“พัชรวาท” ถก คกก.สิ่งแวดล้อม ขันนอต “กรมโรงงานฯ” จี้ยกระดับสแกนสารพิษเข้มข้น แนะปรับมาตรการคุมสารพิษ ป้องกันเหตุเกิดซ้ำซาก มอบหมาย “คพ.” ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รทว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข, นายชื่นชอบ คงอุดม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
สาระสำคัญในที่ประชุมได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี พ.ศ. 2563 ออกไปอีก 2 ปี เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการบังคับใช้ของกฎหมาย และรับทราบความก้าวหน้าการยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ขณะเดียวกันได้มีการรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2566 การดำเนินงานกรณีการขนย้ายและจัดการกากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนแคดเมียม จาก จ.ตาก
ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สารเคมีในปัจจุบันว่า เนื่องจากมีเหตุของการเผาไหม้และทำลายสารเคมีเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความตื่นตระหนก และส่งผลกระทบต่อประาประชาชน ดังนั้นจึงขอให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดการดูแลโรงงานที่เก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารอันตรายต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และขอให้ยกระดับมาตรการ การตรวจสอบสารเคมีของแต่ละโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อสแกนพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ พร้อมให้ประเมินมาตรการที่ดำเนินการอยู่ว่าได้ผลหรือไม่ ถ้าทำแล้วไม่สามารถป้องกันเหตุได้ อาจจะต้องปรับมาตรการและทำงานเชิงรุกมากขึ้น และได้เน้นย้ำอย่าปล่อยให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นซ้ำซากอีก ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ให้ติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัด เพื่อร่วมตรวจสอบสารเคมี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ และตัวแทนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วย เพื่อรายงานสถานการณ์ทุก 15-20 วัน
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 8 โครงการ คือ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์, 2.โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน๓-สบเมย, 3.โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ชุดที่ 1 ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ, 4.โครงการงานขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้า บ้านผาผึ้ง จ.ตาก, 5.โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่อทำปูนขาว ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาไพบูลย์, 6.โครงการทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 311 จุดตัดทางแยกศาลหลักเมือง ถึงจุดตัดทางแยกไกรสรราชสีห์ (รวมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา) จ.สิงห์บุรี, 7.โครงการถนนสายแยก ทล.2 - บ.พระยืน อ.เมือง, พระยืน จ.ขอนแก่น และ 8.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เพียงพอและไม่เกิดความแออัดในการให้บริการ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย โดยกำชับให้เจ้าของโครงการทั้ง 8 โครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป.