไม่

ทั้งหมดนี้คงจะเป็นคำถามที่สังคมควรจะถามได้ว่าการทำ CPR ยาวนาน 112 นาที และบุ้งเสียชีวิตเวลา 11.22 นาฬิกา เป็นบทละครการเมืองโดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติใช่หรือไม่?

บุคลากรโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ เป็นสามกีบที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความโหดเหี้ยมอำมหิต ใช้ศพบุ้ง โหนศพบุ้งเพื่อผลทางการเมือง ใช่หรือไม่?






กำลังโหลดความคิดเห็น