ผู้ลี้ภัยจากหลายประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียได้หนีทุกข์จากในประเทศของตัวเองเข้าสู่ยุโรป แล้วเสี่ยงตายนั่งเรือข้ามช่องแคบอังกฤษจากฝรั่งเศสหวังจะไปอยู่ในเมืองผู้ดี
ตั้งแต่ปี 2018 อังกฤษรับผู้ลี้ภัยเข้าไปแล้วกว่า 120,000 รายและส่วนหนึ่งเป็นชาวยูเครนหนีสงครามกับรัสเซีย
ฝรั่งยูเครนผิวขาวด้วยกันได้รับการต้อนรับและความช่วยเหลืออย่างดีมีที่อยู่อาศัยชั่วคราวมีเบี้ยเลี้ยงรัฐบาลอังกฤษจ่ายให้ มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่หางานทำขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ
แต่ความเอื้ออาทรย่อมมีขีดจำกัด รัฐบาลอังกฤษไม่ได้มีงบประมาณมากมายเพราะคนอังกฤษเองก็มีปัญหาการดำรงชีพเพราะขาดแคลนพลังงาน เงินเฟ้อสูงและค่าครองชีพโดยเฉพาะปัญหาพลังงาน
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ และยุโรปคว่ำบาตรรัสเซียเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานมีราคาแพง อังกฤษได้ออกจากการเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปมาตรฐานการครองชีพต่ำกว่าเดิม
ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนส่วนหนึ่งไม่ได้รับความช่วยเหลือต้องออกจากที่พักอาศัยที่ผู้อุปการะไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลอังกฤษ คนเหล่านี้ต้องหาที่อยู่เองและกลายเป็นคนไร้บ้าน
แต่กลุ่มผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงตายมาจากทวีปอื่นๆ ไม่ใช่ฝรั่งผิวขาวไม่ได้รับการต้อนรับอย่างเอื้ออาทรรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่ชุดก่อน วางแผนที่จะส่งตัวคนเหล่านี้ออกนอกประเทศ
เป้าหมายที่กำหนดไว้คือประเทศรวันดาในแอฟริกากลางซึ่งมีพื้นที่เพียง 26,000 กว่าตารางกิโลเมตรแต่มีประชากร 14 ล้านคนความหนาแน่นของประชากรประมาณ 460 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร
รัฐบาลอังกฤษไม่สนใจว่าใครอยากจะไปหรือไม่ไปก็จะคัดสรรให้ขึ้นเครื่องบินไปอยู่ที่ใหม่ เสี่ยงชีวิตเอาเอง สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมไม่อยู่ในนโยบายของผู้นำรัฐบาลอังกฤษ
ความพยายามครั้งแรกในรัฐบาลก่อนได้จัดเตรียมผู้ลี้ภัยกว่า 200 คนจะขึ้นเครื่องบินเที่ยวแรกเป้าหมายคือรวันดา แต่มีคำร้องไปยังศาลยุโรปว่าด้วยมนุษยธรรมจึงมีคำสั่งห้าม
การส่งออกผู้ลี้ภัยจึงถูกระงับและถูกห้ามซ้ำโดยคำสั่งของศาลสูงอังกฤษว่าการกระทำเช่นนั้นผิดกฎหมาย
แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษสามารถผลักดันกฎหมายผ่านสภาขุนนางด้วย โดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายริชี ซูนัค ขู่ว่า ถ้าไม่ผ่านกฎหมายก็จะอภิปรายไปจนถึงดึกดื่น
สมาชิกสภาขุนนางล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุก็ตัดสินใจผ่านกฎหมายให้ และรอการลงนามโดยกษัตริย์ชาร์ลส์ หลังจากนั้นกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยไปรวันดาจะเริ่ม
แต่ก็ยังไม่ง่าย เพราะยังจะมีกลุ่มต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเรียกร้ององค์กรต่างๆ ต่อไปเพื่อไม่ให้ผู้ลี้ภัยต้องถูกส่งไปเผชิญกับอนาคตไม่แน่นอนในทวีปแอฟริกา
เงื่อนไขก็คือถ้าหากคนเหล่านี้ต้องไปรวันดา แล้วรัฐบาลเห็นว่าไม่เหมาะสมก็อาจจะถูกส่งตัวไปประเทศอื่นๆ อีก เป็นชะตากรรมที่ไม่แน่นอน
รัฐบาลอังกฤษจะทำอย่างไรกับผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่คนผิวขาว นายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียบอกว่ามาตรการนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ขบวนการลักลอบขนผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ
นายกฯ เชื้อสายอินเดียก็ไม่ใช่คนอังกฤษดั้งเดิม พ่อแม่อพยพมาจากทวีปแอฟริกามาอาศัยแผ่นดินอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมอินเดียนานกว่า 200 ปี และได้สังหารชาวอินเดียอย่างโหดเหี้ยมหลายครั้ง
กว่าอินเดียจะได้เป็นอิสระจากอาณานิคมของอังกฤษต้องสูญเสียชีวิตมากมายประเทศ ถูกแบ่งแยกเป็นปากีสถานสำหรับชาวมุสลิม
การที่นายกฯ เชื้อสายอินเดียสังกัดพรรคอนุรักษนิยมดำเนินนโยบายนี้เพื่อหวังกอบกู้ความตกต่ำ แต่ถูกต่อต้านโดยประชาคมที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน
นายซูนัค คิดอย่างไรที่จะส่งผู้ลี้ภัยไปสู่อนาคตไม่แน่นอนไม่มีคำอธิบายเพียงแต่อ้างว่าเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้คนเข้าไปในอังกฤษในสภาวะลี้ภัย
ตั้งเป็นมาตรการไม่ให้มีกระบวนการขนคนเข้าประเทศและป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในยุโรปคิดอ่านเข้าไปในอังกฤษเพราะมีปัญหาเศรษฐกิจยังแก้ไม่ตก
นโยบายนี้เหมือนย้อนยุคอาณานิคมเพราะไม่เห็นคนผิวสีอื่นที่ไม่ใช่ผิวขาวมีคุณค่า เพียงพอ ทั้งที่แผ่นดินอังกฤษทุกวันนี้ก็มีคนเชื้อสายชาวชมพูทวีปมากมาย
นั่นเป็นเพราะบาปกรรมของการล่าอาณานิคม ทำให้ชาวอังกฤษ ปากีสถาน และบังกลาเทศเข้าไปอยู่ในอังกฤษหลายล้านคน
ต้องรอดูว่าแผนของรัฐบาลอังกฤษครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่เพราะแรงต้านยังมีจากสังคมอังกฤษที่มองว่าการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม
พรรคแรงงานประกาศว่าถ้าชนะการเลือกตั้งทั่วไปจะยกเลิกนโยบายนี้ นี่เป็นการหาจังหวะในการที่จะช่วงชิงความนิยมจากพรรคอนุรักษนิยมซึ่งอยู่ในสภาพเสื่อม
อังกฤษทุกวันนี้ชื่อเสียงไม่ได้หอมหวนเหมือนแต่ก่อน เพราะสนับสนุนการทำสงครามในยูเครนและสนับสนุน กองทัพอิสราเอลให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง
อังกฤษยังต้องเกาะสหรัฐฯ เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นผู้นำรัฐบาลเมืองผู้ดีจำเป็นต้องเดินตามก้นผู้นำทำเนียบขาวแม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการประณามโดยชาวโลกก็ตาม
ต้องดูว่าผู้นำอังกฤษเชื้อสายอินเดียจะอยู่รอดหลังจากการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่