ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ที่มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2478 นั้น มีสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และอำนาจจัดการในกิจการในพระองค์ให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีแทนพระมหากษัตริย์ หรือคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่
“มาตรา 22 ให้สำนักพระราชวังเป็นทะบวงการเมืองมีอำนาจหน้าที่จัดการพระราชวังตลอดจนการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”[1],[3]
“มาตรา 23 ให้สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์เป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการสารบรรณและการในพระองค์พระมหากษัตริย์และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”[1],[3]
การกลัดกระดุมเม็ดแรกของกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการช่วงชิงที่ดินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักการเมืองที่เป็นอดีตแกนนำและอดีตสมาชิกคณะราษฎร พร้อมๆกับข้าราชการหรือผู้เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา
โดยฝ่ายการเมืองได้ “ส่งคน”ของอดีตสมาชิกคณะราษฎรเข้าไปทั้งในส่วนงานของสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขานุการในพระองค์ และสำนักพระคลังข้างที่ อันเป็นหัวใจในการ “ชงเรื่อง”เพื่อส่งต่อให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม อันเป็นการวางแผนก่อนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณ 3 เดือนเศษ กล่าวคือ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2478นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น.อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ย้ายจากข้าราชกระทรวงกลาโหมมาทำหน้าที่ “เลขานุการสำนักพระราชวัง” และมาดำรงตำแหน่งรักษาการ และครองตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่ในปีที่เกิดเหตุ ระหว่างปี 2479-2480[4]
วันที่ 1 สิงหาคม 2478ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้ย้ายจากเลขานุการ ของนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์[2],[5] เป็นการตรึงคนของอดีตผู้ก่อการของคณะราษฎรในการดำเนินการกับ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
5 วันต่อมาหลังจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุวาระการพิจารณาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) เมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2478[6]
เมื่อตรวจสอบการลงพระนามและการลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว จึงพบเรื่องที่น่าสังเกตคือ
ประการแรก รายชื่อคณะผู้สำเร็จราชการ ที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 มี “ครบองค์คณะผู้สำเร็จราชการ” คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)[3]
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีข้อตกลงว่า ในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่านเป็นผู้ลงนาม[7]
รัฐบาลในขณะนั้นได้ส่งบุคคลเข้ามาในอำนาจในสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขานุการในพระองค์ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงย่อมต้องถูกบีบจากฝ่ายรัฐบาล เพราะให้อำนาจจาก 2 หน่วยงานนี้ให้มาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
แต่ในขณะอีกด้านหนึ่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 เป็นการดำเนินการที่ได้ผ่านความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ซึ่งอาศัยอำนาจที่เป็นไปตามกลไกและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถฝ่าฝืนกระบวนการตามรัฐธรรมนูญได้
โดยปรากฏข้อความในพระราชบัญญัติดังกล่าวความว่า
“โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า เป็นการสมควรที่จะจัดวางรูปการงานในพระราชวังตลอดจนทั้งการงานราชเลขานุการในพระองค์ให้เหมาะสมแก่กาละสมัย
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้”[3]
โดยในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง), วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พุทธศักราช 2478 ได้กล่าวถึงคำอธิบายของน.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้อธิบายเอาไว้ในหน้าที่ 171 ความตอนหนึ่งว่า
“หลักการและเหตุผลในร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ปรากฏอยู่แล้วในระเบียบสาระที่ได้เสนอท่านสมาชิก ทีนี้ฉะเพาะในหลักการส่วนใหญ่ก็คือว่า ลดฐานะของกระทรวงวังลงเป็นกรม แล้วก็แยกกรมราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่แก่กระทรวงวังตั้งเป็นกรมอิสสระ และทั้ง 2 ทะบวงการเมืองนี้ ให้อยู่ในความบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ส่วนเหตุผลในการออกพระราชบัญญัติก็ดังได้กล่าวไว้แล้ว”[6]
นอกจากนั้น น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้ตอบคำถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเป็นหลักความในรายงานการประชุมหน้าที่ 175 ความว่า
“ในเรื่องนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งไปดำเนินงานปรับปรุง มีสมาชิกสภาฯนี้ได้รวมเป็นกรรมาธิการด้วยหลายท่าน เมื่อคณะกรรมาธิการนั้นดำเนินการประการใดแล้ว ก็เสนอคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีก่อนที่จะพิจารณาประการใดก็ได้นำความเห็นคณะกรรมาธิการคณะนั้นถวายคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีความเห็นประการใด แล้วก็ส่งความเห็นนั้นไปให้คณะปรับปรุง
ผลที่สุดความเห็นของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ตกลงกันประการใดแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ได้ตัดสิน และก็ได้นำความความบังคมทูล เมื่อได้รับความเห็นชอบด้วยแล้ว จึงได้ดำเนินการมาดังนี้”[6]
หลังจากนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้ลงพระนามและลงนามในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 อย่างเป็นเอกฉันท์ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2567 อันเป็นการแสดงการยอมรับต่อกฎหมายที่ดำเนินขั้นตอนไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะได้มีการเผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษาต่อมา ในวันที่ 11 สิงหาคม 2567[3]
แต่ถึงกระนั้นการซื้อหรือขายที่ดินพระคลังข้างที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ย่อมต้องเป็นพระราชอำนาจในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์และยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ จึงต้องเป็นการตัดสินใจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่านเป็นผู้ลงนามอยู่ดี
แต่ทว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ กลับสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงปืน ไปเสียก่อน โดยพบพระศพในเช้าวันที่ 12 สิงหาคม 2478 โดยตำรวจผู้ชันสูตรพระศพสรุปคดีว่าทรงพระแสงปืนยิงพระองค์เอง ก็กลับกลายเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ให้เป็นของตัวเองในเวลาต่อมาเสียด้วย[8]
ทำให้คดีดังกล่าวยังคงมีความน่าเคลือบแคลงสงสัยในสาเหตุที่แท้จริงของการสิ้นพระชนม์มาจนถึงปัจจุบัน
ประการที่สอง เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ผู้สำเร็จราชการ ไม่ลงนามขายที่ดินพระคลังข้างที่ราคาถูกๆ ให้กับอดีตคณะราษฎรและข้าราชการ
โดยวันที่ 21 สิงหาคม 2480 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดใหม่ได้เพิ่มพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ให้มาเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้ก่อการคณะราษฎร
ในขณะที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ยังคงเป็น 2 เสียงเดิมในคณะผู้สำเร็จราชการ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานผู้สำเร็จราชการพระองค์ใหม่แทน[9],[10]
โดยประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่นั้น ได้บัญญัติข้อตกลงเช่นเดิมว่า การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ และในการลงนามในเอกสารราชการนั้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่าน เป็นผู้ลงนาม[9],[10]
ซึ่งปรากฏต่อมาว่า มีการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่กันอย่างมากมายมหาศาลให้กับอดีตสมาชิกคณะราษฎร นักการเมืองและข้าราชการกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีลักษณะเอื้อประโยชน์แบบผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายรูปแบบ
เช่น ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขายที่ดินส่วนตัวให้กับพระคลังข้างที่, ในขณะที่ ผู้ช่วยราชเลขานุการ, ผู้ช่วยผู้อำนวยการพระคลังข้างที่, กรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงนักการเมืองและข้าราชการหลายคนได้แห่งกันซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆและหรือผ่อนระยะยาว โดยมีประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามพระมหากรุณาให้
ทั้งๆ ที่ดินพระคลังข้างที่ทั้งหมดไม่ใช่ทรัพย์สินของคนเหล่านี้เลย
โดยในรายงานของคณะกรรมการพิจารณาการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ได้ระบุเหตุการณ์ทำให้เห็นว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามและลงนามเพียง 2 ท่านเท่านั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานผู้สำเร็จราชการพระองค์ และ พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)
โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก 1 ท่านที่ไม่ลงนามด้วยคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
ดังรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 9 และหน้า 10 ความตอนหนึ่งว่า
“อนึ่งสมควรกล่าวไว้ด้วยยว่า การซื้อการขายที่ได้กระทำกันภายในเดือนกรกฎาคมนั้น ได้ความตามคำเจ้าหน้าที่ในสำนักพระราชวังว่า เอกสารราชการที่มีความเกี่ยวข้องแก่การนี้เกือบทุกฉะบับมีคำว่า “ลับ” และ ”ด่วน“
และปรากฏว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังได้มีบัญชาสั่งมาทางสำนักงานพระราชวังเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 อีกด้วยว่า
”โดยที่วันนี้มีเรื่องที่ขอพระมหากรุณาเสนอขึ้นมาหลายรายด้วยกัน และอนุญาตให้ขายได้ ตามที่ขอพระมหากรุณาขึ้นมา ว่าด้วยตามทางการแล้ว เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงมติแล้ว จะต้องทำหนังสือส่งสำนักงานพระคลังข้างที่
แต่ทั้งนี้เพื่อจะให้เรื่องเหล่านี้ไปได้ ดำเนินไปโดยรวดเร็ว ให้ราชเลขานุการในพระองค์เชิญบัญชาคณะผู้สำเร็จราชการแทนในพระองค์เชิญบัญชาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งนี้ไปให้เลขาธิการพระราชวังเพื่อดำเนินการต่อไปให้ทันการ“[11]
โดยในรายงานคณะกรรมการพิจารณาการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ได้อธิบายการลงพระนามในการดำเนินการอย่าง “ลับ และ ”ด่วน“ เพื่อเร่งรัดขายที่ดินให้ทันการ เอาไว้ด้วยว่า
”ในบัญชาสั่งฉะบับนี้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนาม 2 ท่านคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน”[11]
ทำให้คงเหลือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการที่ไม่ได้ลงนามการขายที่ดินพระคลังข้างที่ในเวลานั้น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) จึงเป็นผู้ทำงานถวายงานแด่สถาบันพระมหากษัตริย์และงานราชการ ยาวนานถึง 4 แผ่นดิน ด้วยความจงรักภักดีอย่างยิ่ง[12]
บันทึกโดย
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
25 เมษายน 2567
อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2445, สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ครั้งที่ 3 :บุ๊ค ด็อท คอม, 2565, 576 หน้า ISBN 978-616-536-211-5, หน้า 228-229
[2] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง), หน้า 96
[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475, เล่ม 52 , วันที่ 11 สิงหาคม 2478, หน้า 1220-1233
[4] หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เรือเอกวัน รุยาพร ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2515
[5] ประวัติพันตรีสเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า 16
[6] สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง), วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พุทธศักราช 2478, หน้า 170-193
[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, วันที่ 7 มีนาคม 2477, หน้า 1332-1333
[8] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ 87 ปีที่แล้ว (ตอนที่ 3): ตำรวจผู้ชันสูตรพระศพสรุปคดี “ประธานผู้สำเร็จราชการปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงปืน” ต่อมาได้สิทธิ์ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่, เว็บไซต์เฟนแพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 10 เมษายน 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/957028392457528/?
[9] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2445, สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ครั้งที่ 3 :บุ๊ค ด็อท คอม, 2565, 576 หน้า ISBN 978-616-536-211-5, หน้า 230
[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และแต่งตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่มที่ 42, วันที่ 21 สิงหาคม 2478, หน้า 1260-1262
[11] รายงานกรรมการพิจารณาการจัดซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่, 26 ตุลาคม 2480, หน้า 9-10
[12] วิรัช ถิรพันธุ์เมธี, เจ้าพระยายมราช '(ปั้น สุขุม) รัฐบุรุษ 4 แผ่นดิน', (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงแก้ว, 2543)
[13] เสมียนนารี, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) รำพันถึงเจ้านายทรงที่สัญญาจะเป็นธุระ “เผาผี”ให้, ศิลปวัฒนธรรม, เผยแพร่วันพฤหัสที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2565
https://www.silpa-mag.com/history/article_87699
[14] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 4, ชมรมดำรงวิทยาฯ จัดพิมพ์, พ.ศ. 2527