xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แสดงความเห็นเลอะเทอะกรณีสวรรคตโดยปราศจากหลักฐาน (อีกแล้ว)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ที่สถาปนาตนเองเป็นปัญญาชนสยาม ได้ออกมาวิจารณ์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ทางช่องยูทู้บธนดิศ โดยวิจารณ์กล่าวหาในทางเสียหายเป็นอย่างยิ่ง เข้าไปรับชมได้จาก “คู่มือรับชม อนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ”https://www.youtube.com/watch?v=Pm3kjvPavfA
ต่อมาศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอพบและขอบันทึกคลิปการสนทนาในประเด็นดังกล่าว อาจารย์ไชยันต์ได้เรียบเรียงรวบรวมหลักฐานต่างๆ และตั้งคำถามถามอาจารย์สุลักษณ์ในประเด็นต่างๆ ซึ่งเมื่อถามหาหลักฐานอ้างอิง ด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมแต่หนักแน่น ในขณะเดียวกันอาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้พยายามแถต่อไป แต่ยอมรับตรงๆ ว่า ผมคิดว่า ผมเชื่อว่า ผมไม่มีหลักฐาน บางทีผมอาจจะผิด ผมไม่เคยอ่านมาก่อน ผมไม่แน่ใจ ซึ่งอาจารย์ไชยันต์ก็ไม่ได้ไล่บี้อาจารย์สุลักษณ์ต่อทั้งๆ ที่อาจจะทำได้ โปรดรับชมได้จาก “วิวาทะประชาธิปไตย : รัชกาลที่ 7 กับปรีดี”https://www.youtube.com/watch?v=mOiOMpW3Ny0&t=14s
หากเป็นผม อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สนทนาอยู่กับอาจารย์สุลักษณ์ ก็คงจะสวนอาจารย์สุลักษณ์ กลับไปในทันทีว่า อาจารย์ครับ อาจารย์ก็เป็นปัญญาชนสยาม เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทางวิชาการของบ้านเมือง อาจารย์จะพูดอะไร จะแสดงความคิดเห็นอะไร อาจารย์ก็ต้องมีความรับผิดชอบทางวิชาการ และความรับผิดชอบทางสังคม อาจารย์พูดความคิดเห็นของตัวเอง โดยปราศจากหลักฐานไม่ได้ อาจารย์เป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจารย์ไม่ควรทำพฤติกรรมน่ารังเกียจทางวิชาการเช่นนี้ แล้วคนอื่นที่เขาเสียหายเพราะการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์โดยปราศจากหลักฐาน สังคมปั่นป่วน เยาวชนเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางที่ผิดตามความคิดเห็นและอคติของอาจารย์ที่ปราศจากหลักฐาน อาจารย์จะแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและบ้านเมืองอย่างไร อาจารย์เป็นผู้ใหญ่แล้ว อายุมากขนาดนี้แล้ว เป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์มากมายขนาดนี้แล้ว อาจารย์จะพูดอะไร ต้องมีหลักฐาน มีเหตุผล มีจริยธรรม มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ไม่ใช่ต่อตัวอาจารย์เอง ก็ต่อคนอื่น และต่อสังคม และต่อประเทศชาติ อาจารย์สุลักษณ์ไม่ควรให้เด็กถอนหงอกและดูถูกอาจารย์เอาได้ ว่าอาจารย์วิจารณ์เอามันตามอารมณ์และอคติ แบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการ และไม่ได้ส่งผลดีใดๆ ต่อชาติบ้านเมืองและสังคมเลยแม้แต่น้อยครับ

การแสดงความคิดเห็นเลอะเทอะโดยปราศจากหลักฐาน เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวอันเลอะเลือนของคนแก่วัย 90 กว่าปีนั้นก็อาจจะไม่เป็นปัญหามากหากไม่ได้ชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่สมควรและก่อให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมมากยิ่งขึ้นไป

แต่แล้วไม่กี่วันหลังจากนั้น อาจารย์สุลักษณ์ออกมาพูดถึงกรณีสวรรคตในคลิป “ชิต สิงหเสนี ผู้บริสุทธิ์”https://www.youtube.com/watch?v=kzoye-xrMWY โดยปราศจากหลักฐานอีกเช่นเคย ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาและกระทบกับสังคมไปจนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์ได้ทำในครั้งนี้ เป็นว่าเป็นสิ่งที่เลอะเทอะและเลอะเลือนเป็นอย่างยิ่งที่นักวิชาการไม่สมควรเอาเป็นแบบอย่างแต่อย่างใด
คลิป “ชิต สิงหเสนี ผู้บริสุทธิ์” ที่อาจารย์สุลักษณ์พูดนั้นได้พาดพิงไปถึงบุคคลหลายคน ในทางกลับกันคลิปดังกล่าวก็ได้สะท้อนตัวตนของอาจารย์สุลักษณ์ได้อย่างหมดจดว่าเป็นคนที่รู้ประวัติศาสตร์เพียงงูๆ ปลาๆ เปรียบเสมือนน้ำเต็มโอ่ง ไม่ยอมเติมเต็มความรู้สมัยใหม่เข้าไปในสมอง ไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น เป็นคนแก่ที่ต้องการคนเอาอกเอาใจเสมือนเด็กอายุ 4-5 ขวบ จึงพูดอะไรออกมาเลอะเทอะหลายๆ เรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ขาดเหตุผล ปราศจากหลักฐาน จึงขอทบทวนประวัติศาสตร์เพื่อเตือนให้อาจารย์สุลักษณ์มีสติบ้างว่าตัวเองอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยและต้องตายในไทยอย่างแน่นอน โดยขอนำมาวิจารณ์ทีละเรื่องดังนี้


ประเด็นแรก ไม่ใช่ทุกคนในตระกูลเดียวกันจะต้องมีนิสัยหรือพฤติกรรมเหมือนกัน อาจารย์สุลักษณ์กล่าวอ้างถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ของตระกูลสิงหเสนี และยืนยันว่านายชิต สิงหเสนีมีความจงรักภักดีเช่นเดียวกันกับตระกูลสิงหเสนี

ตรรกะนี้ของอาจารย์สุลักษณ์วิปลาสเลอะเลือนและเลอะเทอะเหลวไหลมาก ผมรู้จักบางคนชอบอ้างว่าพ่อเป็นพระสหายสนิทในหลวงรัชกาลที่ 9 ตนเองฝ่ายมารดาสืบเชื้อสายมาจากราชสกุล แต่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์เสี้ยมแซะสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา แต่ปากก็อ้างว่าตนเองจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา และยืนยันความจงรักภักดีผ่านสายเลือดและบิดามารดา พฤติกรรมและทัศนคติของทุกคนที่เกิดมาในตระกูลเดียวกันและสายเลือดเดียวกันไม่ได้จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่ทราบว่าอาจารย์สุลักษณ์เอาอะไรมาอ้างตรรกะเลอะเลือน เช่นนี้

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นั้นท่านเป็นทหารและขุนนางคู่พระทัยพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความจงรักภักดีและตรงไปตรงมาซื่อสัตย์เสียสละเพื่อแผ่นดินมาอย่างยิ่ง ไม่มีข้อกังหาใดๆ แต่ตรรกะที่ว่าลูกหลานทุกคนในตระกูลสิงหเสนีจะดีงามท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่มีใครอาจจะรับรองได้ แม้กระทั่งลูกชายของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ชื่อนายแสง ลักลอบค้าฝิ่น กระทำผิดกฎหมาย เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านก็สั่งเฆี่ยนหนักปางตาย มิได้ละเว้น ไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าลูกหลานในตระกูลจะเป็นคนดีหรือเป็นคนจงรักภักดีทุกคน

ดังนั้นก็ควรพิจารณาเฉพาะพฤติกรรมของนายชิต สิงหเสนีเท่านั้น อย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวกับคนในตระกูลสิงหเสนีคนอื่นๆ แค่ดูในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมาก็พอ อย่าให้เกินเลยไปถึงพระยาเกษตรรักษา [1] รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เลย เพราะอยู่ในยุคที่ใกล้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องเรื่องของนายชิต ก็พอแล้ว

นายชิตมีน้องสาวแท้ๆ ร่วมบิดามารดา ชื่อ คุณหญิงอนงค์ สิริราชไมตรี เป็นภรรยาของหลวงสิริราชไมตรี หรือนายจรูญ สิงหเสนี อดีตอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม และเป็นสมาชิกก่อตั้งของคณะราษฎร (ผู้อ่านอาจจะรู้สึกแปลกใจ แต่เป็นการแต่งงานกันเองระหว่างสมาชิกในตระกูลสิงหเสนี เช่นนั้นจริง)

นายจรูญ สิงหเสนี ได้รับทุนของกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2468 หลังจบการศึกษา ได้เข้ารับราชการอยู่ที่กรุงปารีส และเข้าร่วมกลุ่มกับนายปรีดี พนมยงค์ ประชุมจัดตั้งคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ถือได้ว่าเป็นสมาชิก “D1” เป็น ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลำดับที่ 2 ของสายพลเรือน โปรดอ่านบทความของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” [2]

ขณะนั้นนายจรูญมิใช่นักศึกษาแล้ว แต่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนประเทศต่างพระเนตรพระกรรณ ณ สถานทูตสยามในกรุงปารีส แต่กลับมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวิธีหักหาญรุนแรง ซึ่งน่าจะไม่ใช่เรื่องความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อนายปรีดี พนมยงค์กำลังจะถูกส่งตัวกลับไทยเพราะทูตไทยกล่าวหาว่า นายปรีดี พนมยงค์นิยมบอลเชวิค แต่นายเสียง พนมยงค์ บิดาของนายปรีดี ได้ขอพระราชทานโอกาสให้นายปรีดีเรียนต่อจนจบปริญญาเอก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงให้โอกาส ในเวลาเดียวกันนั้นนายจรูญก็ยังได้ทำหน้าที่หาสมาชิกในต่างประเทศเพิ่มเติมให้แก่คณะราษฎรต่อไป

นอกจากนี้ ในเอกสารเรื่องเดียวกัน (หน้า 100) ยังได้กล่าวถึงนายสอาด สิงหเสนี ต่อมาเป็นนายพลตรีพระยาประสิทธิศัลการ อดีตอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน ซึ่งนายปรีดีกล่าวว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความคิด “ก้าวหน้ากว่าผู้ที่เกาะแน่นอยู่ในความคิดเก่า” และมีชื่อปรากฏเป็นหนึ่งในข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถวาย “คำกราบบังคมทูลความเห็นการจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน” พ.ศ. 2427 จนเกิดเป็นกรณี ร.ศ. 103 ซึ่งในขณะนั้นมียศแค่ร้อยตรี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมิได้ถือสาเอาความแต่ประการใดไม่ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาเป็นล้นพ้น

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อนายจรูญกลับมาประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญๆ อีกหลายตำแหน่ง จนลาออกจากราชการใน พ.ศ. 2492 หลังเกิดกบฏวังหลวง เมื่อนายปรีดีก่อรัฐประหารแล้วพ่ายแพ้สิ้นอำนาจไปแล้ว

จากหลักฐานและพยานแวดล้อมเหล่านี้ น่าจะพอยืนยันได้ว่านายชิตน่าจะมีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่พอสมควร ใครจะกล่าวหานายชิตได้ง่ายๆ และนายชิตยังจะกลัวอิทธิพลใครอีก เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่นายปรีดีกำลังเรืองอำนาจอย่างเต็มที่

การเสด็จนิวัตประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้รับการยอมรับจากประชาชนเกินกว่าที่รัฐบาลที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีจะคาดถึง การเสด็จประพาสสำเพ็งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและสมเด็จพระอนุชา เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีนระงับดับสิ้นลงโดยพลันอย่างน่าอัศจรรย์ใจ พระราชบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเรืองรองเป็นความหวังและเป็นที่รักของประชาชนในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง

พระราชบารมีที่เรืองรองขององค์พระมหากษัตริย์ในเวลานั้น อาจจะทำให้เป็นเป้าหมายของกลุ่มบุคคลที่ครองอำนาจรัฐอยู่ในเวลานั้นก็อาจจะเป็นได้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลน่าจะทรงตกเป็นเป้าหมาย ในเวลานั้นการรักษาความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวังล้มเหลว รัฐบาลและนักการเมืองเข้าไปควบคุมสำนักพระราชวัง มีการรับคนเข้ามาอยู่ใหม่เข้ามาทำงานในวังเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หัวหน้าหน่วยงานสำคัญๆ ในพระบรมมหาราชวัง ล้วนแต่เป็นคนของรัฐบาลทั้งสิ้น ถึงขนาดที่รถยนต์พระที่นั่งหายไปจากพระบรมมหาราชวังในเวลากลางคืนซึ่งต้องผ่านประตูถึง 3 ชั้น โดยไม่มีใครเห็น ดังนั้นเหตุการณ์การลอบปลงพระชนม์ในหลวง ร.8 จึงเกิดขึ้น

นี่คือพฤติกรรมของนายชิต และบุคคลที่เกี่ยวข้องคบหาใกล้ชิดกับนายชิตในเวลานั้นก่อนเกิดกรณีสวรรคตที่อาจารย์สุลักษณ์ไม่ได้กล่าวถึงและไม่ได้พิจารณาหลักฐานใดๆ ให้รอบด้านเลยแม้แต่น้อย เหตุใดจึงไปกล่าวอ้างว่านายชิต สิงหเสนี เป็นคนดีมีความจงรักภักดีเหมือนตระกูลสิงหเสนี ซึ่งคงไม่มีใครอ้างเช่นนั้นได้ว่าทุกคนในตระกูลเป็นคนดีและจงรักภักดี

ประเด็นที่สอง อาจารย์สุลักษณ์ ระบุว่าศาลตัดสินพิพากษาคดีกรณีสวรรคตมั่ว ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย

แต่อาจารย์สุลักษณ์ ไม่ได้เอ่ยถึงพฤติกรรมอันเป็นข้อพิรุธของนายชิต ผู้อยู่ในเหตุการณ์บนพระที่นั่งบรมพิมานหน้าห้องพระบรรทมในเวลาที่เกิดเหตุการณ์สวรรคตเลยแม้แต่น้อย ข้อพิรุธอันเป็นพฤติกรรมของนายชิตเหล่านี้ อาจารย์สุลักษณ์ทำประหนึ่งคนหูหนวกตาบอด มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่รับรู้อะไรใดๆ ทั้งสิ้น พฤติกรรมอันเป็นข้อพิรุธและผิดปกติเหล่านี้มีทั้งหลักฐานและประจักษ์พยานมากมาย อีกทั้งมีความไม่เจือสมหรือไม่สอดคล้องกับคำให้การของนายชิตเองหลายประการ เนติบัณฑิตอังกฤษอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ผู้ไม่เคยประกอบอาชีพด้านกฎหมายเลยใช่หรือไม่ คงหลงลืมหลักวิชาชีพด้านกฎหมายไปแล้วจนหมดสิ้นหรือไม่?

ทำไมอาจารย์สุลักษณ์ไม่พูดเลยว่านายชิตมีพิรุธอะไรบ้างในวันสวรรคต ซึ่งมีมากมายหลายสิบเรื่อง ขอให้ไปอ่านหนังสือ “สยามยิ่งยง” ของพลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่ได้เรียบเรียงไว้อย่างชัดเจน แต่ที่สำคัญคือ

หนึ่ง นายชิตไปกราบทูลพระราชชนนี, ในหลวงรัชกาลที่ 9, นายปรีดี และเชื้อพระวงศ์อื่นๆ ว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงปลงพระชนม์ชีพเอง พร้อมกับแสดงท่าทีจับปืนยิงพระองค์เองเลียนแบบในหลวงรัชกาลที่ 8 ให้บุคคลต่างๆ ดู จนทุกคนเชื่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงยิงพระองค์เองจริง นายปรีดีจึงตกลงใจให้ออกแถลงการณ์ของรัฐบาลว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงยิงพระองค์เอง ซึ่งไม่เจือสมกับผลการชันสูตรพระบรมศพและคำให้การอื่นๆ เลย

สอง แต่ในวันรุ่งขึ้น นายชิตกลับคำให้การว่า “ไม่ได้เห็นจริง” พร้อมกับเอาปืนที่อยู่บนเตียงไปให้ตำรวจดูอีก จนพบว่าเป็นปืนที่ยิงมานานแล้ว (เพราะปืนกระบอกนั้นเต็มไปด้วยสนิมขุม หรือสนิมในกระบอกปืน ที่ตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสมัยนั้น ดร. จ่าง รัตนะรัต) ไม่ได้ใช้ยิงในวันที่เกิดเหตุ (หากเป็นปืนที่ใช้ยิง และมีการยิงจริง ความเร็วกับความร้อนของกระสุนปืนจะทำให้สนิมขุมหลุดออกไปแทบไม่เหลือ) รวมไปถึงหัวกระสุนและปลอกกระสุนซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งของที่นายชิตนำไปให้ตำรวจเองทั้งสิ้น สรุปได้ว่าตั้งแต่ปืนลงมาถึงปลอกกระสุนล้วนแต่ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้ยิงในวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตเลย แสดงให้เห็นว่านายชิตมีพฤติกรรมอันเป็นพิรุธต่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ตัวนายชิตเองน่าสงสัยในแรงจูงใจที่ทำพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นอย่างยิ่ง

สาม ความไม่เจือสมของคำให้การที่ขัดแย้งกันเองของประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ ภายหลังนายชิตได้ให้การต่อศาลซัดทอดว่า นายบุศย์รู้เห็นกับคนภายนอก ลอบนำคนเข้ามาปลงพระชนม์ นายบุศย์ก็ซัดทอดกลับว่านายชิตต่างหากที่เป็นคนทำ ซึ่งเท่ากับทั้งนายชิตและนายบุศย์รับสารภาพว่า “มีคนลอบเข้ามาปลงพระชนม์จริง” ซึ่งทั้ง 3 ศาลไม่ได้ลงโทษว่านายชิตปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่พิพากษาลงโทษนายชิตว่านายชิตรู้เห็น ร่วมมือกับผู้ร้าย

ส่วนข้อหาสับเปลี่ยนกระสุนปืนของกลางโดยกล่าวเท็จต่อเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยผู้กระทำความผิดนั้น ศาลถือว่าเป็นความผิดที่เกลื่อนกลืนอยู่ในความผิดประธานข้างต้น จึงไม่แยกลงโทษอีกกระทงหนึ่ง

นายชิตอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

อัยการอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยอีก 2 คนด้วย

ศาลอุทธรณ์แก้ให้ลงโทษนายบุศย์ด้วยความผิดเดียวกับนายชิตเพราะนั่งอยู่ด้วยกัน แต่มีผู้พิพากษาท่านหนึ่งเห็นแย้ง ควรยกฟ้อง ซึ่งก็เป็นเรื่องตามปกติ

การต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา (ลงโทษจำเลยทั้ง 3 คนว่าทำผิดจริงตามฟ้อง) แทนที่จำเลยจะสู้เรื่องข้อเท็จจริงอื่นๆ กลับยกเรื่องศาลไม่มีอำนาจตัดสินเพราะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นมาต่อสู้แทน ทำให้จำเลยเสียเวลาในการต่อสู้คดีไปเปล่าๆ

ทั้งหมดนี้อาจารย์สุลักษณ์ จงใจละเว้น ไม่พูดถึงเลย อันมิใช่ลักษณะของนักวิชาการหรือนักกฎหมายที่ดีที่ต้องฟังความรอบข้าง แล้วจึงชั่งน้ำหนักว่าเจือสมหรือไม่ แต่กลับฟันธงลงไปก่อนจะพิจารณาหลักฐานและพฤติกรรมให้รอบด้าน

ประเด็นที่สาม อาจารย์สุลักษณ์กล่าวอ้างว่า นายชิตตายเพื่อรักษาราชบัลลังก์นั้นยิ่งเหลวไหลเลอะเทอะอย่างมาก เพราะเป็นการกล่าวเหมือนจะทำให้คนฟังเข้าใจผิดและอนุมานได้ว่านายชิตยอมรับผิดแทนในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งกรณีที่อยู่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนเกิดเสียงปืนขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่าพระองค์ได้เสด็จกลับห้องบรรทมของพระองค์ไปแล้วนานถึง 15-20 นาทีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งก็มีหลักฐานชัดเจน ทั้งประจักษ์พยานบุคคลถึง 5 คน รวมถึงตัวนายชิตและนายบุศย์เองด้วย นอกจากนั้นยังมีพยานแวดล้อมถึงพฤติการณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในห้วงเวลานั้นอีก 5 กรณี

อาจารย์สุลักษณ์เองเคยต้องคดีอาญามาตรา 112 มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ละครั้งที่ต้องคดี อาจารย์สุลักษณ์ก็เที่ยววิ่งเต้นเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ช่วยเหลือขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้พระราชทานอภัยโทษให้ทุกครั้ง และก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ทุกครั้งไป สิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์พึงจะมีแต่กลับไม่มีเลยคือความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กลับมีความพยายามและพฤติกรรมซ้ำแล้วซ้ำอีกในการที่จะพยายามวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดบิดเบือนให้ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้จะไม่เสด็จอยู่แล้วก็ตาม การพยายามพูดใส่ร้ายคนที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของอาจารย์สุลักษณ์เอง เพราะผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถพูดอะไรเพื่อปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของตนเองได้อีกแล้ว การกระทำเช่นนี้ของอาจารย์สุลักษณ์จึงเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง

ประเด็นที่สี่ คดีพิเศษของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่จอมพลป. พิบูลสงครามเต็มใจให้อภัยโทษกรมพระยาชัยนาทนเรนทร

เรื่องนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการข่มขู่พวกที่ต่อต้านคณะราษฎรให้เกรงกลัวว่าขนาดพระราชโอรสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ยังติดคุกได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทุกคนจะเห็นด้วยกับจอมพล ป. ดังนั้นการให้อภัยโทษจึงไม่ใช่ว่าจอมพล ป. จะเต็มใจเหมือนที่อาจารย์สุลักษณ์พูด แต่ทนฝืนกระแสการเรียกร้องของประชาชน สื่อมวลชน และบุคคลในคณะรัฐบาลไม่ได้ เพราะ

1) การตั้งศาลพิเศษในสถานการณ์ปกติเพื่อพิจารณาคดี ประชาชนทั่วประเทศไทยและทั่วโลกต่างรู้กันอยู่ว่าเป็นศาลที่ประเทศเผด็จการใช้กันอยู่ ในขณะที่รัฐบาลไทยได้อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมาตลอดตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นอกจากนั้นยังเห็นได้ชัดเจนว่าศาลพิเศษตกอยู่ในอำนาจของจอมพล ป. ถึงขนาดที่จอมพล ป. อยากจะให้ใครพ้นโทษก็มารับตัวนักโทษออกไป นักโทษคนอื่นๆ ก็รู้เห็นกันอยู่

2) พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้บอกแก่นักโทษการเมืองหลายคนว่าจะจัดการขอพระราชทานอภัยโทษให้ในไม่ช้า เข็มมุ่งในเรื่องนี้ของพระยาพหลฯ จึงเป็นเรื่องที่กดดันต่อจอมพล ป. ค่อน ข้างมาก

3) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนทั้งประเทศในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญทางการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย พระองค์ทรงงานหนักจนประชวรและได้หันมาทรงงานด้านศิลปวัฒนธรรมแทน ประชาชนทั่วไปจึงสงสัยกันว่าพระองค์จะทรงก่อเหตุร้ายได้อย่างไร

4) พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่ต้องคดีและต้องขึ้นศาลพิเศษด้วยในเวลานั้น เคยเป็นแม่ทัพนำทหารไทยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศฝรั่งเศส สร้างผลงานโด่งดังเป็นวีรบุรุษของประเทศไทยจึงเป็นที่รู้จักของทูตในประเทศยุโรปเกือบทุกคน ดังนั้นจอมพล ป. จะกล้าสั่งให้ศาลพิเศษแบบนี้ลงโทษประหารชีวิตได้อย่างไร

กรณีนี้เปรียบเทียบได้กับเรื่องกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีโทษร้ายแรง ถึงขั้นประหารชีวิต แต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชวินิจฉัยลดโทษประหารชีวิต และผู้ก่อการทั้งหมดต่างก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ขึ้น โดยกลุ่มนายทหารที่ไม่มีกำลังทหารในมือเลย เพราะกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติย่อมทราบดีว่าหากการปฏิวัติเกิดผิดพลาดขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 จะพระราชทานอภัยโทษให้อย่างแน่นอน
ผมเห็นว่าอาจารย์สุลักษณ์นั้นมีแต่ปากเอาไว้พูด พูดด้วยอคติ เอาแต่ใจตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาใครโดยไร้หลักฐาน อาจจะเกิดจากความรู้หรืออคติที่เลอะเทอะมาแต่ต้น หรืออาจจะเกิดจากความเลอะเลือนแห่งชราวัย

หรืออาจจะเกิดจากนิสัยพื้นฐานถาวรเดิมของอาจารย์สุลักษณ์ที่อาจจะเห็นใครเด่นดังกว่าตัวเองก็ด่าเขาหมด แสงจะได้ส่องมาที่ตัวเองบ้าง อาจารย์สุลักษณ์นั้นด่ามาหมด ด่ามาตั้งแต่นายปรีดี (ที่อาจารย์สุลักษณ์เองก็ยอมรับว่าเคยด่ามาก่อน) มาถึงด่าศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเหนือกว่าอาจารย์สุลักษณ์ในทุกแง่มุม ซ้ำร้ายอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านยังเยือกเย็นสุขุมกว่า ไม่ลงมาโต้ด่าตอบอาจารย์สุลักษณ์ด้วย อย่างมากท่านก็แค่กล่าวว่า หมามันเยี่ยวรดภูเขาทอง ภูเขาทองก็ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ คนก็ยังกราบไหว้ภูเขาทองอยู่

ในแง่ชาตวุฒิ กำเนิดของอาจารย์สุลักษณ์ก็ต้อยต่ำกว่าอาจารย์คึกฤทธิ์
ในแง่วัยวุฒิ อาจารย์สุลักษณ์ก็ด้อยกว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้ล่วงลับไปแล้วหลายปี
ความสามารถทางวิชาการ อาจารย์สุลักษณ์ก็ด้อยกว่าอาจารย์คึกฤทธิ์มาก ความรู้ทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ไทยคดีศึกษา รัฐศาสตร์ นั้น อาจารย์สุลักษณ์ ด้อยกว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ไปทุกวิชา

ความเป็นศิลปิน อาจารย์คึกฤทธิ์ก็เหนือกว่าอาจารย์สุลักษณ์อย่างที่คนอย่างอาจารย์สุลักษณ์ไม่มีทางจะเห็นฝุ่น เป็นนักเขียนก็เก่งกว่า เล่นโขน ร้องรำทำเพลง แสดงละคร ทำกับข้าวกับปลา อาจารย์คึกฤทธิ์เก่งกว่า อ. สุลักษณ์หมดทุกทาง อ. สุลักษณ์นั้นมีดีแค่สนับสนุนอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ แต่ตัวอาจารย์สุลักษณ์นั้นไม่มีความเป็นศิลปินอะไรเลย ไม่อาจจะเทียบกับอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เลย

ความสามารถในการพูด วาทศิลป์ อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนักพูดที่เก่งมาก สอนหนังสือก็เก่งมาก พูดแล้วคนฟังได้ทั้งความรู้และความบันเทิง อ. สุลักษณ์เป็นคนด่ากราดอย่างเดียว ไม่มีวาทศิลป์ ในการพูดแต่อย่างใดเลย

ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ความเข้าใจในกิจการบ้านเมือง อาจารย์คึกฤทธิ์ก็เหนือกว่าอาจารย์สุลักษณ์ จนไม่อาจจะเทียบกันได้

ความรู้ความเข้าใจด้านการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์คึกฤทธิ์ก็เหนือกว่าอาจารย์สุลักษณ์ทุกทาง

มองไปทางไหน อาจารย์คึกฤทธิ์ก็เหนือกว่าอาจารย์สุลักษณ์ทุกทาง

ที่สำคัญคือเมื่อด่าใครต่อใครแล้ว อาจารย์สุลักษณ์ก็ปากกล้าแต่ขาสั่น เวลาตัวเองต้องคดี ม.112 ป.อาญา ก็ปอดแหก เที่ยวไปขอความช่วยเหลือคนนั้นคนนี้วุ่นวายไปหมด รู้กันทั้งวงการ เรื่องนี้ผมได้ยินได้ฟังกับหูตัวเอง จากผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่อาจารย์สุลักษณ์เที่ยวไปวิ่งรบกวนขอความช่วยเหลือซ้ำแล้วซ้ำอีก ท่านเล่าให้ผมฟังไปท่านก็ส่ายหน้าไปอย่างระอาจนถึงที่สุด

อาจารย์สุลักษณ์ครับ อายุก็มากแล้ว หยุดพูดเลอะเทอะเลอะเลือน จะเป็นกุศลบุญราศีแก่ตัวอาจารย์เอง เป็นพลวปัจจัยให้เข้าสู่ภพภูมิที่ดีต่อไปในอนาคตนะครับ

อ้างอิง :
[1] เสมียนอารีย์, เกร็ดประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เคยต้องโทษเป็นกบฏต่อแผ่นดิน, 21 กันยายน 2565, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_93467, (9 พฤษภาคม 2567).
[2] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ และ บางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517, (กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์ (แผนกการพิมพ์), 2517), หน้า 93-131.



กำลังโหลดความคิดเห็น